หลักฐานชี้! จอมพล ป. เคยอ่าน ‘MEIN KAMPF’ หนังสือของฮิตเลอร์จริง!

จากกระแสสารคดีประวัติศาสตร์ ‘พิบูลสวัสดี’ (The Highest Dream) อันเป็นสารคดีว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทยยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะราษฎรได้ออกฉายตอนแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบรับจากสารคดีชุดนี้เพียงแค่ตอนแรกตอนเดียวเท่านั้น (ตอนที่ 2 และ 3 จะทยอยปล่อยออกมา) ก็ปรากฏว่ามีกระแสการตอบรับที่น่าสนใจจากบรรดาคนไทยและผู้รับชมจำนวนมากซึ่งมีทั้งที่เปิดใจกว้างรับฟังเรื่องราว และที่ปิดประตูกล่าวหาว่าเป็นเท็จ บ้างก็ว่าเพิ่งได้รับรู้ กลายเป็นตาสว่างซ้อนตาสว่างกันเลยทีเดียว

แต่โดยสรุปแล้ว ความเห็นต่อสารคดีส่วนมากเป็นไปในแง่บวก เพราะสารคดีได้เน้นการ ‘ย่อย’ สาระและเนื้อหาสำคัญทางประวัติศาสตร์มานำเสนออย่างเรียบง่ายที่สุดในเวลาสั้นกระชับ อีกทั้งได้เผยให้เห็นข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ ๆ ที่คนทั่วไป ‘ช็อค’ เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎรและจอมพล ป. อาทิ ลัทธิกราบไหว้บูชารัฐธรรมนูญ การแห่แหนรัฐธรรมนูญอย่างยิ่งใหญ่ปานเป็นเทพเจ้า หรือกระทั่งการนำเสนอภาพของจอมพล ป. ในลักษณะแปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นประเด็นมาตลอด นั่นก็คือ ‘จอมพล ป. อ่าน Mein Kampf’ หรือ ‘การต่อสู้ของข้าพเจ้า’ ที่เขียนขึ้นโดย ‘อดอฟ ฮิตเลอร์’ (Adolf Hitler) ผู้นำเผด็จการนาซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่

แม้สารคดีจะไม่มีประโยคไหนพูดถึงหนังสือเล่มนี้เลย หากแต่เป็นการให้นักแสดงที่รับบทเป็นจอมพล ป. กำลังอ่านหนังสือ Mein Kampf เพียงเท่านั้นก็เกิดอาการ ‘ลงแดง’ จากสาวกที่อวยคณะราษฎรออกนอกหน้าออกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอคเคาต์ในทวิตเตอร์ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ อดีตอาจารย์ประจำมหาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก็ได้ออกมาโจมตีว่าสารคดีชุดนี้นำเสนอ ‘มั่ว’และยังสำแดงออกอย่างมั่นใจด้วยว่าเป็นเรื่องเหลวไหลที่จอมพล ป. จะอ่าน Mein Kampf ของฮิตเลอร์

อย่างไรก็ดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับระบุชัดเจนว่าเคยมีบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือในวงการสื่อและวรรณกรรมเคยเห็นจอมพล ป. อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจริง ดังที่ มาลัย ชูพินิจ (นายฉันทนา) ได้บันทึกไว้เมื่อปี 2488 ว่า ‘….[ท่าทีและวาจาของจอมพล ป.] ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดไปถึง Mein Kampf  ซึ่งหลวงพิบูลฯแสดงความสนใจอยู่ในเวลานั้นไม่ได้…..’

และ…

 ‘…วาจาของจอมพลทำให้ข้าพเจ้าคิดไปถึงภาพพันตรีหลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารผสม เมื่อ พ.ศ. 2476 นอนอ่าน ‘ไมน์แคมป์’ฉบับละเอียดภาษาฝรั่งเศสอยู่บนเก้าอี้ข้างปืนกล ณ ที่พักในวังปารุสกวัน และพูดอย่างเดือดดาล เมื่อเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เขียนจดหมายไปเตือนพระยาศราภัยฯ จะเป็นในเรื่องการวิจารณ์การกระทำของคณะราษฎร หรือเจ้าคุณพูดกระทบกระเทือนมาถึงส่วนตัวอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้าจำไม่ได้ชัด แต่เจ้าคุณเลือดน้ำเค็มตอบกลับมาว่า ถ้าเห็นว่าผิด ก็ให้คนมาจับไปยิงเป้าเสียซี !…..’

