การรุกคืบครอบงำนักศึกษาของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ หลัง 14 ตุลา 2516

ก่อนกรณี 14 ตุลาคม 2516 พคท. ไม่ได้มีความสนใจที่จะสร้างแนวร่วมในเมืองอย่างจริงจัง เพราะยุทธศาสตร์การปฏิวัติกำหนดให้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เลือกชนบทเป็นฐานกำลังในการต่อสู้ เมื่อสามารถครอบครองชนบทได้ทุกพื้นที่ พคท. จึงจะรุกเข้ามาในเมืองตามแนวทาง “ป่าล้อมเมือง” และเมื่อนั้นก็จะนำไปสู่การยึดอำนาจรัฐ ความคิดดังกล่าวจึงทำให้ พคท. ละเลยกลุ่มคนในเมือง ที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ และอยู่ในสถานะผู้ถูกกดขี่ไม่ต่างจากชาวนาในชนบท พคท. จึงไม่ได้มีบทบาทชี้นำในกรณี 14 ตุลาคม 2516 เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานในเมืองประเมินสถานการณ์แล้วว่านักศึกษาจะต้องถูกปราบปราม จึงไม่มั่นใจในความปลอดภัย ที่สำคัญอาจไม่เป็นผลดีหากผู้ปฏิบัติงานระดับนำถูกจับกุม จะทำให้สายงานจัดตั้งในเมืองได้รับผลกระทบเสียหายได้ จึงเลี่ยงที่จะเข้าร่วมโดยตรงนอกจากเป็นผู้สังเกตการณ์

ดังปรากฏในกรณีของ ธง แจ่มศรี สมาชิกระดับนำของ พคท. เขาพักอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา จึงมีความคิดที่จะเข้าร่วมการชุมนุมแต่ท้ายที่สุดเขาตัดสินใจไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเขาเพิ่งพ้นโทษจากการจำคุกในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และยังมีเจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ตลอด การเข้าร่วมชุมนุมย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวเขาและขบวนการนักศึกษา ธงได้เล่าประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นความว่า …

“… ระยะเริ่มตอนที่ 13 คนถูกจับ แล้วเขาเริ่มชุมนุม ผมก็เริ่มเดินวนๆ ที่สนามหลวง ตอนนั้นถือว่าผมเป็นคนถูกกฎหมายแล้ว … เพราะฉะนั้นในแง่นี้ช่วงนั้นผมก็รออย่างเดียว … ทีนี้พอถึงช่วงที่เดินขบวนกัน ผมก็ไปดูรอบๆ ผมเตรียมจะเข้าร่วมขบวนกับเขาเหมือนกัน แต่ทางการกล่าวหาว่ามีมือที่สามแทรกแซง เราเข้าไปทำให้พวกเขาลำบาก มีหลักฐานกล่าวหามาได้ เพราะฉะนั้นอย่าเลย ถอยออกมาดีกว่า …

ในขณะเดียวกันธงฯ ก็ไม่ปฏิเสธว่า มีคนของ พคท. เข้าร่วมในขบวนการนักศึกษาด้วย แต่ไม่ใช่แกนนำสำคัญ โดยเขาเล่าไว้ดังนี้ …

“… สายในเมืองเขามีคนเข้าร่วมแน่ แต่เป็นระดับล่าง ไม่ใช่แกนนำสำคัญ คุณต้องเข้าใจ สายงานในเมืองเขามีเข็มงานที่ว่า อำพราง แก่นแกน ซุ่มซ่อน ยาวนาน คือให้รอโอกาส ให้กองทัพมาปลดปล่อยเมือง ไม่ใช่ว่าในเมืองจะลุกขึ้นมาก่อน เพราะบทเรียนแบบนี้เวียดนามก็เจอมาแล้ว พอลุกขึ้นมาโดนปราบเรียบ เสียหายมาก เพราะไม่มีกำลังคุ้มกัน แบบจีนเขาก็ถือว่ารอ พอกองทัพแดงเข้ามาปลดปล่อยปุ๊บ พวกที่อยู่ในเมืองรักษากำลังของตนเองไว้ให้ดี อย่าให้มันทำลายก็นับว่าเป็นผลดีต่อการสร้างสรรค์ต่อไป เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งการต่อสู้ด้วยอาวุธ ชนบทล้อมเมือง ก็มีจุดที่ต่างไปจากยุโรป …

