เจาะเอ็นร้อยหวายเชลยศึกปัตตานี ‘ข่าวลือ’ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

กรณีสยามเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยศึกปัตตานี นับเป็นเรื่องเล่าอันดับ 1 ในการปลุกระดมให้ชาวปัตตานี (นายู) เกิดความรู้สึกอินกับประวัติศาสตร์ และเกิดความแค้นจนนำไปสู่การตัดสินใจจับปืนต่อสู้รัฐ ทั้งยังจัดเป็นเรื่องเล่า “ชั้นดี” และ “คลาสสิค” เพราะมันยังคงถูกนำมาผลิตซ้ำโดยพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่ทุกยุคสมัย

หลังจากที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงกรณี “เอ็นร้อยหวาย” ในฐานะ “เรื่องเล่า” (Narrative) ในบทความก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดกรณีถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในโลกวิชาการและภายนอกวิชาการ (โดยเฉพาะโลกการเมือง) เท่านี้ก็นับเป็นที่พึงพอใจของผู้เขียน ในฐานะเสียงหนึ่งที่อยากปลุกให้คนภายนอกได้รับทราบประวัติศาสตร์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองแห่งการวิพากษ์

แม้จะมีการตอบโต้ว่า วิธีวิทยา (methodology) ของผู้เขียน รวมถึงที่ปรากฏในงานวิจัยเรื่องเอ็นร้อยหวายของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โดย อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์) เป็นวิธีวิทยาที่ไม่เหมาะสมในการศึกษาเรื่องเล่าท้องถิ่นในฐานะความทรงจำร่วม เพราะการไม่ดำรงอยู่ของหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) ของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ย่อมไม่สามารถชี้ชัดหรือฟันธงได้ว่า เรื่องเล่าที่โหดร้าย (ที่ไม่ได้รับการจัดบันทึก) อาจเคยเกิดหรือไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้

คำแย้งนี้อาจฟังขึ้น หากเรื่องเล่านั้นๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง (เช่น การยุยงให้เกลียดรัฐไทยผ่านความทรงจำทางประวัติศาสตร์) แต่ผู้เขียน (และน่าจะรวมถึงนักวิชาการคนอื่นๆ) ที่พยายามแสวงหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลับเห็นต่างว่า การดำรงอยู่ของ “เรื่องเล่าที่สุ่มเสี่ยง” โดยไม่มีความพยายามที่จะหาเหตุผลรองรับ หรือประเมินความน่าเชื่อถือ และปล่อยให้เป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่เช่นในพื้นที่ชายแดนใต้ จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการสร้างสันติสุขในสังคมนั้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเราตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เงื่อนไขหรือข้อตกลงร่วมกันบางอย่างเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

ดังนั้น การดำรงอยู่ของชุดความจริงภายใต้เรื่องเล่าหลายเรื่อง จึงไม่น่าจะเป็นผลดี เพราะหากไม่มีข้อยุติในเรื่องเล่าที่สุ่มเสี่ยงหรือเปราะบางต่อความแตกแยก เมื่อถึงวันหนึ่งที่กลุ่มชนสองฝ่ายซึ่งยึดถือความจริงของแต่ละฝั่งเป็นสัจธรรม เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ก็อาจนำไปสู่ความพินาศดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาทิ สงครามครูเสด ที่แต่ละฝั่งต่างยึดถือ “ความจริงแท้” คนละชุดกัน จนเป็นเหตุให้เกิดการรบราฆ่าฟันอย่างใหญ่โตในยุคกลาง

ด้วยสภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้ การถกเถียงกรณี “เอ็นร้อยหวาย” ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกันด้วยวิธีแบบวิทยาศาสตร์ จึงเป็นประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้เรื่องเล่านี้ยัง “เทาๆ” ภายใต้ชุดความจริงจาก 2 ฝั่ง คือ ประวัติศาสตร์ในมุมมองไทย และ ประวัติศาสตร์ในมุมมองนายู

