เพราะ ‘ธรรมนูญ’ ดี โรมจึงใช้เวลาแค่ 53 ปี ในการครองโลก!

โพลีเบียส (Polybius) ได้เขียนงาน The History ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อการอธิบายถึงความรุ่งโรจน์ของกรุงโรมในขณะนั้นซึ่งแม้จะกลับมาโดดเด่นภายในไม่ถึง 60 ปีดี แต่กลับสามารถครอบครองพื้นที่ได้แทบทั่วยุโรป ความมหัศจรรย์นี้ได้เป็นที่มาที่ทำให้โพลีเบียสได้อุทิศ The History ในเล่ม VII ในการฉายภาพให้เห็นถึงธรรมชาติความมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน และโชคชะตาที่อาจจะเป็นไปของกรุงโรมต่อไปในอนาคตเอาไว้ด้วย การศึกษาของเขาจึงมีคุณค่าอย่างมหาศาลต่อการทำความเข้าใจระบอบการปกครองที่อาจจะสกัดหลักออกมาโดยข้ามพ้นกาลเวลาได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในสิ่งที่โพลีเบียสได้เขียนและเข้าใจอย่างที่เขาเข้าใจเสียก่อน

โพลีเบียส [1] ได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นงานเขียนของเขาว่า “สิ่งที่จะประสิทธิ์ประสาทแด่เหล่าผู้คงแก่เรียนมากที่สุดจากงานที่ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้นนี้ นั่นคือการที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่า ด้วยธรรมนูญการปกครองแบบใดที่ทำให้พลานุภาพของกรุงโรมได้แผ่ขยายและครอบคลุมทั่วโลกในช่วงเวลาเพียง 53 ปี” เมื่อเขาตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนเช่นนี้ งานเขียนของโพลีเบียสจึงเป็นการเข้าไปคุ้ยแงะการปกครองของกรุงโรมออกมาทีละส่วนอย่างเชื่อมโยงกัน

โพลีเบียสได้เริ่มต้นการจำแนกว่าการปกครองนั้นถูกแบ่งเป็นสามรูปแบบ คือ ราชาธิปไตย คณาธิปไตย และประชาธิปไตย เขากล่าวว่าโดยปกติแล้วผู้คนมักจะถกเถียงกันอยู่ในประเด็นว่าในรูปแบบการปกครองทั้งสามรูปแบบนี้ การปกครองแบบใดดีที่สุด แต่โพลีเบียสนั้นเห็นแตกต่างออกไปเพราะเขาเชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองที่ดีที่สุดคือธรรมนูญที่ประกอบด้วยสามตัวแบบแห่งการปกครองนี้” ซึ่งโพลีเบียสยืนยันว่าการกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่การตั้งสมมติฐานเอาเอง แต่ได้ปรากฏตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในโลกความจริงมาแล้ว เช่น การปกครองภายใต้ลีเคอร์กัสของสปาร์ตา

แต่เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงความดีและความเสื่อมของการปกครองทั้งสามตัวแบบนั้น โพลีเบียสได้ลงไปอธิบายถึงธรรมชาติของตัวแบบการปกครองแต่ละรูปแบบว่ามันถือกำเนิดและล่มสลายได้อย่างไร โดยรูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยจะเป็นตัวแบบแรกที่ถือกำเนิดขึ้น หลังจากนั้นจะเสื่อมลงไปเป็นรูปแบบคณาธิปไตย จนกระทั่งสุดท้ายเสื่อมลงไปเป็นประชาธิปไตย แต่หลังจากที่ประชาธิปไตยเสื่อมลงจนถึงที่สุดแล้ววัฎจักรการปกครองก็จะถูกย้อนกลับไปเป็นราชาธิปไตยอีกครั้ง

โพลีเบียสอธิบายว่าจุดกำเนิดของราชาธิปไตยเริ่มต้นจากมนุษย์ที่ในเริ่มแรกยังเต็มไปด้วยสภาวะโหดร้าย ก่อนที่จะมีผู้แข็งแกร่งสามารถเปลี่ยนความโหดร้ายให้กลายเป็นความสงบสุขได้ จากเดิมที่ผู้อยู่ใต้การปกครองอาจจะ “สนับสนุน” การปกครองแบบผู้เดียวด้วยความกลัวความหายนะก็กลับกลายเป็นสนับสนุนด้วยความมีเหตุผลในการปกครองแทน การมีเหตุผลนี้เองที่ได้ก่อให้เกิดศีลธรรมระหว่างคนในสังคมขึ้น เพราะความสงบสุขได้ทำให้ผู้คนในสังคมหรือชุมชนนั้นเกิดความสุขในชีวิต ทำให้ผู้คนในชุมชนยอมรับการปกครองแบบเอกบุคคลนี้แต่โดยเต็มใจ

