“เขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ ก็ผิด 112” หนึ่งในหลายโกหกคำโตจากผู้หวังดึงพระมหากษัตริย์ให้ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

“การเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ถือเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 112 ประโยคนี้ถูกนำไปพูดถึงกันเป็นวงกว้าง หลังจากมีคำถามว่า “เหตุใดคดี 112 จึงเกิดความผิดได้ง่ายดายนัก”

เรื่องนี้อ้างถึงบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งสรุปเอาไว้ว่า นายนิติพงษ์ ห่อนาค หรือดี้ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กเจ้าของบัญชี “Panusaya Sithijirawattanakul” โดยผู้กล่าวหาได้ตรวจพบเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่า ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี Panusaya Sithijirawattanakul ได้แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม United Front of Thammasat and Demonstration” ที่โพสต์ในวันเดียวกัน โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า

ขณะนี้มีปัญหาเกิดขึ้นในประเทศ แต่ไม่อาจทราบได้เลยว่าพระมหากษัตริย์จะทรงทราบถึงปัญหาเหล่านั้นหรือไม่ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ต่างแดนเป็นเวลานาน และเพิ่งทรงเสด็จกลับมาประทับในประเทศได้ไม่นาน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงถือโอกาสนี้ส่งข้อเรียกร้องสามข้อต่อพระมหากษัตริย์ ดังนี้

  1. เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว และเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่
  2. เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลับมาเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอีกครั้ง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องสามารถทำได้ทุกหมวดโดยไม่มีข้อยกเว้น รวมถึงหมวดหนึ่งและหมวดสองที่ยังไม่เคยมีการแก้ไขมาเป็นเวลานานอีกด้วย
  3. เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่เป็นการล้มล้าง แต่เป็นการปฏิรูปเพื่อให้สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างสง่างาม

อีกทั้งยังมีข้อความบางตอนในราษฎรสาส์นที่ผู้ต้องหานำมาแชร์ต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อความที่กล่าวทำนองว่าพระมหากษัตริย์ทรงประทับอย่างสำราญอยู่ที่ต่างประเทศ และข้อความที่กล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชน จนนำไปสู่การถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีในที่สุด

แนวคิดเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เวอร์นอน บอกดานอร์ (Vernon Bogdanor) นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้อธิบายว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” (The Constitutional Monarchy) หมายถึง “องค์อธิปัตย์ที่ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” (a sovereign who reigns but does not rule) ซึ่งประเทศยังคงมีพระมหากษัตริย์ แต่จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจในการปกครอง เช่นนั้นการรับผิดรับชอบจะย้ายไปสู่บุคคลอื่น โดยระบอบการปกครองใหม่ของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมานั้น บุคคล/กลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบทางการเมืองไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่เป็นคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้แก่ คณะราษฎรนั่นเอง 

ในขณะเดียวกัน คำอธิบายที่เน้นย้ำเรื่องการปกเกล้าแต่ไม่ปกครองของ วอลเตอร์ เบจฮอต (Walter Bagehot) ซึ่งผู้เป็นวางรากฐานให้แก่การปกครองของต้นแบบรัฐสภาอย่างประเทศอังกฤษ และยังมีอิทธิพลต่อการอธิบายระบอบ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” อีกด้วย โดย เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปแนวคิดของ วอลเตอร์ เบจฮอต ในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า

“แนวโน้มหนึ่งที่เป็นไปได้ของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ คือ การกลายเป็น ‘สาธารณรัฐจำแลง’ หรือ Disguised Republic กล่าวคือ อำนาจการบริหารแท้จริงตกอยู่กับนักการเมือง กระฎุมพี ในขณะที่สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงประมุขเชิงสัญลักษณ์ที่ช่วยตกแต่งประดับประดาอำนาจรัฐแบบทุนนิยม-ประโยชน์นิยมของกระฎุมพี ให้ดูอลังการและน่าเคารพยำเกรงขึ้นเท่านั้นเอง”

ระบอบดังกล่าวข้างต้น มีข้อดีในแง่ที่ทำให้ระเบียบการเมืองไทยเกิดสมดุลใหม่ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ซึ่งตามทัศนะของ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ยืนยันให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้ว่า หัวใจของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ “เริ่มทรงราชย์ต่อเมื่อเลิกทรงรัฐ” นั่นหมายความว่า พระองค์มิได้ว่าราชการแผ่นดินด้วยพระองค์ แต่ทรงอยู่เหนือการเมือง

ราษฎรเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่

แท้จริงแล้วการเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ราษฎรสามารถทำได้โดยชอบธรรม เพราะนั่นคือการถวายฎีกา ซึ่งเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญของราษฎรที่มีมาตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรอยุธยา การถวายฎีกาเป็นรูปแบบที่พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ ต่างยอมรับซึ่งกันและกันว่าการถวายฎีกา คือ ช่องทางการเคลื่อนไหวที่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง

ในปี พ.ศ.2457 มีการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา” และได้ตั้ง “กรรมการศาลฎีกา” ขึ้นมาด้วย เพื่อช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจในการอ่านและตรวจฎีกาที่ราษฎรถวายกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก

เมื่อพิจารณาถึงวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์ของการถวายฎีกาแล้ว เห็นได้ว่าการถวายฎีกาถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองแบบจารีตสถาบันหนึ่ง ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจและพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์โดยตรง

จารีตการถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยในรัชสมัยปัจจุบัน การรับเรื่องฎีกาจากราษฎรถือเป็นอำนาจหน้าที่ตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ โดยมีคู่มือกระบวนงานฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณา และหนังสือด่วนที่สุดที่ มท0205.3/ว7276 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เรื่องแนวทางการปฏิบัติเรื่องฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม และฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ ที่สำนักงานองคมนตรีร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับเรื่องฎีกาจากประชาชนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างดี

บทสรุปเรื่องการเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์

จากข้อเท็จจริงและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ทีมงานฤาได้รวบรวมและอธิบายมาทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า มีขบวนการที่พยายามดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว หลักการแบ่งแยกอำนาจในปัจจุบัน ได้มีการแยกอำนาจอธิปไตยออกมาเป็นอิสระจากกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกาเป็นบุคคลที่รับผิดชอบอำนาจอธิปไตยทั้งสาม

ดังนั้น การส่งข้อเรียกร้องไปยังพระมหากษัตริย์ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือน พร้อมกับการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไร้ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ต่างอะไรกับการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง และถือเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือจารีตการถวายฎีกาที่เป็นธรรมเนียมการปกครองโดยปกตินั่นเอง

ที่มา :

[1] ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2394-2404
[2] คู่มือกระบวนงานฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณา
[3] หนังสือด่วนที่สุดที่ มท0205.3/ว7276 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561
[4] อิทธิพล โคตะมี, การอภิวัฒน์ที่นำมาสู่หลักการ “ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า