หรือว่าบุตรแห่งสุลต่านปัตตานี แท้จริงแล้วคือผู้ชำระพงศาวดาร “เซอจาระห์มลายู”

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

พงศาวดารราชสำนักมะละกาหรือที่เรียกกันว่า เซอจาระห์มลายู’ (Sejarah Melayu) นับเป็นเอกสารเก่าแก่ที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการทำความเข้าใจ ‘โลกมลายู’ (Alam Melayu) ผ่านสายตาของราชสำนักมะละกาในฐานะเจ้าของธรรมเนียม (adat) อย่างมลายูที่รัฐมลายูทุกรัฐได้แบบอย่างของขนบธรรมเนียมมาใช้จนถึงปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ว ‘เซอจาระห์มลายู’ หาใช่ ‘ชื่อที่ถูกต้องแท้จริง’ ของเอกสารชิ้นนี้แต่อย่างใด ปัจจุบันเป็นการพิสูจน์แน่แล้วว่า ‘เซอจาระห์มลายู’ แท้จริงแล้วมีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า ‘Sulalat u’s-Salatin yakni pituturan segala raja-raja’ (สาแหรกพระราชวงศ์และความทรงจำของเหล่ากษัตริย์) [1] เชื่อกันว่าเอกสารชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นแล้วเสร็จในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 และมีการคัดลอกต่อ ๆ หลายสำนวนที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่น้อยกว่า 32 สำนวน จุดประสงค์ของเอกสารชิ้นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขียนขึ้นเพื่อที่จะสืบสาแหรกของราชวงศ์มะละกาสายปรเมศวรรวมถึงกษัตริย์พระองค์ต่อมาๆ อีกทั้งยังได้บรรจุประวัติศาสตร์ของมะละกาและรายละเอียดของพระราชพิธีต่าง ๆ ด้วย 

ทั้งนี้ ต้นฉบับของ‘เซอจาระห์มลายู’ ฉบับสำคัญ ๆ นิยมอ้างอิงและใช้กัน 2 ฉบับ นั่นก็คือ ฉบับของราฟเฟิลหมายเลข 18 (ราวก่อน ค.ศ.1612) และ ฉบับครูเซ็นเทิร์น (..1798) [2] เหตุการณ์ท้าย ๆ ที่ ‘เซอจาระห์มลายู’ แต่ละฉบับมักบันทึกไว้ตรงกันคือเหตุการณ์การเสียกรุงมะละกาให้แก่โปรตุเกส การเสียชีวิตของตุนอาลีฮาตี และเหตุการณ์กองทัพโปรตุเกสโจมตีเมืองยะโฮร์ลามาในปี ค.ศ.1535 ถึงกระนั้น ‘เซอจาระห์มลายู’ แต่ละฉบับก็เหมือนกับพงศาวดารของไทย นั่นก็คือมักจะมีการเขียนแทรกความเห็นของผู้ชำระ/คัดลอกเอาไว้ในเนื้อหาที่เขียนใหม่ด้วย เพื่อเหตุผลว่าจะเป็นการทำให้ฉบับคัดใหม่นี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ต้องเข้าใจด้วยว่าตามทัศนะของคนแถบนี้ในอดีตเห็นว่าการแก้ไขและใส่ความเห็นของตนลงไปนั้นไม่ใช่การแต่งหรือใส่ไข่ลงในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด เพราะสำหรับโลกตะวันออก ‘พงศาวดาร’ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นงานเขียนประวัติศาสตร์แบบความเข้าใจของโลกตะวันตก หากแต่จุดประสงค์ของงานเขียนจารีตเหล่านี้มีความลึกซึ่งยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับงานเขียนในรูปแบบพงศาวดารมลายูหรือเซอจาระห์/ฮิกายัต (Hikayat) นั่นก็คือการสืบสาแหรกของกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่เจ้าผู้ปกครอง [3]

