ความซับซ้อนที่โปร่งใสในการสืบราชสันตติวงศ์ ‘สมัยรัตนโกสินทร์’

ลักษณะของการสืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาและในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะมีระเบียบแบบแผนและมีหลักเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติอยู่บ้าง แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่มีความแน่นอนตายตัวที่จะเป็นไปตามแบบแผนและหลักเกณฑ์เหล่านั้น ในอดีตก่อนสวรรคตของทุกรัชกาลจะไม่ค่อยมีการกล่าวเจาะจงไว้ว่าบุคคลใดจะมีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่จะใช้วิธีการตรัสโดยนัยยะ หรือโดยอาศัยราชประเพณีที่สืบต่อกันมา ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า หากมีการกำหนดเจาะจงไว้ว่าเป็นผู้ใดแล้ว ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตกับพระราชวงศ์พระองค์นั้นได้

สำหรับการสืบราชสันตติวงศ์ที่เกิดขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ที่สำคัญ สรุปโดยสังเขปได้ ดังนี้ กรณีการเปลี่ยนแผ่นดินจากรัชกาลที่ 2 สู่รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มิได้ตรัสสั่งไว้ให้บุคคลใดสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป แต่หากดูจาก “ธรรมเนียมแห่งราชประเพณี”และ กฎมณเฑียรบาลแล้ว ราชสมบัติย่อมตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตในพระอัครมเหสี แต่เนื่องจากการประชุมปรึกษาหารือของเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ประกอบกันเป็น “คณะผู้เลือกตั้ง” เห็นควรให้ราชบัลลังก์ตกทอดแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้มีพระราชปรารภเรื่องการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีเนื้อหาบางตอนเกี่ยวข้องกับการสืบราชสันตติวงศ์ความว่า

“…จนมีพระญาติประยุรวงศานุวงศ์สืบฯ มาเป็นอันมาก ประมาณถึงพันหนึ่งสองพัน แต่ที่เป็นผู้หญิงนั้นยกเสีย ว่าแต่ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ก็มี กลางคนก็มี เด็กนั้นก็มี… แต่ที่จะบังคับให้ท่านผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินบังคับไม่ได้ ขอเสียเถิด ให้พระญาติประยูรวงศ์กับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยประนีประนอมกัน สมมุติจะให้พระองค์ใดหรือผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินก็สุดแต่จะเห็นพร้อมกันเถิด… อย่าให้ฆ่าฟันกันเสียนักเลย จงช่วยกันรักษาแผ่นดินไปด้วยกันเถิด…”

โดยก่อนที่รัชกาลที่ 3 จะสวรรคตเพียงสิบวัน เสนาบดีผู้ใหญ่สกุลบุนนาคได้กราบทูลภิกษุสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเชิญเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑามณีพระอนุชาของพระองค์ ให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในกรณีของรัชกาลที่ 5 ก็เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มิได้ทรงตัดสินเด็ดขาดว่าบุคคลใดจะเป็นองค์รัชทายาทต่อไป แต่ได้มีพระกระแสรับสั่งแก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (พ.ศ. 2351-2425) ที่สมุหพระกลาโหม และเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ความตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าสิ้นตัวฉันแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายจงช่วยทะนุบํารุงการแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย…ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปในภายหน้าให้พร้อมกันเลือกเอาเถิด จะเป็นพี่ก็ตาม จะเป็นน้องก็ตาม จะเป็นลูกก็ตาม จะเป็นหลานก็ตาม สุดแต่จะพร้อมกัน ท่านพระองค์ใดมีปรีชาญาณควรจะรักษาแผ่นดินได้ ก็ยกขึ้นเป็นเจ้าจะได้ทะนุบํารุงแผ่นดินแลพระวงศานุวงศ์แลราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป …”

