รู้จักชาติพันธุ์สุดก้ำกึ่ง ‘ซัมซัม’ อาศัยในรัฐมลายู มีความเป็นอยู่อย่างสยาม นับถืออิสลามแต่กินเต่า และไม่ค่อยเข้ามัสยิด

ความหลากหลายของคาบสมุทรมลายูตอนเหนือในเรื่องชาติพันธุ์นั้นเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่ามีความสลับซับซ้อนอย่างที่สุด นับตั้งแต่ฝั่งตะวันตก ชาวชวา (ยะวา) ชาวอัดแจ (อาเจะห์) ชาวมินนังกาเบา ชาวพม่า ชาวมลายู ชาวน้ำ (อุรักลาโว้ย) ชาวมะหงิด (บูกิส) ชาวสยาม (ไทย) ชาวเซมัง หรือกระทั่งชาวอินเดียและจีน ต่างก็ได้ทำกิจกรรมบนคาบสมุทรแห่งนี้มาช้านานก่อนเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงต้นคริสตวรรษที่ 20

ทั้งนี้ เมืองท่าขนาดใหญ่ตั้งแต่ปีนัง มะละกา จรดไทรบุรีและปัตตานีต่างก็เป็นพื้นที่ที่เกิดการปะทะสรรค์กันระหว่างกลุ่มชนต่างวัฒนธรรมจนเกิดเป็นวัฒนธรรมย่อยมากมาย อาทิ ชาวเปอรานากาน (บ้าบ๋า) อันเป็นวัฒนธรรมผสมระหว่างจีน-มลายู-ตะวันตก กลุ่มชนย่อยนี้มีความโดดเด่นในด้านภาษา อาหารและศิลปะจนง่ายที่จะจัดแบ่งประเภทให้เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก นอกจากนั้น พวกครึ่งชาติที่เป็นผลผลิตจากการติดต่อระหว่างชาวยุโรปและชาวพื้นเมืองก็ก่อเกิดเป็นสังคมยูเรเชียนที่แยกออกมาจากทั้งชาวพื้นเมืองมาเลย์และชาวยุโรปอีกด้วย

อย่างไรก็ดี จากบันทึกการสำรวจการเดินทางหรือเอกสารราชการในสมัยอาณานิคม ชาวตะวันตกโดยเฉพาะพวกอังกฤษได้ทำการสำรวจและพบว่า มีชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งยากยิ่งนักที่จะกำหนดนิยามพวกเขาให้แน่ชัดว่าเป็นใครกันแน่ กล่าวคือจะให้เป็นใครกันดีระหว่างชาวสยามหรือมลายู ? เพราะชนกลุ่มนี้ต่างก็มีอะไรที่เอนไปในทางที่จะให้เข้าได้ทั้งสยามและมลายู แต่ท้ายที่สุดก็ต้องล้มเลิกเพราะความ ‘กึ่งกลาง’ นี้ไม่สามารถชี้ชัดฟันธงลงไปได้ ชนกลุ่มนั้นคือ ‘ชาวซัมซัม’ (Sam-sam) นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องชี้แจงก่อนว่าชาวซัมซัมหาใช่ชาวสยามที่อาศัยทางตอนเหนือของรัฐมลายูในปัจจุบันแต่อย่างใด เพราะชาวสยามหรือออรังเซียม (Orang Siam) นั้นถูกจัดเป็นประเภทที่แน่นอนต่างหาก กล่าวคือ เป็นคนสยาม มีวัฒนธรรมอย่างสยาม และนับถือศาสนาพุทธ คนสยามในมาเลเซียมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับคนใต้ปักษ์ใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงขลา-นครศรีธรรมราช หากแต่สัญชาติของเขาเป็นมาเลเซียเท่านั้น

แต่ ‘ชาวซัมซัม’ ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้มีความก้ำกึ่งอย่างประหลาด กล่าวคือ พวกเขามีวัฒนธรรมอย่างสยาม เช่น การแต่งกาย ประเพณี พวกเขาพูดภาษาไทย (และมลายู) หากแต่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาแตกต่างกับชาวสยามโดยทั่วไปนั่นก็คือพวกเขานับถือ ‘ศาสนาอิสลาม’ ดังนั้น เมื่อมาถึงข้อสรุปเบื้องต้น เราสามารถตอบได้ทันทีไหมว่า ‘ชาวซัมซัม’ ก็คือชาวสยามที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นเอง ใช่หรือไม่ ?

