เจาะลึก ICC และแผนของกลุ่มการเมืองใหม่ ในการดึงองค์กรต่างชาติเข้ามารุกรานอธิปไตยของไทย

จากที่ทาง ฤา ได้เผยแพร่บทความ “ไขข้อข้องใจ เพราะเหตุใด ‘คดี ม.112’ จึงฟ้องศาลโลก ‘ไม่ได้’” ไปแล้ว วันนี้ ฤา ขอนำประเด็นศาลอาญาระหว่างประเทศมาอธิบายขยายความต่อเนื่องอีก

ที่มาที่ไปของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC จัดตั้งขึ้นโดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นรูปแบบของสนธิสัญญาพหุภาคี แต่ว่า ตามหลักสากล ธรรมนูญกรุงโรมจะเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐ การเข้าเป็นภาคีจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของรัฐเป็นสำคัญ ดังนั้นในฐานะที่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ธรรมนูญกรุงโรมฯ จึงมีผลผูกพันเฉพาะรัฐที่เป็นภาคีเท่านั้น

ในประเด็นนี้ น่าสังเกตว่าอาจมีผลกระทบถึงความเป็นสากลของศาลฯ ด้วยนั่นเอง เพราะแต่ละชาติต่างมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง มีระบบกฎหมายเป็นของตนเอง สภาพบังคับของคำพิพากษากับอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศจึงยังเป็นประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่

ผลกระทบอีกประการคือ ความล่าช้าในการมีผลใช้บังคับตามธรรมนูญกรุงโรมฯ ซึ่งอาศัยการให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติจากรัฐต่างๆ สนธิสัญญาจึงเป็นพื้นฐานทางกฎหมายของศาลฯ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาจะไม่ก่อสิทธิหรือพันธกรณีให้กับรัฐที่ไม่เป็นภาคี (รัฐที่สาม) โดยปราศจากความยินยอมของรัฐนั้นๆ

ธรรมนูญกรุงโรมฯ เป็นสนธิสัญญาที่เป็นการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศที่มีลักษณะถาวร สามารถใช้เขตอำนาจศาลเหนือบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐที่เป็นภาคีผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ แต่ในบางกรณีที่ศาลฯ จะสามารถใช้เขตอำนาจเหนือบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคี ไม่ใช่รัฐที่ไม่ได้เป็นภาคี การจัดตั้งศาลฯ ที่มีอำนาจในการใช้เขตอำนาจเหนือปัจเจกบุคคล ส่งผลกระทบต่อเขตอำนาจทางอาญาของรัฐที่มีต่อบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐไปด้วยนั่นเอง

สรุปได้ว่า โดยหลักแล้วศาลฯ สามารถใช้เขตอำนาจต่อรัฐที่เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมีสัญชาติของรัฐที่ไม่ได้เป็นภาคี แต่ได้กระทำความผิดในดินแดนของรัฐที่เป็นภาคี กรณีเช่นนี้ ศาลฯ สามารถใช้เขตอำนาจโดยยึดหลักอาชญากรรมเกิดขึ้นในดินแดนที่เป็นรัฐภาคี ทำให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้ อีกกรณีคือคณะมนตรีความมั่นคงฯ เป็นผู้เสนอการกระทำอาชญากรรมต่อศาลฯ ซึ่งทำให้ศาลฯ มีเขตอำนาจเหนือรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดอาชญากรรมและรัฐเจ้าของสัญชาติผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้

ในส่วนประเด็นการลงโทษต่อบุคคลนั้น อาชญากรรมระหว่างประเทศและวัตถุประสงค์ของศาลอาญาระหว่างประเทศที่มุ่งหมายในการดำเนินคดีและลงโทษบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในอาชญากรรม คือ ผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือมีอำนาจสั่งการซึ่งบุคคลนั้นอาจจะไม่ใช่ผู้ที่ลงมือกระทำความผิดเอง และอาชญากรรมการรุกรานเองมีลักษณะเป็นอาชญากรรมที่ต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ ธรรมนูญกรุงโรมฯ ได้กำหนดให้กับผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือสั่งการมีความรับผิดทางอาญาสำหรับการกระทำที่เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศด้วย

ตามข้อ 28 ของธรรมนูญกรุงโรมฯ กำหนดให้หมายถึงบุคคลสองประเภท คือ

  1. ผู้บัญชาการทหารที่มีอำนาจบังคับบัญชาและควบคุมอย่างแท้จริง
  2. บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่โดยพฤตินัยเสมือนผู้บัญชาการทหารในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่และการควบคุมอย่างแท้จริง