ซึ่งงานวิจัยของ อ.สุเนตร ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการพยายามที่จะ “ก้าวไปให้พ้น” เรื่องเล่าที่หลอกหลอนสังคมชายแดนใต้มานานกว่า 130 ปี ด้วยการนำเอาหลักฐานทุกฝ่ายมากางและ “แบ” ให้เห็นว่า แต่ละฝ่ายกล่าวถึงกรณีเอ็นร้อยหวายไว้อย่างไร ซึ่งนี่คือวิธีที่เหมาะสมในการศึกษาการเกิดขึ้นของเรื่องเล่าหนึ่งๆ แทนที่จะมุ่งสนใจเพียงแต่กรอบแคบๆ ในฐานะความทรงจำร่วมที่ไม่สามารถละเมิดหรือตั้งคำถามได้

และในเมื่อไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ การดำรงอยู่ของเรื่องเล่าเอ็นร้อยหวายจึงถูกตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้วมีที่มาอย่างไรกันแน่ ? และบางทีอาจต้องยอมรับว่า ความทรงจำหรือเรื่องเล่าบางอย่าง อาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงก็ได้

กรณีเอ็นร้อยหวาย หากจะพิจารณาเรื่องเล่านี้ในฐานะ “ข่าวลือทางประวัติศาสตร์” ที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงบางอย่างก็มีความเป็นไปได้ ดังที่มีนักวิชาการตะวันตก เช่น Eugen O. Chirovici (2014) ได้ศึกษาข่าวลือที่ส่งผลกระทบในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สากลที่สำคัญๆ และได้พบข้อเท็จจริงว่า ข่าวลือถูกใช้มาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของมัน คือการบ่อนเซาะทำลาย และไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นจริง ดังนั้น ข่าวลือจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมี “ความจริง” ก็ได้ (ยิ่งเป็นข่าวลือที่ขัดแย้งกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมตัดสินใจได้ง่ายว่าสมควรเชื่อถือหรือไม่)

คำอธิบายข้างต้นสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในช่วงแห่งความขัดแย้งจนเกิดเป็นสงครามระหว่างสยาม-ปัตตานี ที่เรียกกันในหมู่นักวิชาการมลายูว่า “สงครามเสียงกระซิบ”(Perang Musuh Bisik) หรือที่ฝั่งไทยเรียกว่า “กบฏไทรบุรีครั้งที่ 1” (พ.ศ. 2373) อันมีมูลเหตุมาจาก ตนกูเด็น หลานสุลต่านไทรบุรี ได้ตั้งตัวเป็นกบฏต่อนครศรีธรรมราชที่เข้าไปปกครองเมืองไทรบุรีโดยตรง ซึ่งสงครามครั้งนี้สยามได้ให้ 7 หัวเมืองปัตตานี (ปตานี) เข้าร่วมปราบกองทัพไทรบุรีด้วย แต่สุดท้ายฝั่งปัตตานีได้แปรพักตร์ไปสนับสนุนฝ่ายไทรบุรี ที่ต่อมาได้ร่วมมือกับเมืองกลันตันและตรังกานูยกกองทัพมาต่อต้านสยาม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสงครามศาสนา หรือ “ญิฮาด” ครั้งแรกในคาบสมุทรตอนเหนือ การกระซิบกระซาบบอกต่อกันในการต่อต้านสยาม (ตามชื่อของสงครามครั้งนี้) มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การสร้างข่าวลืออาจจะเกิดขึ้นในเวลานี้เอง ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยของ อ.สุเนตร ที่สรุปว่า อายุของเรื่องเล่าเอ็นร้อยหวายนี้มีมาประมาณ 130 ปี (ราวรัชกาลที่ 3 ไม่ใช่คราวเมื่อปัตตานีเสียเอกราชในสมัยรัชกาลที่ 1)

