นโยบาย ‘รัฐนิยม’ กดขี่ ในมุมมองของชาวโลก บทเรียนจากชาตินิยมสุดโต่งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

จากสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีผลทำให้ตัวแสดงทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่นในฐานะประเทศคู่สงครามที่เป็นมหาอำนาจในเอเชียบูรพา ฝรั่งเศสในฐานะประเทศคู่ขัดแย้งเรื่องเส้นแบ่งเขตดินแดน และอังกฤษในฐานะผู้ที่มีบทบาทในการประนีประนอมปัญหาชายแดนไทย-มลายา ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ต่างมีส่วนในการกำหนดนโยบายทางการเมืองภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

อีกทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็ได้ขยายวงกว้างไปทั่วทั้งประเทศ เมื่อสิ่งเหล่านี้บวกรวมเข้ากับผลกระทบที่เกิดจากนโยบาย “รัฐนิยม” อันสุดโต่งของจอมพล ป. ก็ยิ่งสร้างความลำบากให้กับประชาชนคนไทย โดนเฉพาะชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ข้าราชการข่มขู่รังแกและขูดรีด ส่งผลให้บรรยากาศที่ดูเหมือนจะผ่อนปรนทางนโยบายขึ้นมาบ้าง กลับได้รับการกระตุ้นให้มีความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง จนกระทั่งลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์ “กบฏดุซงญอ” ในจังหวัดนราธิวาส

เดือนเมษายน พ.ศ. 2491 มีโทรเลขจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสถึงกระทรวงมหาดไทยว่า มีคนไทยมุสลิมประมาณ 1,000 คน ได้เข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจใกล้ๆ พรมแดนกลันตัน การสู้รบกินเวลา 2 วัน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน เป็นผลให้ชาวบ้านอพยพหนีเข้าเขตมลายาจำนวน 2,000 – 6,000 คน

นอกจากนี้ เหตุรุนแรงดังกล่าวยังส่งผลให้ชาวมลายูมุสลิมจำนวน 250,000 คน ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังองค์การสหประชาชาติให้ช่วยดำเนินการแยกสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปรวมกับสหพันธรัฐมลายาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น

และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เป็นชนวนให้เกิดกรณีกบฏดุซงญอขึ้นคือ การออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ผู้นำทางศาสนาของชาวมุสลิมภาคใต้ แต่ข้อเสนอของฮัจยีสุหลง กลับได้รับการปฏิเสธและเขาถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏต่อแผ่นดินพร้อมบุตรชาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชนวนเหตุนำไปสู่เหตุการณ์กบฏดุซงญอในที่สุด

กรณีความรุนแรงครั้งนั้นได้ถูกนำมาใช้ในการปลุกระดมให้เกิดความสำนึกในชาตินิยมมลายู และนำมาซึ่งการอพยพหลั่งไหลของชาวไทยมุสลิมเข้าไปในรัฐกลันตัน ไทรบุรี เปรัก และปีนัง และเกิดการรวมตัวกันเป็นสมาคมที่มีชื่อว่า Gabongan Malayu Pattananee (GAMPAR) หรือสมาคมชาวมลายูปัตตานีใหญ่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาตินิยมมาเลย์ (The Malay Nationalist Party) โดยมี มะไฮยิดดิน เป็นผู้นำ

เหตุการณ์กบฏดุซงญอ ได้สร้างปรากฎการณ์ให้รัฐบาลกลับมาสนใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ได้รับการพูดถึงในระดับนานาชาติและอาจเกี่ยวพันไปสู่การเมืองระหว่างประเทศ ประกอบกับกระแสชาตินิยมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญให้เกิดการอพยพอย่างต่อเนื่องของประชาชนเข้าไปยังมลายา ซึ่งมีวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาที่สอดคล้องกันมากกว่า ทั้งหมดนี้ได้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลที่เกรงว่าต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ

ประกอบกับในช่วงเวลานั้น สื่อหนังสือพิมพ์ต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู เช่น Straits Echo, The Straits Times, Malay Mail และ Singapore Free Press ต่างแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจชาวมุสลิมมากขึ้น และเริ่มพาดหัวข่าวต่อต้านรัฐบาลไทย

Utusan Melayu ได้วิจารณ์ไว้ในบทบรรณาธิการว่า “เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจจะขจัดคนมลายูในประเทศไทย”

Singapore Free Press วิจารณ์ว่า “ประวัติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มิได้ชวนให้เกิดความเชื่อว่าชาวมลายูในปัตตานีจะหวังความเห็นอกเห็นใจจากรัฐบาลใดๆ ที่เขาเป็นผู้นำอยู่ได้ ในเมื่อใครๆ ก็รู้ว่าเขาเป็นนักชาตินิยมตัวฉกาจ และสนับสนุนนโยบายผสมกลมกลืน”

ส่วน Malay Mail ได้โจมตีรัฐบาลจอมพล ป. ว่าเป็นฟาสซิสต์ และสำหรับความรู้สึกของชาวมลายูมุสลิมต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ดุซงญอนั้น จะเห็นได้จากเนื้อความที่ชาวมลายูมุสลิมผู้หนึ่งกล่าวว่า …

