‘ธรรมศาสตร์บัณฑิต’ พระราชทานโดยรัชกาลที่ 6 และถูกรักษาเอาไว้โดย ‘ปรีดี พนมยงค์’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นสถาบันอุดมศึกษาตาม พรบ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2477 แต่ว่าในความจริงแล้ว ธรรมศาสตร์มีจุดกำเนิดที่ยาวนานกว่านั้น เพราะถือกำเนิดมาจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ตามพระราชบัญชาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ต้องการผลิตนักกฎหมายเพื่อออกมารับใช้สังคม

ต่อในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงรับโรงเรียนกฎหมายไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะโรงเรียนหลวงเป็นการพิเศษ

และนาม ธรรมศาสตร์ซึ่งมาจาก “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” ยังเป็นนามพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 6 อีกด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากวิทยาลัยไครส์ตเชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พ.ศ. 2437 เมื่อเสด็จกลับเข้ามารับราชการในสยามได้เพียงปีเดียว ก็ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ขณะมีอายุ 22 ปี ในปี พ.ศ. 2439 แต่ได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ. 2453 ทำให้การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมที่แต่เดิมท่านเป็นผู้ดูแล ไม่มีใครรับหน้าที่ต่อเนื่องจากไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการ ทำให้โรงเรียนกฎหมายถดถอยเป็นลำดับ จนกระทั่งต้องอาศัยสถานที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เพื่อใช้ในการเรียนการสอนชั่วคราว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงรับโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นโรงเรียนหลวงสังกัดกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ โดยใช้ตึกบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลาซึ่งเป็นของสำนักงานพระคลังข้างที่เป็นสถานที่เรียน

ในปี พ.ศ. 2459 ได้มีการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น แต่ในระยะแรกสามารถจัดการเรียนการสอนได้เพียงระดับประกาศนียบัตรเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาและการสนับสนุนจากต่างประเทศอีกหลายปี จึงมีความพร้อมสำหรับการจัดการศึกษาในระดับปริญญาได้

โดยแต่เดิมนั้นประเทศไทยมีการสอนกฎหมายระดับประกาศนียบัตร 2 แห่ง คือโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ในปี พ.ศ. 2458 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริพระราชทานนามให้สำหรับผู้สำเร็จหลักสูตรกฎหมาย จากแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” เพื่อไม่ให้เรียกซ้ำกับหลักสูตรอื่น

ต่อมาเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการในระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 โดยเริ่มจากการจัดหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตได้เป็นผลสำเร็จ จึงได้ทยอยยกระดับหลักสูตรแผนกอื่นๆ ขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2476 ได้มีการยกระดับสาขาวิชากฎหมาย ด้วยการยุบสภานิติศึกษา แล้วตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นมา และได้โอนแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เข้ามารวมอยู่ในคณะนิติศาสตร์

สำหรับการโอนโรงเรียนกฎหมายเข้าไปสมทบกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีดำริที่จะยกการเรียนการสอนของโรงเรียนกฎหมายให้สูงขึ้นในระดับปริญญา อีกทั้งยังเป็นการจัดการเรียนการสอนร่วมกันเฉยๆ ไม่ใช่การยุบดังที่สร้างกระแสกันในยุคนั้น เพราะแม้ว่าโรงเรียนกฎหมายจะเป็นสถาบันสมทบของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว แต่ก็ยังจัดการเรียนการสอนที่ตึกเชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเหมือนเดิม

ด้วยเหตุผลการเมือง เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาโดนรัฐประหารและถูกบีบให้ลาออก ก็ได้มีการกวาดล้างงานที่ท่านริเริ่มเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือการที่รัฐบาลชุดใหม่ออก “พรบ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2477” และสั่งยุบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งยังโอนทรัพย์สินและงบประมาณไปให้กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพียงแห่งเดียว เพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเรียนการสอนอย่างเสรี

