ไขข้อข้องใจแผนที่ “รัฐปัตตานี” แผนที่ฉบับ ‘ความเท็จ’ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

บทความโดย : จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมื่อไม่กี่วันมานี้ หลายคนคงได้เห็นการแชร์ภาพหนึ่งซึ่งชัดเจนว่าเป็นแผนที่แสดงอาณาเขตของรัฐปัตตานี (Patani State) จนก่อให้เกิดกระแสถกเถียงกันในวงกว้างว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ ? จัดทำขึ้นโดยผู้ใด ? และเหตุใดผู้จัดทำจึงกล้าที่จะ ‘เคลม’ ว่าดินแดนของรัฐปัตตานีมีอาณาเขตไปไกลจนถึงจังหวัดชุมพร หรือแท้จริงแล้วในอดีตปัตตานีมีอาณาเขตมาถึงเพียงนี้เชียวหรือ ?

เรื่องนี้ผู้เขียนมีคำตอบให้กับคำถามข้างต้น และคิดว่าคำถามเหล่านี้คงครอบคลุมที่สุดแล้ว แต่เพื่อให้สะดวกต่อผู้อ่าน ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะตอบคำถามดังกล่าวแยกเป็นประเด็น ๆ ไป เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและยังเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อลดความวิตกกังวลอันมีสาเหตุมาจากการ ‘เคลม’ ดินแดนดังกล่าวจากกระบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ ‘มีอยู่จริง’ และยังเคลื่อนไหวก่อเหตุความไม่สงบมาจนถึงปัจจุบัน

  1. แผนที่ฉบับดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ ? และใครเป็นผู้จัดทำ ?

ตอบ: แผนที่ฉบับนี้เป็น ‘ของจริง’ แต่เป็น ‘ของเก่า’ ที่จัดทำขึ้นโดยขบวนการ ‘เบอซาตู’ (BERSATU) ซึ่งเป็นองค์การร่มหรือองค์การกลางของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ๆ ได้แก่ บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี และ มูจาฮิดิน ปัตตานี

องค์การกลางจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 เพื่อเป็นองค์กรประสานงานร่วมระหว่างกลุ่มขบวนการฯ ต่าง ๆ ที่เริ่มอ่อนกำลังลงอันเป็นผลมาจาก “นโยบายใต้ร่มเย็น” ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531) เพราะช่วงเวลานั้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายฯ เป็นเพียงแค่กลุ่มโจรเล็ก ๆ ที่มักมีเป้าสังหารข้าราชการและจับประชาชนไปเรียกค่าไถ่ อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการกิจการของกลุ่มเบอซาตูภายใต้การนำของ วันกาเดร์ เจ๊ะหมาน (เสียชีวิตในปี 2562) ได้เริ่มนำเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างไทย-ปัตตานีมาใช้กันอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งตราสัญลักษณ์ของกลุ่มเบอซาตูที่อยู่เหนือแผนที่ก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ากลุ่มเบอซาตูนั่นแหละที่เป็นคนทำแผนที่ฉบับนี้ขึ้นมา แม้จะระบุปีที่ชัดเจนไม่ได้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงหลังปี พ.ศ. 2532

ปัจจุบันกลุ่มเบอซาตูได้ล่มสลายไปแล้ว แผนที่ฉบับนี้จึงไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการฯ ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน เช่น บีอาร์เอ็น หรือพูโลอีกต่อไป โดยตอนนี้กลุ่มที่ยังเหลืออยู่ได้ลดเพดานการต่อสู้ลงมา เหลือแค่การเคลมเพิ่มเติมเพียงแค่จังหวัดสงขลาเท่านั้น

  1. แผนที่ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์อะไร ?

ตอบ: เห็นได้ชัดเจนว่าแผนที่ฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสดงอาณาเขตของอาณาจักรปัตตานี/ปตานี (Patani) แต่อย่างใด หากแต่เป็นการพยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนให้ขยายออกไปเหนือพื้นที่ของปัตตานีเดิม กล่าวคือ ได้อ้างพื้นที่ด้านบนสุดไปจนถึงจังหวัดชุมพร รวมถึงได้อ้างถึงพื้นที่ภาคใต้ตอนบนซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับอาณาจักรปัตตานีโบราณเลย

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้จัดทำแผนที่ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ในการจัดทำเลย ผู้เขียนจึงมีความเห็นโน้มเอียงไปในทางที่ว่า ผู้จัดทำแผนที่ (กลุ่มเบอซาตู) น่าจะใช้หลักการอ้างถึงเรื่อง ‘ชื่อมลายู’ ของจังหวัดภาคใต้และภาคกลางตอนล่างเหล่านี้ว่ามีความละม้ายคล้ายกับภาษามลายู เลยด่วนทึกทักเอาตามระดับสติปัญญาที่มีอยู่ว่า ‘เอาละ! ถ้าชื่อจังหวัดเหล่านี้คล้ายกับภาษามลายู เช่นนั้นแล้วเมืองเหล่านี้ก็ต้องเคยเป็นของมลายูก่อนที่จะถูกสยามจะยึดไปอย่างแน่นอน’

ยกตัวอย่างความ ‘บ้ง’ ของคนทำแผนที่ฉบับนี้ อาทิ การเรียกจังหวัดชุมพรว่า ‘Cupak’ หรือ ’จุมเปาะ’ ที่แปลว่า ‘การรับปากสาบานตัว’ ในภาษามลายู นี่ก็เป็นความเท็จประการหนึ่ง เพราะหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของจังหวัดชุมพรแล้ว นอกจากไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับโลกมลายู ‘ชุมพร’ ยังมีที่มาจากคำว่า ‘ชุมนุมพล’ มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับคำว่า ‘จุมเปาะ’ ซึ่งดูเหมือนกับการเชื่อมโยงเรื่องราวอย่างมั่ว ๆ มาผนวกเข้ากับข้อมูลทางภูมิศาสตร์อย่างไม่มีหลักการ

