รัชกาลที่ 1 ผู้เลือก ‘ปฏิเสธ’ ขนบเก่า เพื่อ ‘ปฏิวัติ’ เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทรงลดทอนความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างราชธานีภายใต้หลักมนุษยนิยม

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทั้งวิธีคิดและการกระทำในทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ เพราะกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่ง แม้แต่ระบอบเก่า เช่น ศักดินา หรือฟิวดัลต่างก็มีพลวัตในตัวเอง และไม่ได้มีการจัดลำดับชั้นแล้วสังคมหยุดนิ่ง [1] ทั้งนี้เมื่อสังคมได้พัฒนาต่อไป (แม้จะเป็นระบอบเก่า) ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เราจะเห็นผ่านชนชั้นนำเป็นส่วนมาก เพราะชนชั้นนำเป็นผู้ที่มีการแสดงปฏิกิริยาต่างๆ ได้ดีที่สุด ดังนั้นการศึกษาชนชั้นนำนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของการ “นิยมใคร” อย่างเดียว เพราะพวกเขาคือแหล่งประวัติศาสตร์ชั้นดีชิ้นหนึ่ง และก็ไม่ได้หมายความว่าองคาพยพอื่นๆ จะไม่มีความหมายทางประวัติศาสตร์จากการแบ่งแยกว่าเป็นประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ หรือประวัติศาสตร์ของสามัญชน

การเปลี่ยนแปลงหากเป็นไปอย่างสำคัญเราก็ย่อมถือว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” ได้ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นในระดับใด ดังเช่นการเปลี่ยนวิธีคิดที่แต่เดิมราชอาณาจักรไม่อาจแยกจากคริสตจักรได้ในฝั่งยุโรป ไปสู่การแบ่งแยกราชอาณาจักรและศาสนาออกจากกัน จนก่อกำเนิดแนวคิดอำนาจอธิปไตย ซึ่งการทำเช่นนี้มาคู่กับแนวคิดการมีเหตุมีผล (Rationality) [2] เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ย่อมส่งผลต่อการจัดระเบียบสังคมและความคิดใหม่ไปด้วยไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม แต่ในที่สุดการเกิดขึ้นของแนวคิดการมีเหตุมีผลที่ทำให้มนุษย์ห่างออกจากพระเจ้ามากขึ้น สุดท้ายก็เรียกได้ว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” ทางภูมิปัญญาและการปกครองแบบใหม่

สยามเองก็พบความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับฝั่งยุโรป แต่ก็มีความหมายและมีพลวัตอย่างน่าสนใจ เพราะในขณะที่เรามองว่าชนชั้นนำสยามแบบหยุดนิ่งว่าปกครองโดยอ้างความศักดิ์สิทธิ์จากคติทางศาสนา และใช้ความศักดิ์สิทธิ์นั้นจัดระเบียบสังคม จนไปถึงการมีไพร่หรือทาส อย่างไรก็ดีการมองแบบหยุดนิ่งเช่นนี้ได้มอบความไม่เป็นธรรมทางประวัติศาสตร์ให้กับการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำ โดยเฉพาะในยุคของรัชกาลที่ 1 อันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคกรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งเรืองมากว่า 400 ปีต้องแตกสลาย และยุคของพระเจ้าตากสินที่สงครามก็ยังไม่จบดี จนนำมาสู่สงครามเก้าทัพในภายหลังนี้ ย่อมไม่เพียงพอที่จะอธิบายด้วยแนวคิดเดิมๆ จากอยุธยา เพราะเมื่ออยุธยาได้แตกสลายลงไปแล้ว ความคิดมุมมองแบบเดิมของชนชั้นนำก็ได้แตกสลายลงไปด้วย

เพื่อเป็นการปกป้องมิให้พระราชอาณาจักรต้องถึงคราวล่มสลาย และเพื่อหาวิธีในการปกครองแบบใหม่ การ “ปฏิวัติ” จึงได้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ไม่เพียงแค่ก่อร่างสร้างราชธานีแห่งใหม่ แต่ยังรวมไปถึงการใช้เหตุผลมาลบล้างแนวคิดความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีมาแต่อยุธยาไปด้วย ดังจะเห็นว่าสิทธิธรรมของรัชกาลที่ 1 นั้น พระองค์มิได้อ้างถึงอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า แต่พระองค์ทรงถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ผ่านการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนดังปรากฏในนิราศรบพม่าว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องกันขอบขันฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” [3]