อย่างไรก็ตาม กรณี 14 ตุลาคม ได้เปิดโอกาสการทำงานในเมืองให้แก่ พคท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของประชาชน ที่นักศึกษาเข้าไปคลุกคลี ช่วยเหลือ ให้ความรู้ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่กรรมกรและชาวนา โดยได้เสนอปัญหาที่ตนเองประสบมาเป็นเวลานาน เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอที่จะนำไปสู่การแก้ไข สภาพดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นผลดีแก่ พคท. ในการเข้าไปแทรกแซงชี้นำทางความคิด การเคลื่อนไหว และขยายการจัดตั้งในกลุ่มนักศึกษา กรรมกร และชาวนา

คำถามคือ การสร้างแนวร่วมในเมืองของ พคท. ภายหลังกรณี 14 ตุลาคม ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย มีความเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง

ใน “แถลงการณ์ 30 ปีฯ” พคท. ได้กล่าวว่า การที่รัฐบาลเป็นเผด็จการ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเงื่อนไขที่ดีในการสร้างแนวร่วม แต่ภายหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 บรรยากาศทางการเมืองของไทยได้เปิดกว้างขึ้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตามวิถีของระบอบประชาธิปไตย ในสภาพที่การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างยิ่งนี้ แต่ พคท. ก็ยังคงวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองภายในประเทศภายหลังกรณี 14 ตุลาคม ว่า “สภาพการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนมาก แต่ยุคสมัยยังไม่เปลี่ยน”

ดังปรากฏในเอกสาร “การสร้างแนวร่วมและนโยบายของแนวร่วม” เมื่อ พคท. วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองเช่นนี้ การกำหนดแนวทางการสร้างแนวร่วมจะเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีเงื่อนไขของรัฐบาลเผด็จการ พคท. จะพลิกแพลงสถานการณ์ และสร้างเงื่อนไขอันเป็นผลดีแก่การสร้างแนวร่วมในเมืองได้อย่างไร

หากพิจารณาบรรยากาศเสรีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ผู้มีความตื่นตัวและกระหายใฝ่ รู้ ต้องการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาและต่อยอดทางความคิด บรรยากาศที่เปิดเสรีภาพให้แก่ผู้คนได้นำไปสู่การตีพิมพ์งานเขียนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเขียนฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 ซึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคเผด็จการ ถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่น โฉมหน้าศักดินาหน้าไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตีพิมพ์ซ้ำ ใน พ.ศ. 2517 เป็นงานที่มีอิทธิพลทางความคิดจนกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการอภิปรายทางการเมือง และเนื้อหาที่วิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยได้รับความนิยมจากนักศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นอย่างมาก มีการตีพิมพ์งานเขียนที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ หลักลัทธิเลนิน สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุงทั้งชุด เผยแพร่ใน พ.ศ. 2518 รวมทั้งหนังสือพิมพ์อธิปัตย์กับเสียงใหม่ ซึ่งมีบทความทางทฤษฎีเกือบทุกฉบับก็ถูกตีพิมพ์ในช่วงเดียวกัน นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าไม่เพียงเผยแพร่งานเขียนฝ่ายซ้าย แต่พวกเขายังศึกษางานเหล่านั้นอย่างเข้มข้น ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้เป็นผลดีต่อ พคท. ในการเผยแพร่ความคิดและสร้างแนวร่วมในเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าเงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตยจะเป็นผลเสียต่อการสร้างแนวร่วมของ พคท. ทว่าโครงสร้างเดิมของสังคมไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป นอกจากการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเท่านั้น กลไกของรัฐยังทำงานเช่นเดิมภายใต้ระบบราชการที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นใหญ่ ขณะที่ผู้คนกลุ่มต่างๆ ต่างคาดหวังการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังกรณี 14 ตุลาคม จึงทำให้เกิดการรวมตัวชุมนุมประท้วงเสนอประเด็นปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเป็นธรรม

