วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อในหลวงทรงสละทรัพย์และดินแดน เพื่อรักษาชีวิตประชาชนของพระองค์

หลังจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามให้กับประเทศปรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2414 กลายเป็นแรงผลักดันให้ฝรั่งเศสพยายามที่จะแสวงหาความมั่งคั่งจากดินแดนตะวันออกไกล เพื่อลดทอนกระแสการเสื่อมความนิยมของประชาชนภายในประเทศ

ฝรั่งเศสจึงมุ่งสู่การขยายอิทธิพลเข้าสู่จีนตอนใต้ เพื่อแข่งขันกับอังกฤษ โดยอาศัยฐานของสหภาพอินโดจีน ที่ฝรั่งเศสสามารถพิชิตดินแดนของเวียดนามได้ทั้งหมด และผนวกเขมรส่วนนอกที่แย่งชิงจากสยามมาได้เมื่อปี พ.ศ. 2410

ในระหว่างปี พ.ศ. 2418 – 2428 “จีนฮ่อ” หรือกองกำลังของอดีตกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว เข้ามาส่องสุมปล้นสะดมเมืองต่างๆ บริเวณชายแดนลาว ซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม และชายแดนเวียดนาม ทำให้รัฐบาลสยามต้องคอยส่งกองทัพไปปราบเสมอๆ ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสยึดครองดินแดนเวียดนามตอนเหนือได้มากขึ้น ก็ได้ส่งกองทัพเข้ามาบริเวณพรมแดนสยาม โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเวียดนามปราบฮ่อ และถือโอกาสส่งคณะสำรวจเข้ามาสำรวจและทำแผนที่ โดยมีนายโอกุสต์ ปาวี ผู้ช่วยกงสุล เข้ามาควบคุมการสำรวจเป็นพิเศษ

การสำรวจของปาวีและคณะ ได้สร้างความตื่นตัวให้รัฐบาลสยามเห็นความสำคัญในสิทธิเหนือดินแดนและเส้นเขตแดน หลังจากที่สยามได้สูญเสียดินแดนเขมรส่วนนอกให้กับฝรั่งเศสไปเมื่อปี พ.ศ. 2410 ดังนั้น ในหลวง ร.5 จึงได้จ้างผู้เชี่ยวชาญการทำแผนที่มาทำการสำรวจ และส่งนายเจมส์ แมกคาร์ที ไปทำแผนที่เขตแดนบริเวณลาวตอนเหนือ พร้อมกันนี้ก็ได้ส่งพระยานนทบุรีเกษตราราม ขึ้นไปเป็นข้าหลวงที่หลวงพระบาง เพื่อช่วยเจ้าหลวงแห่งหลวงพระบางในการจัดระเบียบและรักษาด่านชายแดน

เมื่อกองทัพฮ่อคืบเคลื่อนเข้ามารุกรานแคว้นสิบสองจุไท ในปี พ.ศ. 2430 ฝรั่งเศสได้ส่งทหารเข้าไปปราบฮ่อที่เมืองไล และเข้ายึดเมืองแถง ในดินแดนของสยาม รวมทั้งหาข้ออ้างยึดครองแคว้นสิบสองจุไท เนื่องจากฝ่ายสยามเห็นว่า หากปะทะกับฝรั่งเศสอาจทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ จึงอาศัยการเจรจาและยอมยกสิบสองจุไทให้เพื่อระงับข้อพิพาท

แต่ทว่าฝรั่งเศสต้องการที่จะยึดครองดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงทั้งหมด เพื่อเปิดทางไปสู่มณฑลยูนนานของจีน ดังนั้นฝรั่งเศสจึงได้มีการเคลื่อนไหวบริเวณแนวชายแดนเสมอมา จนเกิดความตรึงเครียดเป็นระยะๆ เช่น ในปี พ.ศ. 2434 เกิดกรณีบางเบียนแห่งทุ่งเชียงคำ และสถาการณ์ก็ทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทั่งนายโอกุสต์ ปาวี ได้เร่งเปิดกดดันการเจรจาปัญหาการปักปันเขตแดน และข้อพิพาทต่างๆ

ต่อมาฝรั่งเศสได้ส่งทหารเข้ามายึดเมืองต่างๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงเข้าโจมตีเมืองคำม่วนและทุ่งเชียงของ ปรากฏว่าในการปะทะกัน นายโกสกูแรง นายทหารของฝรั่งเศสได้เสียชีวิตในการสู้รบ ฝรั่งเศสจึงใช้เป็นข้อกล่าวหาว่าโกสกูแรงถูกฆาตกรรม และเรียกร้องให้รัฐบาลสยามรับผิดชอบ

