‘ปาตานี’ ไม่มีอยู่จริง ตีแผ่วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เพื่อใช้อ้างความชอบธรรมในการก่อเหตุบนพื้นที่ชายแดนใต้

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมื่อดูหลักฐานตามเอกสารชั้นต้นจะพบว่า คำว่า ‘ปัตตานี’ และ ‘ปตานี’ เริ่มมีใช้อย่างจริงจังในเอกสารไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะช่วงตั้งมณฑลปัตตานีเป็นต้นมา อีกทั้งผู้เขียนค้นพบด้วยตัวเองว่า ก่อนหน้าจะใช้คำว่า ‘ปัตตานี’ ชาวสยามใช้คำว่า ‘ตานี’ มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารของสยามทุกฉบับที่เขียนขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ล้วนเรียกปัตตานีว่า ‘ตานี’ ทั้งสิ้น สอดคล้องกับที่ชาวบ้าน 3 จังหวัดในปัจจุบันเรียกตัวเองว่า ‘ออแฆตานิง’ หรือคนตานี นั่นเอง (ไม่มีชาวบ้านธรรมดาคนไหนเรียกตัวเองว่า ชาวปาตานี โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า พวกเขาไม่รู้จักคำนี้)

ดังนั้น ก่อนหน้านี้ย้อนไปสัก 10 กว่าปี  งานวิชาการหรือไม่ใช่วิชาการในภาคภาษาไทยที่มีเนื้อหาสารัตถะเกี่ยวกับปัตตานี มักใช้คำว่า ‘ปัตตานี’ เรียกแทนหน่วยการวิเคราะห์ในอักษรไทยที่มาจากคำว่า ‘Patani’ ในอักษรรูมีแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะหมายถึงอาณาจักรปัตตานี (Kingdom of Patani) คนปัตตานี หรือประวัติศาสตร์ปัตตานี แม้แต่งานวิชาการด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์ของนักชาตินิยมนายูที่ปรากฏขึ้นในภาคภาษาไทยฉบับแรก คือ ประวัติศาสตร์ปัตตานี อดีตและปัจจุบัน (พ.ศ. 2519) เขียนโดยอับดุลเลาะห์ ลออแมน (อ.บางนรา) ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเสนีย์ มะดากะกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักการเมืองชาวนราธิวาสในฐานะสหายที่ร่วมท่องเที่ยวค้นหาข้อมูลเพื่อประกอบการเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวหลังเหตุการณ์การประท้วงใหญ่หน้ามัสยิดปัตตานี พ.ศ. 2518

ควรบันทึกไว้ด้วยว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงถอดเสียง ‘Patani’ ว่า ‘ปัตตานี’ เช่นเดียวกับเอกสารในภาษาไทยทั่วไปในสมัยนั้นด้วย อย่างไรก็ดี อับดุลเลาะห์ได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมด้วยว่า ‘ปัตตานี’ มีที่มาจากคำว่า ‘ปตานี’ ในภาษามลายู หนังสือของเขาในช่วงเวลาต่อมา คือ ปัตตานีในอดีต(พ.ศ. 2523) ยังคงการสะกด ‘ปัตตานี’ ในความหมายเดียวกับ ‘Patani’ เช่นเดิม อีกทั้งยังขับเน้นที่มาของคำนี้ว่ามาจาก ‘ปตานี’ (หมายถึง ‘หาดนี้แหละ’ ในภาษามลายูกลาง) อีกด้วย

แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไป กลับกลายเป็นว่าอับดุลเลาะห์กับอารีฟิน บินจิ (จำรูญ เด่นอุดม) กลับเลิกใช้คำว่า ‘ปัตตานี’ ในฐานะคำที่หมายถึง ‘Patani’ อย่างเด็ดขาด สะท้อนจากผลงานทางวิชาการเล่มใหม่ของพวกเขา คือ ลังกาสุกะ – ปาตานี ดารุสลาม’ (พ.ศ. 2540) หนังสือเล่มดังกล่าว คือหมุดหมายแรกสุดของการสถาปนาคำว่า ‘ปาตานี’ ขึ้นในโลกภาษาไทยในฐานะหน่วยการวิเคราะห์เดียวกับ ‘ปัตตานี’ เมื่อนักวิชาการชาตินิยมนายูเหล่านี้ประดิษฐ์คำว่า ปาตานี’  ขึ้นมาแล้ว ได้ส่งผลให้คำว่า ปัตตานีและปตานีที่เคยใช้กันมาแต่เดิมกว่าร้อยปีและมีความถูกต้องตามหลักภาษามลายูถูกกระทำให้หายไป และถูกสวมทับด้วยคำว่า ปาตานีไปจนหมด ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คำว่า ปาตานี เป็นคำใหม่เอี่ยมที่เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2540 นี้เอง