รัชกาลที่ 1 ทรงเริ่มภารกิจการ “ปฏิวัติ” ด้วยการปฏิเสธสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่ามิได้สูงกว่าพระรัตนตรัย โดยให้ข้าราชการต้องทำความเคารพพระรัตนตรัยก่อนเทวรูปอื่น ซึ่งต่างจากสมัยอยุธยา ต่อมาพระองค์ได้ออกพระราชกำหนดให้ข้าราชการประพฤติตนอยู่ในหลักธรรมต่างๆ ซึ่งพระองค์ได้อธิบายอย่างละเอียดมาก ซึ่งแสดงว่านอกจากพระองค์จะมีความรู้ลึกซึ้งแล้ว พระพุทธศาสนายังไม่ใช่เรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติอีกด้วย และพระราชกำหนดอื่นๆ นั้น พระองค์ก็ได้อธิบายเหตุผลของการตราไว้ละเอียดมาก ซึ่งสมัยก่อนหน้าไม่เคยปรากฏเช่นนี้เลย นั่นหมายความว่าคนสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ด้วยเหตุผล เราจะเห็นหลักฐานอีกประการคือ พระองค์ให้ชำระไตรภูมิกถาใหม่ โดยจัดให้โลกมนุษย์ถูกอธิบายเป็นอันดับแรก จากนั้นกล่าวถึงภพที่ต่ำกว่า แล้วค่อยไล่ไปสูงกว่า ต่างจากสมัยก่อนที่จะเป็นการอธิบายนรกก่อนแล้วไล่ไปสูงสุด นั่นหมายความว่าจะดีหรือชั่ว ย่อมมาจากการกระทำของมนุษย์เองที่สามารถไปได้ทั้งสูงสุดและลงต่ำ

การกระทำของรัชกาลที่ 1 เช่นนี้ย่อมมีความหมายว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในความรู้สึกของคนในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของรัชกาลที่ 1 นั้นประพันธ์ด้วยกลอนซึ่งเป็นวัฒนธรรมจากชาวบ้าน หรือการบรรยายพระรามที่มีความมุ่งมั่นจะแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา มิใช่การประคับประคองจากเทพเจ้า ตัวอย่างอื่นที่แสดงนั่นก็คือ การแปลเรื่องราชาธิราชและสามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีการให้ความสำคัญต่อสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะสงคราม มนุษย์จึงมีความสำคัญมากขึ้นในสายตาของชนชั้นนำไทย แม้กระทั่งไพร่นั้นก็ยังมีการออกกฎหมายที่ทำให้สวัสดิภาพดีขึ้นด้วย และลดความสำคัญของชาติกำเนิดลง ดังจะเห็นได้ว่า ในบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ที่เปรียบสังคมเหมือนร่างกายมนุษย์นั้น ประชาชนคือศาสตราวุธที่มนุษย์ถือ

การเปลี่ยนแปลงในความคิดความรู้สึกนี้เรากล่าวได้ว่า เกิดจากภายหลังกรุงแตกทำให้คนสยามต้องคิดหาเหตุผลว่าอันตรายมาถึงตัวเราได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้อยู่รอดต่อไป เพราะคนสยามได้ตระหนักแล้วว่า บารมีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นก็ไม่อาจช่วยได้เลย การพยายามหาหนทางใหม่นี้ตีคู่มากับการค้าของสยามที่มีมากขึ้นและคึกคัก แต่ก็ต้องคอยคิดเรื่องกำไรขาดทุนทำให้เกิดความเป็นเหตุเป็นผลขึ้น การค้าจึงสอนให้ชนชั้นนำไทยให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความสามารถ มนุษย์จึงเป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์นั่นเอง การคิดเช่นนี้ทำให้ชนชั้นนำไทยได้ให้ความสำคัญกับสามัญชนเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การพยายามบอกให้มูลนายต้องเมตตาต่อไพร่ด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 2 เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการปฏิวัติของรัชกาลที่ 1 เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนที่เป็นเรื่องของสามัญชน และมีการบรรยายเกี่ยวกับความยากลำบากของไพร่ที่ถูกเกณฑ์แรงงานไป หรือสุนทรภู่เองก็ได้กล่าวถึงการค้าสำเภาต่างๆ ไว้ การบรรยายเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองโดยทั่วไป ซึ่งต่างจากอยุธยาที่การค้าไม่ใช่การแสดงเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แต่สมัยรัตนโกสนิทร์นั้นใช่

ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้สืบต่อภารกิจการปฏิวัติ โดยวันแรกที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ยกเลิกการผูกขาดการค้าโดยสำเภาหลวง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะอังกฤษบังคับแบบที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเพราะการขาดทุนมาตลอดเนื่องจากแข่งกับเอกชนไม่ได้ แต่ก็ไม่เคยมีปัญหา เพราะรัชกาลที่ 3 เป็นคนนำเงินที่ทรงได้จากการค้ามาโปะให้เสมอสมัยเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่ทั้งนี้การผลิตในราชอาณาจักรได้เกิดการขยายตัวด้วย พระองค์จึงเห็นโอกาสใหม่ในการเก็บภาษี ซึ่งการขยายตัวนี้ประชาชนทั้งไทย มอญ ลาว และเขมร ต่างมีส่วนร่วมในการผลิตด้วย ทำให้รัชสมัยของพระองค์มีรายได้ของพระคลังหลวงเพิ่มเป็น 26 ล้านบาท จาก 2 ล้านบาท ในสมัยรัชกาลที่ 2

แนวทางการกำหนดโนยบายของรัชกาลที่ 3 นั้นก็น่าสนใจ กล่าวคือพระองค์จะออกนโยบายบนข้อมูลต่างๆ และพระองค์จะขัดข้องพระทัยหากขุนนางของพระองค์ไม่หาข้อมูลมาอย่างเพียงพอ ดังนั้นแม้พระองค์จะอยู่ที่เมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ พระองค์ก็ทราบความเป็นไปที่สุดชายขอบขันฑสีมาเป็นอย่างดี แนวทางการคิดและตัดสินใจบนข้อมูลและเหตุผลนี้ รัชกาลที่ 4 ได้ทรงสานต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความหมายต่อพุทธศาสนาใหม่ผ่านหลักเหตุและผลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับมือกับกระแสท้าทายจากตะวันตก และสิ่งต่างๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราจึงเห็นการทำให้สิ่งเก่าคงอยู่เป็นที่รำลึก เช่น ความรู้แบบจารีตนั้นได้ถูกจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน และเรือสำเภาที่ถูกจำลองที่วัดยานนาวา

ทั้งนี้ ชนชั้นนำในยุครัตนโกสินทร์ก็มิได้ตัดขาดจากอยุธยาอย่างสิ้นเชิง เช่น ยังมีการแต่งคำบูชาเทวดาเพื่ออ่านในการสังคายนาพระไตรปิฎกด้วย แต่ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นจริงนั้น ทำให้ชนชั้นนำสามารถมองเห็นการณ์ไกลอย่างที่สุดเมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชกระแสสั่งเสียก่อนสวรรคตว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

นี่คือหลักฐานอย่างดีที่สุดของการปฏิวัติโดยชนชั้นนำและการมีพลวัตในสังคม มิใช่เพียงการมีอำนาจสูงสุดหรืออ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแบบความคิดที่หยุดนิ่งเท่านั้น

อ้างอิง :

[1] ตัวอย่างการศึกษาใน Marc Bloch, Feudal Society Vol 1: The Growth and Ties of Dependence, 2nd edition (London: Routledge, 1989).
[2] Marian Hillar, “The Philosophical Legacy of the 16th and 17th Century Socinians: Their Rationality,” Philosophy of Religion Volume 36 (1998): 100-105.
[3] เรียบเรียงจาก วิไลเลขา ถาวรธนสาร, “บริบททางประวัติศาสตร์กับการพัฒนาการทางภูมิปัญญาของไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์,” ดำรงวิชาการ Vol. 2 No. 4 (2003): 161-175.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า