คำถามนี้หาใช่คำถามที่หาคำตอบได้ง่าย เพราะประเด็นจุดกำเนิดของ ‘ชาวซัมซัม’ ยังเป็นที่ถูกถกเถียงกันนับร้อยปี กล่าวคือ อย่างน้อย ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 วิวาทะนี้นำโดยจอห์น ครูวเฟิร์ด (ราชสำนักกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 รู้จักกันในนาม ‘นายการะฟัด’) สันนิษฐานว่า‘ชาวซัมซัม’ แต่ดั้งเดิมนั้นคือชาวสยามแต่หันไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่ ที. เจ. นิวโบลด์ กลับแย้งว่า ‘ชาวซัมซัม’ คือพวกมลายูนับถืออิสลามที่หันไปรับเอาวัฒนธรรมสยามต่างหาก ล่วงมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดับบลิว. สกิต ขณะเดินทางสำรวจเมืองปะลิสได้บันทึกไว้ว่า ‘ชาวซัมซัม’คือชาวมลายูที่หันไปรับเอาขนบอย่างสยามในทุก ๆ สิ่งเว้นแต่ศาสนา มีพวกเขาน้อยมากที่จะนับถือศาสนาพุทธ นอกจากนั้นสกิตก็ได้ให้ความเห็นอีกว่า หรือบางที ‘ชาวซัมซัม’ อาจจะเป็นชาวสยามที่เปลี่ยนมาเป็นมลายู (Malaysising Siamese – ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า ‘เป็นแขก’) เพราะภรรยาของเขาเป็นมลายูที่นับถืออิสลามซึ่งพอมีลูกด้วยกันแล้วลูกก็มักนับถืออิสลามตามแม่ด้วย นอกจากนี้ สกิตยังกล่าวว่า ‘ชาวซัมซัม’ ยังคงกินอาหารที่ผิดหลักศาสนาอิสลามนั่นก็คือเต่า และพวกเขาไม่ค่อยได้เข้าสุเหร่าสักเท่าใด

อย่างไรก็ดี บางคนเห็นว่า ‘ซัมซัม’ เป็นคำในภาษามลายู คือ ‘sama-sama’ ซึ่งแปลว่า ‘ด้วยกัน’ บ้างก็ว่าเป็นคำจากภาษาจีนฮกเกี้ยน คือ ‘tcham-tcham’ ที่แปลว่า ‘ผสมเข้าด้วยกัน’ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอีกข้อหนึ่งที่เป็นไปได้เหมือนกันคือ ‘ซัมซัม’ อาจมาจากคำว่า ‘สยามอิสลาม’ เมื่อพูดเร็ว ๆ ก็เข้าที ‘ซัมซัม’ ด้วยเหมือนกัน

แม้ปัจจุบันนักวิชาการจำนวนหนึ่งจะโน้มเอียงที่จะลงความเห็นว่า บรรพบุรุษของ ‘ชาวซัมซัม’คือชาวสยามดั้งเดิมที่หันไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังคงรักษาขนบแบบสยามไว้เหนียวแน่น

ไม่ว่าข้อถกเถียงจะมีบทสรุปอย่างไร สิ่งที่ ‘ชาวซัมซัม’ เป็นอยู่และปฏิเสธไม่ได้นั่นก็คือพวกเขาเป็นผลมาจากการผสมกันระหว่างชน 2 กลุ่มวัฒนธรรม นั่นคือสยามและมลายู หากแต่ได้รับอิทธิพลจากสยามในวิถีชีวิตประจำวันมากกว่าธรรมเนียมมลายูเท่านั้น 

มีข้อควรรู้อีกว่าเอกสารราชการอังกฤษเมื่อราวร้อยปีก่อนระบุว่าพื้นในรัฐมลายูที่มี ‘ชาวซัมซัม’อาศัยอย่างหนาแน่นจนนับเป็นประชากรหลักได้นั้น คือพื้นที่ตอนใต้ของรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) และตอนเหนือของรัฐปะลิส ซึ่งมีพื้นที่ติดกับจังหวัดสตูลและสงขลา (บริเวณอำเภอสะเดา นาทวีและสะบ้าย้อย) และในสายตาอังกฤษปัญหาสำคัญสำหรับพื้นที่ที่เต็มไปด้วย ‘ชาวซัมซัม’ นั่นก็คือเป็นเขตที่มีคดีลักขโมยและปล้นในอัตราสูง ดังที่ทราบดีว่าเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 6 ‘ชาวซัมซัม’ ผู้หนึ่งได้ตั้งตัวเป็นขุนโจร คือ ‘โต๊ะพ่อ’ (Tok Poh) ซึ่งมักออกปล้นกับพรรคพวกด้วยอาวุธปืน โต๊ะพ่อได้สร้างความลำบากแก่ทางการรัฐเคดาห์และเจ้าอาณานิคมอังกฤษมากและถูกจับได้ในที่สุด ความโหดเหี้ยมของเขานั้นกระทั่งประวัติศาสตร์ทางรัฐเคดาห์ถึงกับตราหน้าขุนโจรผู้นี้ว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้ายชาวซัมซัม’ เลยทีเดียว

อ้างอิง :

[1] Cheah Boon Kheng. The Peasant robbers of Kedah 1900-1929. (Singapore: NUS Press). 2023. 
[2] C. Archaimbault. A Preliminary Investigation of the Sam Sam of Kedah and Perlis. Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society. Vol. 30, No. 1 (177) (1957).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า