96 ปีชาตกาลรัชกาลที่ 9 ‘กลับสู่จุดเริ่มต้น’ ตามรอยที่นำไปสู่ Modern Monarchy ที่พระองค์ทรงวางไว้ตั้งแต่แรก

บทความโดย จิตรากร ตันโห
นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

A.J.P. Taylor นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้เขียนบรรยายถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของออสเตรียเอาไว้ว่า “ในรัฐอื่น ๆ นั้น ราชวงศ์เป็นเพียงฉากประกอบของประวัติศาสตร์มวลชน แต่ในจักรวรรดิออสเตรียประชาชนแทรกอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์นี้… ไม่มีราชวงศ์ใดที่ดำรงอยู่ได้นานหรือสร้างฉากอันหยั่งรากในประวัติศาสตร์เหมือนราชวงศ์ฮับส์บวร์กในยุโรป และประวัติศาสตร์ยุโรปกลางก็หมุนเวียนอยู่รอบราชวงศ์นี้ มิใช่ราชวงศ์นี้หมุนรอบยุโรป” [1]

การกล่าวเช่นนี้ของ Taylor นับว่ามีนัยสำคัญมากทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์ของมวลชนและพระมหากษัตริย์จะเดินอย่างคู่ขนานกัน แต่ยังส่งผลอันยิ่งใหญ่แก่ยุโรปอีกด้วย ราชวงศ์ฮับส์บวร์กจากตั้งแต่ต้นที่ถูกประเมินว่า “กองทัพของราชวงศ์นี้มิได้น่าเกรงขามอะไรนัก การคลังก็โซเซ ประชากรก็ยังแตกเป็นหมู่เหล่า” แต่อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์นี้กลับ “อยู่รอดยาวนานกว่าออตโตมัน เฟรเดอริคมหาราช และนโปเลียน” [2] การอยู่รอดของราชวงศ์ฮับส์บวร์กและความยิ่งใหญ่ของพวกเขาได้สร้างความฉงนและความสนใจจากทั้งนักรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ทั่วโลกว่าทำได้อย่างไร แน่นอนว่าในท้ายที่สุดราชวงศ์นี้ก็ต้องสิ้นสุดลงไป แต่การสิ้นสุดลงไปนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าระหว่างทางได้ทิ้งบทเรียนและคุณค่าใดไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา และมีความหมายต่อสังคมอย่างไร

การมองย้อนกลับไปยังราชวงศ์ฮับส์บวร์กนั้นได้มอบข้อเปรียบเทียบบางอย่างข้ามฟากข้ามทวีปและข้ามเวลามาให้กับไทยเช่นเดียวกัน กล่าวคือหากเราแทนที่ราชวงศ์ฮับส์บวร์กด้วย “รัชกาลที่ 9” และแทนที่รัฐบุรุษทั้งหลายด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่น และด้วยรัฐอื่นเราก็น่าจะได้เห็นคำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในรัฐอื่น ๆ นั้น ราชวงศ์เป็นเพียงฉากประกอบของประวัติศาสตร์มวลชน แต่ในประเทศไทยประชาชนแทรกอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งราชวงศ์นี้” และระยะเวลาการครองราชย์ของรัชกาลที่ 9 นั้นก็นานกว่า 70 ปี แล้วทั้งๆ ที่ในสภาวะของประเทศไทยที่พระองค์ขึ้นครองราชย์นั้นเพิ่งผ่านช่วงแห่งสงครามมาจน “กองทัพของไทยมิได้น่าเกรงขามอะไรนัก การคลังก็โซเซ ประชากรก็ยังแตกเป็นหมู่เหล่า”การอยู่รอดของพระองค์และการธำรงอยู่ของรัฐไทยโดยไม่แตกสลายจึงน่าจะสร้างคำถามที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน และคงมิอาจลดทอนได้โดยง่ายแต่เพียงว่าเป็นเพราะมีมหาอำนาจช่วยเหลือถ่ายเดียว หรือการเป็นพันธมิตรระหว่างกลุ่มการเมืองใดกลุ่มเดียว การค้นหาคำตอบถึงตัวแบบและวิธีการของพระองค์จึงเป็นงานที่สำคัญยิ่งหากเราต้องการจะทราบอย่างถ่องแท้ถึงการก่อร่างใหม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบใหม่นี้