การชุมนุมประท้วงของประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อันเป็นผลพวงจากการเปิดเสรีภาพทางการเมือง จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่ พคท. จะนำปัญหาเหล่านั้นรุกทางการเมือง เนื่องจากความขัดแย้งทางชนชั้นที่ พคท. เสนอมาโดยตลอดยังดำรงอยู่ในสังคมไทย แม้จะผ่านการต่อสู้ในกรณี 14 ตุลาคม แต่ปัญหาของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไข ทางออกที่ พคท. เสนอในการปฏิวัติสังคมและจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนจึงยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทรงพลัง และเป็นความหวังในการยุติปัญหาทั้งหมด

เพราะฉะนั้น กลุ่มที่เคลื่อนไหวในเมืองจึงเป็นกลุ่มสำคัญที่ พคท. เพิ่มความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะหัวขบวนในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ คือ นักศึกษา ดังสะท้อนจากคำสัมภาษณ์ของ อนุช อาภาภิรม ในนิตยสาร “สู่อนาคต” ฉบับ 7-13 มิถุนายน 2524 ที่กล่าวถึงการทำงานของ พคท. ในเมืองหลัง 14 ตุลาคม ว่า …

“… พคท. ถือว่าขบวนการนักศึกษาเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ ที่ต้องขยายและยึดกุม ซึ่ง พคท. เคยกระทำอย่างได้ผลมาแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 …”

ดังนั้น หลังกรณี 14 ตุลาคม พคท. จึงมีเข็มมุ่งที่จะเข้าไปจัดตั้งนักศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่ พคท. ไม่ได้ให้ความสนใจการสร้างแนวร่วมในเมืองมากนัก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า พคท. ไม่มีการสร้างแนวร่วมก่อนกรณี 14 ตุลาคมเลย เพียงแต่ผู้ปฏิบัติงานเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ไม่แสดงบทบาทอย่างชัดเจนดังเช่นภายหลังกรณี 14 ตุลาคม

ที่สำคัญชัยชนะจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจากกรณี 14 ตุลาคม ทำให้นักศึกษาเป็นกำลังสำคัญที่ พคท. ต้องการสร้างแนวร่วมเพื่อสนับสนุนงานและเผยแพร่แนวคิดของ พคท. ในเมือง อีกทั้งลักษณะพิเศษของนักศึกษา ที่มีอุดมการณ์ จิตสำนึก และความกระตือรือร้นที่ต้องการช่วยเหลือสังคม จึงเป็นคุณสมบัติอันดีที่ พคท. สามารถไว้วางใจในการสร้างแนวร่วมกับนักศึกษาตามหลักการที่ว่า ชนชั้นนายทุนน้อยเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจได้ของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา

นักศึกษาก่อน 14 ตุลาคม ส่วนหนึ่งมีความคิดแบบ พคท. โดยผ่านกระบวนการหล่อหลอมทางความคิดแบบ พคท. ด้วยตนเอง พคท. จึงมีโอกาสใช้ช่องทางนี้เชื่อมโยงความคิดของตนเองเข้ากับนักศึกษาได้โดยไม่ต้องเปิดเผยโฉมหน้าของผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากการรับข้อมูลผ่านการอ่านเป็นวิธีที่นักศึกษาสามารถทำได้ด้วยตนเอง การตีพิมพ์ผลงานของ พคท. ออกสู่สาธารณะหลังกรณี 14 ตุลาคม จึงเปิดโอกาสให้ความคิดของ พคท. เข้าถึงนักศึกษาได้โดยง่ายและสะดวก การเผยแพร่ความคิดผ่านงานเขียนของ พคท. ไปยังนักศึกษาจึงเป็นการเชื่อมโยงทางความคิดของทั้งสองกลุ่ม

