‘พริก’ ไม่ใช่ของไทย ไม่ได้ใช้แค่ปรุงอาหาร แต่ชาวมายาใช้ขยี้ตาผู้หญิงที่ชอบแอบดูผู้ชาย

บทความโดย : วังสามจันทร์

เรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยนั้นคือเรื่องจริงแท้ ไม่ว่าจะต้มผัดแกงทอด ในอาหารไทยมีความจัดจ้านครบ 5 รสสัมผัส 8 รสชาติตามที่เชฟ ชุมพล แจ้งไพร กล่าวไว้ หนึ่งใน 8 รสชาติที่โดดเด่นคือ “รสเผ็ด” อันนี้ถือเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ ของคนไทย เวลาเห็นฝรั่งมังค่าออกอาการหน้าดำหน้าแดง เหงื่อกาฬไหลหลากตามรางกระดูกสันหลังตอนกินอาหารไทยรสแซ่บ

และจากความภูมิใจนั่นแหละ ที่นำไปสู่มายาคติบางอย่าง คนไทยหลายคนมักคิดว่าวัตถุดิบของอาหารไทยเลอรสล้วนแล้วแต่เป็นของไทยทั้งนั้น วันนี้ผู้เขียนจึงอยากเล่าเรื่องเจ้าระเบิดลูกจิ๋วที่ชื่อว่า ‘พริก’ ที่น่าสนใจเหลือหลาย เพราะนอกจากรสของมันจะเผ็ด แต่เรื่องราวของมันก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน

# ข้อแรก พริกแต่ก่อนไม่ใช่ พริกในทุกวันนี้!

ถึงแม้ว่าอานุภาพของพริกจะปรากฎในสิงหไกรภพคำกลอน โดยสุนทรภู่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 (ประมาณปี พ.ศ. 2326-2367) ดังประโยคว่า

“…พระไม่เคยจะเสวยพริกเทศเผ็ด เคี้ยวเข้าเม็ดหนึ่งน้ำพระเนตรไหล”

ทำไมถึงเรียกว่า “พริกเทศ” ? ก็เพราะว่าก่อนหน้านั้นตั้งแต่ก่อนเก่า (เดาว่ากรุงศรีอยุธยา) คนไทยลิ้มรสเผ็ดจากสมุนไพรล้วน ๆ เช่น ดีปลี กานพลู มะแขว่น และ “พริก” ซึ่งใช้เรียกพริกไทยที่เข้ามาจากอินเดียในยุคนั้น โดยมีประวัติการใช้เป็นอาหารและยามายาวนานกว่า 3,000 ปีแล้ว ถ้าสืบลึกไปกว่านั้น คำว่าพริกมาจากรากศัพท์ภาษามอญว่า “เมรฺก” ภาษาบาลี-สันสกฤตเรียกว่า “มริจ” ซึ่งหมายถึงพริกไทยดำ

แสดงว่าคำว่า “พริก” นั้นหมายถึง “พริกไทย” มานานแสนนาน จนกระทั่งราว 400 ปีก่อนหน้าปัจจุบันมันถูกยึดไปเป็นชื่อของพริกสุดสะเด่าที่มาภายหลังแต่ดังกว่า คือ “พริกเทศ” นั่นเอง

ตามบันทึกที่ชัดเจน ในช่วงยุครัชกาลที่ 3-4 ได้มีหลักฐานการเก็บภาษีอากรสมพัตสรผู้ปลูก “พริกเทศ” แสดงว่ายุคนั้นมีปลูกเพื่อการพาณิชย์กันแล้ว รวมถึงในบันทึกอักขราภิธานศรับท์ที่กล่าวถึงพริกเทศของหมอบรัดเลย์

แต่เมื่อมาถึงตำราทำอาหารชื่อดัง “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” หนังสือเล่มแรก ๆ ที่จัดพิมพ์แบบสมัยใหม่ในปี พ.ศ. 2452 ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่พบคำว่า “พริกเทศ” อีกแล้ว ทั้งหมดกลายเป็นคำที่บ่งชี้ชื่อพันธุ์แทน เช่น พริกชี้ฟ้า, พริกขี้หนู และ พริกไทย จึงสรุปได้ว่าคำว่า “พริกเทศ” ได้สูญสลายไปในช่วงเวลานี้อย่างเป็นทางการนั่นเอง

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าการเรียกว่าพริกเทศมันคงยากไป เพราะพริกเทศนั้นมีหลายขนาน (พริกขี้หนู, พริกชี้ฟ้า หรือพริกหยวก) ไม่เหมือนกับพริกไทยที่มีอยู่แค่ชนิดเดียว ไป ๆ มา ๆ ก็คงลดเหลือแค่คำว่าพริกเปล่า ๆ ซึ่งก็เป็นอันเข้าใจตรงกัน และทุกอย่างเริ่มที่จากในวังก่อน และชาวบ้านก็เรียกกันตามไปตั้งแต่นั้น เรียกได้ว่าวังสมัยนั้นถือเป็น trend setter ตัวจริงเลยเชียวล่ะ

