กลยุทธ์ ‘3 ไม่’ ของเวียดนาม ยืดหยุ่นอย่างแยบยล ในการถ่วงดุลอำนาจจีนและอเมริกา

ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศต่างๆ จะมีข้อท้าทาย ข้อจำกัด และโจทย์ของตัวเองแตกต่างกันไปตามสถานะของตน เช่น ประเทศใหญ่ก็จะมีผลประโยชน์และตรรกะรูปแบบหนึ่ง ประเทศเล็กก็จะมีผลประโยชน์และตรรกะอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกับประเทศใหญ่ ความแตกต่างเหล่านี้ได้ทำให้นโยบายการต่างประเทศนั้นมีความหลากหลายและต่างก็พยายามหาจุดสมดุลของสิ่งที่ประเทศตนรับได้ รวมถึงสิ่งที่ประเทศอื่นรับฟังด้วย ข้อท้าทายหนึ่งสำหรับประเทศเล็กแต่ต้องอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจนั้นมีอยู่ว่า จะต้องวางสมดุลหรือวางนโยบายอย่างไรในโลกที่ผันแปรเช่นนี้ ซึ่งโจทย์นี้คือสิ่งที่เวียดนามกำลังเผชิญ

เวียดนามเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและเข้มข้น กล่าวคือ ในโลกก่อนสมัยใหม่เวียดนามเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีน [1] พอถัดมาในโลกที่มีรัฐสมัยใหม่ นอกจากความขัดแย้งกับจีนที่ถูกส่งต่อมาแล้ว เวียดนามยังมีความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสงครามเย็น [2] แต่ในขณะเดียวกันทั้งสองประเทศทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาก็ได้กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงซึ่งสามารถยังผลประโยชน์ให้เวียดนามได้ด้วย เวียดนามจึงจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายต่างประเทศจากจุดยืนของตนให้ได้ สิ่งดังกล่าวนี้ทำให้เวียดนามได้ออกแบบนโยบายต่างประเทศของตนที่เรียกว่านโยบาย “3 ไม่”

มีคำกล่าวหนึ่งของเจ้าหน้าที่อาวุโสของเวียดนามที่ระบุถึงฐานคิดนโยบายการต่างประเทศของเวียดนามว่า [3] “ผู้นำเวียดนามทุกคนต้องสามารถต่อกรกับจีนและเคียงข้างจีนไปพร้อม ๆ กัน และหากผู้นำคนใดคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถกระทำให้เกิดผลได้ในเวลาเดียวกันแล้วนั้น คนผู้นั้นไม่สมควรที่จะเป็นผู้นำ” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเวียดนามไม่สามารถที่จะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับจีนได้ด้วยเงื่อนไขของความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน และยังคงมีอยู่ แต่ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ไม่สามารถปฏิเสธความสัมพันธ์กับจีนได้ด้วย ดังนั้นเวียดนามเองก็กังวลกับจีน ความกังวลนี้สอดคล้องกับความกังวลของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนโดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลจีนใต้ เพราะพื้นที่นี้มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในแง่ที่ว่าเป็นเส้นทางเดินเรือและต้องการคานอำนาจจีนเพื่อลดอำนาจเศรษฐกิจและการทหารจากการเข้าถึงแหล่งก๊าซและน้ำมันและการประมงใหม่

เมื่อเวียดนามกับสหรัฐฯ มีความกังวลตรงกัน ทั้งสองประเทศก็ได้ร่วมมือกันในบางประการภายใต้บาดแผลที่ยังมีอยู่จากสงครามเวียดนาม เช่น การได้รับเงินเช่วยเหลือจากสหรัฐฯ จำนวน 56 ล้านเหรียญ หรือการที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มอบเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้เวียดนามพัฒนาศักยภาพทางทะเลอีก 16 ล้านเหรียญ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในทางภูมิศาสตร์แล้วเวียดนามเป็นพื้นที่ในการแข่งขันกันสร้างเขตอิทธิพลของชาติมหาอำนาจ และอาจทำให้เวียดนามตกไปเป็นเหยื่อของความขัดแย้งแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารเพื่อต่อต้านชาติใดชาติหนึ่ง เพราะเวียดนามได้รับบทเรียนจากการเป็นพันธมิตรทางทหารกับโซเวียตมาก่อนหน้าแล้วนั่นเอง ดังนั้นกลยุทธ์ “3 ไม่” ของเวียดนามจึงมีอยู่ว่า

  1. ไม่เป็นพันธมิตรทางทหารใดๆ กับต่างชาติ (แต่เวียดนามใช้คำว่า “การร่วมมือ” หรือ “หุ้นส่วน” แทนซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบหลวมๆ ไม่ผูกมัดเกินไป)
  2. ไม่ยินยอมให้มีฐานทัพต่างชาติบนดินแดนเวียดนาม
  3. ไม่ร่วมมือกับชาติหนึ่งเพื่อต่อต้านอีกชาติหนึ่ง