“… ถ้าข้าราชการเป็นผู้ฉลาดและมีสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่เกิดจลาจลขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะนายและพรรคพวกโง่บัดซบ และมีน้ำใจอำมหิต กระทำต่อชาวมลายูเช่นนั้น เขามองชาวมลายู … และชีวิตชาวมลายูเหมือนสุนัข …”

เนื้อความดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่กดขี่ข่มเหงประชาชนได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างความเป็น “คนอื่น” และทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกของคนมลายูมุสลิม

Barbara Whithngham Jones นักข่าวชาวอังกฤษ ผู้เป็นกระบอกเสียงคนสำคัญให้กับชาวมุสลิมได้กล่าวว่า …

“ถึงแม้สยามได้ดำเนินนโยบายต่างๆ กับชาวมลายูเป็นเวลากว่า 50 ปี แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการที่จะให้ชาวมลายูกลายเป็นสยามโดยสมบูรณ์ ดิฉันแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นชาวมลายูปัตตานีมีความเด็ดเดี่ยวในอันที่จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเขาให้คงอยู่ตลอดไป”

การได้รับความสนใจจากสื่อต่างขาตินั้น ทำให้จอมพล ป. แต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยนายอับดุลลาร์ หวังปูเต๊ะ และคณะ ส.ส. จาก 4 จังหวัดภาคใต้ อีกทั้งรัฐบาลจอมพล ป. ยังได้เริ่มผ่อนปรนนโยบาย และเพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆ ให้แก่ชาวมุสลิม

แต่ทว่า สำนักงานใหญ่ของ GAMPAR ที่โกตาบาห์รู กลับปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิ์ที่จอมพล ป. ได้สัญญาไว้ โดยกล่าวว่า “สิ่งที่ชาวมลายูทางภาคใต้ของไทยเรียกร้องต้องการให้ได้กลับคืนมาก็คือ อำนาจอธิปไตยของชาวมลายูใน 4 จังหวัดภาคใต้”

จะเห็นว่า นโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. ในช่วงที่ 2 นี้ เริ่มมีลักษณะประนีประนอมมากขึ้น ซึ่งผิดกับในช่วงแรกที่มีการผลักดันลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีอังกฤษในมลายาเป็นตัวแสดงที่สำคัญในการเจรจา ประกอบกับบทบาทของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศในมลายาและสิงค์โปร์ที่มีผลอย่างมากในการปรับท่าทีของนโยบาย

โดยสรุป นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ช่วงที่ 1 (พ.ศ. 2481 – 2487) และช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2491 – 2500) ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติมลายูมุสลิมหรือเชื้อชาติจีน ซึ่งถูกกลืนด้วยวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่ที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ทำให้เกิดการกดขี่และแทรกแซงทั้งในแง่การใช้ชีวิตและกิจการทางศาสนา โดยเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปสู่การต่อต้านในทุกระดับ ตั้งแต่การต่อรองเจรจา การขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม การอพยพย้ายถิ่นฐาน ไปจนถึงการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธนั่นเอง

สุดท้ายเมื่อจอมพล ป. หมดอำนาจลงหลังปี พ.ศ. 2500 และเริ่มต้นยุคที่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีบทบาทสำคัญ และเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยอีกครั้ง นโยบายรัฐนิยมก็ได้จางหายไป ทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติโดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมต่างได้รับการดูแล และกลับมามีสิทธิเสรีภาพทั้งในด้านวัฒนธรรม รวมถึงการนับถือศาสนาอย่างมีอิสระและเท่าเทียมกัน

แม้นโยบายรัฐนิยมจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมของรัฐบาลจอมพล ป. นั้น ได้ฝากรอยร้าวลึกในความรู้สึกของชาวมลายูมุสลิมจำนวนมาก ที่อาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการเยียวยาให้ทุกสิ่งผสานกลับคืนเป็นปกติอีกครั้ง

ที่มา :

[1] นันทวรรณ ภู่สว่าง, ปัญหาชาวไทยมุสลิมสี่จังหวัดภาคใต้, หน้า 29
[2] The Straits Time (29-30 April 1942)
[3] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎี “แบ่งแยกดินแดน” ในภาคใต้ไทย, หน้า 93
[4] Utusan Melayu (16 December 1948)
[5] Singapore Free Press (23 November 1948)
[6] Malay Mail (6 June 1948)
[7] อิมรอน มะลูลีม, วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศไทย: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้, หน้า 149
[8] ฮิบรอฮิม ชุกรี, ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี (Sejarah Kerajaan Melayu Pattani), หน้า 51
[9] จรัญ มะลูลีม, กิติมา อมรทัต และพรพิมล ตรีโชติ, ไทยกับโลกมุสลิม : ศึกษาเฉพาะกรณีชาวไทบมุสลิม, หน้า 51
[10] เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะหยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ..หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้, หน้า 169

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า