วอดก้า ‘สุราเสรี’ ที่ทำโรคสุราเรื้อรังเป็นภัยพิบัติของรัสเซีย

วอดก้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัญชาติรัสเซียที่เรารู้จักกันดีถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ด้วยสภาพอากาศของรัสเซียที่หนาวเย็นทำให้รัสเซียนั้นไม่สามารถปลูกพืชต่างๆ ที่จะนำไปทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดี ดังนั้นชาวรัสเซียจึงได้คิดค้นวอดก้าขึ้นเป็นครั้งแรกที่มอสโก ซึ่งมีส่วนผสมเพียงแค่แอลกอฮอล์ผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสมเท่านั้น แม้ในช่วงแรกเครื่องดื่มนี้จะไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่เมื่อรัสเซียเกิดปัญหาทั้งทางการเมืองและสังคมที่ตึงเครียดเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในยุคของพระเจ้าซาร์ ทำให้วอดก้ากลายเป็นทางออกของชาวรัสเซียเพื่อบำบัดความกลัดกลุ้มในชีวิต หลังจากนั้นเป็นต้นมา วอดก้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและกลายเป็นสิ่งที่มีร่วมกันของชาวรัสเซีย [1] จนถึงขนาดที่มีเรื่องตลกในช่วง มิคาเอล กอร์บาชอฟ ที่เขารณรงค์ต่อต้านการดื่มวอดก้าว่า

“มีแถวยาวเหยียดสำหรับต่อคิวเพื่อรอรับการแจกวอดก้าของรัฐบาล ชายยาจกคนหนึ่งที่ต่อคิวอยู่ในแถวทนยืนต่อคิวเพื่อรอรับการแจกวอดก้าต่อไปไม่ไหว จึงกล่าวขึ้นมาด้วยอารมณ์ว่า ‘ฉันจะไปที่เครมลินเพื่อฆ่ากอร์บาชอฟ’ เขาพูด หนึ่งชั่วโมงต่อมา เขาเดินกลับมาที่นั่น พบว่าแถวยังคงยาวอยู่ที่เดิม ทุกคนสนใจและหันมาถามเขาว่า ‘คุณได้ฆ่าเขาหรือไม่?’ ‘ฆ่าเขารึ?’ เขาตอบ ‘แถวที่รอต่อคิวจะฆ่ากอร์บาชอฟน่ะคิวยาวกว่าแถวที่รอรับวอดก้านี้อีก’”

จะเห็นได้ว่าคนรัสเซียมีความผูกพันกับวอดก้าเป็นอย่างมาก และดื่มในทุกโอกาสไม่ว่าจะมีความทุกข์หรือความสุขจนมีคำกล่าวว่าใน 365 วันนี้ ชาวรัสเซียจะหาเหตุผลในการเฉลิมฉลองได้มากกว่า 400 ครั้งต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม วอดก้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูง และสร้างรายได้ให้กับรัสเซียถึง 1 ใน 3 นั้น ได้สร้างปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมตามมาด้วย ทำให้วอดก้าแม้จะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจจะดูธรรมดา แต่นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มนี้กลับมีความเข้มข้นและถูกใช้เพื่อหาเสียงการเมืองอีกด้วย!

วอดก้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างจากแอลกอฮอล์อื่นๆ เพราะมีขั้นตอนการผลิตที่ค่อนข้างง่ายไม่ซับซ้อน ไม่มีตำนานพิศดารที่แฝงอยู่ เช่น ไม่ต้องใช้หญิงสาวพรหมจรรย์ไปทำถังไม้บ่ม หรือบ่มหลังจากวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงแล้วสามวัน ดังนั้นในเรื่องของแบรนด์วอดก้าแล้วผู้บริโภคจึงเปลี่ยนแบรนด์ได้เรื่อยๆ และสามารถลอบผลิตได้เองเช่นเดียวกัน ดังนั้นวอดก้าจึงยิ่งแพร่หลายเข้าไปอีก

มีนักประวัติศาสตร์ได้เสนอไว้ว่า การพ่ายแพ้ของรัสเซียต่อญี่ปุ่นในสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 นั้น คือเรื่องวินัยทางทหาร กล่าวคือทหารรัสเซียนั้นขี้เมามาก แต่ต้องปะทะกับกองทัพที่มีวินัยเยี่ยม ทหารรัสเซียนั้นพกเหล้าติดตัวไปตลอดแม้การไปรบทำให้ขาดสติอยู่เสมอ เมื่อเป็นดังนั้นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาห้ามจำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ แต่กลับกลายเป็นว่านอกจากรัฐบาลจะเสียรายได้อย่างมากแล้ว ยังทำให้เกิดการต้มเหล้าเถื่อน เกิดการจลาจลไปทั่วแผ่นดิน และวินัยทหารก็ไม่ได้ดีขึ้น ทำให้ร้านเหล้ากว่า 200 แห่งถูกบุก ถึงขนาดที่ว่าผู้ว่าราชการบางเมืองได้ขอให้พระเจ้าซาร์อนุญาตให้ขายสักสองชั่วโมงต่อวันก็ยังดี