แม้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า ‘เซอจาระห์มลายู’ ฉบับเก่าแก่นั้นดั้งเดิมที่สุดถูกเขียนขึ้นโดยใครกันแน่ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าฉบับเก่าแก่ที่สุดย่อมถูกเขียนขึ้นก่อน ค.ศ.1612 อย่างแน่นอน Ahmat Adam นักวิชาการชาวมาเลเซียผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มะละกาเชื่อว่าผู้แต่ง ‘เซอจาระห์มลายู’ น่าจะเป็นคนชาวเมืองมะละกาที่อาศัยอยู่ที่นี่ก่อนมะละกาจะแตกแก่โปรตุเกส อีกทั้งน่าจะเป็นคนที่พูดอ่านเขียนอักษร ‘กาวี’ (ภาษาชวาโบราณ) ได้เป็นอย่างดีด้วยหรือมีความเป็นไปได้เลยว่าผู้แต่งน่าจะเป็นชาวมะละกาที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวชวา [4] อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าการตีความเช่นนี้ออกจะเป็นการฉาบฉวยไป เพราะมีหลักฐานถึงการอ้างถึงชื่อสถานที่เป็นภาษาไทย (สยาม) หลายจุดใน ‘เซอจาระห์มลายู’ ย่อมชี้ชัดว่าผู้แต่งน่าจะมีความรู้เรื่องภาษาไทยเป็นอย่างดีด้วย หรือเป็นไปได้ว่าผู้แต่งมีหลายคนและแต่ละคนอาจรับผิดชอบในส่วนที่แตกต่างกันไปและจำต้องมีผู้ที่ใหญ่ที่สุดที่จะทำหน้าที่ควบคุมการแต่งและชำระเอกสารทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการอ่าน ‘หน้าต้น’ (อารัมภบท) ของ ‘เซอจาระห์มลายู’ ฉบับปี 1612 (ตรงกับ พ.ศ. 2155 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งอยุธยา) ระบุว่า

 …..บัดนี้ ในปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 1021…. สุลต่านเอาลุดดิน ชาห์ ผู้เปรียบดังเงาของพระผู้เป็นเจ้าที่ประทับฉายลงมาบนผืนโลก ขณะเสด็จ ณ ปาเซอร์ บัดนั้น  ศรี นรวังสา ผู้มีนามว่า ตุนบัมบัง บุตรแห่ง ศรี อัครา กษัตริย์แห่งปัตตานีอ้างถึงพระนามของสุลต่านผู้ทรงมีพระราชโองการที่จะให้มีพระราชพงศาวดารว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์ของกษัตริย์มาเลย์ในอดีตพร้อมทั้งเรื่องราวของพระราชพิธีในราชสำนัก เพื่อเครื่องย้ำเตือนแก่เหล่าทายาทผู้สืบสันตติวงศ์ของพระองค์ในกาลข้างหน้า…. [5]

มาถึงจุดนี้ ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดของ ‘เซอจาระห์มลายู’ ความสนใจของผู้เขียนจะมุ่งไปยัง ตุนบัมบัง ผู้รั้งตำแหน่งขุนนางชั้นสูงที่มีราชทินนามในมะละกา ว่า ศรี นรวังสา จากอารัมภบทของเอกสารชั้นต้นข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่าตุนบัมบังผู้นี้คือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลการชำระ ‘เซอจาระห์มลายู’ ฉบับปี 1612 ภายใต้พระราชโองการของสุลต่านเอาลุดดิน ชาห์ แห่งมะละกาที่ ณ ขณะนั้นทรงลี้ภัยโปรตุเกสอยู่ที่แถบปาเซอร์ เกาะสุมาตรา แต่เรื่องใหม่และเซอไพรส์กว่าคือตุนบัมบังผู้นี้มีหลักฐานระบุชัดเจน (ด้วยตัวของเขาเอง) ว่าเป็นบุตรของ ‘ศรีอัครา’ – ‘กษัตริย์แห่งปัตตานี’ !