ด้วยความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ตนเองให้เกิดความแตกต่างโดดเด่น (distinctive) และทำให้มีความรู้สึกเป็นขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่ทางรัฐไทยใช้ พวกนักชาตินิยมนายูจึงได้สร้างวาทกรรม ปาตานีขึ้นจากการถอดรูปเสียงจากคำว่า ‘Patani’ ด้วยสำเนียงคาราโอเกะ ซึ่งนอกจากจะเขียนอย่างผิดหลักภาษามลายูแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงนัยทางการเมืองเบื้องหลังการประดิษฐ์คำศัพท์นี้ขึ้นในภาษาไทยด้วย ดังสามารถพิจารณาได้จากนิยามที่แสดงให้เห็นถึง ‘ขั้วตรงข้าม’ ระหว่าง ‘ปัตตานี’ (ใช้โดยรัฐไทย) และ ‘ปาตานี’ (ใช้โดยนักชาตินิยมนายูและต่อมาโดยพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดน) โดยขับเน้นมิติทางด้านประวัติศาสตร์ ดังนิยามของคำว่า ‘ปาตานี’ ที่ อับดุลเลาะห์และอารีฟิน ให้ไว้ในช่วงหลัง พ.ศ.2550 ว่า …

… ปาตานี ปตานี หรือ ปะตานี หมายถึง อาณาจักรมลายูในอดีต ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม … มีอำนาจปกครองตั้งแต่เมืองพัทลุงจนถึงตรังกานู เรียก ปาตานีบือซาร์ และยังหมายถึงชาวมลายูในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางส่วนของสงขลา …

และในทางกลับกันพวกเขาได้ให้ความหมายของคำว่า “ปัตตานี” ไว้เพียงว่า …

“… ปัตตานี คือ เมืองมลายูที่ตกอยู่ภายใต้สยามใช้เป็นชื่อหัวเมือง ชื่อมณฑล และกลายเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของไทย ปัจจุบัน …”

จะเห็นได้ว่า การให้คำนิยามเช่นนี้ไม่สามารถคิดเป็นอื่นไปได้เลยนอกเสียจากความพยายามในการสร้างอัตลักษณ์ ‘ปาตานี’ ให้แตกต่าง ตรงข้าม และมีความรู้สึกทางประวัติศาสตร์เป็นปฏิปักษ์กับคำว่า ‘ปัตตานี’ ที่ใช้ในเอกสารไทยทั่วไป

วาทกรรมที่เกิดมาจากการประดิษฐ์อัตลักษณ์ใหม่เอี่ยมนี้ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลโดยที่นักชาตินิยมนายูผู้คิดค้นอาจไม่ได้ตั้งใจ นั่นก็คือในปัจจุบัน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยเฉพาะกลุ่ม BRN ได้อ้าแขนรับวาทกรรม ‘ปาตานี’ ดังกล่าวไว้แล้ว สะท้อนได้จากการกราดยิงตัวอักษร ‘t’ จาก 2 ตัวเหลือแค่ 1 ตัว บนป้ายภาษาอังกฤษ ‘Pattani’ (ปัตตานี) ที่จังหวัดปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2549 ส่งผลให้ป้ายนั้นสามารถอ่านได้เพียงอย่างเดียวว่า ‘Patani’ ซึ่งกรณีนี้ ดันแคน แม็กคาร์โก ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระทำที่มีมิติของการเมืองของคำว่า ‘ปัตตานี’ และ ‘ปาตานี’ อยู่เบื้องหลัง อีกทั้ง ‘ปาตานี’ น่าจะยังมีเรื่องของชาตินิยมมลายู (นายู) แอบแฝงอยู่ด้วย

ผู้เขียนมีความคิดเช่นเดียวกับแม็กคาร์โกในกรณีนี้ โดยเฉพาะอย่ายิ่งการที่คำว่า ‘ปาตานี’ ได้กลายมาเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองของพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดน รวมถึงประชาชนนายูทั่วไปที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐไทยและสนับสนุนขบวนการฯ ส่วนคำว่า ‘ปัตตานี’ ได้กลายมาเป็นของแสลงสำหรับพวกชาตินิยมนายูและขบวนการฯ

จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นคงจะไม่ใช่การบังเอิญเกินไปที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นหลังช่วง พ.ศ. 2547 เป็นต้นมาจะช่างประจวบเหมาะกันอย่างพอดิบพอดี ควรต้องกล่าวด้วยว่าตั้งแต่มีการประดิษฐ์วาทกรรม ‘ปาตานี’ ขึ้นมา เหตุการณ์ก่อความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ได้แนบแน่นกับวาทกรรมใหม่เอี่ยมนี้ชนิดแยกกันไม่ออก แม้ว่าพวกนักวิชาการนายูอาจจะไม่ได้มีความประสงค์ให้เป็นเช่นนี้เลยก็ตาม

กล่าวมาถึงจุดนี้แล้ว อาจมีผู้สงสัยถามผู้เขียนว่า หาก ‘ปาตานี’ ไม่มีจริง แล้วควรใช้คำไหนกันแน่ ?