แต่เมื่อผู้ปกครองที่ดีนั้นล้มหายตายจากไป และมีผู้ปกครองรุ่นใหม่ที่สืบสายเลือดขึ้นมาแทนแล้วก็จะเกิดการเสื่อมลงของตัวแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยขึ้น เพราะผู้ที่ขึ้นมาแทนนั้นไม่ได้มีประสบการณ์และความรู้เฉกเช่นเดียวกับผู้ปกครองก่อนหน้า ทำให้การปกครองล้มเหลวและใช้อำนาจเพื่อตนเองมากกว่าคนในสังคม ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในสังคม เมื่อนั้นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งจะร่วมมือกันโค่นล้มระบอบนี้ลง และสร้างคณาธิปไตยขึ้นมาแทน คณาธิปไตยนี้ในช่วงเริ่มแรกจะปกครองได้ดีเช่นเดียวกัน แต่เช่นเดียวกับการปกครองแบบราชาธิปไตยที่เมื่อเกิดการสืบทอดไปยังรุ่นต่อไป รุ่นที่ขึ้นมาแทนนั้นจะไม่เข้าใจ ไม่มีประสบการณ์ รวมไปถึงใช้อำนาจเพื่อตนเองมากขึ้น และเสวยสุขจากสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าทำเอาไว้จนลืมตัว ทำให้ระบอบคณาธิปไตยเสื่อมลง เมื่อถึงจุดนี้ ประชาชนกลุ่มใหญ่ในสังคมจะไม่พอใจและโค่นล้มคณาธิปไตยลง ก่อกำเนิดระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน และเมื่อประชาธิปไตยขึ้นมาถึงจุดหนึ่งก็จะล้มเหลวและเข้าสู่สภาวะอนาธิปไตย

ทั้งหมดนี้โพลีเบียสกล่าวว่าเป็นวัฏจักรของการปกครอง ซึ่งถ้าหากสามารถเข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้งก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าการปกครองในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ตรงไหน แต่สำหรับกรุงโรมนั้นสามารถสร้างธรรมนูญการปกครองที่ผสมสามแบบนี้เข้าไว้ด้วยกันสำเร็จทำให้มีทั้งความเสมอภาคและสมดุลภาคของการปกครอง กล่าวคือคนจากทั้งสามรูปตัวแบบ คือ ผู้ปกครองสูงสุด กลุ่มขุนนาง และประชาชน ต่างมีสถาบันการเมืองของตัวเองร่วมกันในการปกครอง โดยที่ไม่มีกลุ่มใดสามารถครอบงำกลุ่มอื่นได้เพราะอำนาจแต่ละส่วนได้ถูกตัดแบ่งกันโดยที่ไม่มีใครทำหน้าที่แทนกันได้ ทำให้แต่ละส่วนของการปกครองนั้นคานกันเองอยู่เสมอแต่ขณะเดียวกันก็สามารถร่วมมือกันได้อย่างมีเอกภาพ โพลีเบียสได้ชี้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหาธรรมนูญการปกครองที่ดีกว่านี้แล้ว

ถึงแม้โพลีเบียสจะได้ฉายให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากรุงโรมได้สร้างระบอบการปกครองแบบผสมขึ้นมาได้สำเร็จ แต่ความสำเร็จในอดีตและในปัจจุบันอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับอนาคต เพราะดังที่ได้เห็นว่ากรุงโรมเองก็ไม่รอดพ้นความอนิจจังและล่มสลายลงไปในที่สุด หากเราจะสังเคราะห์หลักการคร่าวๆ ที่ทำให้ระบอบการปกครองทั้งสามตัวแบบล่มสลายนั้น เราอาจสรุปได้ว่า (1) ผู้ที่อยู่ในอำนาจมีแนวโน้มที่จะสะสมอำนาจเพื่อตนเองและขยายความละโมบของตนออกไป (2) การปกครองนั้นละเลยต่อหลักการพึ่งพากันและกัน ดังนั้นตัวแบบการปกครองระบอบผสมจึงเข้ามาจัดการกับสองประเด็นนี้โดยไม่ให้เกิดการครอบงำและตอกย้ำอยู่เสมอว่าจำเป็นที่จะต้องมีความรู้สึกว่าตนเองนั้นเปราะบาง (Sense of vulnerability) จึงจะทำให้การปกครองนั้นสามารถร่วมมือกันและทำให้เกิดคุณค่าทางสังคม เพื่อการกำกับการปกครองนั้นสามารถดำรงอยู่ได้