อย่างไรก็ดีการประมวลความรู้อย่างครบถ้วนตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์นั้นเป็นงานใหญ่และจะกินความยาวเกินกว่าบทความนี้ไปมากจนสามารถออกหนังสือเป็นเล่มๆ ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ในพื้นที่ที่จำกัดนี้คือการควานหาคำบอกใบ้บางอย่างที่รัชกาลที่ 9 ทรงทิ้งไว้ให้กับเราว่าสิ่งใดที่มีผลต่อความคิดและการกระทำของพระองค์ และเหตุใดพระองค์จึงเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอย่างหนึ่ง จุดสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้ของการเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่นี้เท่านั้น ดังนั้นแล้ว การสิ้นสุดลงไปนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าระหว่างทางได้ทิ้งบทเรียนและคุณค่าใดไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา และมีความหมายต่อสังคมอย่างไร ดังนั้นเราจึงต้องหันหลังกลับเพื่อมอบคำตอบทางการเมืองและประวัติศาสตร์บางอย่างให้กับทั้งปัจจุบันและอนาคต

ถึงเวลาของการกลับสู่จุดเริ่มต้น

รัชสมัยของพระองค์นั้นถูกประเมินด้วยสายตาอย่างมากมายหลากหลาย ทั้งผู้ที่มองว่าพระองค์นั้นทรงประเสริฐค่าอย่างสูงและประเทศไทยก็คงมิอาจรอดมาได้หากปราศจากพระองค์ อีกฝั่งหนึ่งหรือฝั่งวิพากษ์ก็มองว่าพระองค์กลับมิได้สูงส่งเช่นนั้น แต่กลับมีบทบาทขัดขวางการพัฒนาทางการเมืองของไทยบนเส้นทางประชาธิปไตยเสมอ และในบางครั้งการ “โหน” พระองค์ก็เกิดบ่อยครั้งจนนำไปสู่การทำร้ายกัน ฝั่งวิพากษ์จึงเรียกว่าการเล่าเรื่องรัชสมัยของพระองค์ของกลุ่มแรกนั้นเป็นแบบ “ราชาชาตินิยม” [3] ที่ให้พระองค์เป็นศูนย์กลางของทุกความเป็นไป

แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเห็นว่าทั้งสองสำนักนี้ต่างมีมุมมองที่จำกัดทั้งคู่ (แม้จะมีข้อเสนอและรายละเอียดบางประการที่เป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจรัชสมัยของพระองค์) กล่าวคือทั้งสองสำนักต่างก็มองข้ามความซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงในโลกแห่งความเป็นจริงไปมาก และหากไม่ยกบทบาทของพระองค์ให้สูงเด่นก็ต้องทำให้พระองค์อยู่ต่ำลงไป และการเขียนประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” นั้นก็ควรจะต้องมองไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาประกอบเพราะการเชิดชูใครด้วยการเขียนประวัติศาสตร์แต่เพียงถ่ายเดียวไม่มีพลังพอ หากตัวแสดงนั้นไม่สามารถ live up to expectation ของมวลชนได้ จึงถึงเวลาที่เราจะต้องไปให้ไกลกว่า “ราชาชาตินิยม” และ “ราชาชาตินิยมแบบหัวกลับ” ที่ให้คำตอบอะไรแก่รัชสมัยของพระองค์อย่างมิชัดเจนนัก

ทำอย่างไร?