และเมื่อธรรมชาติของข่าวลือเป็นเช่นนี้ การตามรอย (trace down) ถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของมันจึงมีความสำคัญ และน่าจะเป็นประโยชน์กว่าการรักษาสถานะมันเอาไว้ในฐานะ “เรื่องเล่าหรือความทรงจำร่วมที่แตะต้องไม่ได้” เพราะถ้าเรายอมรับว่าเรื่องเล่าหรือความทรงจำร่วมเชิงประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ประวัติศาสตร์แห่งโลกมนุษย์ก็คงหาสาระอะไรไม่ได้เลย

เอกสารที่ผู้เขียนจะเปิดเผยต่อไปนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการข้อเท็จจริง และยืนยันความคิดที่ว่า การใช้หลักฐานเพื่อหักล้างการดำรงอยู่ของข่าวลือทางประวัติศาสตร์หรือวาทกรรมของกลุ่มขบวนการฯ ยังเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

A Journey on foot to the Patani Frontier in 1876” (ว่าด้วยการเดินทางทางบกไปยังชายแดนปตานี ในปี พ.ศ. 2419) ซึ่งเขียนขึ้นโดย W. E. Maxwell เจ้าหน้าที่อาณานิคมชาวอังกฤษ ซึ่งตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ 5 เอกสารชิ้นนี้ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่อังกฤษเดินทางเข้าไปยังเขตไทรบุรี-เปรัค จนถึงชายแดนของปตานี (อันที่จริงคือเขตเบตง/ฮูลูเปปรัคของเมืองรามันห์ สมัยกำกับการปกครองโดยตรงจากสยาม) เมื่อเดินทางเข้าไปถึงเขตเบตง Maxwell ได้บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า …

… วันนี้ข้าพเจ้าพบเห็นสาวชาวซาไกคนหนึ่งที่ถูกครอบครัวชาวปตานีอุปการะไว้ หล่อนทรงเครื่องแบบฉบับสาวชาวมาเลย์ทุกประการ หากแต่ผิดกันที่ขนาดเท่านั้น อีกทั้งหล่อนยังสวมต่างหูเงินขนาดใหญ่ไว้ที่หูด้วย โดยข้าพเจ้าถูกเล่ามาอีกทอดว่า มันเป็นสิ่งที่จะสำแดงออกถึงอัตลักษณ์ทางการแต่งกายของสตรีปตานี จากที่ข้าพเจ้าได้เห็นขนาดของรูที่ติ่งหู พร้อมกับต่างหูขนาดใหญ่เหล่านั้น ข้าพเจ้ายังได้รับการบอกต่อจากคนเฒ่าคนแก่ในแถบนี้ด้วยว่า ผู้หญิงหลายคนได้ถูกจับตัวไปเป็นเชลยโดยสยามในคราวสงครามกูเด็น 1831 (กบฏไทรบุรี) ซึ่งพวกหล่อนถูกมัดรวมกันไว้ด้วยเส้นหวายขนาดยาว ที่พวกสยามได้ร้อยผ่านรูที่หูของพวกเธอ แล้วจึงบังคับให้เดินไปด้วยกัน