เหตุผลที่แท้จริงของการสั่งยุบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คือ รัฐบาลต้องการตั้งโรงเรียนการเมืองแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ต้องการให้มีการเปิดเสรีภาพทางวิชาการ นัยหนึ่งคือเพื่อกดประชาชนไว้ให้มีความรู้ทางการเมืองน้อยๆ จะได้ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลคณะราษฎรต้องการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองขึ้นมาเองสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ให้ประชาชนมีความเชื่อทางการเมืองไปตามทิศทางที่คณะราษฎรป้อนให้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การถือกำเนิดของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น แม้ว่าจะเป็นการยุบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากนายปรีดี พนมยงค์ เคยได้รับพระราชทานทุนไปเรียนฝรั่งเศส และถึงแม้ว่าเขาจะเคยเขียนประกาศคณะราษฎรกล่าวร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่นายปรีดีฯ ก็ยังคงมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 6 ดังนั้น แม้ว่าจะมีการยุบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ไปแล้ว รวมถึงตั้งโรงเรียนการเมืองแห่งใหม่มาแทนที่ แต่นายปรีดีฯ ก็ยังอุตส่าห์ตั้งชื่อมหาวิทยาลัยว่าวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมถึงยังรักษานามพระราชทาน “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เอาไว้ ทำให้บัณฑิตทุกคนที่จบจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ปริญญา “ธรรมศาสตร์บัณฑิต”

เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีหลักฐานมั่นคงแล้ว ในปีถัดมาก็ได้ซื้อที่ดินบริเวณตำบลท่าพระจันทร์ เป็นที่ตั้งใหม่ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ 4 และกองพันทหารราบที่ 5 โดยมหาวิทยาลัยได้ติดต่อขอซื้อในราคา 200,000 บาท จากกระทรวงกลาโหม และได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินตาม “พระราชบัญญัติว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณโรงทหาร กองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2477” ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2478 มีเนื้อที่ประมาณ 29,599 ตารางเมตร

ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ขอซื้อที่ดินบริเวณคลังแสง ด้านหลังตึกโดมของกรมช่างแสงทหารบกอีกในราคา 600,000 บาท ซึ่งได้ผ่อนชำระงวดแรกไปแล้ว 300,000 บาท กระทั่งนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้มาเยือนมหาวิทยาลัยและเกิดความเลื่อมใส จึงได้สั่งการให้ยกเงิน 300,000 บาท ในส่วนที่ยังค้างชำระให้แก่มหาวิทยาลัย และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ตาม “พระราชบัญญัติโอนที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินบริเวณคลังแสง ตำบลท่าพระจันทร์ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2479” ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2479 มีเนื้อที่ประมาณ 11,529 ตารางเมตร

ที่ดินทั้ง 2 แปลงของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนี้ แต่เดิมเป็นเขตพระราชฐานของกรมพระราชวังสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าคนแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ได้บุกเบิกก่อสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงส่วนพระองค์ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และพระราชทานที่ดินผืนนี้ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่ส่วนราชการ เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชน

การขายที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เป็นสถานที่ราชการนั้นไม่สามารถจะทำได้ แต่เนื่องจากการจัดตั้งมหาวิทยาลัยก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงไม่มีใครคัดค้านการที่รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพให้แก่มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นการสมประโยชน์ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ซึ่งได้พระราชทานที่ดินอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบันนี้ ไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไป

ประชาคมธรรมศาสตร์จึงมีความสำนึก และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ถึง 3 ประการ คือ

ประการแรก นาม “ธรรมศาสตร์” ซึ่งมาจาก “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” เป็นนามพระราชทานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6

ประการต่อมา คือ ที่ดิน 2 แปลง ที่มหาวิทยาลัยจัดซื้อมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์สินของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเงินพระราชทานที่สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ผสกนิกรทุกหมู่เหล่าในผืนแผ่นดินไทย ได้ร่วมใจกันถวายความจงรักภักดี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรวมเงินกันทูลเกล้าฯ เพื่อจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้า ถวายเป็นพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระปิยมหาราช

และประการสุดท้าย ที่ดิน 2 แปลง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครอบครองอยู่นี้ คือที่ดินพระราชทาน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไว้ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และด้วยจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จึงทำให้ในเวลาต่อมาสภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติกันโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่มหาวิทยาลัยได้ในที่สุด

อ้างอิง :

[1] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธรรมศาสตร์ 50 ปี. กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการ กึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527
[2] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
[3] พระราชบัญญัติว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณโรงทหาร กองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2477
[4] พระราชบัญญัติโอนที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินบริเวณคลังแสง ตำบลท่าพระจันทร์ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2479
[5] ประกาศแก้ระเบียบการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชทานนาม ธรรมศาสตร์บัณฑิต) เล่มที่ 32 วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2458 หน้า 321

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