การจะทำความเข้าใจรัชสมัยของพระองค์นั้นมิสามารถตัดขาดจากช่วงเวลาแห่งการเมืองก่อนหน้านั้นได้ เพราะการเมืองก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จครองราชย์นั้นเต็มไปด้วยความผันผวน และทำให้สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ได้ปรากฏขึ้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติมาจนถึงการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ตอกย้ำพระองค์ว่าอันตรายนั้นก็พร้อมจะเข้าหาพระองค์ได้เช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่ความผันผวนเกิดขึ้นมากมายนี้ สถาบันในระบอบใหม่กลับไม่สามารถฝังรากลึกได้อย่างมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันสถาบันการเมืองในระบอบเก่าอย่างพระมหากษัตริย์ก็มิได้หายไป ความลักลั่นระหว่างสถาบันนี้จะเกิดคำถามแด่ผู้ที่จะมาเป็นพระมหากษัตริย์ (และผู้จะมาเป็นผู้นำทางการเมือง) ว่าจะเดินไปข้างหน้าร่วมกันอย่างไร คำตอบที่จะใช้แด่ความลักลั่นนี้สามารถมอบทั้งความเป็นไปได้ที่ทั้งสองสถาบันจะประสานงานร่วมกันได้ และสองสถาบันที่จะห่างออกจากกันไปเรื่อยๆ และสังคมจะต้องเลือกว่าจะให้สถาบันใดมั่นคงกว่าอีกสถาบันหนึ่ง

โจทย์ของรัชกาลที่ 9 นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างสูงว่าพระองค์จะต้องวางพระองค์อย่างไรในการเมืองสมัยใหม่นี้ การมีสิ่งนำทางความคิดจึงเป็นเรื่องจำเป็นไม่น้อยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้หากเรากลับไปพิจารณาช่วงของรัชกาลที่ 8 แล้วเราจะพบความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้น กล่าวคือในพระราชานุกิจตั้งแต่รัชกาลที่ 8 ที่เปลี่ยนไปจากเดิมทุกอย่าง เรื่องพระราชานุกิจนี้ต้นฉบับเดิมแสดงพระราชานุกิจของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นกิจวัตรและการทรงงานประจำวันตามตารางเวลาปกติของพระมหากษัตริย์[4] (ความจริงแล้วแต่ละรัชกาลก็แตกต่างจากรัชกาลก่อนด้วย การปรับตัวเกิดขึ้นตลอด) รวมไปถึงการอบรมจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็มีส่วนอยู่ไม่น้อยต่อการก่อรูปพระองค์ขึ้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่รัชกาลที่ 8 ทรงถ่ายทอดให้แก่รัชกาลที่ 9 นั่นก็คือการเสด็จประพาสสำเพ็งและช่วยประสานคนไทยกับจีนเข้าไว้ด้วยกันสำเร็จ ตัวแบบการปฏิบัติการเป็นพระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 9 จึงมีจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญ แต่อาจจะเกิดคำถามขึ้นได้ว่าแล้วมีหลักฐานอะไรหรือที่ยืนยันได้ว่าการเสด็จสำเพ็งนี้สำคัญจริง?

หากเราลองมองไปยังพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง จะมีภาพเขียนจิตรกรรมซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งการซ่อมภาพเก่าและเขียนภาพใหม่ขึ้นซึ่งมีการเล่าเรื่องพระราชพิธีและพระราชกรณียกิจสำคัญของราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลของพระองค์ ภาพจิตรกรรมนี้จะมีอยู่ทั้งหมด 8 ช่อง ถ้าเราดูมาเรื่อยๆ เราจะพบกับช่องที่ 6 ซึ่งช่องนี้เป็นช่องที่แสดงภาพของรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนครโดยทรงทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรัตนสถานนั้นถูกทิ้งร้างหลังถูกระเบิดลงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มการบูรณะ และตอนล่างของภาพนี้เองคือภาพที่ยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสด็จสำเพ็งเยือนชุมชนชาวจีน [5]

