‘พระยอดเมืองขวาง’ วีรบุรุษสยามผู้อาจหาญต่อสู้อำนาจของฝรั่งเศส

ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสกำลังจ้องฮุบเอาดินแดนสยาม ได้เกิดเรื่องราวสำคัญอันนำไปสู่เหตุการณ์ ร.ศ.112 เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ “พระยอดเมืองขวาง” หนึ่งในวีรบุรุษสยามที่อาจหาญต่อสู้อำนาจของฝรั่งเศส รวมถึงยอมเสียสละอิสรภาพของตนเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไว้

และเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังก่อให้เกิดปณิธานอันแรงกล้าของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูประบบศาลไทย เพื่อปลดแอกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนมีสถาบันตุลาการเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันว่า “ศาลสถิตยุติธรรม คือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน”

พระยอดเมืองขวาง เป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นบุตรของพระยาไกรเพ็ชร์ (มิตร กฤษณมิตร) เริ่มรับราชการเป็นข้าหลวงผู้ช่วยในกองข้าหลวงใหญ่นครจำปาสัก รักษาราชการกองข้าหลวงลาวกาว ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยอดเมืองขวาง และในปี พ.ศ. 2428 ได้เป็นเจ้าเมืองคำม่วน เมืองหน้าด่านที่ต้องต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสในกรณีพิพาท ร.ศ.112

เมื่อปี พ.ศ. 2436 ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างการปักปันเขตแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส กองทหารฝรั่งเศสได้นำกำลังเข้ามาในเมืองคำม่วน บังคับให้พระยอดเมืองขวางออกไปจากเมือง อ้างว่าจากการสำรวจของฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2431 เมืองคำม่วนอยู่ในเขตของเวียดนาม แต่พระยอดเมืองขวางตอบโต้ว่าตนได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าอยู่หัวให้มาเป็นข้าหลวงอยู่ที่นี่ แสดงว่าเมืองคำม่วนเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักร จะยกเมืองให้ใครไม่ได้หากไม่มีพระบรมราชโองการรับสั่งมา

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น โดยทางฝรั่งเศสได้สั่งให้นายกรอสกุแรง พร้อมไพร่พลคุมทหารเข้าปล้นยึดเมืองคำม่วน ซึ่งพระยอดเมืองขวางมิได้ต่อสู้ขัดขวางเพราะเกรงว่าจะกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงสยามและประเทศฝรั่งเศส

นายกรอสกุแรงได้จับกุมหลวงอนุรักษ์ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวางไว้ แล้วคุมตัวพระยอดเมืองขวางไปส่งที่เมืองท่าอุเทน แต่พระยอดเมืองขวางลอบลงเรือหนีมาตามลำน้ำโขง จนพบกับ หลวงวิชิตศาสตร์ ข้าหลวงเมืองพวน นำกำลัง 100 กว่าคนมาช่วย พระยอดเมืองขวางเป็นห่วงหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยซึ่งถูกฝรั่งเศสจับตัวไปจึงตามไปช่วย และเจรจาให้นายกรอสกุแรงปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์ แต่นายกรอสกุแรงไม่ยอม โดยระหว่างเจรจาได้เกิดการโต้เถียงชุลมุน และเกิดการต่อสู้กันขึ้น นายกรอสกุแรงยิงปืนใส่ทหารที่ล้อมอยู่ ลูกปืนถูกขุนวังและทหารสยามตายจำนวนหนึ่ง ส่วนนายกรอสกุแรงถูกกระสุนปืนเข้าที่ขมับ นอนเสียชีวิตอยู่บนเรือนพร้อมทหารญวนอีกจำนวนหนึ่ง

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นายออกุสต์ ปาวี กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพมหานคร ไม่พอใจฝ่ายสยามเป็นอย่างมาก และกล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางเป็นฆาตกร โดยใส่ร้ายว่าท่านบุกเข้าไปทำร้ายนายกรอสกุแรงขณะนอนป่วยอยู่ในที่พัก และขอให้มีการพิจารณาคดีในศาล รวมทั้งฉวยโอกาสอ้างเป็นเหตุย่ำยีเอกราชของสยาม โดยนายออกุสต์ ปาวี ได้ยื่นประท้วงขอให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางสถานหนัก และให้สยามจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวทหารฝรั่งเศส ญวน และเขมรที่ถูกฆ่าตาย ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุวิกกฤติการณ์ ร.ศ.112

สำหรับการพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งให้ กรมหลวงพิชิตปรีชากร แม่ทัพใหญ่อีสานใต้เป็นประธานคณะผู้พิพากษา โดยศาลรับสั่งพิเศษประทับยืนอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ด้วยพระยอดเมืองขวางผู้เป็นจำเลยมิได้ทำการร้ายด้วยตนเอง

ปรากฏว่า รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมรับคำพิพากษาและสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ รัฐบาลสยามต้องจำยอมอีกครั้งโดยการตั้งศาลผสม ณ สถานทูตฝรั่งเศส โดยมีอัยการฝรั่งเศสดำเนินการฟ้อง ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน ฝ่ายสยาม 2 คน  อธิบดีผู้พิพากษาฝรั่งเศส และต้องตั้งทนายฝรั่งเศสด้วย ซึ่งการพิจารณาคดีมีขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2437 โดยศาลตัดสินด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงจากฝ่ายฝรั่งเศสให้พระยอดเมืองขวางมีความผิด ถูกจำคุก 20 ปี ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายสากลที่ว่า “การกระทำผิดครั้งเดียว จะพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดสองครั้งไม่ได้”

นายออกุสต์ ปาวี ได้ควบคุมดูแลให้มีการจองจำพระยอดเมืองขวางอย่างแน่นหนา คือใส่ขื่อข้อมือข้อเท้าและคอ เยี่ยงนักโทษอุกฉกรรจ์ และเข้าไปตรวจสอบการจองจำพระยอดเมืองขวางในเรือนจำอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อ นายออกุสต์ ปาวี ไม่เข้าไป ผู้คุมก็จะถอดขื่อคาออก

พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่ 4 ปี ก็ได้รับอิสรภาพ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จนิวัตพระนคร หลังการประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 พระยอดเมืองขวางก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท แต่พระยอดเมืองขวางผู้ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษผู้รักชาติ มีชีวิตต่อมาอีกเพียง 2-3 ปี ก็ถึงแก่กรรม จากการล้มป่วยด้วยวัณโรค และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2443 ขณะอายุได้ 48 ปี

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า