นี่คือเนื้อความที่เก่าที่สุดซึ่งพูดถึงกรณีที่ “หวาย” ถูกนำมาใช้กับเชลยชาวปัตตานี โดยถูกบันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) จะเห็นได้ว่า ไม่มีการพูดถึงการเจาะเอ็นร้อยหวายในเชลยผู้ชายเลย อีกทั้งผู้เขียนก็ระบุชัดเจนว่าเรื่องเหล่านี้พวกเขาถูก “เล่าต่อ” โดยชาวปัตตานีที่อาศัยอยู่บริเวณฮูลูเปรัค (พวกลี้ภัยจากสงครามกบฏไทรบุรี) และแม้ว่าจะมีการบันทึกถึงการร้อยใบหู แต่ก็ไม่ใช่การเจาะใบหูโดยสยามแต่อย่างใด กลับกัน ชาวปัตตานีเองที่ว่าพวกเขาเจาะติ่งหูเพื่อสวมต่างหูอยู่แล้ว สยามเพียงแต่เอาเส้นหวายมาร้อยเข้าที่รูหูที่พวกเธอเจาะไว้เองเท่านั้น (มีการอ้างว่าการสวมต่างหูเป็นการแต่งการประจำชาติพันธุ์ด้วยซ้ำ) อย่างไรก็ดี ในประโยคที่ว่า หลังจากถูกร้อยหูแล้วก็ถูก “สยามบังคับให้เดิน” ผู้เขียนไม่ขอออกความเห็นถึงความเป็นไปได้ว่า คนเราจะสามารถเดินได้ด้วยหรือหากโดนร้อยหูเข้าด้วยกัน ประเด็นนี้ขอให้ผู้อ่านพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลด้วยตนเอง

น่าแปลกที่หลักฐานเดียวกันนี้เคยถูกอ้างอิงอย่างผิดๆ ในหนังสือUmat Islam Patani : Sejarah dan Politik (1993)ซึ่งเขียนโดย Mohd Zamberi A. Malek นักประวัติศาสตร์ชาวมลายูกลันตัน ที่กลับระบุข้อความในลักษณะไม่ตรงกับเนื้อหาต้นฉบับทำนองว่า “W. E. Maxwell ได้พบกับหญิงผู้สูงอายุที่มี หูแหว่งจำนวนมากอยู่ในฮูลูเปรัคแต่จากเนื้อความต้นฉบับที่ผู้เขียนยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความไหนของ Maxwell ที่ระบุว่าหญิงชราเหล่านั้นหูแหว่งเลย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นกรณีเอ็นร้อยหวายหรือกรณีร้อยหู พรรณงาม เง่าธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์อาวุโสชาวไทยผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาคใต้ ได้ให้ข้อคิดเห็นในกรณีสงครามสยาม-ไทรบุรีพร้อมหลักฐานสนับสนุนที่น่าสนใจว่า …

ผลของสงครามเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งโดยเฉพาะสำหรับฝ่ายปราชัย นอกจากชีวิตและทรัพย์สินที่สูญเสียไปในการสู้รบในพื้นที่แล้ว เชลยสงครามจำนวนมาก (บ้างว่าจำนวนถึง 4,000 คน) ถูกนำตัวขึ้น กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี หลักฐานร่วมสมัยของอังกฤษชี้วา ข้อมูลเกี่ยวกับผู้อพยพ เชลย และการสูญเสียในสงครามมลายู-สยาม มีโอกาสของความคลาดเคลื่อนอยู่มาก อันเนื่องมาจากการปะปนกับ ข่าวลือและการพยายามเพิ่มความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสองฝ่าย

ดังบันทึกในรายงานของร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีย์ ที่ได้เดินทางขึ้นมาพบกับเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เพื่อเจรจาปัญหาไทรบุรีเมื่อ พ.ศ. 2368 โดยอ้างคำบอกเล่าของชาวบ้านที่หมู่บ้านเมมบังเซการา (อยู่ทางเหนือของลำน้ำสตูล ซึ่งเบอร์นีย์ระบุว่า เป็นชาวมลายูแต่พูดภาษาสยามกันเหมือนเป็นภาษาพื้นบ้านของเขา) ซึ่งชาวบ้านได้เล่าเกี่ยวกับกบฏที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นว่า ความวุ่นวายเกิดขึ้นจากจารบุรุษจากปีนัง ที่มาปล่อยข่าวว่า คนสยามกำลังจะมากวาดต้อนผู้หญิงและเด็กชาวมลายูไปเมืองลิกอร์ (นครศรีธรรมราช ) และข่าวที่ไม่มีมูลความจริงได้ทำให้คนเสียชีวิตไปไม่ใช่น้อย และมีคนอพยพออกไปประมาณสองพันเศษ รวมถึง ผู้คิดร้ายเหล่านี้ก่อกวนทุกวิถีทางมิให้คนมลายูอยู่เป็นสุข ภายใต้การปกครองของรัฐบาลสยาม