ทั้งนี้ การที่จะมีคนในราชสำนักปัตตานีเข้าไปเกี่ยวข้องกับราชสำนักมะละกาย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะราชสำนักปัตตานีก็รับธรรมเนียมอย่างมลายูมาจากมะละกา (หลักฐานชั้นต้นเขียนตรงกันทั้งปัตตานีและมะละกา) แต่จะเป็นการยากเกินความสามารถของผู้เขียนหากว่าจะระบุให้ชี้ชัดลงไปว่า ตุนบัมบังคือใครกันแน่ นอกเสียจากว่าเขามีพื้นเพเป็นคนในราชสำนักปัตตานีที่มีความสามารถมากจนได้รับตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นสูงในมะละกา และเท่าที่หลักฐานจะอนุญาตให้ศึกษาตีความนั้น เราไม่สามารถล่วงรู้เลยว่าตุนบัมบังคือใครในเอกสารปัตตานี แม้จะมีชื่อของ ‘รายามัมบัง’ในฮิกายัตปัตตานี (ในภาษาใต้และมลายู บ. กับ ม. ออกเสียงแทนกันได้) แต่รายามัมบังองค์นี้ก็ถูกฆ่าตายอันเป็นผลจากการแก่งแย่งราชสมบัติไปตั้งแต่ค.ศ. 1573 ดังนั้น ‘ตุนบัมบัง’ กับ ‘รายามัมบัง’ น่าจะเป็นคนละคนอย่างแน่นอน

แต่ถ้าจะให้ง่ายกว่าการสืบหาว่าตุนบัมบังคือใคร นั่นก็คือคำถามที่ว่าใครคือพระบิดาของเขาได้บ้าง ? คำตอบนั้นจะแคบลงมาอีกมาก จากหลักฐานเราสามารถอนุมานได้อีกด้วยว่าตุนบัมบังซึ่งขณะนั้นน่าจะอาวุโสและเห็นควรอายุไล่เลี่ยกับ รายาฮีเยา กษัตริยาแห่งปัตตานี (เสียชีวิต ค.ศ.1616) ด้วยเหตุนี้ สุลต่านแห่งปัตตานี (หรือ ศรี อัครา ตามเซอจาระห์มลายู) ที่พอจะมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพระบิดาของตุนบัมบังก็น่าจะเป็น สุลต่านมันโซร์ ชาห์ (ค.ศ.1564-1572) เมื่อเทียบอายุกันแล้วน่าเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อีกด้วยว่า พระบิดาของรายาฮีเยาและตุนบัมบังน่าจะเป็นพระองค์เดียวกัน

กล่าวมาถึงจุดนี้ แม้จะไม่สามารถสรุปว่าลงท้ายแล้วตุนบัมบังมีพื้นเพเบื้องลึกเป็นใครในราชสำนักปัตตานี แต่น่าเชื่อว่าจากความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีและมะละกาที่มีคนปัตตานีเป็นถึงชนชั้นสูงในราชสำนักนี้เอง กระทั่งเมื่อราชวงศ์มะละกาได้มาตั้งเมืองใหม่ที่ยะโฮร์ลามา ทั้ง 2 ราชวงศ์ก็ยังคงมีการเจริญสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีกระทั่งมีการให้เจ้าหญิงกูนิงอภิเษกกับเจ้าชายแห่งยะโฮร์ในเวลาต่อมาอันสะท้อนถึง จุดสูงสุดของทั้ง 2 ราชวงศ์ดังกล่าวอีกด้วย

อ้างอิง :

[1] Ahmat Adam. The Sejarah Melayu Revisited. (Selangor : SIRD Press). Pp. 1.
[2] Ahmat Adam. The Sejarah Melayu Revisited. (Selangor : SIRD Press). Pp. 2.
[3] โปรดดู เอ. ซี. มิลเนอร์. เกอราจาอาน : วัฒนธรรม การเมืองมลายูในก่อนอรุณรุ่งของระบอบอาณานิคม. และ ชุลีพร วิรุณหะ. บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู.
[4] Ahmat Adam. The Sejarah Melayu Revisited. (Selangor : SIRD Press). Pp.  26, 31-33.
[5] Ahmat Adam. The Sejarah Melayu Revisited. (Selangor : SIRD Press). Pp. 5. และโปรดอ่านเซอจาระห์มลายูฉบับแปลโดยเลเดนประกอบ ใน John Layden. Malay Annals (1821).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า