ขณะนั้น ในหลวง ร.5 ทรงเห็นด้วยกับขุนนางฝ่ายที่ต้องการสู้รบ จึงได้ทรงให้มีการเร่งสั่งซื้อปืนและกระสุนจากสิงคโปร์และอังกฤษมาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็ทรงมองไปถึงวิธีการเจรจาทางการทูตเพื่อแก้ไขความขัดแย้งด้วย จึงทรงมีพระบรมราโชบายให้กองทัพที่รักษาชายแดน ระมัดระวังการสู้รบให้อยู่ในขอบเขตของการป้องกันตัว เพื่อที่สยามจะได้มีโอกาสเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อยุติความขัดแย้งได้

ในช่วงนั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์บริเวณชายแดน ที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยของในหลวง ร.5 กล่าวคือ พระยาสุริยเดช ผู้รักษาด่านทุ่งเชียงคำ ได้ออกคำสั่งถึงหลวงณรงค์ ในลักษณะให้ยินยอมแก่ฝรั่งเศส ความว่า …

“ถ้าฝรั่งเศสจะคุมทหารยกเข้ามาในเมืองทุ่งเชียงคำเท่าใด จะมาทำอำนาจประการใด ก็อย่าให้หลวงณรงค์คิดหวาดหวั่น ให้ตั้งมั่นอยู่ในท่าที ฝรั่งจะมาติดแทรกแซงประการใดก็ทำเนา ถึงโดยที่สุดฝรั่งเศสจะมาตั้งกระบวนรบพุ่งอย่างไร ก็อย่าให้หลวงณรงค์บังคับทหารและไพร่สู้รบเป็นอันขาด ถึงเขาจะฆ่าฟันรันแทงยิงทหาร ฤๅยิงหลวงณรงค์ตาย ฤๅจับหลวงณรงค์ไป ก็ต้องเอาชีวิตรฉลองพระเดชพระคุณ”

เมื่อในหลวง ร.5 ทรงทราบคำสั่งนี้ ก็ไม่พอพระราชหฤทัย และได้มีพระราชหัตถเลขาไปยังเจ้าพระยารัตนบดินทร์ เสนาบดีมหาดสยามว่า …

“ซึ่งพระยาสุริยเดชบังคับไปยังหลวงณรงค์ว่า … นั้นไม่ชอบ เป็นการเหลือเกินที่มนุษย์จะทำตามได้ และเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศอย่างยิ่ง เพราะผู้ซึ่งไปรักษาพระราชอาณาเขต จะต้องนิ่งเป็นท่อนไม้อยู่เช่นนั้น จะเป็นประโยชนอันใด คำสั่งเช่นนี้เหมือนเอาคนไปปักเป็นหลักแทนเสาหิน ให้แก้คำสั่งเสียใหม่ว่า ถ้าฝรั่งเศสล่วงเกินเข้ามาให้ห้ามปราม ถ้าฝรั่งเศสเอาศาตราวุธมายิงฟัน ให้ต่อสู้จนเต็มกำลัง”

ในที่สุดสถานการณ์ได้เริ่มบานปลาย เมื่อฝรั่งเศสส่งเรือปืนแองกงสตองและเรือโกเมต ข้ามสันดอนเข้ามายังกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 โดยมีเรือชองบาตีสต์เซ เป็นเรือนำร่องเข้ามาล่วงล้ำอธิปไตยของสยาม และในขณะเดียวกันนั้น ทหารที่ประจำ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทรที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้เกิดการปะทะกัน แต่ในที่สุดเรือปืนแองกงสตองและเรือโกเมต ก็สามารถฝ่ากระสุนเข้ามาทอดสมอจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้

นายโอกุสต์ ปาวี ได้ยื่นคำขาดต่อกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ให้ยอมรับข้อเสนอของฝรั่งเศสภายใน 48 ชั่วโมง มิเช่นนั้นราชทูตฝรั่งเศสจะออกจากสยาม และปิดปากอ่าวรวมถึงน่านน้ำของสยาม โดยข้อเสนอ มี 6 ข้อ ดังนี้

  1. สยามต้องสละการกล่าวอ้างถึงความครอบครองเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม้น้ำโขงและเกาะต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงพรมแดนของเขมร
  2. สยามต้องรื้อถอนด่านทั้งหลายบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ภายใน 1 เดือน
  3. สยามต้องจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำม่วน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะ
  4. สยามต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ และต้องร่วมรับผิดในการยิงเรือปืนที่ปากน้ำ
  5. สยามต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์
  6. สยามต้องวางเงินประกันเป็นจำนวน 3 ล้านฟรังก์