รายงานของเบอร์นีย์ยังอ้างถึง ข่าวลือ ที่ทำให้เกิด ความตื่นกลัว ที่แคว้นเวลสลีย์ จากข่าวที่ว่า คนสยามกำลังจะมาโจมตีแคว้นเวลสลีย์ จนทำให้ คนจำนวนมากถึงกับห่อข้าวของเตรียมหนีไปอยู่ที่ปีนัง เบอร์นีย์รายงานว่า ถึงแม้ทางการอังกฤษที่นั่นจะชี้แจงว่าเป็นเพียงข่าวลือก็ไม่มีใครเชื่อ อีกทั้งยังมีการปล่อยข่าวเชิงยุแหย่สร้างความเป็นศัตรูระหว่างอังกฤษกับสยามโดยทำให้คนที่ปีนังเชื่อว่า ร้อยเอกเจมส์ โลว์ ถูกวางยาพิษตามคำสั่งของเจ้าพระยานครฯ หรือ แม้แต่ตัวเบอร์นีย์เองก็มีข่าวว่า ถูกพระยานครฯ ตัดออกเป็นชิ้นๆ

เบอร์นีย์ได้สะท้อนทัศนะต่อการสร้างบริบท บรรยากาศทางการเมืองระหว่างรัฐต่างๆ ที่กำลังแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันขณะนั้นไว้ว่า เราไม่แปลกใจเลยว่าข่าวลือ เหลวไหลทำนองนี้ ได้กระทบกระเทือนความรู้ สึกของคนในเมืองลิกอร์และเกดะห์อย่างไร

จะเห็นได้ว่า หลักฐานเรื่องเจาะเอ็นร้อยหวาย ทั้งจากการสัมภาษณ์ชาวมลายูบางกอกที่ปรากฏในงานวิจัยของ อ.สุเนตร รวมถึงเอกสารบันทึกของชาวต่างชาติที่นำมาแสดงข้างต้น กลับชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่า กระแสเรื่องเล่าเอ็นร้อยหวายเป็นเพียงแต่ ข่าวลือที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (สงครามไทรบุรี) แต่ทำไม อารีฟิน บินจิ (ผู้เขียนถึงเอ็นร้อยหวายคนแรกเป็นภาษาไทย ในประวัติศาสตร์ปัตตานีเมื่อปี พ.ศ. 2540) จึงนำ “เรื่องเล่า” หรือ “ข่าวลือ” ดังกล่าว ไปเจาะจงวางไว้ ณ ห้วงเวลาที่สยามยึดปัตตานีสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2329) ซึ่งห่างกับช่วงสงครามไทรบุรีถึง 40 ปีเศษ และเขาก็ไม่ได้ใส่อ้างอิงหรือเชิงอรรถไว้ด้วย (ในระหว่างนั้นก็มีสงครามย่อยๆ ระหว่างสยามและปัตตานีอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ กบฏเต็งกูลามิดเด็นและกบฏดาโต๊ะปะกาหลั่น)

นับเป็นเรื่องประหลาดที่นักชาตินิยมปัตตานี (นายู) มักจะพึงพอใจกับ “เรื่องเล่าอื่นๆ” อาทิ อาถรรพ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว กับการที่มัสยิดกรือเซะถูกฟ้าผ่า ซึ่งเป็นเรื่องเล่าหรือความทรงจำจากฝั่งชุมชนจีนในปัตตานี (ออแฆจีนอ – Orang Cina) โดยเรื่องเล่านี้ได้ถูกรื้อสร้างผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์จากนักวิชาการ จนนำไปสู่ขอสรุปที่วงการวิชาการยอมรับกันว่า มัสยิดกรือเซะสร้างไม่สำเร็จไม่ใช่เพราะคำสาปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวแช่งไว้แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะโครงสร้างของตัวมัสยิดเองที่ไม่แข็งแรง เป็นเหตุให้ส่วนหลังคาของมัสยิดถล่มลงมาจนดูราวกับว่าสร้างไม่เสร็จ