กล่าวคือ ให้ปรึกษาหารือกัน สุดท้ายจึงได้มีการกราบทูลให้ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์โตสืบราชสมบัติต่อ อนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 มิได้มีการแต่งตั้งพระราชโอรสองค์โตเป็นวังหน้า ครั้งหนึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้เสนอให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ (พ.ศ. 2381-2428) พระราชโอรสองค์โตในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวังหน้า แต่รัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าให้เป็นกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ

ต่อมาหลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนางในพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นประธาน เพื่อเลือกกษัตริย์องค์ต่อไป พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์จึงเสนอให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมก็ได้เห็นชอบดังได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงกล่าวต่อในประเด็นการตั้งอุปราชฝ่ายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์จึงเสนอให้ ตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นวังหน้า แต่การแต่งตั้งก็มิได้เป็นไปโดยมติเอกฉันท์ เนื่องจากพระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ได้คัดค้านว่า “…ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรแล้วแต่ พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุมที่จะเลือกพระมหาอุปราช…เห็นราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อนอย่างนั้น…จึงเห็นว่ามิใช่หน้าที่ของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุปราช” สรุปความก็คือ การแต่งตั้งวังหน้าตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่หน้าที่ของที่ประชุม

ต่อมาในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อเริ่มปฏิรูปประเทศ รวบรวมการเก็บภาษี ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเก็บรายได้ของวังหน้า รวมถึงการตั้งเคาน์ซิลออฟสเตต และปรีวีเคาน์ซิล ในช่วงปี พ.ศ. 2517 กำหนดรูปแบบการทำงานในลักษณะการประชุมปรึกษา ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันใช้การลงมติโดยการออกเสียงโหวต การเป็น “กอมมิตตี” มีผู้ไม่เห็นด้วยเช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางตระกูลบุนนาค กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นต้น เพราะเห็นว่าการดำเนินงานของสภาเหล่านี้เป็นการพยายามดึงอำนาจไปจากกษัตริย์ ประกอบกับความหวาดระแวงว่าวังหน้าจะถูกปลดจากตำแหน่ง เนื่องจากว่าไม่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โดยตรง ได้นำไปสู่ความขัดแย้งที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์วังหน้า” จนเกือบจะเกิดเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ยุติลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งของการการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ โดยภายหลังจากวังหน้าคือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตลงจึงได้เกิดธรรมเนียมในการสืบราชสันตติวงศ์ ในปี พ.ศ. 2428 ได้มีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า ดังความบางตอนในพระบรมราชโองการ เมื่อวันศุกร์ เดือนเก้า แรม 10 ค่ำ ปี ระกา พ.ศ. 2428 ความว่า

“…ตำแหน่งพระมหาอุปราชนี้ไม่เป็นการจําเป็นที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงตั้งขึ้นไว้ไม่ให้ขาด เป็นธรรมเนียมว่างเว้นมาแต่โบราณราชประเพณี ดังนี้…ตําแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายชั้น นานาประเทศซึ่งมีธรรมเนียมผิดกับสยามเกิดเป็นที่เข้าใจผิดไปต่างๆ เป็นที่ฉงนสงสัยต่างๆ…เป็นตําแหน่งลอยอยู่มิได้มีคุณต่อแผ่นดินแต่ต้องใช้เงินแผ่นดิน จึงได้เห็นชอบพร้อมกันว่าควรจะยกเลิกตําแหน่งที่พระมหาอุปราชนี้ไว้ จึงมีพระบรมราชโองการประกาศมาเสียให้ทราบทั่วกัน”

โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้รับพระบรมราชโองการ และกำหนดตำแหน่ง “มกุฎราชกุมาร” (Crown Prince) ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2429 เป็นองค์รัชทายาท ทำให้เกิดความชัดเจนว่าบุคคลใดจะเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไปภายหน้า โดยผู้ได้รับการสถาปนาในขณะนั้นคือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะได้เข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศได้สวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานให้สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อจะได้รักษาโบราณขัตติยราชประเพณีให้เป็นที่มั่นคง และป้องกันสรรพอุปัททวันตรายที่จะเกิดในแผ่นดิน เมื่อวันที่ 5 มกราคม ร.ศ.113 ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 5 ก็ได้มีพระราชหัตถเลขาตอบเมื่อวันที่ 11 มกราคม ร.ศ. 113 หลังจากนั้น ในวันที่ 17 มกราคม ร.ศ. 113 จึงได้มีการประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ให้ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ให้ดำรงแลประดิษฐาน ในตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร ให้ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ตามตำแหน่งยศสมเด็จหน่อพุทธเจ้าซึ่งมีมาในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตั้งไว้ในจุลศักราช 722… เป็นรัชทายาทสำหรับสืบสันตติวงษ์…”

