‘ไทยรอดสงครามเย็นในวันที่ถูกอเมริกาทอดทิ้ง’ เพราะการทูตที่แหวกแนวของ ‘ถนัด คอมันตร์’

ไทยเป็นประเทศเฉกเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่จะต้องรับมือการขยายอำนาจของประเทศคอมมิวนิสต์และความพยายามในการสกัดกั้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยสหรัฐอเมริกา การเข้ามาประจันของทั้งสองมหาอำนาจนี้บางประเทศก็เลือกที่จะเข้าข้างอำนาจหนึ่ง บางประเทศก็เลือกที่จะผูกพันกับอีกอำนาจหนึ่ง แต่การผูกพันกับอำนาจใดอำนาจหนึ่งมากก็ย่อมส่งผลเสียตามมาหากมีมหาอำนาจฝ่ายหนึ่งต้องถอยหลังไป ดังนั้นแล้วการทุ่มตัวในการพลิกให้เป็นฝ่ายชนะให้ได้จึงเป็นสิ่งที่น่าจะให้ผลประโยชน์ได้ดีที่สุดมากกว่าการแพ้ แต่มีคนไทยผู้หนึ่งนั้นมองอย่างแตกต่างออกไปที่ถึงจะไม่ชนะ แต่ก็ต้องไม่แพ้ กล่าวคือการ “หนีเสือปะจระเข้” จะไม่มีผลต่อการเลือกว่าเราจะต้องอยู่บนบกหรือในน้ำอีกต่อไป คนไทยผู้นี้คือ ถนัด คอมันตร์

“หากเราหนีเสือ [จีน] แล้วไปปะจระเข้ [โซเวียต] มันก็ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่านัก… ถ้าเราไม่มีทางอื่น เราอาจจะต้องอยู่กับจระเข้… ที่ว่ามานี้คือรูปแบบที่เป็นไปได้ถ้าสหรัฐอเมริกาต้องถอนกำลังออกจากประเทศเรา… เพราะเราไม่อาจบอกได้ว่าภูมิภาคของเราตอนนี้มีอำนาจมากพอ… เราหวังว่าทุกคนจะเข้าใจในประเด็นนี้ และช่วยสนับสนุนประเทศในภูมิภาคที่จะรวมตัวสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นให้เหนียวแน่นกว่าเดิม” คำกล่าวนี้คือคำกล่าวของถนัด คอมันตร์ ผู้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นระดับตำนานของไทยที่จะคิดหาวิธีอยู่รอดในวันที่สหรัฐอเมริกากำลังเลือกที่จะถอนกำลังออก และในวันที่ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์นั้นมีพลังมากขึ้นด้วยการรวมกลุ่มประเทศที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์เพื่อคานอิทธิพลของอำนาจแดงเอาไว้ [1]

เรามักจะคุ้นหูว่าหลักการ Nixon (Nixon Doctrine) ที่ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะถอนกำลังออกจากเวียดนามได้ทำให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนนโยบายกับประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ความจริงแล้วการเปลี่ยนทิศของนโยบายการต่างประเทศไทยนั้นได้เริ่มขึ้นก่อนที่การตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้น และการตัดสินใจนี้เองก็มีส่วนที่ทำให้สงครามเวียดนามบรรเทาความรุนแรงลงด้วย การตัดสินใจเปลี่ยนทิศของไทยนั้นเริ่มหลังจากที่ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ประกาศนโยบายกลับลำให้คุยสันติภาพหลังจากการรุกตรุษญวน ในการนี้ ถนัด คอมันตร์ และคนอื่นๆ ได้มีการกล่าวว่าสหรัฐอเมริกาได้สร้างข้อสงสัยขึ้นให้กับประเทศอื่นๆ และตอนนี้ไทยก็ได้รู้ตัวอย่างแจ่มแจ้งมากกว่าเก่าว่าการพึ่งกับสหรัฐอเมริกานั้นไม่ใช่ทางที่ดีอีกต่อไป

ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องถอนทัพออกไป แต่ถนัดก็ได้ขอให้การถอนทัพนี้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ และไทยเองก็ต้องสร้างความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ในท่ามกลางดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย ถนัดจึงได้คิดค้นการทูตแบบยืดหยุ่นขึ้น

ในขณะนั้นถนัดประเมินว่ามีอยู่ 5 แนวทางสำหรับนโยบายการต่างประเทศของไทยในอนาคต คือ การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่นโยบายนี้เขาพบว่ามหาอำนาจจะไม่ยอมให้ประเทศเล็กๆ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และมักจะโดนยำเสมอ ทางเลือกนี้จึงตัดทิ้งไป ทางที่สองคือการเข้าไปหาคอมมิวนิสต์โดยตรงและ “ชนะใจ” ในเชิงการทูตเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ซึ่งถนัดก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ เพียงแต่ยังไม่ใช่ในตอนนั้น ทางเลือกที่สามคือการประกาศว่าเป็นกลางคือจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นสงครามหรือความขัดแย้งทั้งสิ้นซึ่งต่างจากการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เขาก็ประเมินว่าประเทศคอมมิวนิสต์คงไม่อยู่เฉยๆ เพราะถึงเราจะเป็นกลาง แต่คอมมิวนิสต์ไม่กลางด้วย หรือทางที่สี่การเข้าไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ด้วยเลยก็ไม่มีประโยชน์เพราะจะถูกบีบได้เสมอ เขาเห็นว่าทางที่ห้าเป็นไปได้มากที่สุดคือการรวมกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกันเพื่อเป็นพลังต่อรองใหม่ ซึ่งนี่คือจุดกำเนิดของ ASEAN นั่นเอง

ถนัดเป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้ขึ้นเนื่องจากประเทศต่างๆ ในเอเชียไม่ต้องการพึ่งพลังจากภายนอกอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถจัดการต่อรองประเด็นต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมและมีพลังด้วย ถึงแม้ว่าถนัดในช่วงก่อนนั้นจะเห็นว่าการมีอยู่ของกองทัพสหรัฐอเมริกานั้นเป็นประโยชน์แต่ก็เสียความชอบธรรมลงไปเพราะการเมืองในประเทศของสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งถนัดได้ชี้ว่า “เป้าหมายของสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไป เราไม่ได้เปลี่ยน พวกเขาต่างหากที่เปลี่ยน การมีอยู่ของกองทัพอเมริกันในไทยเสียความชอบธรรมไปแล้ว” และเขายังได้ติติงว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นมหาอำนาจได้ก็ต่อเมื่อรับผิดชอบในภารกิจของตนให้เสร็จสิ้น การถอนทัพออกไปนั้นจะไม่ใช่แค่ส่งผลต่อประเทศอื่น แต่ยังส่งผลไปยังสหรัฐอเมริกาเองด้วยว่าไม่สามารถทำหน้าที่มหาอำนาจได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ถนัดได้เดินหน้าต่อในการวางแนวทางใหม่ทางการทูตที่ไม่ต้องพึ่งสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป พร้อมกับที่สหรัฐอเมริกาค่อยๆ ถอนกำลังออกจากไทย การถอนทัพนี้ได้สร้างความไม่ลงรอยทางการเมืองในไทยเองด้วย กล่าวคือกลุ่มกองทัพไทยยังคงอยากให้กองทัพสหรัฐอเมริกาอยู่ต่อไปเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัย ส่วนกลุ่มในกระทรวงการต่างประเทศนั้นแม้จะยังอยากให้กองทัพอยู่เช่นกัน แต่ก็ตระหนักถึงความจริงที่สหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจไปแล้วด้วย ดังนั้นพวกเขาจึงตระหนักว่าการถอนทัพออกของอเมริกันเองก็ได้มอบพื้นที่ใหม่ทางการต่างประเทศให้กับไทยและภูมิภาคด้วย

การถอนกำลังของสหรัฐอเมริกานั้นสามารถก่อให้เกิดช่องว่างทางอำนาจขึ้นได้ ดังนั้นการร่วมมือของประเทศในภูมิภาคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไทยจึงกลายเป็นหัวหอกในการพาชาติต่างๆ เข้ามาร่วมทำงานด้วยกันในการสร้างสันติภาพภายใต้องค์การ ASEAN ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ถ่วงเอาไว้ไม่ให้เกิดช่องว่างอำนาจจนอาจสั่นคลอนภูมิภาคได้ แต่ ASEAN แตกต่างจากองค์การอื่นๆ ก่อนหน้าเช่น SEATO เพราะ ASEAN ไม่ใช่องค์การในเชิงทหาร แต่เป็นองค์การเชิงการเมือง โดยถนัดชี้ว่าต่อให้ทุกประเทศรวมกันในเชิงกองกำลังก็ยังต้านจีนไม่ได้ วิธีการจึงต้องเป็นวิธีอื่นนอกจากการทหาร