สำหรับคนที่อยากจะคงการถอดเสียงดั้งเดิมในภาษามลายูไว้ การใช้คำว่า ‘ปตานี/ปะตานี’ ดูจะเหมาะสมที่สุด เหตุที่ต้องใช้คำว่า ‘ปตานี’ (สามารถสะกดได้อีกแบบว่า ปะตานี) เนื่องจากคำว่า Patani จะต้องออกเสียงสระสั้น ๆ ใน Pa ดังนั้น จึงออกเสียงได้เพียงอย่างเดียวว่า ‘ปะ–ตา–นี’ เท่านั้น ไม่ใช่ ‘ปา-ตา-นี’ โดยเด็ดขาด (เช่นเดียวกับ ‘ปะนาเระ’ ออกเสียง ปะ สั้น ๆ) ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนสอดคล้องกับ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนจนยากจะปฏิเสธว่า …

“… ผู้เขียนเปลี่ยนการเรียกชื่อ “ปาตานี” มาเป็น “ปตานี” เนื่องจากเห็นพ้องกับข้อสังเกตของคุณซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์ประจำปี 2553 ในการสนทนากันหนหลังสุดเมื่อวันที่ 7กันยายน 2562 ว่า หากวิเคราะห์รากที่มาของชื่อในแบบยาวี ڤتانی นั้น เมื่อไม่มี ا หลัง پ จึงควรจะเป็น ปะ- (ปตานี) และเอาเข้าจริงใกล้เคียงกับ ปัต- (ปัตตานี) มากกว่า ปา- (ปาตานี) เสียด้วยซ้ำ ในการอ่านตัวอังกฤษ Pa- (Patani) ก็มิได้ยืนยันว่าจะออกเสียง ปา- เสมอไป การเกิดขึ้นของชื่อ “ปัตตานี” จากสยาม อาจไม่ใช่อะไรเลยก็ได้ที่จะมีนัยทางการเมืองดังที่หลายคนมองเช่นนั้น ตรงกันข้าม การสำแดงตนของชื่อ ปาตานี ในระยะหลังนี้ต่างหาก ที่เป็นคำต่อสู้ทางการเมืองในนัยของการปลดแอก …”

จะเห็นได้ว่า การโจมตีและปฏิเสธคำว่า ‘ปาตานี’ มิได้กระทำโดยผู้เขียนคนเดียวในลักษณะคิดเองเออเองแบบที่มีนักกิจกรรมสนับสนุนกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนกำลังโจมตีผู้เขียนเสมอมา ตรงกันข้าม ยังมีนักวิชาการและปัญญาชนนายูท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับผู้เขียน และการที่ผู้เขียนกล่าวเสมอมาว่า ปาตานี เป็นคำของขบวนการฯ ก็ไม่ใช่สิ่งที่คิดไปเองฝ่ายเดียวดังที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้ผู้อ่านเห็นข้างต้น ดังนั้น การเลิกใช้คำว่า ปาตานีดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเราคนไทยจะต้องรณรงค์ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ดังที่ผู้เขียนต่อสู้มาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] จีรวุฒิ บุญรัศมี. ปา-ตา-นี : ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มรกาคม-มิถุนายน 2563.
[2] อับดุลเลาะห์ ลออแมน (อ.บางนรา). ปัตตานีในอดีต. (ไม่รระบุสถานที่พิมพ์).2523.
[3] อับดุลเลาะห์ ลออแมน (อ.บางนรา). ประวัติศาสตร์ปัตตานี อดีตและปัจจุบัน. มูลนิธิโครงการตำรา.
[4] อารีฟิน บินจิ และ อับดุลลอฮ ลออแมน ใน ลังกาสุกะ – ปาตานี ดารุสลาม. 2523.
[5] ประวัติเมืองปัตตานีฉบับ หรือฮิกายัตปตานีฉบับแปลไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 (เอกสารอัดสำเนา).
[6] อารีฟีน บินจิและคณะ. ปาตานี : ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู. 2550.
[7] ดันแคน แม็กคาร์โก. ฉีกแผ่นดิน : อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ประเทศไทย. 2557
[8] อาทิตย์ ทองอินทร์ และ ตูแวดานียา ตูแวแมแง. นิยามความหมายของ “พื้นที่สีแดง” ในปตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติด้านการบริหารกิจการสาธารณะยุคดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The Third National Conference on Public Affairs Management in the Digital Era).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า