‘ฮังตูวะห์’ ฮีโรมะละกาผู้จงรักภักดีต่อสุลต่าน

ตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ฮังตูวะห์ (Hang Tuah) ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นเป็นเรื่องที่รับรู้กันดี ตำนานเรื่องเล่าของบุคคลผู้นี้ได้รับการปลูกฝังแก่เด็กชาวมาเลย์ตั้งแต่ยังเล็กยังน้อยในฐานะตัวแทนของ ‘ความเป็นมลายู’ ที่สืบทอดมาจากอดีตอันไกลโพ้น การละเล่นของเด็กชายมาเลย์หากเทียบกับไทยคือ การสมมติตัวเองเป็นตัวละครจักรๆวงศ์ๆ ฮังตูวะห์ ซึ่งก็ไม่ต่างกับ ‘สิงหไกรภพ’ หรือ ‘โกมินทร์’ ของเด็กไทย ที่เด็กผู้ชายมาเลย์มักแย่งบทบาทพระเอกผู้เก่งกาจปราบเหล่าร้ายด้วยการอาศัยอำนาจและสติปัญญาอันเป็นเลิศ รวมถึงฝีมือในการใช้อาวุธ (วิเศษ) นั่นก็คือ ‘กริชตะหมิงส่าหรี’

แม้การถกเถียงของการมีตัวตนอยู่จริงของฮังตูวะห์จะเป็นดีเบตอันแสนเข้มข้นในสังคมมาเลเซียมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง บ้างก็หาว่าฮังตูวะห์ไม่มีตัวตนจริงเป็นเพียงตัวละครสมมติในเรื่องปรัมปราเท่านั้น บ้างก็เห็นว่าฮังตูวะห์ไม่ใช่คนเชื้อสายมลายูหากแต่เป็นคนจีนที่ครอบครัวเข้ามาอาศัยในดินแดนของสุลต่านมะละกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อย่างไรก็ดี บทความชิ้นนี้จะไม่ขอกล่าวถึงประเด็นดีเบตการมีอยู่จริงของฮังตูวะห์ดังกล่าว แต่จะขอเล่ารายละเอียด ‘ตำนาน’ (Hikayat) ของฮังตูวะห์ในฐานะวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของโลกมลายูที่นับว่าเป็นรองเพียงแต่พงศาวดารมะละกา (Sejarah Melayu) เท่านั้น

เป็นที่เชื่อกันว่าตำนานของฮังตูวะห์น่าจะเกิดขึ้นหลังจากการเขียนต้นฉบับพงศาวดารมะละกา(Sejarah Melayu) เสร็จสิ้นในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 – ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพราะในพงศาวดารมะละกามีการกล่าวถึงบางส่วนจากเรื่องราวของฮังตูวะห์ แต่จารีตการเขียนพงศาวดารนั้นเป็นการเขียนเพื่อยกพระยศเจ้านายมลายู ดังนั้น ฮังตูวะห์จึงถูกแยกมาเขียนเป็นวรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งต่างหาก เพื่อเป็นการขับเน้นวีรกรรมของฮังตูวะห์โดยไม่ไปบดบังเรื่องราวและอำนาจบารมีของพระราชวงศ์มะละกา

ตำนานเริ่มต้นขึ้นจากการที่ฮังตูวะห์ได้เกิดและเติบโตจากครอบครัวคนตัดฟืน ณ กัมปงดุยง รัฐมะละกา ต่อมาเขาได้ฝึกวิชาสิลัต (Silat – วิชาการป้องกันตัวแบบมลายู) พร้อมกับเพื่อนอีก 4 คนกับอาดิปุตรา (Adi Putra) จอมยุทธ์ผู้มีชื่อเสียงที่อาศัยบนภูเขา เมื่อทั้ง 5 ได้สำเร็จวิชาป้องกันตัวแล้ว ก็ได้เดินทางติดสอยกันมา จนครั้งหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์มีผู้ร้ายวิ่งไล่ฆ่าคนไม่เลือกหน้า (Running Amok) สหายทั้ง 5 ได้ช่วยเหลือตุนเปรัค (Tun Perak) ขุนนางชั้นสูงของสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ แห่งมะละกาไว้ ด้วยความประหลาดใจในความเก่งกาจของพวกเขา ตุนเปรัคจึงชักชวนให้ฮังตูวะห์และสหายเข้าไปรับราชการในอิสตานา (พระราชวัง)

แล้วฮังตูวะห์ก็ได้รับความไว้วางใจจากสุลต่านมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเป็นถึงหัวหน้าทหารเรือหรือ ลักษมณา (Laksamana) มะละกา รวมถึงองค์รักษ์ประจำพระองค์ของสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ และวีรกรรมที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ฮังตูวะห์ได้รับการยอมรับในสังคมมลายู นั่นก็คือการเอาชนะตะหมิงส่าหรี พลกริชมือดีแห่งอาณาจักรมัชปาหิตลงได้ ภายหลังสังหารตะหมิงส่าหรีแล้ว เจ้าเมืองมัชปาหิตก็ได้มอบกริชของตะหมิงส่าหรีแก่ฮังตูวะห์เพื่อเป็นของขวัญ ว่ากันว่ากริชเล่มนี้มีอำนาจเวทย์มนต์วิเศษ (ปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของราชวงศ์เปรัค)

