ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ มารี อองตัวเน็ต ไม่เคยพูดว่า “ให้พวกเขากินเค้กสิ”

วลี “ให้พวกเขากินเค้กสิ” เป็นวาทกรรมที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ถูกใช้ในการปลุกปั่นยุยงให้ชาวปารีสเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น จนหันมาร่วมทำลายล้างระบอบการปกครองของราชวงศ์บูร์บงในท้ายที่สุด นอกจากนี้ วาทกรรมนี้ยังเป็นวาทกรรมบิดเบือนที่ทำลายภาพลักษณ์พระนางมารี อองตัวเน็ต เสมือนเป็นพระราชินีที่ไม่แยแสชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยาวนานสืบเนื่องต่อมาอีกหลายร้อยปี

จากการสืบสาวของนักประวัติศาสตร์ในยุคหลังพบว่า ความจริงแล้ว พระนางมิได้ตรัสวลีดังกล่าวเลย เจ้าของวาทกรรมตัวจริงกลับเป็น ฌอง ฌัค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักปรัชญา นักเขียน และนักทฤษฎีการเมืองชาวฝรั่งเศสในยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) เจ้าของหนังสือ “วาทกรรมว่าด้วยความไม่เท่าเทียม (Discourse on Inequality; Discours sur l’origine et les fondements de l’inégalité parmi les hommes)” และ “สัญญาประชาคม (The Social Contract; Du contrat social)” ต่างหาก

อีกทั้ง วาทะนี้ของรุสโซปรากฏในหนังสือของเขาชื่อ “คำสารภาพ (The Confessions; Les Confessions)” ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเขาเอง และท่อนที่เขาเขียนวลี “ให้พวกเขากินเค้กสิ” ก็มิได้บรรยายถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนเลย หากแต่เล่าถึงตอนที่เขาต้องการขนมปังกินแกล้มไวน์ที่เขาขโมยมาได้ แต่คิดว่าชุดที่เขาสวมใส่นั้น หรูหราเกินกว่าที่จะไปร้านขนมปังของคนทั่วไป และประโยคเต็มของเขา ๆ เขียนเอาไว้ว่า

“ในที่สุดฉันก็นึกถึงที่พึ่งสุดท้ายของเจ้าหญิงผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเมื่อบอกว่าชาวนาไม่มีขนมปังก็ตอบว่า งั้นให้พวกเขากินเค้กสิ”

เจ้าหญิงผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ ไม่สามารถสืบสาวได้ว่าหมายถึงใคร เป็นไปได้ว่าเขาจินตนาการตัวละครขึ้นมาเองก็เป็นได้ อีกทั้งปีที่เขาเขียนหนังสือฉบับนี้เสร็จนั้น พระนางมารี อองตัวเน็ต ยังเป็นเพียงเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา และประทับอยู่ในออสเตรีย ซึ่งในเวลานั้นเป็นคู่สงครามกับฝรั่งเศส ยังไม่มีท่าทีจะสงบศึกกันเลย

การที่จะบอกว่าเจ้าหญิงที่รุสโซพูดถึงเจ้าหญิงตัวน้อยจากประเทศคู่สงครามนั้น จึงแทบจะไม่มีน้ำหนักเอาเสียเลย

ความโชคร้ายของเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย แห่งออสเตรียเริ่มต้นจากการสมรสทางการเมืองระหว่างสองประเทศที่เคยทำสงครามระหว่างกันมายาวนานหลายสิบปี ถึงแม้ว่าพระนางจะได้รับการอภิเษกสมรสเป็นพระชายาขององค์ชายมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส แต่ในทางปฏิบัติแล้ว พระนางทรงต้องประทับอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มองพระนางเป็นศัตรู ในช่วงแรกของพระชนม์ชีพในฝรั่งเศส พระนางถูกแอบเรียกลับหลังว่า “นังออสเตรียคนนั้น” ด้วยซ้ำ

เพื่อการเอาตัวรอดในดินแดนของศัตรู พระนางเพียรพยายามอย่างยิ่งในการเป็นที่ยอมรับในราชสำนัก ทรงเปลี่ยนพระนาม “มาเรีย” แบบออสเตรียของพระนาง เป็น “มารี” ตามแบบฝรั่งเศส อีกทั้งยังทรงเชื่อการถวายคำแนะนำของคนสนิท ทำให้พระนางกลายเป็นสาวสังคมที่โดดเด่น หรูหรา และเป็นผู้นำแฟชั่นในหมู่ชนชั้นสูง ซึ่งวิธีการนี้ มาดามปงปาดูร์ (Madame de Pompadour) เคยใช้ได้ผลมาก่อน และพระนางเองก็ทำสำเร็จด้วยเช่นกัน