ซึ่งผู้บัญชาการทหารหรือบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่โดยพฤตินัยเสมือนผู้บัญชาการทหารนั้นรู้หรือควรจะรู้ถึงพฤติการณ์ในขณะนั้นว่า กองกำลังได้กำลังประกอบอาชญากรรมหรือกำลังจะประกอบอาชญากรรมและมิได้ใช้มาตรการที่จำเป็นและสมเหตุสมผลทั้งหมดภายในอำนาจของบุคคลนั้นเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการกระทำของกองกำลัง ความรับผิดของของผู้บังคับบัญชานั้นรวมถึงความรับผิดในกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ล้มเหลวในการป้องกันผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้กระทำความผิด หรือลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาในการกระทำความผิด ซึ่งไม่ใช่ความรับผิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดโดยตรง แต่รับผิดในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดเมื่อไม่สามารถห้ามหรือป้องกันไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดได้ ซึ่งความรับผิดดังกล่าวต้องมีความเชื่อมโยงกับความผิดที่ได้กระทำลง ด้วยสถานะของการบังคับบัญชาตามธรรมนูญกรุงโรมฯ นั้น จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ผู้บังคับบัญชาต้องมีอำนาจในการบังคับบัญชาสั่งการเหนือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างแท้จริง ซึ่งพิจารณาจากข้อเท็จจริงมากกว่าตามสถานะ

การบัญญัติกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในรัฐเป็นอำนาจของรัฐนั้น ๆ ตามหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐ ดังนั้น เมื่อรัฐใดไม่บัญญัติให้อาชญากรรมระหว่างประเทศฐานใดเป็นความผิด รัฐนั้นย่อมไม่อาจลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนั้นภายในเขตแดนรัฐของตนได้ เพราะขัดกับหลักการสำคัญประการหนึ่ง อันถือเป็นเอกลักษณ์และเป็นหลักประกันในกฎหมายอาญา คือ หลักความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายอาญา (The Principle of Legality) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หลักการไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” การที่รัฐไม่มีบทบัญญัติความผิดอาชญากรรมระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ยังส่งผลให้รัฐไม่สามารถส่งผู้กระทำความผิดดังกล่าวให้แก่รัฐอื่นที่ร้องขอ เพื่อดำเนินคดีและลงโทษในความผิดอาชญากรรมระหว่างประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้ เนื่องจากขัดต่อหลักความผิดสองรัฐ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

บางแนวคิด ยอมรับว่ากฎหมายอาญาระหว่างประเทศเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กฎหมายอาญาระหว่างประเทศกลับกำหนดความรับผิดของบุคคลธรรมดาอย่างเช่นกฎหมายอาญา ไม่ได้กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของรัฐอย่างกฎหมายระหว่างประเทศโดยทั่วไป จนมีผู้กล่าวว่ากฎหมายอาญาระหว่างประเทศเป็นกฎหมายลักษณะผสมระหว่างกฎหมายอาญาและกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ แม้รูปแบบของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศจะมีลักษณะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ จากการกำหนดความผิดผ่านทางบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศโดยทั่วไปตามที่บัญญัติในมาตรา 38 (1) ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่โดยเนื้อหาแล้วมีลักษณะเป็นกฎหมายอาญาที่มุ่งลงโทษบุคคลซึ่งกระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้การกระทำซึ่งรวมถึงการไม่กระทำการใดเป็นความผิด และกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดไว้ เมื่อเนื้อหาของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศมีลักษณะเช่นเดียวกับกฎหมายอาญาทั่วไป ดังนั้น หลักการต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎหมายอาญาจึงถูกนำมาปรับใช้กับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศเช่นกัน

ตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายอาญากำหนดว่า บุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาต่อเมื่อในขณะที่กระทำ มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ถูกลงโทษตามอำเภอใจ และสืบเนื่องจากหลักการดังกล่าว จึงเกิดการเรียกร้องให้การบัญญัติกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนแน่นอน ปราศจากความคลุมเครือ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า การกระทำใดเป็นความผิดอาญาและจะได้รับโทษเพียงใด อันเป็นการเตือนล่วงหน้าอย่างเป็นธรรม (Fair Warning) หลักความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายอาญาตามกฎหมายไทย ปรากฎในมาตรา 2 วรรคแรก ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า เมื่อรัฐได้ออกบทบัญญัติที่ชัดแจ้งระบุว่าการกระทำหรือการไม่กระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญาแล้ว ก็ถือว่าเฉพาะกรณีนั้น ๆ เท่านั้นที่เป็นความผิด จะไปรวมถึงกรณีอื่น ๆ ด้วยไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งเพื่อกำหนดหรือขยายบทกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้ว และการห้ามใช้บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในทางเพิ่มโทษ จึงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามในการใช้กฎหมายอาญาเช่นเดียวกับการห้ามใช้กฎหมายจารีตประเพณีในกฎหมายอาญา