ซึ่งต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ก็ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณไว้ มีข้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับการสืบราชสัตติวงศ์ว่า ถ้าเมื่อใดที่รัชกาลที่ 5 มีพระราชโอรสก็จะไม่เป็นรัชทายาทและหากได้สืบราชสันตติวงศ์ต่อแล้ว หากยังไม่มีบุตรซึ่งเป็นอุภโตสุชาติ ก็จะให้น้องร่วมพระราชชนนีเป็นรัชทายาทต่อไป สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธจึงได้ครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 5

ต่อมา เนื่องจากว่ารัชกาลที่ 6 มิได้มีพระราชโอรส พระองค์จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศแต่งตั้งองค์รัชทายาท โดยระบุให้สืบราชสันตติวงศ์จากพระเชษฐาสู่พระอนุชาร่วมพระชนนีเดียวกัน คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทิวงคตก่อนรัชกาลที่ 6 (13 มิถุนายน พ.ศ. 2463) ทำให้สิทธิ์ในการสืบราชสมบัติตกแก่ “น้อง” ลำดับถัดไป คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ แต่ก็ทิวงคตไปก่อนรัชกาลที่ 6 เช่นกัน (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467) ส่วนกรณีของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2466 จึงมีข้อพิจารณาในกรณีของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ดังนี้

หากกล่าวย้อนไปคราวต้นสมัยรัชกาลที่ 6 หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ได้มีการประชุมพิเศษเจ้านายชั้นสูงโดยมีการพูดกันถึงการแต่งตั้งรัชทายาทและความมั่นคงของกรุงสยามที่เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวพันกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ได้มีการประชุมเสนาบดีและมีการนำเรื่องการแต่งตั้งรัชทายาทเข้าสู่วาระการประชุม ภายหลังจึงได้มีการตรา “พระราชกฤษฎีกาตั้งรัชทายาท” มีข้อความที่สำคัญโดยย่อคือ

“…บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับสิริราชสมบัติสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถโดยเรียบร้อย… เพื่อจะให้เป็นความไม่ประมาท จึงเห็นว่าสมควรที่จะมีผู้ซึ่งจะเป็นรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงษ์ ขึ้นไว้มิให้เว้นว่างเพื่อให้เป็นความมั่นคงในการปกครองพระราชอาณาจักรสืบไปตามพระราชประเพณีที่มีมาแต่ก่อน… แต่บัดนี้ข้าพเจ้ายังไม่มีบุตร… ในเรื่องผู้ที่จะเป็นรัชทายาทต่อจากข้าพเจ้าในเวลาที่ยังไม่มีบุตรนี้ ถึงไม่ได้มีพระกระแสรับสั่งไว้ชัดเจน ก็เป็นอันเข้าใจได้ตามพระกระแสที่ทรงแสดงนี้ จึงเห็นว่าในเวลานี้ต้องให้น้องร่วมพระราชชนนีเป็นรัชทายาทไม่มีอย่างอื่น เว้นแต่ข้าพเจ้ามีบุตรจึงให้บุตรเป็นรัชทายาทต่อไป… ข้าพเจ้าขอกำหนดไว้ว่า ให้น้องที่เกิดแต่สมเด็จพระบรมราชินีนาถอันเป็นน้องร่วมอุทรเป็นรัชทายาทตามลำดับอายุพรรษกาล จำเดิมด้วยน้องชายเล็ก เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ผู้เป็นน้องมีอายุพรรษารองตัวข้าพเจ้านี้ลงไป อนึ่งตามพระราชประเพณีนิยมมาแต่โบราณกาลมีอยู่ว่า ผู้ที่จะดำรงศิริราชสมบัติ ควรที่จะเป็นอุภโตสุชาติ จึ่งจะเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วกัน เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอกำหนดไว้ต่อไปว่า ถ้าแม้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะไม่พึงปรารถนา เป็นต้นว่าถ้าแม้ข้าพเจ้าจะไม่มีบุตร แลน้องข้าพเจ้าจะได้เป็นผู้สืบราชสันตติวงษ์ต่อไป อย่าให้น้องผู้นั้นเลือกตั้งบุตรของตนซึ่งมิได้เป็นอุภโตสุชาติเป็นรัชทายาทต่อไปเลย ขอจงให้น้องผู้มีอายุพรรษาของตนลงไปเป็นรัชทายาท…”

สรุปสาระสำคัญคือเป็นการตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเป็นรัชทายาทหากพระองค์ไม่มีโอรส (เป็นการสถาปนารัชทายาทภายใต้เงื่อนไขบังคับหลัง) โดยมีข้อห้ามมิให้ราชสมบัติตกทอดแก่โอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาถ ในการนี้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนาถก็ได้มี “คำปฏิญญา” ให้ไว้ด้วย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 127 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…บุตรข้าพระพุทธเจ้าที่มีอยู่แล้วในเวลานี้ มีมารดาเป็นคนสามัญ… ไม่สามารถจะมียศเป็นเจ้าฟ้าได้เป็นอันขาด… เมื่อเป็นเจ้าฟ้าไม่ได้เช่นนั้นแล้วก็ไม่สามารถจะเป็นรัชทายาทได้… ข้าพระพุทธเจ้าขอตั้งสัตยาธิฐาน… จงอภิบาลบำรุงรักษา ให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทั้งมีพระราชโอรส เป็นรัชทายาทที่จะสืบสนองพระองค์ได้นั้นเสียโดยเร็วพลัน แต่ถ้าแม้บังเกิดมีเหตุที่จะกระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าต้องตั้งรัชทายาทต่อไปแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา พระราชอนุชา แลน้องรักร่วมพระชนนีของข้าพระพุทธเจ้านั้น เป็นรัชทายาทโดยทันควันมิได้รั้งรอ…”

เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่และเสนาบดี ได้มีการอ่านแถลงการณ์และสำเนาพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง อ้างถึงพระราชประสงค์ให้สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ สืบราชสมบัติต่อ ซึ่งตามความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 6 (หรือพินัยกรรมของพระองค์) ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า

“ข้อ 1 ถ้าถึงเวลาที่ข้าพเจ้าล่วงลับไป แม้ข้าพเจ้าไม่มีบุตรชาย ข้าพเจ้าฃอมอบให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาสืบสันตติวงศ์ ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีมารดาที่ไม่มีชาติสกุลอย่างใด เกรงจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และอาณาประชาชน

ข้อ 2 ถ้าเมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป สุวัทนายังมีครรภ์อยู่ ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาเป็นผู้สำเร็จราชการไปก่อน จนกว่าลูกข้าพเจ้าจะประสูติ ถ้าประสูติเป็นหญิง ก็ให้เป็นไปตามข้อ 1 ถ้าประสูติเป็นชายก็ให้เป็นไปตามข้อ 3 ข้างล่างนี้

ข้อ 3 ถ้าเมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีวิตไป มีลูกชายอยู่ แต่อายุยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์ ข้าพเจ้าขอแสดงความปรารถนาว่าให้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามกฎมณเฑียรบาล

แต่เนื่องจากพระองค์ไม่มีโอรส การสืบสันตติวงศ์จึงเป็นไปตาม ความข้อ 1 ราชบัลลังก์จึงตกสู่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา การสืบราชสมบัติในกรณีนี้จึงเป็นไปตาม “พระราชพินัยกรรม” ของรัชกาลที่ 6 และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 6 จะได้มีการบัญญัติกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่ประเทศสยามกำลังมีการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมาย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 เพื่อชำระรวบรวมกฎหมายให้เป็นหมวดหมู่และเพิ่มเติมบทกฎหมายให้ครบถ้วน ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่ที่มีการชำระก็จะเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ส่วนกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ไม่พบว่ามีการตรวจชำระ แต่เท่าที่เคยปรากฏก่อนหน้าก็คือ เหตุการณ์ ร.ศ. 103 ที่มีการเรียกร้องให้มีกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ให้เป็นการแน่นอนเท่านั้น จึงมีข้อน่าคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ที่รัชกาลที่ 6 บัญญัติขึ้นมา เกิดขึ้นจากเหตุผลและความจำเป็นในขณะนั้นที่ต้องการกีดกันบุคคลที่ไม่ต้องการให้อยู่ในลำดับของการสืบราชสันตติวงศ์ออกไป โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การห้ามผู้ที่มีภริยาเป็นนางต่างด้าวสืบราชสันตติวงศ์

สำหรับประเด็นเรื่องการห้ามมีชายาเป็นนางต่างด้าว ได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในบันทึกของ พระยาประดิพัทธภูบาล (คออยู่เหล ณ ระนอง) ในหนังสือ “เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ” ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการห้ามมีชายาเป็นนางต่างด้าวก็เป็นได้ ความว่า

“…ระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรส (รัชกาลที่ 6) ประทับอยู่ที่ญี่ปุ่นนี้ วันหนึ่งอธิบดีกระทรวงวังมาบอกข้าพเจ้าว่า โดยรับสั่งของเอ็มเปอเรอพระองค์จะถวายพระธิดาองค์หนึ่งในสามพระองค์แก่สมเด็จพระบรมโอรส…ให้เชิญสมเด็จพระบรมโอรสไปทรงเลือกตามพระทัย…แต่สมเด็จพระบรมโอรสสั่งว่า ‘ไม่ได้ กลับไปบอกเขาเถอะว่าเรายังเด็กนักที่จะมีภริยา…ลิ้นกับฟันยังรู้จักกระทบกัน ถ้าเราเอาลูกสาวเขามาเดี๋ยวเกิดทะเลาะกัน เขาบอกให้พ่อแม่เอาเรือรบมาเมืองเราสัก 2 ลำ เราก็แย่เท่านั้น’…”

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “…ยังค่อนข้างแน่นอนว่า (กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ) มีเจตนารมณ์ที่จะใช้ห้ามกรณีของเจ้าฟ้าจักรพงศ์และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ด้วย…” และ “…เกือบจะแน่นอนว่าทรงร่างมาตรา 11(4) โดยตั้งใจให้ครอบคลุมกรณีเจ้าฟ้าจักรพงษ์ และดังนั้นก็ทรงตั้งใจให้มาตรา 12 ครอบคลุมพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ด้วย…”

สำหรับพระอนุชาร่วมชนนีของรัชกาลที่ 6 ที่อยู่ในข่ายสืบราชสันตติวงศ์อันได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (พ.ศ. 2425-2463) สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางศ์ (พ.ศ. 2432-2467) และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช (พ.ศ. 2435-2466) มีข้อพิจารณาตามลำดับ ดังนี้

กรณีของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งมีโอรสคือพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พ.ศ. 2450-2506) ในสายนี้ หากพิจารณาจากกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ มาตรา 11(4) ประกอบมาตรา 12 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นผู้มีชายาเป็นนางต่างด้าวจากลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ และให้รวมตลอดถึงเชื้อสายโดยตรงลงไปด้วย ดังนั้น เท่ากับว่าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็จะถูกยกเว้นไปจากลำดับการสืบราชสันตติวงศ์นั่นเอง