# ข้อสอง พริกอายุกว่า 9,000 ปีแล้ว!

ตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ พริกถือกำเนิดในแผ่นดินอเมริกา (บ้างว่าที่ชื่อ chilli ก็เพราะมาจากประเทศ ชิลี แต่ผู้เขียนคิดว่ามันน่าจะง่ายไป) มันถูกนำเอาออกจากประเทศแม่ราวปี ค.ศ. 1550 โดย ปีเตอร์ มาร์ทิล ลูกเรือคนหนึ่งของโคลัมบัส ซึ่งสำหรับมาร์ทิลไม่มีใครทราบข้อมูลมากกว่านั้น แต่แค่ได้ชื่อว่าเป็นชายผู้นำพริกโกอินเตอร์ ก็น่าจะยิ่งใหญ่เพียงพอในหน้าประวัติศาสตร์แล้วกระมัง ข้อมูลเล่าว่าเป็นโชคของชาวโลก เมื่อมาร์ทิลนำเมล็ดพริกไปปลูกต่อแล้วดันงอกงามดี (ในบางบันทึกกล่าวว่าเป็นนาย Alvarez Chanca ต่างหากที่เป็นผู้นำพริกจากอเมริกาไปสู่สเปน แต่ใครจะสนล่ะ!) หลังจากนั้นก็แพร่ไปถึงอินเดียในปี ค.ศ. 1585 ซึ่งเหมือนเป็นครัวโลกในขณะนั้น และเดินทางมาถึงสยามในช่วงปี ค.ศ. 1600 ในช่วงปลายรัชสมัยพระนเรศวรมหาราช

แต่นั่นยังนานไม่พอ

ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ พริก นั้นเป็นที่รู้จักและใช้ปรุงอาหารมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยมีหลักฐานว่าพบเมล็ดพริกในอุจจาระโบราณที่เมือง Huaca Prirta ในเม็กซิโก อายุกว่า 9,000 ปี! และมีการขุดพบซากต้นพริกอายุกว่า 2,000 ปี ในเทวสถานของเปรู แถมลายปักเสื้อของชาวเปรูเมื่อ 1,900 ปีก่อนก็ปักรูปต้นพริกอีกต่างหาก

น่าจะแสดงถึงความโปรดปรานในรสเผ็ดร้อนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นทีมงานของโคลัมบัสยังบันทึกชัดเจน ว่าพวกอินเดียนที่พวกเขาพบเจอนิยมปรุงอาหารด้วยพริก และเมื่อกองทัพสเปนบุกอาณาจักร Aztec นายพล Cortez ได้เขียนบันทึกว่ากษัตริย์ Aztec ทรงโปรดเสวยพระสุคนธรสที่มีพริกเป็นส่วนผสม

# ข้อสาม พริกนั้นรักษาโรคได้ รสชาติแสนอร่อย แต่มันก็ถูกใช้ในการทรมานผู้คนอีกด้วย

หลักฐานอันน่าตื่นตะลึง นอกจากพริกจะใช้เป็นอาหารแล้ว มันยังถูกใช้เป็นยารักษาอาการ โรคบวม เสียดท้อง ปวดท้อง อาเจียน อหิวาต์ จนเกือบเรียกว่าครอบจักรวาล เพราะมันใช้เป็นยาไล่แมลงได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเดียว แต่เป็นทั้งชาวอินคา, อินเดียน รวมไปถึงชาวมายา

แต่การใช้ในโหมดทรมานคนก็สุดแสบสันต์

มีบันทึกว่าหญิงสาวชาวมายาที่ถูกจับได้ว่าแอบดูผู้ชาย จะถูกพริกขยี้ที่ตา ส่วนรายที่ชิงสุกก่อนห่าม จะถูกทำโทษด้วยการถูกละเลงพริกที่ของลับ สำหรับการใช้พริกลงโทษก็ยังมีอีกตำรับ เมื่อจากหลักฐานประวัติศาสตร์พบว่า ชาวอินเดียนเผ่า Carlib ใช้ไฟจี้ตามตัวเชลยจนเป็นแผลพุพองแล้วทาด้วยพริก ที่สุดโต่งไปอีกคือเมื่อเชลยเสียชีวิต เนื้อก็จะถูกแล่และนำไปปรุงอาหาร

พืชสวนเม็ดเล็กจัดจ้าน ช่างมีประวัติแสนยาวนาน และแสบร้อนไม่แพ้รสชาติ ทุกวันนี้พริกแตกขยายไปหลายพันธุ์แล้วแต่พื้นที่ที่ใช้ปลูก  เห็นทีชาวโลกทุกคนก็ต้องขอบคุณนายปีเตอร์ มาร์ทิล อีกรอบ ที่นำมันออกมากระจายจนแพร่ขยายไปทั่ว จนกลายเป็นรสชาติที่โดดเด่นไม่น่าเบื่อของอาหารหลายชนชาติ

รวมถึงส้มตำปลาร้าจานโปรดของผู้เขียนด้วยครับ

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า