ในอดีตประเทศไทยเคยมีกรณีของการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อลงโทษทางอาญาแก่บุคคล กล่าวคือ ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยออกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ซึ่งกำหนดว่าไม่ว่าการกระทำอันบัญญัติว่าเป็นอาชญากรสงครามนั้น จะได้กระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ดี ผู้กระทำได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรสงคราม และจะต้องได้รับโทษดังที่บัญญัติไว้ทั้งสิ้น ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลอาชญากรรมสงครามที่ 1/2489 ว่า บทบัญญัติที่ว่าการกระทำก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ด้วยเป็นกฎหมายย้อนหลัง และศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปอีกว่าหากกฎหมายใดบัญญัติย้อนหลังลงโทษการกระทำที่แล้วมา ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังจึงเป็นโมฆะ ไม่มีทางลงโทษจำเลยได้

จากคำอธิบายเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศโดยสังเขปที่ทีมงาน ฤา ได้อธิบายไปคร่าวๆ นี้ หากย้อนกลับมามองที่บ้านเรา เกี่ยวกับประเด็นนี้คือ มีประเด็นสำคัญที่คนบางกลุ่มต้องการให้ประเทศไทยให้สัตยาบรรณธรรมนูญกรุงโรม 2002 ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น เนื่องมาจาก เหตุการณ์ที่ชัดเจนคือ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความระบุว่า

“[46 ปี 6 ตุลา] รัฐไทยจะต้องให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม 2002 ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะช่วงเวลา เฉพาะกรณี ตาม ข้อ 12 (3)”

นอกจากนั้น ในวันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช วางพวงมาลารำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยบนพวงมาลามีข้อความที่สอดคล้องกัน สำหรับพวงมาลาของพรรคก้าวไกล มีข้อความว่า “ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน” และส่วนของคณะก้าวหน้า คือ “ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย” ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา

นายพิธาฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คือ บทเรียนว่าสังคมไทยจะต้องร่วมกันทบทวนเงื่อนไขในการปราบปรามของรัฐ การรัฐประหาร ไปจนถึงการเข่นฆ่าประชาชน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอทางการเมืองเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเกิดความสมานฉันท์ ให้ความคิดที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยจริงๆ และเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา จะไม่เกิดขึ้นอีก นั่นคือ ต้องมีการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อคดีการเมือง ผู้ต้องคดีการเมืองต้องได้รับการยุติดำเนินคดี ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และจะต้องมีการเสาะหาข้อเท็จจริง ทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และทุกเหตุการณ์การเมือง รวมถึงเหตุการณ์ในปี 2557 ด้วย

“ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน รัฐยังคงใช้ความรุนแรงและมีความพยายามกดปราบประชาชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการปราบปรามบนท้องถนนและการดำเนินคดีการเมืองกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ขอเตือนว่า รัฐไม่อาจจะกดปราบและใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป”

“ธรรมนูญกรุงโรม ต้องการแก้เผ็ดไอ้พวกรัฐ (ประเทศ) ต่างๆ ที่มีกฎหมายภายใน เพื่อสร้างความคุ้มกันให้ผู้นำเผด็จการตัวเอง”

นอกจากนั้น ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งอยู่ในช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความพยายามแสวงหาความยุติธรรมผ่านช่องทางศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยกลุ่มบุคคลที่ประกอบด้วย ธงชัย วินิจจะกูล ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ และโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ นปช.

คณะบุคคลนี้ได้เข้าพบนางฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ เข้ามาสอบสวนความรุนแรงปี 2553 การเข้าพบครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ มีความสนใจคดีปี 2553 อย่างยิ่ง ซึ่งความสนใจนี้เป็นผลจากจดหมายที่ ธงชัยฯ ได้ส่งถึงนางเบนซูดาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 โดย ธงชัยฯ ได้เล่าถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535 แต่ผู้ใช้ความรุนแรงกลับไม่เคยต้องรับผิดเลยสักครั้ง

อย่างไรก็ดี ต่อท่าที และกลไกการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ ครั้งหนึ่ง สหรัฐอเมริกาตั้งข้อสงสัยต่อท่าทีความเป็นกลางของศาลอาญาระหว่างประเทศ กล่าวคือ สหรัฐฯ ได้ทำการเพิกถอนวีซ่าเข้าอเมริกาของหัวหน้าเจ้าหน้าที่สอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นี้เตรียมเดินเรื่องที่อาจให้เกิดการสอบสวนการกระทำของทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน

เจ้าหน้าศาลอาญาระหว่างประเทศผู้นี้ คือ ฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) เป็นชาวเเกมเบีย สำนักงานของเธอกล่าวว่า เธอจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ดำเนินการสอบสวนและสั่งฟ้อง “โดยไม่เกรงกลัวหรือลำเอียงเข้าข้างใคร” ทั้งนี้ โฆษกของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ยืนยันการยกเลิกวีซ่าของฟาตู เบนซูดาจริง และบอกด้วยว่าอเมริกาจะดำเนินการตามที่จำเป็นในการปกป้องอธิปไตยและประชาชนอเมริกันจากการสืบสวนและการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมโดยศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย

ในทางกลับกัน ท่าทีของสหรัฐฯ นั้น กลับเปลี่ยนไป เมื่อครั้งหนึ่ง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ระบุว่า วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน “อย่างชัดเจน” และมองว่าการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับก็เป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของศาลนี้ก็ตาม โดยศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮกได้ออกหมายจับปูติน ภายใต้ข้อสงสัยว่า ผู้นำรัสเซียกระทำการส่งตัวเด็กๆ และพลเมืองยูเครนออกไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงเวลา 1 ปีที่ทำสงครามรุกรานเคียฟ ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงผ่านอีเมลว่า สหรัฐฯ ได้ข้อสรุปตรงกันว่ากองกำลังรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน และพร้อมจะสนับสนุนการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

จุดประสงค์ของการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็เพื่อแก้ปัญหาการก่ออาชญากรรมร้ายแรง อาทิ การสังหารหมู่หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การก่ออาชญากรรมใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม ดังเช่นกรณีของ ซัดดัม ฮุสเซน หรือ โอซามา บิน ลาเดน และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (ตามมาตรา 5) ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศจะทำหน้าที่ไต่สวน เมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ได้

อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศที่ไม่ได้ร่วมเป็นรัฐภาคี เช่น จีน รัสเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute of the International Criminal Court) อย่างเป็นทางการ หรือเกิดการถอนลายเซ็นออก เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล ซูดาน และฟิลิปปินส์ โดยในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกิดเสียงวิพากษ์ถึงการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศว่ามีอุปสรรคหลายอย่าง นับตั้งแต่กรณีของบางชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้ศาลไม่มีอำนาจเข้าไปสอบสวนคดีอาชญากรรมร้ายแรง หรือเรื่องที่ศาลไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเป็นของตัวเอง

เมื่อไม่มีผู้ทำหน้าที่คล้ายตำรวจของหน่วยที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ส่งผลให้ศาลอาญาระหว่างประเทศต้องขอความร่วมมือกับประเทศสมาชิกเพื่อให้ทางรัฐบาลส่งตัวผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ มาเพื่อพิจารณาคดี เกิดเป็นกระบวนการที่กินเวลานาน และบางครั้งยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าใดนัก เนื่องจากหลายประเทศมองว่าการให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาจัดการปัญหา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้อำนาจจากภายนอกเข้ามาละเมิดอธิปไตยของชาตินั่นเอง โดยสหรัฐฯมีท่าทีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศที่ชัดเจนว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นองค์กรบ่อนทำลายอธิปไตยของชาติ

จากที่มา เจตนารมณ์ และหลักการของการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ และตัวอย่างกรณีศึกษาที่ทีมงาน ฤา ได้อธิบายและยกตัวอย่างไปแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นที่ชัดเจนว่า กลุ่มการเมืองบางกลุ่มมีความประสงค์ที่จะทำให้บุคคลบางคน ที่ไม่ต้องเอ่ยว่าใครที่เราก็ต่างรู้กันดี ให้ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องและอาจจะนำไปสู่การถูกศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินคดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรุกรานอำนาจอธิปไตยของชาติ อีกทั้ง ความยุติธรรม ความเป็นกลาง ความเป็นการเมือง สภาพบังคับ ของศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยอยู่ จนมีประเทศมหาอำนาจหลายประเทศไม่เข้าร่วมเป็นภาคีด้วย

แน่นอนว่า ทีมงานฤา ไม่เคยมีเจตนาปกป้องผู้ลงมือก่อเหตุหรือปฏิเสธการค้นหาความจริงกรณีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่การจะให้ชาติมหาอำนาจใช้กระบวนการยุติธรรมของเขามารุกรานอธิปไตยของชาติเรานั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า องค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกขานใดๆ หรือก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ต่างก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของชาติมหาอำนาจแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าทางดก็ทางหนึ่ง

อ้างอิง :

[1] UN Doc. A/AC.249/1998/DP.2, 23 March 1998 อ้างใน Antonio Cassese, International Criminal Law, (1st edition Oxford University Press), 2003, p.289)
[2] Antonio Cassese, Paola Gaeta, John R.W.D. Jones, The Rome Statute of the International Criminal Court: A Commentary volume II, (Oxford University Press) 2002, p. 1875)
[3] ธงชัย รัมมะศักดิ์, ร้อยตำรวจโท, “แนวคำพิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศอดีต ยูโกสลาเวียเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้บังคับบัญชาต่อการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา,”
[4] Beatrice L. Bonafe, The Relationship between State and Individual Responsibility for international Crimes, (Martinus Nijhoff, 2009) p.26

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า