และประเด็นเรื่องกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ ได้มีการบัญญัติมาใช้บังคับภายหลังสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถสิ้นพระชนม์ เนื่องจากกรณีมาตรา 11 ของกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งในการนำมาใช้นั้น ต้องนำมาใช้ในขณะที่จะมีการสืบราชสันตติวงศ์เพื่อพิจารณาหารัชทายาทต่อไป ดังนั้น เห็นว่าต้องนำมาใช้กับสายของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เพื่อจะพิจารณาว่าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะมีลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ มิใช่ลักษณะของการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด

ในส่วนของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังปรากฏเป็นการชัดเจนว่าถูกห้ามสืบราชสันตติวงศ์ ดังปรากฏใน “พระราชกฤษฎีกาตั้งรัชทายาท” โดยให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเป็นรัชทายาทและกำหนดเงื่อนไขห้ามบุตรซึ่งมิได้เป็นอุภโตสุชาติสืบราชสันตติวงศ์ต่อ ประกอบกับ “คำปฏิญญา” ของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 127

กรณีของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์ เนื่องจากสิ้นพระชนม์ก่อนรัชกาลที่ 6 และไม่มีโอรส กรณีนี้จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ สำหรับกรณีของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช แม้จะสิ้นพระชนม์ก่อนรัชกาลที่ 6 แต่เนื่องจากมีโอรส คือ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช (พ.ศ. 2465-2533) ซึ่งถ้าว่ากันตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ ย่อมเป็นผู้มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ก่อนสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เนื่องจากว่าอยู่ในฐานะโอรสของพระเชษฐาของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ แต่กรณีนี้ก็ถูกกำหนดให้ข้ามไป ตามความใน “พินัยกรรมของรัชกาลที่ 6” เนื่องจากมีมารดาเป็นคนธรรมดาสามัญ

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตในกรณีของสิทธิ์การสืบราชสันตติวงศ์ในสายของ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (พ.ศ. 2404-2470) หนึ่งในภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง มเหสีลำดับที่สามในรัชกาลที่ 5 รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ซึ่งมีพระราชโอรสคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์ (พ.ศ. 2424-2487) ดังนี้

ข้อเท็จจริงในสมัยรัชกาลที่ 5 ระยะแรกจะยังไม่มีการตั้งพระราชินี ถ้าพระชายามีลูกเป็นเจ้าฟ้าก็จะยกย่องเป็นพระบรมราชเทวี เช่นกรณีของการสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นรัชทายาทเมื่อปี พ.ศ. 2429 ได้มีการสถาปนาพระมารดาเป็นพระมเหสีเอก คือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พ.ศ. 2405-2498) จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาทสวรรคต ได้มีการสถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่มีอาวุโสสูงสุดในตอนนั้น เป็นองค์รัชทายาทคนต่อไป และก็ได้มีการสถาปนาพระมารดาขององค์รัชทายาทเป็นมเหสีเอก คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชเทวี (พ.ศ. 2406-2462) ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป พระองค์ก็ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตาม “พระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ศก 115” หลังจากนั้นจึงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ” ซึ่งในสายนี้มีพระราชโอรสที่อยู่ในข่ายของผู้มีสิทธิ์เป็นกษัตริย์ ณ เวลานั้น 5 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

นอกจากนั้นยังมี “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับการขอ “พรพิเศษ” ให้การสืบราชสันตติวงศ์อยู่ในสายดังกล่าวก่อน ซึ่งหากเป็นตามนี้จริงก็เท่ากับว่าไม่ต้องพิจารณาถึงเกณฑ์เรื่องลำดับอาวุโสของพระราชโอรสในสายของมเหสีอีกสองพระองค์คือ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ที่ถึงแม้จะมีอาวุโสสูงกว่าก็จะถูกเลื่อนไปอยู่ในลำดับหลัง และถ้าหากพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ รัชกาลที่ 6 ได้ประกาศใช้กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งมีรายละเอียดที่เป็นไปในลักษณะนี้ กล่าวคือ ในการสืบราชสันตติวงศ์ให้เป็นไประหว่างพระอนุชาร่วมมารดาของพระองค์ก่อน คืออยู่ในสายของพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีก่อน หากหมดสายก็ให้พิจารณาพระอนุชาสายพระเชษฐภคินีแท้ๆ ของพระมารดา (“พี่สาว” แท้ๆ ของ “แม่”) ส่วนสายที่สนิทน้อยก็คือสายของพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี เพราะเป็นพระเชษฐภคินีต่างมารดาของพระมารดา (“พี่สาว” ต่าง “แม่” ของ “แม่”)