ส่วนจังหวัดสุราษฎร์ฯ และพัทลุงนั้น ชื่อจังหวัดก็แสดงถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน แม้พวกขบวนการฯ จะ ‘เคลม’ ความเป็นมลายูไม่ได้ แต่ก็ยังอุตส่าห์จะยัดให้จังหวัดเหล่านี้เป็นของรัฐปัตตานีเช่นกัน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ เช่น ภูเก็ต (ภูเขา – Bukit) สงขลา (ซิงกอรา/สิงขระ) สตูล (สะท้อน/กระท้อน) นครศรีธรรมราช (ลิกอร์) ตรัง (เตอรัง/ตรังค์) กระบี่ (เกอบี) แม้ชื่อจะเข้ารูปภาษามลายูอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นภาษามลายูแท้ ๆ เพราะยังมีภาษาสันสฤตปนอยู่ด้วย เช่น ตรัง และสงขลา เป็นต้น (และบางเมืองที่เป็นชื่อเฉพาะ)

อีกทั้งเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น นครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุง ซึ่งเคยเป็นเมืองเอกราชมาก่อน ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรปัตตานีโบราณแต่อย่างใด แถมยังเป็นศัตรูสำคัญของอาณาจักรปัตตานีโบราณอีกด้วย ทำให้การรบพุ่งระหว่างปัตตานีกับสงขลาและนครศรีธรรมราชในอดีตนั้น ค่อนข้างจะเกิดขึ้นถี่มากกว่าที่ทางอยุธยา-กรุงเทพฯ จะลงมาทำสงครามด้วยตัวเองเสียอีก

ถ้าหากจะมองว่าเมืองเหล่านี้มีประชากรชาวมลายูดั้งเดิมอยู่บ้าง ก็มิใช่เป็นชาวมลายูกลุ่มเดียวกับมลายูปัตตานี (นายู) อีก เพราะส่วนมากเป็นชาวมลายูที่ถูกกองทัพสยามเทครัวมาจากไทรบุรี หรือย้ายมาจากที่อื่นมากกว่า เช่น สงขลา-พัทลุงในสมัยสุลต่านสุไลมาน เห็นได้จากแม้แต่สำเนียงการพูดก็ไม่เหมือนกัน และทุกวันนี้ประชาชนชาวไทยเชื้อสายมลายูเหล่านี้ ต่างยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญของประเทศไทย หาใช่ต้องการอยู่กับรัฐปัตตานีไม่

จึงกล่าวได้ว่าแผนที่ฉบับนี้เป็น ‘ความเท็จ’ เกือบทั้งสิ้น เป็นการเชื่อมโยงตรรกะมั่ว ๆ ของพวกชาตินิยมมลายูสุดโต่งภายใต้การนำของกลุ่มเบอซาตู ท่านที่สนใจอยากอ่านงานเขียนทางประวัติศาสตร์ที่มีความคิดและตรรกะแปลก ๆ ซึ่งไม่มีหลักวิชาการรองรับ หรืออยากอ่านงานเขียนโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ‘Patani Behind the Accidental Boarder : The Search for Elusive Peace’ โดย KijangMas Perkasa (นามปากกา) ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2553 จะพบทฤษฎีประหลาด ๆ ที่ว่าตั้งแต่ใต้คอคอดกระ หรือจังหวัดชุมพรเป็นต้นมา เคยเป็นของมลายูมาก่อนที่สยามจะยึดครองนั้น ได้ในหนังสือเล่มนี้

นอกจากนี้ แม้แต่ในพื้นที่ของ 3 จังหวัดเองก็ตาม หากพิจารณาตามประวัติศาสตร์แล้ว อาณาจักรปัตตานีไม่ควรรวมเอาอำเภอเบตง ธารโต และบันนังสตา (บางส่วน) เข้ามาด้วย เพราะแต่เดิมพื้นที่นี้ถูกเรียกว่า ‘ฮูลูเปรัค’ ซึ่งเป็นดินแดนของรัฐสุลต่านเปรัคมาก่อนที่จะถูกเมืองรามันห์ทำสงครามแย่งชิงเอาไป ต่อมารัฐบาลสยามได้เข้ามาไกล่เกลี่ยจนได้ดินแดนส่วนนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในเวลาต่อมา ที่จริงแล้วควรต้องกล่าวด้วยว่ากรณีสงครามเปรัค-รามันห์ ที่จบลงด้วยชัยชนะของรามันห์นั้น แท้จริงแล้วเป็นผลมาจากการหนุนหลังของรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ จึงสามารถแย่งชิงพื้นที่ของเบตงอันเป็นส่วนหนึ่งของเปรัคมาได้

เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปทั้งในประวัติศาสตร์ของไทยและมาเลเซีย แต่น่าแปลกใจที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้ กลับไม่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนพูดถึงเลย หรืออาจเป็นเพราะอับอายกับความจริงที่ว่าได้ดินแดนเพิ่มเติมมาจากเปรัค เพราะ ‘สยาม’ ช่วย ?

อ้างอิง :

[1] 31 สิงหาฯ สถาปนาเบอร์ซาตู กับการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์
[2] จีรวุฒิ บุญรัศมี. ‘ปา-ตา-นี: ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง’. ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2563.
[3] KijangMas Perkasa . Patani Behind the Accidental Boarder : The Search for Elusive Peace. 2010.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า