มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ พลังความร่วมมือของ “พระราชา” กับ “ประชาชน”

พ.ศ. 2505 ปีแห่งการสูญเสียครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ต้องเผชิญกับมหาวาตภัยครั้งใหญ่ จากพายุโซนร้อนแฮเรียด หรือ 78W ซึ่งเป็นพายุโซนร้อนรุนแรง ที่เข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงค่ำของคืนวันที่ 25 ตุลาคม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 911 ราย สูญหายอีกหลายร้อย และมีประชาชนที่กลายเป็นผู้ที่ไร้อยู่อาศัยมากถึง 16,170 คน เพียงชั่วข้ามคืน รวมถึงสิ่งที่ประเมินค่ามิได้นั่นคือความสูญเสียทางด้านจิตใจของประชาชนคนไทยจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย และทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน กรมประชาสงเคราะห์จึงจัดเตรียมสิ่งของและเดินทางไปพร้อมกับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถองค์สภานายิกาได้มีกระแสรับสั่งให้ร่วมเดินทางไปกับกรมประชาสงเคราะห์เพื่อทำการสงเคราะห์และบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ด้วย

นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกด้วย โดยได้ทรงดนตรีให้คนขอเพลงโดยบริจาคเงินช่วยผู้ประสบภัย และทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง

สายธารน้ำใจจากทั่วสารทิศ หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ภายในชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์ และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงาน

ผลของพายุแฮเรียตในครั้งนั้น ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องกำพร้า เพราะพ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์พายุถล่ม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือตามกําลังความสามารถ เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยตัวเองและเป็นกําลังรับใช้ประเทศชาติต่อไป จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 5 จังหวัดภาคใต้ และพระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์”  

และเมื่อช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังมีงบประมาณเหลืออยู่อีก 3,000,000 บาท พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า …  

“เงิน 3,000,000 บาทนี้ ควรตั้งเป็นทุน เพื่อหาดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็ก ซึ่งครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูประการหนึ่ง และสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎร ผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ”

ด้วยเหตุนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงนำเงิน 3,000,000 บาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน “พระบรมราชูปถัมภ์” พร้อมกับทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นี้ด้วย  ชื่อของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ หมายความว่า

“พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน

TOP