หากแต่ราคาที่พระนางต้องจ่ายในภายหลัง คือการถูกใส่ร้ายแม้หลังพระนางสิ้นพระชนม์ไปแล้วอีกหลายร้อยปี



ฝรั่งเศส ประสบปัญหาการคลังมาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จากการทำสงครามที่มากเกินไปจนท้องพระคลังร่อยหรอ ประกอบทั่วโลกเกิดภาวะยุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) ที่ทำให้ผลผลิตทั่วโลกตกต่ำลง ซ้ำร้ายคือนโยบายการคลังที่ผิดพลาด จากการเชื่อในแนวคิด “ตลาดเสรี” มากจนเกินไป รัฐบาลปล่อยให้เกิดการกักตุนเก็งกำไรราคาแป้งโดยไม่เข้าควบคุม จนมีชาวปารีสอดอาหารตายไปมากมาย

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเข้าควบคุมราคาในภายหลัง แต่ในหมู่ประชาชนมีการเผยแพร่ข่าวปลอมว่า ราชสำนักพยายามสร้าง “ภาคีแห่งความอดอยาก” เพื่อลดจำนวนประชากรชนชั้นล่างลง จนกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่นในราชสำนักขึ้น

ปัญหาความอดอยากนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ภาพสาวสังคมที่หรูหราของพระนางมารีจึงทำลายความรู้สึกที่ดีในหมู่ประชาชนลงอย่างสิ้นเชิง

ในความเป็นจริง พระราชอำนาจที่พระนางมารี อองตัวเน็ตได้มานั้น พระนางมิได้ทำเพื่อความต้องการส่วนตัว แต่เป็นความตั้งพระทัยอย่างแรงกล้าที่จะช่วยเหลือพระสวามี พระเจ้าหลุยส์ที่16 ในการสร้างพระราชอำนาจเพื่อการฟื้นฟูประเทศของพระองค์ พระนางมารี ทรงมีพระขัตติยะมานะที่จะทำหน้าที่ของสมเด็จพระราชินีของฝรั่งเศสอย่างสุดความสามารถ ถึงแม้ว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสจะตั้งข้อรังเกียจในชาติกำเนิดที่มาจากประเทศศัตรูของพระนาง

เมื่อสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกาปะทุขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตัดสินใจให้การสนับสนุนอเมริกา โดยทรงคาดหวังว่าหากอเมริกาเป็นอิสรภาพ ฝรั่งเศสจะได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับคืนมากอบกู้สถานการณ์ ซึ่งในสงครามครั้งนี้ พระนางมารี อองตัวเน็ตทรงมีบทบาทอย่างมากในสงครามครั้งนี้ โดยพระนางทรงอาศัยพระราชอำนาจที่ทรงมี และสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ฮาพส์บวร์คแห่งออสเตรีย เพื่อการโน้มน้าวชาติต่าง ๆ ในยุโรปมิให้ยื่นมือเข้าช่วยอังกฤษ

โชคร้ายที่ภายหลังสงคราม ถึงแม้ว่าอเมริกาจะชนะ แต่อเมริกามิได้ตอบแทนอะไรฝรั่งเศสเลย ซึ่งนี่ทำให้สถานการณ์การคลังของฝรั่งเศสเลวร้ายหนักกว่าเดิม อีกทั้งพระนางมารี กลายเป็นแพะรับบาปที่ทุกคนกล่าวหาว่าพระนางมิได้ช่วยเหลืออะไรฝรั่งเศสเลย

นักประวัติศาสตร์ยุคหลัง รวบรวมพระราชหัตถเลขาของพระนางมาเรีย อองตัวเน็ต ถึงผู้อื่น หลายฉบับแสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานส่วนพระองค์ ที่ทรงเพียรพยายามเพื่อประชาชนชาวฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่นพระราชหัตถเลขาถึงจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาแห่งออสเตรีย พระมารดาของพระนางความว่า

“เมื่อเห็นประชาชนและคนที่นี่ดูแลต้อนรับพวกเราอย่างดี แม้พวกเขาจะอับโชค ทำให้พวกเรารู้สึกว่าต้องทำงานหนักเพื่อประชาชนและคนที่นี่จะได้มีความสุขมากขึ้น และกษัตริย์เอวก็ทรงยอมรับความจริงในข้อนี้ดี”



ความล้มเหลวในการปฏิรูปภาษีจากรูปแบบโบราณ ไปสู่ระบบภาษีก้าวหน้าของพระเจ้าหลุยส์ที่16 (ปัจจุบันทั่วโลกใช้ระบบภาษีที่มีรากฐานมาจากความพยายามในการปฏิรูปในครั้งนี้) ผ่านการประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1789 จนนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปีนั้น และเป็นสาเหตุให้เกิดการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา

สาเหตุหลักมาจากความไม่เชื่อมั่นในราชสำนักจากภาวะเศรษฐกิจ และการปล่อยข่าวปลอมของเหล่านักปฏิวัติ ซึ่งรวมไปถึงวาทกรรม “ให้พวกเขากินเค้ก” ที่สร้างความเกลียดชังในตัวพระนางมารีให้หนักมากยิ่งขึ้น

แม้ในภายหลังจากการปลงพระชนม์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไปแล้ว พระนางมารียังคงถูกใส่ร้ายอย่างต่อเนื่องจากเหล่าคณะปฏิวัติ ซึ่งผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างพระนางได้แต่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ปล่อยให้พระองค์ถูกใส่ความโดยไม่ทรงตอบโต้ ยกเว้นแต่เพียง “ข้อใส่ร้ายที่ไร้ยางอาย” ของคณะปฏิวัติ ที่ใส่ร้ายพระนางว่าทรงสมสู่กับพระราชโอรสของพระนางเอง ความเป็นแม่ทำให้พระนางทรงต่อสู้อย่างอาจหาญ แต่สุดท้ายคณะปฏิวัติก็ยังต้องการปลงพระชนม์พระนางลงอยู่ดี

วาระสุดท้ายของพระนางมารี ทรงถูกคณะปฏิวัติหยามหมิ่นเกียรติอย่างที่สุด พระนางทรงถูกบังคับให้เปลี่ยนฉลองพระองค์ต่อหน้าผู้คุม พระเกศาถูกโกน ถูกมัดมือไว้ข้างหลังอย่างเจ็บปวด ไม่มีพื้นที่แห่งศักดิศรีแห่งความเป็นมนุษย์สำหรับพระนาง “คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789” ที่คณะปฏิวัติยกอ้างนั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับพระองค์เลยแม้แต่น้อย

พระนางเสด็จขึ้นสู่ลาดประหารด้วยพระอาการเงียบสงบ มิทรงหวั่นไหวต่อคำเย้ยหยันบั่นทอนศักดิศรีแห่งความเป็นมนุษย์ต่อพระนาง พระราชกระแสสุดท้ายของพระนางกลับมีต่อเพชฌฆาตผู้ที่กำลังจะปลงพระชนม์ของพระนางว่า “ขอโทษคะ ดิฉันมิได้ตั้งใจ” เนื่องจากพระนางทรงเผลอก้าวพระบาทเหยียบเท้าเพชฌฆาตผู้นั้น



เรื่องราวพระราชชีวประวัติของพระนางมารี อองตัวเน็ต คือเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงความชั่วร้ายของข่าวปลอมที่บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ ทำลายชื่อเสียงและศักดิศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงคนหนึ่งอย่างร้ายกาจ

และถึงแม้ว่าการใส่ร้ายด้วยข่าวเท็จ ข้อมูลปลอมของคณะปฏิวัติจะประสบความสำเร็จในการล้มล้างการปกครอง ทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ลงได้สำเร็จ แต่การใช้ข้อมูลปลอมเพื่อการใส่ร้ายกันและกัน ยังคงถูกใช้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ทำลายผู้เห็นต่างจนเกิดการฆ่าล้างทำลายกันและกันอย่างบ้าคลั่ง ทำลายความสงบสุขของสังคมจนปั่นป่วนกินเวลายาวนาน

แม้หลังสิ้นราชวงศ์ไปแล้ว ชาวฝรั่งเศสก็ยังคงใช้ข่าวปลอมเพื่อทำลายกันและกัน เพื่อล้มล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างเลือดเย็น จนมีผู้ถูกประหารไปนับหมื่นคน

การใช้ข่าวปลอมเพื่อบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation; IO) เพื่อการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เพื่อการควบคุมมวลชนมาแต่โบราณ มีเจตนาเพื่อการปลุกปั่นความรู้สึกของมวลชนให้เกิดอคติโน้มเอียงไปตามที่กลุ่มการเมืองผู้ปลุกปั่นต้องการ

พวกเราประชาชนแห่งศตวรรษที่ 21 ควรจะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของคนยุคเก่าก่อน เรียนรู้ที่จะแยกแยะข่าวสาร ความผิดถูกของข้อมูล เพื่อป้องกันตนเองจากการใช้ประโยชน์ทางการเมืองโดยใครบางคน

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่หลายครั้งต้องการเวลาในการพิสูจน์เป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ทุกอย่างล้วนแล้วแต่สายเกินไป

อ้างอิง :

[1] “ปฏิวัติฝรั่งเศส”, พีรวุฒิ เสนามนตรี (พ.ศ. 2562), สำนักพิมพ์ยิปซี
[2] “ปฏิวัติฝรั่งเศส”, William Doyle (พ.ศ.2564), สำนักพิมพ์บุ๊คเคส
[3] Wikipedia, “Let them eat cake” 
[4] Wikipedia, “Marie Antoinette”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า