รูปจาก http://api.guideglai.com/node/6419

การที่พระองค์มีพระราชกระแสให้มีภาพนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง และหากพิจารณาหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ เช่น แมวของพระองค์ที่ชื่อติโต และการแปลหนังสือประวัติติโตออกมาใน พ.ศ. 2519 ปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ได้ทำให้เรามองเห็นร่องรอยบางอย่างของการเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องชาติพันธุ์อยู่ไม่น้อย และการทำโครงการพระราชดำริหรือโครงการหลวงต่างๆ นั้นเราก็จะเห็นความสัมพันธ์ของโครงการกับกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ด้วย ดังนั้นเหตุผลที่พระองค์ทรงทำโครงการต่างๆ เหล่านี้จึงต้องการมองไปให้ไกลกว่าแต่เพียงว่าเป็นเพียงเพราะกระแสสงครามเย็นโดดๆ เท่านั้น ในแง่นี้การปฏิบัติงานของพระองค์จึงมีตัวแบบที่ซ่อนให้ค้นหาคำตอบอยู่มาก

การพยายามค้นหาแนวทางปฏิบัติของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์สมัยใหม่ในการ live up to expectation นั้นจึงไม่ควรถูกตีกรอบได้ง่ายๆ เพียงการทำงานลอยๆ อยู่ในอากาศที่จู่ๆ ความดีงามก็ปรากฏขึ้นออกมา แต่ก็มิใช่เพียงการอธิบายว่าพระองค์พยายามจับมือกับใครและผลักดันให้ล้มใคร เพราะคำอธิบายเหล่านี้มิอาจขยายพรมแดนความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ แก่รัชสมัยของพระองค์ได้เลย ดังนั้นแม้รัชกาลที่ 9 จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และเราทุกคนต่างรู้ว่าพระองค์สำคัญนั้น แต่เรากลับรู้เกี่ยวกับพระองค์น้อยมาก ความรู้ที่น้อยนี้ทำให้การ conceptualize รัชสมัยของพระองค์โดยนักวิชาการนั้นก็ยังมิอาจทำความเข้าใจได้ดีพอ

ทั้งนี้ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทำได้ดีกว่าใคร ข้าพเจ้าเพียงแต่มองเห็นปัญหาบางกระการในการศึกษารัชสมัยของพระองค์ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าคิดว่าหากเราทดลองเรียงลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดูเราก็อาจจะพบอะไรได้บ้าง กล่าวคือ

  1. พระองค์ทรงตั้งชื่อแมวว่าติโต ซึ่งติโตเป็นผู้นำที่โลกเสรีชื่นชมมากในช่วงสงครามโลก, 2487
  2. การเสด็จเยือนเยาวราชและการประสานคนไทยกับคนจีน, 2489
  3. รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต, 2489
  4. การรัฐประหาร พ.ศ.2490
  5. จอมพล ป. รัฐประหารตัดหน้าก่อนพระองค์เสด็จนิวัติพระนครสามวัน
  6. การเสด็จออกชนบทครั้งแรก

หากเราลองมองเหตุการณ์อย่างน้อยหกเหตุการณ์นี้เราจะพบเจอคำบอกใบ้อะไรบางอย่างว่ารัชกาลที่ 9 จะทรงทำตัวอย่างไรในขณะนั้น รวมไปถึงเป้าหมายในระยะยาวของพระองค์คืออะไรด้วย กล่าวคือ

  1. พระองค์คิดอย่างไรกับติโต และติโตได้มอบบทเรียนอะไรให้พระองค์?
  2. การเสด็จเยือนเยาวราชที่สามารถประสานคนไทยและจีนไว้ด้วยกันได้ซึ่งพระองค์witness เหตุการณ์นี้ด้วยพระองค์เอง ทำให้พระองค์มีความเข้าใจต่อบทบาทของพระองค์ต่อมาอย่างไร?
  3. การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ได้ทำให้พระองค์มองการเมืองและสิ่งแวดล้อมพระองค์ขณะนั้นอย่างไร เหตุการณ์นี้เป็น juncture สำหรับพระองค์หรือไม่?
  4. การรัฐประหาร พ.ศ.2490 ส่งผลต่อพระองค์อย่างไร?
  5. การรัฐประหารตัดหน้าของจอมพล ป. ทำให้พระองค์ต้องรับมืออย่างไร?
  6. การเสด็จออกชนบทของพระองค์นั้นมีนัยอย่างไรต่อการเมืองในขณะนั้น?

