งบประมาณของ ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ ตรวจสอบได้ และมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

ปัจจุบันมีผู้ออกมาให้ข้อมูลบิดเบือนว่า “มูลนิธิโครงการหลวง” เป็นโครงการที่ไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นการนำงบประมาณแผ่นดิน มาสร้างผลประโยชน์ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการตัดเส้นทางทำมาหากินของชาวดอยผู้ด้อยโอกาส

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการ “ให้ข้อมูลเท็จ” เพื่อหวังโจมตีและสร้างความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เพราะ “มูลนิธิโครงการหลวง” มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ และทุกปีมูลนิธิต้องรายงานผลการดำเนินการต่อนายทะเบียนพร้อมทั้งหลักฐาน เพื่อควบคุมดูแลการจัดการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มูลนิธิได้จดทะเบียนเอาไว้

อีกทั้งเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ถูกจัดสรรไว้สำหรับเป็นเงินเดือนบุคลากรและลูกจ้าง รวมไปถึงค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายและรายได้ที่มูลนิธิได้จากการขายผลิตผลการเกษตร ซึ่งกำไรของมูลนิธิก็ถูกหมุนเวียนมาเป็นเงินทุน เพื่อสร้างผลประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนต่อไป

“มูลนิธิโครงการหลวง” มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขา ที่บ้านดอยปุย ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้ทรงทราบถึงความลำบากในการดำรงชีวิตของประชาชน ตลอดจนปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวเขา

แม้ว่าฝิ่นจะสามารถเพาะปลูกได้ดี แต่เนื่องจากเป็นยาเสพติดให้โทษที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชาวเขาได้ไม่มาก เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา และทรงทราบอีกว่านอกจากฝิ่นแล้ว ชาวเขายังปลูกท้อซึ่งสามารถสร้างรายได้พอ ๆ กับฝิ่น ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 200,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนสถานีทดลองดอยปุย ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาว อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา”

ซึ่งโครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานเป้าหมายสำหรับการดำเนินงาน ดังนี้

  1. ช่วยเหลือชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม
  2. ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร
  3. กำจัดการปลูกฝิ่น
  4. รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน

โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ได้ดำเนินงานโดยมีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษาวิจัย และให้คำแนะนำทางการเกษตร สาธิตการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แก่ชาวเขา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศด้วย โดยในปี พ.ศ. 2513 คณะกรรมการส่งเสริมอาชีพทหารผ่านศึกจีนไต้หวัน (VARCR) สาธารณรัฐจีนไต้หวัน ได้ให้การสนับสนุนโดยส่งพันธุ์พืชเขตหนาวชนิดต่าง ๆ พร้อมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาปฏิบัติงานในโครงการหลวงด้วย

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2515 องค์การสหประชาชาติ ได้เห็นความสำคัญของการปลูกพืชทดแทนฝิ่น จึงให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ UN/Thai Program for Drug Abuse Control โดยสนับสนุนงบประมาณและส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือเป็นครั้งคราว และในปี พ.ศ. 2516 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA/ARS) ได้เริ่มให้ทุนสนับสนุนแก่โครงการหลวง ในการวิจัยการเกษตรบนที่สูง ปีละประมาณ 20,000,000 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาชุมชนชาวเขาทดแทนการปลูกฝิ่น ในพื้นที่โครงการหลวง รวม 5 แห่ง แห่งละ 1,000,000 บาท ต่อปี

นอกจากการเข้าไปให้ความรู้ด้านการเกษตร และส่งเสริมการเพาะปลูกพืชแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงห่วงใยถึงช่องทางการจำหน่ายอีกด้วย เพราะว่าเมื่อเกษตรกรเพาะปลูกพืชให้ผลผลิตจำนวนมาก การจำหน่ายพืชผลย่อมขึ้นอยู่กับสภาวะราคาตลาด ดังนั้นอาจถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อได้ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ กว่า 900,000 บาท เพื่อตั้งเป็น “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” ดำเนินกิจการรับซื้อผลิตผลการเกษตร จากเกษตรกรในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ในราคารับซื้อที่ยุติธรรม และราคาสูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อย เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาจัดจำหน่ายและแปรรูปให้มีมูลค่าสูงขึ้น

และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความห่วงใยว่า การส่งเสริมการเกษตรในโครงการหลวง อาจสร้างผลกระทบให้กับผลิตผลของเกษตรกรในภาคเหนือเดิม ดังนั้นการดำเนินงานของโครงการหลวง จึงมุ่นเน้นการส่งเสริมพืชผล และไม้ดอกเขตหนาวชนิดใหม่ ๆ ที่ประชาชนภาคเหนือยังไม่นิยมเพาะปลูก ซึ่งโครงการหลวงได้พัฒนาและวิจัยพันธุ์พืช จนสร้างผลผลิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งในปี พ.ศ. 2534 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา เห็นว่าโครงการหลวงได้รับการสนับสนุนมานาน ราว ๆ เกือบ 20 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงไม่ได้จัดงบประมาณสนับสนุนอีก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นว่า การดำเนินงานของโครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการโครงการมีความมั่นคงยั่งยืน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการหลวงจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” โดยพระราชทานเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิฯ เริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคง และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของรูปแบบการดำเนินงาน “มูลนิธิโครงการหลวง” มีการจดจัดตั้งเป็น “มูลนิธิ” ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงอยู่ภายใต้ความควบคุมของกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ นั่นคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 และกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิ การดำเนินกิจการ และการทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ. 2545