ควบคู่ไปกับการร่วมมือกันของประเทศต่างๆ ไทย (และประเทศอื่น) ก็เริ่มหาแนวทางปรับความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ ถนัดได้เขียนบทความลง Times เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ว่า “จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการพูดคุยในทางการทูตระหว่างกันระหว่างเรากับประเทศคอมมิวนิสต์ แต่เราจะต้องพยายามให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่เราจะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศในอาเซียนสามารถร่วมมือกันอย่างเป็นระบบได้ในการโน้มน้าวให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ละทิ้งสงครามและร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์” นั่นหมายความว่าถนัดได้เห็นแล้วว่าการผ่อนคลายระหว่างกัน (Détente) นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องทำซึ่งในช่วงเวลาของเขานั้นเรื่องนี้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เขาก็ยังเชื่อว่าจะเป็นนโยบายที่ “สามารถปฏิบัติได้จริงในอนาคต” เพราะว่าประเทศคอมมิวนิสต์ไม่สามารถมีท่าทีในเชิงรุกได้ตลอดไป ดังนั้นไทยต้องเตรียมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องด้วย หรือเป็นการ “มีนโยบายที่ยืดหยุ่นมากขึ้นกับจีน” เขาจึงกล่าวว่า “ถ้าปักกิ่งมีสัญญาณว่าเราสามารถพูดคุยกันได้เมื่อไร ผมจะแนะนำให้รัฐบาลไทยไปนั่งโต๊ะทันที แต่ตอนนี้สัญญาณนั้นยังไม่เกิดขึ้น” ถนัดยืนยันว่าไทยไม่ต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือจีน และต้องการที่จะพูดคุยหาทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติให้ได้ ถนัดยังกล่าวต่อไปอีกว่าจีนต่างหากที่ต้านไทยเพราะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนนั้นพูดเองว่าจะทำสงครามกองโจรกับไทย

ถนัดนั้นจึงเตรียมพร้อมเสมอในการไปปักกิ่ง และคาดกันว่าเขาเตรียมจะส่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเจรจา หรือกระทั่งแคล้ว นรปติ ซึ่งเป็นนักการเมืองสายสังคมนิยมในขณะนั้น ไปเพื่อถามกันตรงๆ ว่า ที่ว่าจะทำสงครามเป็นเพราะอะไร แต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์นั้นได้ออกมาปฏิเสธในการไปคุยกับจีนว่าไม่มีประโยชน์เพราะคำตอบนั้นชัดอยู่แล้วว่าเพราะไทยอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีถนัดได้ยืนยันว่านโยบายต่างประเทศไทยนั้นไม่เคยเปลี่ยนเลย คือ การปกป้องเอกราชของประเทศไทยนั้นคือสิ่งที่ดำเนินมาตลอด แต่วิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทดังที่เขากล่าวว่า “เราต้องตระหนักสถานการณ์ในปัจจุบันที่ดุลอำนาจเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราไม่ได้เปลี่ยนนโยบายของเรา นโยบายของเราเหมือนเดิม และเราจะไม่มีวันปล่อยหลักการทางศีลธรรมและทางสติปัญญาของเราทิ้งไป” ดังนั้นจึงหมายความว่าแม้จะ “ลู่ลม” แต่ “ราก” นั้นไม่เปลี่ยนไปตามลมนั่นเอง

หลักการการทูตที่ยืดหยุ่นนั้นประกอบไปด้วยสามประการ คือ ไม่อเมริกัน การร่วมมือในภูมิภาค และการผ่อนคลายความตึงเครียด ถนัดได้สร้างช่องทางในการติดต่อกับจีนผ่านคนที่สามในการหาทางอยู่ร่วมกัน เช่น UN รวมไปถึงการติดต่อกับโซเวียตไปพร้อมกันด้วย แม้ว่าถนัดจะยืนยันว่านโยบายไม่ได้เปลี่ยนก็ตาม แต่การใช้วิธีแบบยืดหยุ่นนี้ได้สร้างการผ่อนคลายได้ในที่สุด และได้กลายเป็นฐานให้ผู้มีอำนาจอื่นๆ ต่อยอดวิธีการของถนัดในการอยู่กับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างสันติและปกป้องเอกราชของไทยเอาไว้ได้

ถนัดจึงสมควรได้รับการยกย่องที่สุดว่า “ถนัดและคนอื่นๆ ได้คิดในสิ่งที่มิอาจจินตนาการได้ในสงครามเย็น นั่นคือการอยู่ร่วมกับทั้งจระเข้และเสืออย่างปลอดภัย” และนี่คือถนัด คอมันตร์ ตำนานรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยตลอดกาล

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก Jittipat Poonkham, “Thanat Khoman: A Flexible Diplomat,” ISC No. 1 (2021): 1-35.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า