ทั้งนี้ หากไม่มีการบัญญัติกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมาและหากยึดการสืบราชสันตติวงศ์ในสายของรัชกาลที่ 5 เป็นหลัก ภายใต้กฎเกณฑ์ความอาวุโสของพระราชโอรสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ 6 สู่รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2468 พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีอาวุโสสูงที่สุด ณ ขณะนั้น และยังมีพระชนม์ชีพอยู่ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์กรมพระนครสวรรค์ ทำนองเดียวกันในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ 7 ไปสู่รัชกาลที่ 8 หากไม่ยึดลำดับการนับตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์แต่ใช้เกณฑ์เดียวกันนี้ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ที่มีอาวุโสสูงสุด ณ ขณะนั้นก็ยังคงเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ อยู่เช่นเดิม แต่หากเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ที่ใช้เกณฑ์สนิทมากน้อยมาประกอบด้วยราชบัลลังก์ก็จะย้อนกลับไปสู่สายพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช

อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ 7 ไปสู่รัชกาลที่ 8 ได้มีการตัดกรณีของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ออกไป เหตุเพราะเสด็จไปประทับในต่างประเทศตามคำขอร้องของคณะราษฎร รวมถึงพระโอรสของพระองค์ท่าน

ในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สถาบันกษัตริย์ไทยสมัยใหม่ ที่การสืบราชสันตติวงศ์เกิดขึ้นในขณะที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนยังมีพระชนม์ชีพอยู่ เหตุเนื่องจากว่ารัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ และได้มีพระราชดำริในเรื่ององค์รัชทายาทไว้ชัดเจน ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิ์จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์…”

ซึ่งถือว่าเป็นการสละสิทธิ์ที่พระองค์มีตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์และรัฐบาลก็ได้นำพระราชหัตถเลขาดังกล่าว เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบการสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปีเดียวกัน เป็นอันว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพ้นจากตำแหน่งประมุขของสยาม ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เวลา 16.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้รับพระราชหัตถเลขา

ทั้งนี้ หากตัดกรณีของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชออกจากสายการสืบราชสันตติวงศ์ เท่ากับว่าสายของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี) จะสิ้นสุดลงตรงรัชกาลที่ 7 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติโดยไม่ตั้งบุคคลใดเป็นผู้สืบราชสันติวงศ์ต่อไป กรณีนี้จึงต้องกลับไปพิจารณากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ มาตรา 9 (11) (พี่หรือน้องต่างมารดาของกษัตริย์ หรือลูกของพี่หรือน้องนั้นๆ) ดังนั้น การนับจึงย้อนไปที่สายของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา) ซึ่งมีความสนิทมากกว่าสายของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี เท่ากับว่าลำดับต่อไปในการสืบราชสันตติวงศ์ก็จะเป็นของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ

อย่างไรก็ตามการสืบราชสันตติวงศ์ในระยะเวลานั้นมิได้เป็นไปโดยการนับลำดับตามกฎมณเฑียรบาลฯ อย่างเดียว แต่จะต้องประกอบด้วย “ความเห็นชอบ” ของสภาผู้แทนราษฎรด้วย

คณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้น ใช้ระบบสภาเดียวมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2475 ต้องทำการสรรหาบุคคลที่จะมาสืบราชบัลลังก์ต่อไป ตามมาตรา 9 ซึ่งบัญญัติว่า “การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังซึ่งเป็นผู้รักษาการให้เป็นไปตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ได้นำรายพระนามพระราชวงศ์ซึ่งสมควรจะเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงลงนามว่าทรงตรวจสอบถูกต้องแล้วขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับความเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทำให้ท้ายที่สุด ผู้มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์ก็ตกเป็นสิทธิ์ของ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ตามความในมาตรา 8 และมาตรา 9 กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ แต่เนื่องจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว สิทธิ์ดังกล่าวจึงตกมาสู่พระโอรสโดยผลของกฎมณเฑียรบาลฯ ซึ่งก็คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสองค์โต