ซึ่งสาระสำคัญของกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิ การดำเนินกิจการ และการทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ. 2545 ข้อ 13 กำหนดให้ ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี มูลนิธิต้องรายงานผลการดำเนินการต่อนายทะเบียนพร้อมทั้งหลักฐาน ได้แก่

  1. รายงานการดำเนินกิจการของมูลนิธิในปีที่ผ่านมา
  2. บัญชีรายได้รายจ่าย และสำเนางบดุลของมูลนิธิในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้รับรองความถูกต้องแล้ว
  3. สำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการมูลนิธิ ทุกครั้งในปีที่ผ่านมา

ดังนั้นการดำเนินการของมูลนิธิโครงการหลวง จึงอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกระทรวงมหาดไทยเป็นนายทะเบียนผู้รับจดจัดตั้งมูลนิธิ และมีหน้าที่บังคับให้มูลนิติต่าง ๆ ที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย มีการดำเนินการเป็นไปตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด

โดยรายงานผลการดำเนินงานมูลนิธิโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มูลนิธิโครงการหลวง มีรายได้ 2,326 ล้านบาท โดยมีที่มาจากการขายผลิตผลการเกษตร 1,458 ล้านบาท เป็นผลผลิตการเกษตรภายใต้ตราสัญลักษณ์มูลนิธิโครงการหลวง 1,308 ล้านบาท และเป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการส่วนพระองค์ อีก 150 ล้านบาท

และเนื่องจากมูลนิธิโครงการหลวง ได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 535 ล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำให้มูลนิธิโครงการหลวง มีหน้าที่จัดทำรายงานทางการเงินให้ถูกต้องตามระเบียบการเงินการคลังภาครัฐ นอกเหนือไปจากการจัดทำบัญชีรายได้รายจ่าย และงบดุลของมูลนิธิ ที่มูลนิธิต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้รับรองความถูกต้องและยื่นต่อนายทะเบียน ตามที่กฎหมายกำหนด

โดยรายงานผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ แสดงให้เห็นว่า มูลนิธิโครงการหลวงนอกจากดำเนินการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากเกษตรกรภายใต้โครงการแล้ว มูลนิธิยังมีกิจกรรมในด้าน การวิจัยพัฒนา การเผยแพร่ความรู้ และการส่งเสริมอาชีพ ผ่านสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 39 แห่ง มีคณะทำงาน 133 คน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างประจำ 1,117 คน และลูกจ้างชั่วคราว 1,650 คน ซึ่งทำให้มูลนิธิโครงการหลวง มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนบุคลากรในสัดส่วน 80% ของเงินงบประมาณ โดยเป็นค่าตอบแทน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างประจำ เฉลี่ยเดือนละ 22,750 บาท/คน และลูกจ้างชั่วคราว เฉลี่ยเดือนละ 5,133 บาท/คน

จะเห็นได้ว่า เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินจำนวน 535 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะได้รับจัดสรรเพื่อเป็นค่าตอบแทนบุคลากรและลูกจ้างเท่านั้น รวมไปถึงค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ อีกไม่เกิน 20% ดังนั้น เงินในส่วนที่ได้รับอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน จึงถูกแยกต่างหากจากรายได้และค่าใช้จ่าย ที่มูลนิธิได้จากการขายผลิตผลการเกษตร

จากข้อมูลทั้งหมดสรุปได้ว่า มูลนิธิโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของชาวเขาและเกษตรกร ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิโครงการหลวง มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งเงินที่ได้รับอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ใช้เพื่อเป็นค่าตอบแทนบุคลากรและค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายและรายได้ ที่มูลนิธิได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตรเลย

ดังนั้น การกล่าวหาว่า “มูลนิธิโครงการหลวง” เป็นโครงการที่ไม่มีความโปร่งใส และตัดเส้นทางทำมาหากินของชาวดอยผู้ด้อยโอกาส จึงเป็นเพียงคำพูดที่ “บิดเบือน” ของผู้ที่เต็มไปด้วยอคติ

อ้างอิง :

[1] ปัญหาการเกษตรของชาวเขา สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12 เรื่องที่ 4 การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
[2] รายงานผลการดำเนินงานมูลนิธิโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
[3] โครงการวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร เรื่องโรงงานหลวงสำเร็จรูป ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2538

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว