คำอาลัยสุดท้ายของ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ที่มีต่อ ‘เผ่า ศรียานนท์’ อดีตเพื่อนรัก-เพื่อนแค้น ในสมรภูมิการต่อสู้บนถนนสายการเมือง

เป็นที่ทราบดีว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และมือขวาคนสำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2481-2500 เป็นผู้ที่มีสถานะทั้งผู้ร่วมก่อการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ร่วมกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกทั้งยังเคยทำงานร่วมกันในช่วงหลังจัดตั้งรัฐบาลจอมพล ป. สมัยที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 กระทั่งถึงตอนรัฐประหาร พ.ศ. 2500 อีกด้วย ในฐานะ “คณะทหาร” (ชื่อของคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490)

แต่ต่อมาด้วยเรื่องของมุมมองทางการเมือง และผลประโยชน์ส่วนตัว ได้เปลี่ยนสถานะของทั้งสองท่านนี้ จากมิตรสหายกลายเป็นศัตรูคู่แค้นในที่สุด

หลังปี พ.ศ. 2498 การประชันขันแข่งระหว่างคณะรัฐประหาร 2490 ระหว่างปีกจอมพลสฤษดิ์ กับฝั่งของเผ่า ได้ดำเนินมาจนถึงจุดแตกหัก โดยการแข่งขันรุนแรงขึ้นกระทั่งที่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายเตรียมจะรัฐประหารเพื่อที่จะชิงอำนาจมาเป็นของตนในช่วงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

หากแต่ชัยชนะกลับตกเป็นของจอมพลสฤษดิ์ ที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากนักศึกษา ประชาชน รวมถึงคนไทยทั่วประเทศ เพราะประชาชนไทยในเวลานั้น “ชิงชัง” ทั้งจอมพล ป. และเผ่า ชนิดที่ว่าผู้คนต่างเรียกร้องให้เอาตัวอธิบดีตำรวจผู้นี้มาแขวนคอเสียให้ตาย

แม้ว่าภายหลัง เผ่าจะพยายามนำกำลังตำรวจทั่วประเทศมารัฐประหารกองทัพทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ แต่สุดท้ายกลับต้องแพ้พ่าย เป็นผลให้รัฐบาลใหม่ของจอมพลสฤษดิ์ ยื่นคำขาดให้เผ่าต้องลี้ภัยไปต่างประเทศโดยเร็วภายในวันที่ 16 กันยายน 2500 หรือวันที่การรัฐประหารสำเร็จนั่นเอง โดยประเทศที่ถูกเลือกให้เผ่าเดินทางไปก็คือ “สวิตเซอร์แลนด์” ส่วนครอบครัวของเผ่า อันได้แก่ภรรยา (คุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ สกุลเดิม ชุณหะวัณ)รวมทั้งบุตร/บุตรีอีก 3 คน ได้เดินทางตามหลังไปในวันที่ 19 กันยายน

หลังจากจัดการสะสางธุระในประเทศไทยจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว นับแต่นั้น ครอบครัว “ศรียานนท์” ได้อาศัยอย่างสงบสุขในต่างแดน พร้อมกับอดีตนายตำรวจอัศวินจำนวนหนึ่ง และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศไทยอีกเลย

กระทั่งเผ่า ศรียานนท์ ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจ ในอีก 3 ปีต่อมา ด้วยวัย 51 ปี ซึ่งคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ ได้บันทึกเรื่องราวการเสียชีวิตของเผ่าผู้เป็นสามีไว้อย่างละเอียด ความว่า …

… วันที่ 21 พฤศจิกายน 2503 วันนั้นคุณเผ่าตื่นนอนแต่งตัวอย่างปกติ ทานอาหารเช้าเสร็จอ่านหนังสือพิมพ์อยู่พักหนึ่งก็ลงไปเดิน กลับขึ้นมาเวลา 11 โมงเศษ เข้าไปพบดิฉันในครัว เพราะสั่งเนื้อติดมันปิ้งจิ้มน้ำปลาพริกมะนาวไว้ ชอบทานมาก หลังอาหารกลางวันเรามักจะนอนพักผ่อน แต่วันนั้นดิฉันมีงานจุกจิกที่ต้องทำยังไม่เสร็จ คุณเผ่านั่งสูบซิการ์อยู่ครู่หนึ่งและลุกไปเล่นปิงปอง ยังไม่ทันจบเกมได้ยินเสียงเรียกดังจากผู้ที่เล่นด้วย ดิฉันวิ่งออกมาเห็นคุณเผ่านั่งอยู่บนเก้าอี้ พยายามหายใจยาวดิฉันเข้าประคองและปลดกระดุมเสื้อ ปลดเข็มขัดเพื่อให้หายใจจะสวก คุณเผ่าหายใจยาวๆ 2 ครั้งก็หลับไป ดิฉันได้รีบเรียกหมอหัวใจที่ประจำ ยังนึกว่าเป็นลมเพียงสิ้นสติเท่านั้น เพราะยังพูดเมื่อก่อนนั่งเก้าอี้ บอกกับคู่เล่นปิงปองว่าขอพักเดี๋ยว ดิฉันบดยาเม็ดทองป้อนแต่ไม่มีอาการกลืนเลย ดิฉันตกใจมาก หมอมาถึงได้พยายามแก้ไขหลายอย่างก็ไม่มีทาง เพราะกล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้นเสียก่อนแล้ว …