มาลัย ชูพินิจ ในฐานะนักข่าวมือดีและบุคคลร่วมสมัยที่มีความใกล้ชิดกับจอมพล ป. ถึงขนาดสามารถเข้าพบและให้สัมภาษณ์เป็นการส่วนตัวคงจะใช่คนที่หากินด้วยน้ำคำโกหกเป็นแน่ เพราะจรรยาบรรณสื่อในอดีนนั้นมีล้นปรี่ (ช่างต่างกับสมัยนี้) อีกทั้งหนังสือเล่มที่สมอ้างว่าเห็นท่านจอมพลอ่านหนังสือฮิตเลอร์นั้นได้ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2488 (หลังจากจอมพล ป. โดนข้อหาอาชญากรสงคราม) และอีกเพียง 3 ปีต่อมาเท่านั้น จอมพล ป. ก็ได้กลับมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังจากจี้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์

และลองคิดตามตรรกะง่าย ๆ ถ้าสมมติว่ามาลัยเขียนหนังสือ ‘เท็จ’ โดยเฉพาะประเด็นที่อ้างว่าเขาเคยเห็นจอมพลอ่านหนังสือ Mein Kampf ฮิตเลอร์ (ย้ำถึง 2 ครั้งด้วย) หากนี่เป็นเรื่องไม่จริง เห็นจะต้องมีปฏิกิริยาจากจอมพล ป. ออกมาปฏิเสธอย่างแน่นอน เพราะเวลานั้นคนเขาเกลียดฮิตเลอร์กันทั้งโลกแล้ว แต่นี่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยแล้วปรากฏว่าไม่มีเอกสารชิ้นใดระบุคำโต้แย้งนี้เลย การไม่ออกมาโต้แย้งย่อมสามารถอนุมานได้ว่าเป็นการ ‘ยอมรับ’ และคงจะเป็นเรื่องเหลวไหลเลอะเทอะถ้ามีคนโต้ว่า จอมพล ป. คงไม่เคยอ่านหนังสือที่มาลัยเขียน ตรรกะนี้ก็วิบัติอีก เพราะผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ว่าที่ไหนก็จะต้องได้รับ ‘หนังสือ’ รวมถึง ‘ค่าน้ำชา’ จากสำนักพิมพ์เป็นการตอบแทนด้วย แน่นอนว่าคนอย่างจอมพล ป. ย่อมต้องเคยผ่านตาข้อความที่อ้างว่าเขาอ่าน Mein Kampf อย่างแน่นอน

นอกจากนั้น สำหรับปีที่แน่นอนที่จอมพล ป. (ถ้าจะให้ถูกต้องกว่าคือยศพันตรี) อ่าน Mein Kampf ในช่วงก่อน 2481 นั้น แม้มาลัยจะอ้างว่าจอมพล ป. น่าจะอ่านในช่วง 2476 แต่ต้องไม่ลืมว่าการนับปี พ.ศ. แบบเก่าของไทย ปี 2476 สามารถเป็นปี 2477 ได้เช่นกัน เพราะสมัยนั้นตัดปีใหม่กันในวันที่ 1 เมษายน และเมื่อสอบทานไปยังต้นฉบับฝรั่งเศส พบว่า Mein Kampfแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 2477 (1934) โดย Fernand Sorlot ซึ่งก็สอดคล้องกับที่มาลัย ‘อ้าง’ ว่าเคยเห็นจอมพลอ่าน Mein Kamp อยู่ในปี 2476/2477 ด้วยเหตุนี้ การโจมตีว่าผู้จัดทำสารคดีชุดนี้ ‘มั่ว’ จึงเป็นความเท็จ แต่ในความจริงแล้วคนที่ ‘มั่ว’ ก็คือแอคเคาต์ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ ต่างหาก !

สุดท้าย การใช้อคติมืดบอดในการวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีปัญญาไม่ควรกระทำ เพราะนี่ไม่ใช่การติเพื่อก่อ แต่เป็นการหวังผลทำลายด้วยวิธีที่นักวิชาการไม่ควรกระทำกัน ถึงอย่างไร สารคดี ‘พิบูลสวัสดี’ (The Highest Dream) ก็ยังคงเหลืออีก 2 ตอน ซึ่งน่าสนใจว่าจะมีประเด็นใดให้ฝ่ายต่อต้านเจ้าเกิดความ ‘รากออก’ (อ้วกแตก) แล้วดิ้นอย่างไม่เป็นสุข เช่นที่กรณีจอมพล ป. อ่าน Mein Kamp ได้กระทำนี้หรือไม่ ?

อ้างอิง :

[1] มาลัย ชูพินิจ. บันทึกจอมพล. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย). 2544. 
[2] The French History of Mein Kampf, 1925–2016. Translation, Reception, Controversy
[3] Fernand Sorlot