อนึ่ง ในบันทึกลับของรัชกาลที่ 7 (วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ในช่วงที่ทรงปรารภว่าพระองค์พระเนตรไม่ปกติจึงอยากจะลาออก (สละราชสมบัติ) มิได้มีการกล่าวถึงการสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระองค์ไว้ คือทรงมีพระราชดำริเห็นว่าพระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชร์บูรณ์ได้ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ และในการเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7 ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์ก็ได้มีพระราชกระแสว่า หากสละราชสมบัติแล้วก็จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจตามกฎมณเฑียรบาลในอันที่จะแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นครองราชย์ต่อ แต่เห็นว่าควรให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฯ และรัฐธรรมนูญจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่กระทบกระเทือนและนำมาซึ่งความยุ่งยากอันเกิดจากการชิงราชสมบัติในภายหน้าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 33/2477 สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติอัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยให้มีผลย้อนหลังไปวันที่มีการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 คือ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 อันเป็นการสอดคล้องกับหลักการของคอมมอนลอว์ที่เกี่ยวกับความต่อเนื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือหลัก “The King never Die, Long lives the King” และช่วงเวลาระหว่าง 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ถึง 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 เป็นช่วงที่เป็น “สุญญากาศ” (interregnum) ของกษัตริย์ในทางความเป็นจริง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงได้ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 โดยด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 นับเป็นการสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ซึ่งต่อมาได้เสด็จสืบราชสันตติวงศ์เป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ที่มา :

[1] ปรามินทร์ เครือทอง, “ผลัดแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์”, ศิลปวัฒนธรรม, ปี ที่ 27, ฉบับที่ 8
[2] ประสิทธิ์ แก้วสิงห์, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์, (มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรทรวิโรฒ มหาสารคาม, ม.ป.ป.)
[3] สุพจน์ แจ้งเร็ว, “พระราชปรารภรัชกาลที่ 3 เมื่อก่อนเสด็จสวรรคต”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 27, ฉบับที่ 6
[4] สุพจน์ ด่านตระกูล, “การสืบราชสันตติวงศ์”, ฟ้าเดียวกัน, ปี ที่ 3, ฉบับที่ 4
[5] หอสมุดพระวชิรญาณ, ราชสกุลวงศ์พระนามเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าในกรุงรัตนโกสินทร์, (โรงพิมพ์ไท, 2463)
[6] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: พิมพ์ดี, 2547)
[7] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ, (2547)
[8] สมศักดิ เจียมธีรสกุล, ์ “ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามล าดับชั้นของกฎมณเฑียรบาลหรือเพราะปรีดีสนับสนุน? (1)”, ฟ้าเดียวกัน, ปี ที่ 4, ฉบับที่ 2
[9] เรอเน กียอง, การตรวจชำระร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม, แปลโดย วิษณุ วรัญญู, (กรุงปารีส: โรงพิมพ์แห่งชาติ, 1919)
[10] พระยาประดิพัทธภูบาล (คออยู่เหล ณ ระนอง), “สมเด็จพระบรมโอรสฯ เสด็จญี่ปุ่น”,เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ.
[11] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2477 (สามัญ) ครั้งที่ 33
[12] รายละเอียดตาม หนังสือกระทรวงวัง ที่130/3061 (ลับ) ลงวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2477 เรื่อง ส่งบัญชีลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังถึงนายกรัฐมนตรี
[13] หนังสือกรมราชเลขาธิการ ที่ 109/1922 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2475จากเจ้าพระยามหิธร ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
[14] บันทึกกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 มีนาคม 2477 เรื่อง รายงานการเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระองค์เจ้าอานันทมหิดล