การที่มีนโยบาย “3 ไม่” ซึ่งเป็นประเด็นด้านความมั่นคงนั้นก็เพราะว่าเวียดนามตระหนักว่าตนเองไม่ควรที่จะพึ่งมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนด้วยการต่อต้านมหาอำนาจอื่น ดังนั้นเวียดนามจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินยุทธศาสตร์แบบหลายชั้นและหลายทิศทางในการดำเนินความสัมพันธ์ในหลากหลายด้าน เช่น การซื้ออาวุธจากรัสเซียและสหรัฐฯ การดำเนินกระชับความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับประเทศที่มีอำนาจทางทหาร ในขณะเดียวกันในด้านเศรษฐกิจก็ยังมีการค้าขายกับทั้งจีนและสหรัฐฯ อย่างกว้างขวางไว้ด้วย กลยุทธ์ “3 ไม่” ของเวียดนามจึงเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเวียดนามอย่างมาก

การสร้างนโยบาย “3 ไม่” นี้สามารถเป็นเกราะชั้นหนึ่งของเวียดนามได้ว่า หากสหรัฐฯ หรือจีนมีท่าทีที่คุกคามเวียดนามจนเกินไป เวียดนามจะสามารถถ่วงดุลโดยการให้อีกชาติหนึ่งเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตเนองในเวียดนามได้ แต่ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้สร้างความเชื่อมั่นทางยุทธศาสตร์และการค้าไปพร้อมกันด้วย เพราะมูลค่าการค้ากับทั้งจีนและสหรัฐฯ นั้นมากขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่ยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มากไปกว่ากัน ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีภารกิจความร่วมมือใดๆ เวียดนามก็จะแสดงท่าทีบางอย่างเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบต่อความสัมพันธ์ เช่น เมื่อสหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์และเรือพิฆาตเข้ามาเทียบท่าที่ดานัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมของเวียดนามได้บอกว่าการเยือนนี้เป็นเพียงการฉลองครบรอบ 15 ปี การฟื้นฟูความสัมพันธ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทะเลจีนใต้ และหลังเสร็จภารกิจ รองนายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้ไปเยือนจีนและให้คำมั่นกับจีนว่าจะไม่กลายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ หรือในช่วงวิกฤตแท่นขุดเจาะน้ำมัน HYSY 981 เวียดนามก็ได้แสดงทีท่าว่าต้องการหลุดวงโคจรของจีนและยังมีการเผาโรงงานของจีนในเวียดนามเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้สื่อวิพากษ์จีนในแง่ลบอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก จุดยืนของเวียดนามเราอาจเห็นได้จากเมื่อเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ Nguyen Phi Trong เมื่อเยือนสหรัฐฯ เขาระบุว่าเวียดนามสนับสนุนมิตรภาพและความร่วมมือที่เท่าเทียมกับสหรัฐฯ บนพื้นฐานการเคารพในอธิปไตย และมุ่งนโยบายแบบอิสระและรอบทิศทาง

การแสดงจุดยืนของเวียดนามผ่านการเป็นพันธมิตรของทั้งสองประเทศ ได้สร้างผลประโยชน์ให้เวียดนามกลายเป็นผู้เล่นที่มีอิทธิพลมากขึ้นในระดับภูมิภาค และยกให้เวียดนามกลายเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างดุลอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปอีกขั้น ในขณะเดียวกันเวียดนามก็พยายามพัฒนาศักยภาพด้านการทหารตัวเองให้มากขึ้นด้วย เวียดนามแม้จะเสียเปรียบจีนในทุกด้าน แต่อีกด้านหนึ่งเวียดนามก็ได้ส่งสัญญาณว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เติบโตมากขึ้นทำให้เวียดนามไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกแบบในช่วงปี 1970-1990 อีกต่อไปแล้ว

จุดยืนแบบ “3 ไม่” ของเวียดนามนั้นสามารถปรับได้ตามสถานการณ์และความจำเป็น ซึ่งอาจจะมอบความคิดหรือหนทางบางอย่างให้กับไทยในการดำเนินความสัมพันธ์ ในยุคที่กำลังจะมาถึงภายใต้รัฐบาลใหม่ได้ด้วย

อ้างอิง :

[1] ดูการศึกษาใน D.R. SarDesai, Vietnam: Past and Present, 4th edition (New York: Routledge, 2019), chapter 1 and 2.
[2] รายละเอียดใน Wallace J. Thies, When Governments Collide: Coercion and Diplomacy in the Vietnam Conflict, 1964-1968 (Berkeley: University of California Press, 2021 [1980]).
[3] สรุปข้อมูลจาก ชภาภัทร โสตถิอนันต์, “นโยบาย “3 ไม่” ของเวียดนามกับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ. 2010-2011,” (สารนิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า