คนรัสเซียดื่มวอดก้าหนักมากทำให้เกิดปัญหาโรคพิษสุราเรื้อรังตามมา โรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับที่สามรองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ดังนั้นนโยบายสาธารณะของผู้นำรัสเซียนั้นถึงแม้ว่าจะมีการส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นรายได้หลักของรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามลดการดื่มของประชาชนด้วย นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องจึงถูกปฏิบัติสลับกันไปมาเสมอระหว่างเพิ่มรายได้กับการลดการดื่ม ทำให้บางครั้งมีการเข้าสู่นโยบายแบบ “ประชานิยม” ที่นักการเมืองพยายามเรียกคะแนนเสียงผ่านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวอดก้า

ในปี 1985 ประธานาธิบดี มิคาเอล กอร์บาชอฟ พยายามจะรณรงค์ในการต่อสู้กับโรคพิษสุราเรื้อรังโดยมีการออกกฎหมายจำกัดการบริโภคด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ลดการผลิต เพิ่มราคา การดำเนินคดีหากเมาขณะทำงาน แต่กลับส่งผลว่า ชาวรัสเซียไปติดสารเสพติดและใช้สารอื่นๆ แทนซึ่งอันตรายมากกว่า เช่น ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อซามาโกน หรือกระทั่งน้ำยาทำความสะอาดกระจกทำให้เกิดภาพหลอน ตาบอด หรือไม่ก็เสียชีวิต จนสุดท้ายก็ต้องยกเลิกนโยบายไปในปี 1988 แต่ความจริงนโยบาของกอร์บาชอฟเป็นความพยายามที่มุ่งมั่นที่สุดเท่าที่รัสเซียเคยมี เพราะผลดีๆ ก็ได้เกิดขึ้น คือ อัตราการเกิดเพิ่มขึ้น อายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น และภรรยาได้พบกับสามีที่บ้านบ่อยขึ้น (ไม่ได้ไปเมาแอ๋ข้างนอก) และประสิทธิภาพการทำงานก็มากขึ้นด้วย ซึ่งนโยบายของกอร์บาชอฟนี้ได้ทำให้เกิดเรื่องเล่าตลกๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

วอดก้าได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่มีความเป็นการเมืองจากความนิยม เพราะมันถูกใช้นำมาหาเสียงสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายครั้ง เช่น ในปี 1996 วลาดิมีร์ ซิรินอฟสกี้ ได้ออกแคมเปญว่า “วอดก้าราคาถูกสำหรับทุกคน” หรือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียอย่างเกนนาดี ซูกานอฟ ได้เปิดเผยว่าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดีเขาจะให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดในการผลิตแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ของคนรัสเซียนั้นมากถึง 18 ลิตรต่อปี ซึ่งมากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงสองเท่า ทำให้แอลกอฮอล์แต่เพียงอย่างเดียวได้ฆ่าชีวิตคนรัสเซียราว 4 หมื่นคนต่อปี บอริส กริสลอฟ โฆษกหอการค้ารัสเซียเคยกล่าวเอาไว้ว่า จำนวนเงินที่คนรัสเซียใช้ในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละปีมากพอที่จะซื้อรถคันใหม่ได้เลย

วลาดิมีร์ ปูติน ได้มีแผนทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งคือลดราคาขนมปังและวอดก้าลง ซึ่งถือได้ว่าเป็นนโยบายประชานิยมอย่างหนึ่งในการหาเสียง แต่มีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะจะส่งผลเสียต่อคนรัสเซียมาก ซึ่งถึงแม้จะรู้ว่ามีผลเสียก็ไม่มีใครทำอะไรกับการดื่มวอดก้าได้ แม้แต่ในอดีตประธานาธิบดีอย่างดีมิทรี เมดเวเดฟ ได้บอกว่าโรคสุราเรื้อรังของคนรัสเซียเป็นภัยพิบัติแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากมายต่อ ในขณะที่เกนนาดี โอนิสเชนโก หัวหน้าผู้ตรวจการด้านสาธารณสุขได้เรียกร้องให้รัฐจ่ายเงินจำนวนมากในการรักษาโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ดีความพยายามในการควบคุมแอลกอฮอล์นั้นก็ยังคงมีอยู่ผ่านวิธีการต่างๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราการเสียชีวิตจากโรคพิษสุราเรื้อรังก็ค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาสังคมโดยที่ยังไม่ทิ้งตัวตนของคนรัสเซียไปนั่นเอง ซึ่งอีกวิธีหนึ่งก็คือต้องเลิก “จน เครียด กินเหล้า” ให้ได้นั่นเอง!

อ้างอิง :

[1] สรุปและเรียบเรียงข้อมูลใหม่จาก กฤษฎา พรหมเวค, “รัสเซีย: การเมืองเรื่องวอดก้า,” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563): 202-223.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า