ดั่งสัจธรรมที่ว่า ‘มีคนรักก็ย่อมมีคนเกลียด’ ความเก่งกาจของฮังตูวะห์ทำให้เขาโดนปล่อยข่าวลือว่าได้กระทำผิดราชอาญาด้วยการแอบลอบมีสัมพันธ์กับสนมต้นเครื่องนางหนึ่งของสุลต่าน เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึงสุลต่านก็พิโรธมาก พระองค์ได้สั่งให้ประหารชีวิตฮังตูวะห์โดยปราศจากการสอบสวนใด ๆ ฮังตูวะห์ยอมรับโทษโดยดีแม้ว่าจะไม่เป็นธรรมต่อเขา แต่ก็ถือว่าเมื่อคำสั่งตรัสออกจากสุลต่านแล้ว เขาในฐานะองครักษ์ผู้ภักดีต่อราชอาณาจักรจำต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ดี ในช่วงที่นำฮังตูวะห์ไปประหาร เขาก็ได้ถูกลอบช่วยเหลือจากขุนนางชั้นสูงตำแหน่งเบนดาหรา (สมุหนายก) ที่ได้นำฮังตูวะห์ไปซ่อนตัวไว้ก่อน (ด้วยตำแหน่งของเบนดราหราคือหัวหน้ากิจการพลเรือน การประหารชีวิตจึงเป็นอำนาจหน้าที่ภายใต้การควบคุมของเขา)

เมื่อข่าวการตาย (ลวง) ของฮังตูวะห์ถูกแพร่ไป ฮังเจอบัต (Hang Jebat) ผู้เป็น 1 ใน 4 ของสหายที่ไปฝึกวิชาสิลัตด้วยกันได้โกรธแค้นสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ มาก เขาเชื่อว่าฮังตูวะห์ถูกพระองค์สั่งประหารอย่างไม่เป็นธรรม ท้ายที่สุด ฮังเจอบัตจึงวางแผนที่จะปลงพระชนม์สุลต่านเพื่อล้างแค้นให้แก่เพื่อนของเขา ในขั้นต้นฮังเจอบัตได้บุกเข้าพระราชวังใช้มนต์ดำทำให้บรรดาทหารองครักษ์ทำอะไรเขาไม่ได้ เบนดาหราจึงทูลสุลต่านว่า ผู้เดียวในมะละกาที่มีฝีมือทัดเทียมกับฮังเจอบัต คือฮังตูวะห์ซึ่งเขาก็ได้บอกความจริงกับสุลต่านไปอย่างตรง ๆ ว่า ‘ยังมีชีวิตอยู่’

สุลต่านได้ให้เบนดราหราเรียกฮังตูวะห์มาช่วยชีวิตพระองค์ เมื่อมาถึงแล้ว ฮังตูวะห์ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ นอกจากนั้นยังได้รับบัญชาให้ฆ่าฮังเจอบัตเพื่อนของเขาด้วย ท้ายที่สุด การต่อสู้กินเวลาหลายวันสุดท้ายฮังเจอบัตก็โดนฮังตูวะห์สังหาร แม้ว่าจะเป็นความจริงที่ทั้ง 2 จะเป็นเพื่อนกัน แต่ด้วยระบบความภักดีแบบราชอาณาจักรมลายู เมื่อสุลต่านมีพระบัญชาอย่างใดแล้วผู้ใดก็ขัดไม่ได้ ดังนั้น ความสำคัญหรือแก่นของตำนานฮังตูวะห์จึงเป็นเรื่องของคำสอนทางการเมืองในโลกมลายูโบราณในประเด็นความภักดีต่อเจ้าผู้ปกครองโดยปราศจากเงื่อนไขหรือเหตุผลส่วนตัวใด ๆ (ไม่ว่าผู้ปกครองคนนั้นจะกระทำผิดหรือไม่ถูกต้องชอบธรรมอย่างใดก็ตาม)

หลังจากนั้น ชีวิตของฮังตูวะห์ก็ได้กลับมารับราชการกับสุลต่านอีก แม้ว่าสุดท้ายจะทรงมอบงานที่ท้าทายที่สุดกระทั่งตัวเขาก็ทำไม่ได้ นั่นก็คือการหว่านล้อมให้เจ้าหญิงองค์หนึ่งแต่งงานกับสุลต่าน เมื่อฮังตูวะห์เสี่ยงทายดูก็พบคำตอบ (จากสวรรค์) ว่าเขาจะทำไม่สำเร็จ ฮังตูวะห์จึงตัดสินใจไม่กลับไปยังราชสำนักมะละกาอีก ตำนานจบเพียงว่าเขาได้อันตรธานหายไปอย่างไร้ร่องรอย

อ้างอิง :

[1] Hang Tuah
[2] The Tuah Legend

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า