ถึงแม้ระบอบการปกครองแบบผสมจะออกแบบมาเพื่อป้องกันปัญหาการเสื่อมถอยนี้ การเสื่อมถอยก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคำาถามจึงอาจจะเปลี่ยนไปว่าอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องป้องกันการเสื่อมถอยของผู้ปกครองในทุกขั้นตอน แต่น่าจะเป็นคำถามว่า จะมีมาตรการขั้นสุดท้ายใดที่จะป้องกันการเสื่อมถอยจนนำไปสู่การล่มสลายของคุณค่าทางสังคมทั้งหมดต่างหาก

หากเรากลับไปอ่านงานของโพลีเบียสเราจะพบว่า เมื่อเกิดความไม่พอใจขึ้น คนในสังคมก็พร้อมจะเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง ความไม่พอใจนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ปกครองได้ละเมิดหลักการและคุณค่าที่สังคมมีขึ้น จากการพัฒนาความรู้สึกร่วมของการต้องร่วมมือและความเปราะบางว่าเป็นสิ่งที่มีร่วมกัน และจะต้องทำให้คุณค่านี้ไม่ถูกละเมิด ดังนั้นความไม่พอใจของผู้คนในสังคมนี้จึงเป็นอารมณ์ที่มีเหตุผล (Rational emotion) และการมีประสบการณ์ร่วมของการทำให้การปกครองเป็นการปกครองที่ดีนี้ เป็นสิ่งสาคัญที่ทำให้ระบอบการปกครองยังดีอยู่ได้ เพราะโพลีเบียสได้กล่าวไว้ในงานของเขาอย่างชัดเจนว่า คนรุ่นถัดไปที่ขึ้นมาแทนจะไม่ได้มีประสบการณ์แบบนี้ร่วมด้วย ดังนั้นการที่จะทำให้คนรุ่นถัดไปอย่างน้อยมีความรู้สึกร่วมด้วย จึงอาจต้องทำผ่านการสร้างเรื่องเล่าต่างๆ เอาไว้        

น่าสังเกตด้วยว่า ผู้ที่ตัดสินใจว่าผู้ปกครองได้ละเมิดคุณค่าของสังคมนั้น คือประชาชนที่สนับสนุนการล้มการปกครอง ดังนั้นประชาชนจึงเป็นผู้ห่อเก็บความหมายและเหตุผลของการมีคุณค่าต่างๆ ในสังคมเอาไว้ ความมีเหตุผลและมาตรฐานของคุณค่าทางสังคมจึงอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่ได้แยกเป็นคู่ตรงกันข้าม แต่การปกครองผสมที่ล่มลงได้นั้น ก็อาจจะเป็นเพราะว่าประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากด้วย เพราะประชาชนได้กลายเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่เป็นผู้รักษาคุณค่าและผู้สังเกตการณ์ผู้ปกครองดังในระบอบที่ไม่ใช่ระบอบผสม ทำให้หน้าที่ที่สำคัญอย่างที่สุดอย่างหนึ่งของประชาชน นั่นก็คือการห่อเก็บความหมายและเหตุผลของการมีคุณค่าต่างๆ ได้เสื่อมลงไปด้วย นั่นจึงทำให้วัฏจักรของการเสื่อมของระบอบเกิดขึ้นได้ในระบอบผสมด้วย ประชาชนจึงเป็นประชาชนอย่างดีที่สุด และจะเป็นผู้ปกป้องศีลธรรมทั้งมวลได้อย่างดีที่สุดก็ต่อเมื่อประชาชนมิใช่ผู้ปกครองเสียเอง มาตรการขั้นสุดท้ายจึงต้องไม่ให้ประชาชนเป็นผู้ปกครองโดยมีอำนาจอย่างไร้การควบคุม!

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจากเอกสารดังต่อไปนี้ Francis William Coker, Reading In Political Philosophy (New York: The Macmillan Company, 1938), chapter III; Regina M. Loehr, “The People’s Moral Emotions in Polybius’ Cycle of Constitutions,” Classical Philology Volume 116, Number 2 (April 2021): 155-182; David E. Hahm, “Polybius’ applied political theory,” in Justice and Generosity: Studies in Hellenistic Social and Political Philosophy – Proceedings of the Sixth Symposium Hellenisticum,” (eds.) André Laks and Malcolm Schofield (New York: Cambridge University Press, 1995), pp. 7-47.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า