หลังเกิดกรณี 14 ตุลาคม การเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมเป็นไปอย่างกว้างขวางและเปิดเผย ขยายไปยังนักศึกษาทั่วประเทศ หนังสือฝ่ายก้าวหน้ามักจะขายดีคืออยู่ในระหว่าง 3,000 – 5,000 ฉบับ และหนังสือหลายเล่มจะพิมพ์หลายครั้งและมียอดหลายหมื่น การเผยแพร่แนวคิดและการรับแนวคิดสังคมนิยมในช่วงนี้ของนักศึกษาในเมือง เป็นผลงานของนักศึกษาเอง ไม่ใช่ พคท. ซึ่งผลิตหนังสือเก่าๆ มาเพียงไม่กี่เล่ม ซึ่งบทความเรื่อง “ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 และ ความสัมพันธ์กับ พคท.” ได้สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวทางความคิดแบบสังคมนิยมของนักศึกษาในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม โดยกิจกรรมทั้งหมดดำเนินไปตามคลื่นความสนใจของนักศึกษา ด้วยการทลายกำแพงกั้นองค์ความรู้ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้ามในรัฐบาลชุดก่อน ทำให้เกิดปรากฏการณ์เผยแพร่งานเขียนอย่างกว้างขวาง ทั้งการตีพิมพ์ซ้ำ เขียนใหม่ และแปลจากภาษาต่างประเทศ โดยผลงานที่เผยแพร่ในหลังกรณี 14ตุลาคมต่างได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นอย่างมาก

มีการตีพิมพ์หนังสือ “จีนแผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล” ในพ.ศ. 2517 โดยชมรมหนังสืออิสระ เป็นจำนวนหมื่นเล่ม ซึ่งนับว่าเป็นยอดพิมพ์ที่สูง การตีพิมพ์หนังสือ “จีนแผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล” จึงสะท้อนให้เห็นความสนใจและความต้องการอ่านหนังสือฝ่ายก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แม้สุดท้ายผู้พิมพ์หนังสือจะขาดทุนเพราะนักศึกษาเอาไปแจกกันหมด จนแทบเก็บเงินไม่ได้เลยก็ตาม นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ยังมีการจัดนิทรรศการจีนแดง โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนในการเข้าชมเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนเป็นสิ่งใหม่ต่อสังคมไทย โดยเฉพาะการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ที่สร้างความสนใจใคร่รู้ จึงนับว่าการเผยแพร่งานเขียนฝ่ายก้าวหน้า และการจัดนิทรรศการของนักศึกษาได้จุดกระแสสังคมนิยมให้มีพลังยิ่งขึ้น และส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อสังคมและการเมืองไทยในเวลาต่อมา

รวมบทความเรื่องปฏิบัติการของ พคท. ในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516

1. การแทรกซึมทางความคิดของ พคท. ปฐมบทแห่งการโฆษณาชวนเชื่อในยุคแสวงหา
2. ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ เปิดวิธีการแทรกซึมของ พคท. ในอดีต เทียบกับวิธีของนักปลุกระดมยุคปัจจุบัน
3. การรุกคืบครอบงำนักศึกษาของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ หลัง 14 ตุลา 2516
4. ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์ กระจกสะท้อนการถูกชี้นำในปัจจุบัน ที่ขาดการประนีประนอมเพื่อผลทางการเมือง จนเกิดภาวะถูกโดดเดี่ยว
5. ‘ย้อนเกล็ดคอมมิวนิสต์’ เมื่อรัฐใช้การต่อสู้ทางความคิด จนพิชิตปัญหาความขัดแย้งลงได้

อ้างอิง :

[1] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์., “ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย,” 75.
[2] ผาสุก พงษ์ไพจิตร,และคริส เบเคอร์., เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, 386.
[3] วิจักษณ์ นันทยุทธ์, เส้นทางชีวิตและโลกทัศน์ทางการเมือง ผิน บัวอ่อน หรือ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ผู้ชูธงทฤษฎีการต่อสู้สองแนวทางในการปฏิวัติไทย, (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือ 25 ปี 6 ตุลา, 2544), 77-78
[4] พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม, “ขบวนการประชาธิปไตยที่นาโดยนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 และความสัมพันธ์กับ พคท.,” เอเชียปริทัศน์ 4, 4 (ตุลาคม – ธันวาคม 2526): 18.
[5] ฤดี เริงชัย. หยดหนึ่งในกระแสธาร, 140.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้