หกคำถามและหกเหตุการณ์นี้จะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นถึงความสัมพันธ์และแนวทางของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ของประเทศ ปฏิสัมพันธ์และทางเลือกและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นทำให้พระองค์ต้องเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งและต้องไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปด้วย เมื่อเป็นดังนั้นแล้วการ “ปกเกล้าแต่มิปกครอง” อาจจะยังไม่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างเด่นชัดถึงบทบาทของพระองค์ หากแต่เราต้องดูถึงความสามารถในการปกเกล้าของพระองค์ที่จำต้องมีด้วย

Raymond Williams ได้เขียนเกี่ยวกับการ “ปฏิวัติ” เอาไว้ในหนังสือ The Long Revolution ของเขาโดยดูที่โครงสร้างทางความรู้สึกจากมุมมองของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมโดยเน้นไปที่ความรู้สึกในคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีการใช้ชีวิตจริง (Actual life) และเปลี่ยนผ่านไป ซึ่งไม่ใช่การเรียนรู้ประสบการณ์เท่านั้นแต่ยังสร้างสิ่งใหม่อีกด้วย เพราะในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน อุดมการณ์เดิมจะค่อย ๆ ผุกร่อนไปพร้อมกับการก่อตัวของความรู้สึกใหม่ซึ่งความรู้สึกใหม่ยังไม่ลงตัวอันเป็นช่วงที่สถาบันใหม่ๆ ยังมิอาจก่อตัวได้อย่างชัดเจน

ข้าพเจ้าอยากจะเสริมเขาว่ามิได้เกิดแต่กับเพียงประชาชนดอก แต่ยังเกิดแก่พระมหากษัตริย์ผู้อยู่สูงสุดด้วยนี่ จึงเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครสามารถกุมความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเด็ดขาด และยังเป็นการวิภาษระหว่างสังคมและเวลา การสะท้อนย้อนคิดจึงเกิดขึ้นแก่กัน ไม่ใช่แค่ระหว่างประชาชนกับสังคม แต่ยังเป็นประชาชนกับพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์กับระบอบใหม่ด้วย

Friedrich Nietzsche เคยกล่าวเอาไว้ว่าความเป็นสมัยใหม่นั้นได้พรากศีลธรรมของสังคมไปอย่างยิ่ง จนเขาลั่นวาทะสะท้านโลกเอาไว้ว่า “God is dead… [a]nd we have killed him” หรือ Max Weber ที่กล่าวว่ากระบวนการทำให้เป็นโลกียะ กระบวนการให้เหตุผล และกระบวนการลดทอนพลังเร้นลับได้นำไปสู่ภาวะ “การถอดถอนมนตร์เสน่ห์” ที่โลกแบบเดิมเคยมีผ่านวัฒนธรรม ถ้าเช่นนั้นความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็คงถูกถอนออกจนหมดไป และพระมหากษัตริย์ก็คงจะไม่เหลือที่ให้อยู่รอดเช่นกัน… แต่เพราะเหตุใดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ในความหมายใหม่ในโลกที่เหตุผลเป็นใหญ่ได้?

สมเกียรติ วันทะนะ ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ยุคโบราณและยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเอาไว้ว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ได้เพราะความปรีชาสามารถและความวิริยะอุตสาหะในฐานที่ทรงเป็น ‘มนุษย์’ เป็นหลัก ส่วนคุณสมบัติที่เป็น ‘สมมติเทพ’ นั้นเป็นรอง และมักจะได้มาจากพิธีกรรมที่มีผู้จัดถวายให้ในภายหลัง” [6] ถึงแม้ว่าจะเป็นยุคโบราณและยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ก็มอบประเด็นที่สำคัญให้เราครุ่นคิดกับรัชกาลที่ 9 อย่างมากทีเดียวในแง่ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นมนุษย์ และการเป็นมนุษย์นี้เอง “เท่ากับการแสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ผ่านลุ่มดอนร้อนหนาวมาอย่างมีถูกมีผิด มีเต็มมีพร่อง แต่มีบทเรียนของชีวิตจริงและความจริงอันทรงคุณค่าทิ้งไว้ให้แก่เรา” [7]