ในเบื้องต้นรัฐบาลสยามได้ตอบรับคำขาดทุกข้อในทันที ยกเว้นข้อ 1 เพราะถ้าสยามยอมรับก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า สยามเป็นฝ่ายผิดที่รุกล้ำดินแดนลาว ซึ่งฝรั่งเศสอ้างว่าอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม

ขณะเดียวกัน อังกฤษ ได้ส่งเรือรบ 3 ลำ คือ เรือเอ็ม.เอ็มเอส.สวิฟท์ เรือรบเอช.เอ็ม.เอส.พัลลัส และเรือรบลินเนต มายังสันดอนปากแม่น้ำด้วย รวมถึงชาติตะวันตกอื่นๆ ก็ส่งเรือรบเข้ามาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี และฮอลันดา โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของคนชาติตน

ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลสยามได้หยั่งเชิงชาติมหาอำนาจชาติต่างๆ ซึ่งปรากฏว่ามหาอำนาจแทบทุกชาติต่างประณามการรุกรานของฝรั่งเศส แต่ทว่าไม่มีชาติใดเลยที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือสยามอย่างแท้จริง ซ้ำยังเกลี้ยกล่อมให้สยามยอมรับข้อเสนอของฝรั่งเศสโดยเร็ว เพื่อยุติความขัดแย้งไม่ให้บานปลาย

โดยเฉพาะท่าทีของอังกฤษ ซึ่งในหลวง ร.5 ทรงหวังว่า จะให้ความสนับสนุนสยาม กลับเป็นชาติที่เร่งเร้าให้สยามรีบยอมแพ้ฝรั่งเศสมากกว่าชาติอื่น

ด้วยความที่เวลานั้น บริเวณสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือของชาติมหาอำนาจทอดสมออยู่มากมาย ทำให้ในหลวง ร.5 ทรงเกรงว่า หากเหตุการณ์บานปลายจนเกิดจลาจลในกรุงเทพฯ ชาติตะวันตกเหล่านั้น คงต้องส่งเรือรบและกำลังทหารเข้ามาปล้นกรุงเทพฯ เหมือนครั้งที่ชาติตะวันตกเคยใช้ข้ออ้างว่า เพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของคนชาติตน แล้วส่งกองกำลังชาติพันธมิตร 10 ชาติ เข้ายึดพระราชวังหยวนหมิงหยวนของจีน

ดังนั้น ในหลวง ร.5 จึงได้ยอมรับข้อเสนอของฝรั่งเศสทุกข้อในที่สุด พร้อมทั้งจ่ายค่าปรับเป็นเงินเหรียญนกซึ่งเป็นเงินถุงแดง ในรัชกาลที่ 3 มูลค่ากว่า 3 ล้านฟรังก์

จะเห็นได้ว่า ในหลวง ร.5 ทั้งทรงเห็นด้วยกับการยืนหยัดป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส ด้วยการเตรียมพร้อมที่จะใช้กำลังเข้าสู้ เห็นได้จากการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าไว้ที่ปากแม้น้ำเจ้าพระยา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทรงละทิ้งแนวทางขันติธรรม ที่ยึดมั่นในการเจรจาทางการทูตเพื่อแสวงหาสันติภาพ

เพราะสุดท้ายหากเกิดสงครามนองเลือดขึ้น ผู้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ก็คือประชาชนชาวสยาม ดังนั้น การที่ทรงยอมเจรจาหรือรับข้อเสนอที่เสียเปรียบฝรั่งเศสอย่างมากมาย เพราะพระองค์ทรงเห็นคุณค่าของชีวิตประชาชน มากกว่าพระเกียรติยศของพระองค์ ที่พระราชบิดาและอดีตพระมหากษัตริย์ได้ปกครองดินแดนเหล่านี้มาหลายร้อยปี

คำกล่าวที่ว่า ในหลวง ร.5 เสียสละดินแดนฝั่งซ้ายเหมือนการเสียสละแขนขาเพื่อรักษาชีวิต จึงมีนัยยะที่หมายถึง ทรงยอมสูญเสียดินแดนบางส่วนและทรัพย์สินเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนเอาไว้นั่นเอง

อ้างอิง :

[1] การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เพ็ญศรี ดุ๊ก. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2554

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า