เผ่า ศรียานนท์ ได้เสียชีวิตลงขณะลี้ภัยที่ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2503 แต่กว่าทางประเทศไทยจะทราบข่าวอย่างเป็นทางการก็ล่วงไปในวันที่ 23 พฤศจิกายน แล้ว (สำหรับทางญาติฝั่งไทยได้รับข่าวจากโทรเลขเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน)

ข่าวการเสียชีวิตโดยปัจจุบันทันด่วนของเผ่า เป็นที่ตกตะลึงแก่คนในประเทศไทยพอสมควร เพราะอายุของเผ่าในเวลานั้น (พ.ศ. 2503) แค่เพียง 51 ปีเท่านั้น อีกทั้งนิสัยติดสุราอย่างหนักของเขาก็ได้เลิกเด็ดขาดแล้ว หากแต่ว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นของไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะโรคหัวใจที่เผ่ามีประวัติการรักษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และแม้ว่าคุณหญิงอุดมลักษณ์ จะเล่าว่าในช่วงก่อนเสียชีวิตไม่นานนัก เผ่าได้ทำการตรวจโรคหัวใจเป็นประจำ และหมอแจ้งว่าอาการเริ่มดีขึ้นบ้าง

หากแต่ท้ายที่สุด ก็ไม่มีใครสามารถรอดพ้นจากกฎแห่งธรรมชาตินี้ไปได้ ดังที่ จอมพลสฤษดิ์ เพื่อนรัก-เพื่อนแค้นของเผ่า ได้กล่าวอาลัยถึงเผ่าเป็นครั้งสุดท้าย ดังที่ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ “ชาวไทย” ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ความว่า …

… ผมมีความรู้สึกเช่นเดียวกับคุณประภาส (ประภาส จารุเสถียร) เขา คือทั้งเศร้าใจ และสงสารคุณเผ่ามาก เคยเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนด้วยกันมา โตขึ้นมาเป็นทหารก็ร่วมเป็นร่วมตาย ทำงานใหญ่ให้ชาติ เมื่อคุณเผ่ามาตายเสียเช่นนี้ ผมก็นึกปลงสังเวช ได้คติแก่ตัวว่า ทุกคนมีจุดจบที่หลุมฝังศพด้วยกันทั้งนั้น จะโลภโมโทสันไปสักเท่าใดก็ตาย นับเป็นบทเรียนแก่ตัวผมเองและแก่เพื่อนๆ อีกหลายคนด้วย จะได้ตั้งหน้าก่อกรรมดี ไม่ก่อยุคทมิฬหรือสร้างความเดือดร้อนขึ้นมาอีก … เผ่าตายครั้งนี้ทำให้ผมระลึกว่า พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกนี้ต้องเคารพเชื่อถือให้มาก โดยเฉพาะคำสาบาน ผมกับเผ่ารวมทั้งเพื่อนหลายๆ คน เช่น คุณประภาส, คุณประเสริฐ ก่อนจะทำงานใหญ่เรามาสาบานกันต่อหน้าพระมหาเศวตฉัตรอันนี้ (ชี้ขึ้นไปไปบนพระที่นั่งอนันตสมาคม) … ว่าเราจะทำงานเพื่อชาติ เพื่อประชาชน ไม่คิดทรยศต่อชาติ ต่อราษฎร ผู้ใดทรยศก็จะต้องตายอย่างลำบากและทำอะไรก็ไม่ขึ้น อันนี้ก็เป็นบทเรียนแก่ผมอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน …

จะเห็นได้ว่า จอมพลสฤษดิ์แม้จะกลายมาเป็นคู่แค้นคนสำคัญกับเผ่า จนถึงเกือบจะเอาชีวิตต่อกันในช่วงการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 แต่ท้ายที่สุด เพื่อนก็คือเพื่อน ความรู้สึกและความผูกพันในกาลก่อนก็ย่อมยังมีอยู่ภายในจิตใจของทั้ง 2 ท่านนี้

หลังจากเผ่าเสียชีวิต อีก 3 ปีให้หลัง จอมพลสฤษดิ์เองก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องจบชีวิตลงด้วยโรคไตเรื้อรัง ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 นี่จึงเป็นสิ่งที่เตือนจิตเตือนใจแก่เราทุกคนว่า สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง เพราะแม้แต่ผู้ที่มีอำนาจล้นฟ้า หรือมีทรัพย์นับล้านๆ ก็ย่อมหนีไม่พ้นจากความตายไปได้เลย ดังนั้นการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และซื่อสัตย์สุจริตจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

อ้างอิง :

[1] พล.ต.ท.ชัยยงค์ ปฏิพิมพาคม. อธิบดีตำรวจสมัยหนึ่ง. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แพร่วิทยา). 2523.
[2] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิง อุดมลักษณ์ ศรียานนท์ ป.ม., ท.จ. ณ วัดพระศรีมหาธาตุ วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2524.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า