หาก Nietzsche ยังคงอยู่ เขาอาจจะเติมประโยคเข้าไปอีกสักหน่อยว่า “God is dead… but the King is alive!”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีงานอดิเรกประการหนึ่งคือการวาดรูปบนเครื่องกระเบื้อง มีจานใบหนึ่งที่ทรงวาดคล้ายเป็นรูปดาวกระจายและทรงมีอักษรย่อกำกับแต่ละดาวเอาไว้พร้อมกับข้อความฝรั่งเศสที่แปลว่า “ฉันจะเดินทางด้วยเรือลำนี้” และทรงตั้งชื่อเรือนี้ว่า Navire Plastrem ซึ่งหากสังเกตดูเราจะพบว่าเรือลำนี้มีชื่อของนักปรัชญาและนักคิดนักกวีอยู่ไม่น้อย เช่น PL นั้นคือ Platon หรือชื่อของเพลโตในภาษาฝรั่งเศส หรือ JJ นั้นก็คือ Jean-Jacques Rousseau [8] เรือลำนี้จึงมีจุดมุ่งหมายบางประการและมีปลายทางที่แน่นอน

รูปจาก https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=vinitsiri&month=10-2013&group=124
รูปจาก https://www.the101.world/the-young-kings/

การเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์จึงทรงมีเป้าหมายบางอย่างอยู่ด้วย แต่เป้าหมายนั้นคืออะไร? นี่คือคำถามที่สำคัญ และเราจะต้องย้อนกลับไปอีกครั้งสู่จุดเริ่มต้นเพื่อหาคำตอบของทุกสิ่ง และสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง และในขณะที่วิกฤตการเมืองยังคงเกิดขึ้น ก็ยังจะมีบทเพลงหนึ่งคอยบรรเลงเพื่อให้เราหาคำตอบ และปรับคำตอบนั้นสู่บริบทอื่นๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากวังวนเดิมๆ และสรรสร้างโลกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้

….

โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ
ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย

บัดนี้เรือที่ชื่อ Navire Plastrem คงจะเข้าเทียบท่าจุดหมายแล้ว… เหลือเพียงแต่เราต้องค้นหาเส้นทางเดินเรือและไปพบ ณ ปลายทางนั้นกันเสียที

* [บทความชิ้นนี้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ปรับดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนอยู่]

อ้างอิง :

[1] A. J. P. Taylor, The Habsburg Monarchy, 1809-1918: A History of the Austrian Empire and Austria-Hungary (London: Hamish Hamilton, 1948), p. 10. ข้อความต้นฉบับ คือ “In other countries dynasties are episodes in the history of the people; in the Habsburgs Empire peoples are a complication in the history of the dynasty… No other family has endured so long or left so deep a mark upon Europe: the Habsburgs were the greatest dynasty of modern history, and the history of central Europe revolves round them, not they round it.
[2] A. Wess Mitchell, The Grand Strategy of the Habsburg Empire (Princeton: Princeton University Press, 2018).
[3] โปรดดูแนวการเขียนประวัติศาสตร์นี้ใน ธงชัย วินิจจะกูล, โฉมหน้าราชาชาตินิยม (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2559).
[4] รายละเอียดใน ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 182-191.
[5] วารุณี โอสถารมย์, “การอ่านความหมายภาพจิตรกรรมฝาผนังในรัชกาลที่ 9 ที่พระพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง,” ใน พระเจ้าอยู่หัวกับสารทางวัฒนธรรม (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), หน้า 9-10 และ 19.
[6] สมเกียรติ วันทะนะ, โลกที่อำนาจเป็นใหญ่ (วโส อิสริยัง โลเก): ความคิดทางการเมืองไทยจากพระเจ้าเอกทัศถึงรัชกาลที่ 4 (กรุงเทพฯ: ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2564), หน้า 323.
[7] ศุภมิตร ปิติพัฒน์, บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของประกาศกร่วมสมัย: เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล และ สมศักดิ์ เจียมธรสกุล (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2555), หน้า 338.
[8] ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 141-145.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า