กรณีกรือเซะของชุมชนจีนนี้ ถือว่าเป็น “เรื่องเล่า” หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง และแทบจะเป็นเรื่องเล่าจากคนกลุ่มเล็ก (คนจีน/ไทยพุทธ) ท่ามกลางชนกลุ่มใหญ่ (นายู) อีกทีหนึ่ง แต่เมื่อมัน “ไม่ได้มีนัยแห่งการใช้ประโยชน์ทางการเมือง” เรื่องเล่านี้ก็ถูกวางลงและไม่ถูกพูดถึงอีกต่อไป ซึ่งผู้เขียนเลี่ยงใช้คำว่า “ถูกปกปิด” เพราะประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เขียนจากมุมมองของท้องถิ่น ได้รับการเปิดกว้างและยอมรับมาอย่างน้อย 2-3 ทศวรรษแล้ว โดยพิจารณาจากปกหนังสือที่พิมพ์ และจำนวนครั้งที่พิมพ์อย่างถูกกฎหมาย มีเลขรหัสของหอสมุดแห่งชาติ และบางเล่มยังถูกซื้อไปแจกจ่ายกันในส่วนราชการโดยข้าราชการด้วยกันเอง ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าประวัติศาสตร์ปัตตานีถูกปกปิดคือการกล่าวเท็จอย่างหนึ่ง

นี่จึงเป็นสภาวะที่ผู้เขียนเรียกว่า “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ของพวกนักชาตินิยมปัตตานี เพราะด้านหนึ่งพวกเขามักทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของพวกเขาโดนภาครัฐไทยกดทับ (ซึ่งอาจเคยเป็นความจริง แต่ปัจจุบันเปิดกว้างเป็นอย่างมาก) หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขากลับพึงพอใจกับการที่เรื่องเล่าหรือความทรงจำย่อยๆ จากชุมชนคนจีนหรือไทยพุทธ ถูกทำให้หมดพลังลงจากการศึกษาแบบใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (กรณีมัสยิดกรือเซะ) และแทนที่ด้วยเรื่องเล่าของพวกเขาเอง ที่เคลมนักหนาว่าเป็นความจริงกว่า

นี่จึงเป็นสภาวะที่ย้อนแย้งประการหนึ่งของสังคมชายแดนใต้ ที่คนนอกพื้นที่มักไม่รู้ หรือแสร้งทำเป็นไม่รู้ !

อ้างอิง :

[1] สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ. “ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย : ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปตานี”. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2561)
[2] พิเชษ แสงทอง. “หน้าที่ของอนุภาค เอ็นร้อยหวาย : เรื่องเล่า ข่าวลือในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้”. วาระสารรูสะมีแล ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 มกราคม –เมษายน 2561.
[3] อารีฟีน บินจิ. ปตานีดารุสลาม. (2540).
[4] วารสารรุไบยาต. ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม- ธันวาคม 2554)
[5] Rumors That Changed the World: A History of Violence and Discrimination Hardcover – December 11, 2014 Lexington Books (December 11, 2014).
[6] ครองชัย หัตถา. มัสยิดกรือเซะ มรดกวัฒนธรรมปัตตานี. (ปัตตานี : สำนักพิมพ์ ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี) 2549.
[7] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. การผนวกดินแดนและการสถาปนาอำนาจสยาม สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (เอกสารต้นฉบับยังไม่ได้รับการตีพิมพ์).
[8] Journal of the Straits branch of the Royal Asiatic Society (June 1882).