มูลนิธิ ‘สร้างหมอ’ ของพระบรมราชชนก ที่ไม่เคยหยุดทำการแม้จะผ่านมาแล้วกว่าร้อยปี

ในปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทย อยู่ที่ราวๆ 0.5-0.8 คนต่อประชากร 1,000  คน ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานจำนวนแพทย์ต่อประชากรไว้ที่แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000  คน

ช่วงระหว่างตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ตัวแทนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเข้ามาให้ความสนับสนุนกิจการการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทย ในราวๆ ปี พ.ศ.2459 ได้มีความเห็นว่า โรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่มาตราฐานต่ำที่สุดในโลก จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุขขนานใหญ่ ภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก

จากโรงพยาบาลที่มีมาตราฐานต่ำที่สุดในโลก ในปีพ.ศ.2459 ภายในระยะเวลาเพียง 15 ปี แพทย์จากศิริราชพยาบาลภายใต้พระอุปถัมภ์ทางการเงินจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ก็ได้มีผลงานทางวิชาการตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการระดับสากล และรวมถึงมีส่วนร่วมในทีมวิจัยของ Prof. Whipple ที่ได้รับรางวัลโนเบล ปี 1934 จากการค้นพบวิธีรักษา pernicious anemia ด้วยอาหารที่มีตับผสมอยู่ และโดยเฉพาะรายงานของขุนศรีภิษัช ที่ตรวจพบการสะสมไขมันและกรดไขมันในเนื้อเยื่อของลำไส้และต่อมน้ำเหลืองที่ mesentery ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อโรค Whipple disease

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะในด้านวิทยาการหรือความทันสมัยของอุปกรณ์หรือสถานที่ ในปัจจุบันเป็นที่เชื่อถือในระดับโลก จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นMedical Hub ของชาวต่างชาติ ที่พากันมารักษาตัวในประเทศไทย เนื่องจากมาตรฐานการรักษาที่สูงและราคาย่อมเยาว์เมื่อเปรียบเทียบกับแถบประเทศยุโรป

ถึงแม้วงการแพทย์ของไทย ไม่ว่าจะในด้านใดๆ ก็ล้วนแต่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ทว่า “แพทย์ขาดแคลน” กลับคงยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ประเทศไทยยังคงเผชิญอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงในปัจจุบัน

ในอดีตสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ทรงเล็งเห็นว่าหัวใจที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ คือ การสร้างคน ดังนั้น นอกเหนือจากการที่ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อย่างมากมายมหาศาลแล้ว ยังทรงให้ความสำคัญในการผลักดันการพัฒนาหลักสูตรด้านการแพทย์ จนทำให้ในท้ายที่สุด ประเทศไทยก็มีการบรรจุหลักสูตร แพทยศาสตรบัณฑิต เข้าไว้ในระบบอุดมศึกษาและเป็นที่มาของการยกระดับโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้แต่การจะสร้างนักศึกษาแพทย์ขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จากบันทึกของศาสตราจารย์นายแพทย์อภัย ชมุนี เหรียญทองแพทย์ปริญญาคนแรกของไทย ได้เล่าประวัติที่มาของจุดเริ่มต้นแพทยศาสตรบัณฑิตไว้ว่า ในขณะนั้น พ.ศ.2465 เป็นปีแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาแพทย์ปีแรก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ถึงกับชักชวนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ด้วยการจูงใจว่าถ้าสำเร็จการศึกษาแล้ว แพทย์ใหม่จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเงินเดือนแพทย์ปกติเดือนละ 60 บาท(อัตราเงินเดือนเริ่มต้นของข้าราชการสมัยนั้น) แพทย์บัณฑิตจะได้รับเงินเดือน ๆ ละ 120 บาท และในระหว่างเรียนมีหอพักให้อยู่ พร้อมผู้ดูแลเก็บกวาดฟรี แถมเงินเดือนระหว่างเรียนให้อีก เดือนละ 15 บาท (ซึ่งเทียบกับลูกจ้างเสมียน ซึ่งได้เงินเดือนๆ ละ 20 บาท)

Prof. A.G.Ellis ได้ระบุว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรประทานเงิน 200,000 บาท ตั้งเป็นทุนวิทยาศาสตร์แห่งการแพทย์ แก่ศิริราชพยาบาล เพื่อบำรุงการศึกษาและสนับสนุนการวิจัย และรวมถึงเขียนพินัยกรรม ให้บริจาคเงิน 500,000 บาท แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนด 25 ปี ไว้หาผลประโยชน์บำรุงการศึกษาแพทย์ การศึกษาสุขาภิบาล (public health) การศึกษาพยาบาล และการศึกษาการปรุงยา

จากจุดเริ่มต้นนี้เองเป็นที่มาของการสร้างคน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทว่าจากปีพ.ศ. 2463 ที่ประชากรของประเทศไทยมีเพียง 6 ล้านคน ในปัจจุบันประชากรของประเทศไทยได้เข้าใกล้ระดับ 70 ล้านนคนเข้าไปแล้ว นับเป็นเวลาถึงร้อยปี ที่แม้ประเทศไทยจะมีการเติบโตของปริมาณแพทย์ที่คุณภาพสูงเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากรก็ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อประชากรอยู่ดี

พระราชพินัยกรรมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ได้กำหนดไว้ให้ทายาท ซึ่งก็คือ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงมีหน้าที่ต้องประทานเงินจากกองพระมรดก จำนวน 500,000 บาท ภายในระยะเวลา 25 ปี ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเงินกองทุนสำหรับการพัฒนาด้านการแพทย์ นับว่าเป็นพระราชกรณียกิจที่หนักหน่วงอย่างยิ่งของสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ต้องทรงรวบรวมพระราชทรัพย์อันเป็นผลประโยชน์จากกองพระมรดก เพื่อประทานให้กับมหาวิทยาลัยตามพระราชพินัยกรรม

เมื่อคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ใน พ.ศ.2486 แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โอนทุนนี้มาให้คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ในเวลาต่อมาเมื่อดอกผลของเงินกองทุนให้ผลตอบแทนที่น้อยลง ส่งผลให้การจัดสรรทุนสำหรับประทานให้กับนักศึกษาแพทย์ก็ลดน้อยลงตามไปด้วย ทำให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชและอดีตแพทย์ที่เคยได้รับประทานทุนการศึกษา ได้รวมตัวกันจัดหาและสมทบทุนกันเข้ามาให้กับทุนพระราชมรดก จนทำให้ทุนจากพระราชมรดกสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ในปัจจุบันมีกว่า 2,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะจัดสรรดอกผลให้เป็นทุนการศึกษาสำกรับนักศึกษาแพทย์ได้มากขึ้นระดับหนึ่ง

ในปัจจุบันกองทุนจากพระราชมรดกของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร มีชื่อว่า “เงินทุนพระมรดกสมเด็จพระราชบิดา” กรมสรรพากรได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (e-Donation) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2567 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลดหย่อน 2 เท่าสามารถร่วมบริจาคได้กับโรงพยาบาลศิริราชผ่านช่องทางออนไลน์ https://si-eservice.mahidol.ac.th/donation/eDonation.aspx

อ้างอิง :

[1] “เติมไม่เต็ม” ปมแพทย์ขาดแคลน ชำแหละปัญหา ข้อเสนอ-ทางออก
[2] วารสารเวชบันทึกศิริราช กันยายน-ธันวาคม 2552, ปีที่ 2, ฉบับที่ 3
[3] ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย. กรุงเทพฯ : แพทยสภา, 2563.
[4] พระกรณียกิจปฏิบัติของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (C.P.H., M.D.) ที่ทรงอุปการะการแพทย์ในกรุงสยาม. โรงพิมพ์เจตนาผล, 2479.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า