การเสด็จประพาสยุโรป ของรัชกาลที่ 5 ภารกิจในการประกาศความเป็นอิสระและเอกราชของสยาม

ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักดีถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎกติกาทางวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติของชาวยุโรป ทรงเห็นว่าขนบประเพณีและการแต่งกายแบบฝรั่งถือเป็นบรรทัดฐานของผู้ที่เจริญ หรือผู้ที่ศิวิไลซ์แล้วในมุมมองของชาวตะวันตก และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการยอมรับจากชนชาติยุโรป

พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญ ตลอดจนทรงปรับปรุงขนบธรรมเนียมบางประการในราชสำนักสยามโดยการนำวิถีปฏิบัติของฝรั่งมาใช้ อาทิ การแต่งกายของข้าราชบริพาร การตั้งโต๊ะและเก้าอี้เสวยตามตำแหน่งพระยศ การยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานเมื่อเข้าเฝ้า การสอนกริยาในการยืนและการนั่งขณะเข้าเฝ้า เป็นต้น

และการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2440 พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ที่ต้องมีความสอดคล้องไปกับวัฒนธรรมยุโรป เพื่อแสดงให้ชาวต่างชาติเห็นว่า ชาวสยามมีความศิวิไลซ์ที่ทัดเทียมกัน ทรงมีพระราชดำริให้จัดเตรียมขบวนเสด็จให้มีความเป็นตะวันตก อาทิ การแต่งกาย การใช้ภาษา การปฏิบัติพระองค์ตามธรรมเนียมตะวันตก และการแสดงออกซึ่งความเป็นผู้รู้ รวมไปถึงการแสดงออกที่สะท้อนทัศนคติและพฤติกรรมที่มีความเป็นอิสระ หรือ Independent Attitude

จะเห็นได้ว่า การแต่งกายของในหลวงรัชกาลที่ 5 และคณะผู้ติดตามในขบวนเสด็จ ล้วนยึดตามแนวทางแบบชาวยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษอย่างชัดเจน จากหลักฐานหนังสือกราบบังคมทูลของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวร ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 115 เรื่องเครื่องทรง และเครื่องแบบสำหรับพระองค์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทหารพลเรือนที่ตามเสด็จ จะมีคณะกรรมการซึ่งมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์เป็นประธาน วางแผนกำหนดรูปแบบของเครื่องทรง เครื่องแต่งพระองค์ และเครื่องแบบสำหรับพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และคณะตามเสด็จ รวมไปถึงการกำหนดรายละเอียดเครื่องยศต่างๆ อาทิ การติดแถบและการปักลวดลายต่างๆ ลงบนเสื้อ รวมถึงการขลิบเสื้อด้วยผ้าสีต่างๆ เพื่อบ่งบอกลำดับยศ ตลอดจนการระบุลักษณะของถุงเท้า สายสะพาย หมวกและรองเท้า แล้วสรุปเป็นบัญชีการแต่งกายของผู้ตามเสด็จ ทูลเกล้าฯ ถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตรและตัดสินพระทัยตามลำดับ

เนื่องจากการเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้น ต้องมีการจัดเตรียมทั้งเสื้อผ้าที่มีทั้งตัดใหม่ และใช้ของใหม่ปนกับของเก่าที่มีอยู่แล้ว เป็นการเตรียมการที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเงินที่ใช้ในการเตรียมการนี้ มาจากทั้งเงินท้องพระคลังและเงินส่วนพระองค์ที่พระราชทาน

จากการตระเตรียมเกี่ยวกับการเสด็จ และพิธีการทางการทูตต่างๆ มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ขบวนเสด็จในครั้งนั้นมีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมยุโรปเป็นอย่างดี และการที่พระองค์รวมถึงคณะผู้ติดตามมิได้ปรากฏพระองค์อย่างตะวันออกแท้ (Oriental) ดังขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์เอเชียที่เยือนยุโรปก่อนหน้านี้ ทรงทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับในแง่ของรูปลักษณ์ที่แสดงออกผ่านการแต่งกายว่า มิได้มีความแตกต่างไปจากชาวยุโรปแต่อย่างใด

ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานยืนยันจากทั้งหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนตะวันตกมากมาย ที่ได้เขียนบรรยายถึงลักษณะของขบวนเสด็จของพระองค์ไว้อย่างละเอียดดังนี้

หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสชื่อ Le Monde Iiiustre ฉบับวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.1897 ได้กล่าวถึงขบวนเสด็จของพระองค์ ว่ามีลักษณะที่ไม่แปลกแยกและเหมือนขบวนของชาวยุโรปทั่วไป อีกทั้งยังมีความแตกต่างไปจากครั้งเมื่อคณะราชทูตสยามในรัชกาลที่ 4 มาเจริญพระราชไมตรีแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ดังมีใจความตอนหนึ่งว่า …

“… ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และในครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินและราชสำนักที่ติดตามเสด็จฯ ได้กลับมาเยือนเรา ในลักษณะเหมือนชาวยุโรป โดยแต่งตัวในชีวิตประจำวันเหมือนคนที่แต่งตัวดีทั้งหลายที่เดินตามถนนหรูๆ ในประเทศเรา …”

ทั้งนี้ นายฌ็อง เอส (Jean Hesse) นักข่าวหนังสือพิมพ์ เลอ ฟิกาโร่ (Le Figaro) ยังได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับการเสด็จเยือนฝรั่งเศสของในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จมาถึงสถานีรถไฟสายเหนือในบ่ายวันเสาร์ที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1897 หรือ พ.ศ. 2440 โดยนายฌ็อง เอส ได้บรรยายเกี่ยวกับเครื่องทรงของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่มีลักษณะเป็นแบบเครื่องทรงกองทัพ พร้อมด้วยสายสะพายและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามแบบตะวันตก ไว้ดังนี้ …

“… พระองค์ทรงเครื่องแบบจอมทัพแห่งสยาม กล่าวคือเสื้อนอกทูนิคสีขาว ปกสีทอง ที่แขนมีแถบปักกว้าง การเกงสีดำแถบทอง พระอุระเต็มไปด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ พร้อมด้วยสายสะพาย …”

และหนังสือพิมพ์ L’Illustration ฉบับวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1897 ยังได้บรรยายพิธีต้อนรับเสด็จ ณ สถานีรถไฟสายเหนือ (Gare du Nord) ไว้ว่า …

“… เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ได้ทรงขึ้นประทับบนรถม้าร่วมกับประธานาธิบดี ซึ่งได้มารอถวายการต้อนรับโดยจัดให้มีกองเกียรติยศรอรับเสด็จ ทรงฉลองพระองค์ด้วยเสื้อนอกทูนิคสีขาว ปกและแขนเสื้อมีลายปักสีทองบนพื้นสีน้ำเงินเข้ม กางเกงสีน้ำเงินขลิบทอง สวมพระมาลาสีขาวประดับด้วยพู่ขนนกสีเดียวกัน พระอุระประดับด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ พร้อมสายสะพาย … ทรงมีพระบุคลิกภาพที่แจ่มใสเป็นมิตร และไม่ยึดติดกับธรรมเนียมปฏิบัติที่เคร่งครัดตามแบบราชสำนักตะวันออกดั้งเดิม …”

หนังสือพิมพ์ Der Bund กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1897 ฉบับที่ 151 ในบทความ Feuilleton เรื่องพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ที่เขตภูเขา ณ กรุงเบิร์น ได้พรรณนาถึงพระบุคลิกภาพที่ไม่ถือพระองค์ พระราชดำรัสซึ่งเป็นที่ถูกใจของชาวสวิส ตลอดจนพรรณนาถึงฉลองพระองค์อย่างละเอียดว่า วันไหนพระองค์ท่านทรงชุดอะไร หรือในโอกาสใดที่ท่านจะใส่ฉลองพระองค์แบบใด อาทิ ชุดกาลายูนิฟอร์ม การทรงชุดเดินทางแบบยุโรปในการเสด็จพระราชดำเนินเที่ยวภูเขาในชุดเสื้อโค้ทสีเทา และสวมพระมาลาทำจากขนสัตว์นุ่มสีดำ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการตระเตรียมเครื่องแต่งกายไว้ล่วงหน้าให้มีความเหมาะสมตามแต่วาระและโอกาส โดยเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยุโรป

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์โปแลนด์เล่มหนึ่งชื่อว่า Slowo (The World) ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1897 ได้บรรยายถึงบรรยากาศการคอยต้อนรับ ตลอดจนบุคลิกภาพและการแต่งกายของในหลวงรัชกาลที่ 5 ไว้ดังความตอนหนึ่งว่า …

“พระมหากษัตริย์แห่งสยามมีพระชนมพรรษา 44 พรรษา พระวรกายสูงปานกลาง ไหล่ ค่อนข้างกว้าง ลักษณะพระเศียรและพระพักตร์แบบเอเชียใต้ … พระเกศาสีดำเป็นมัน หยักศก และตัดสั้น มีหนวดเล็กๆ ที่โค้งงอน พระหัตถ์เล็กสวมถุงมือสีขาว และพระบาทเล็กสวมรอง พระบาทหนังแก้วสีดำมีเดือยเล็กๆ ที่ส้นรองพระบาท พระองค์ทรงชุดเครื่องแบบสีขาว เข้ารูปตรงช่วงเอว ปกและข้อมือเสื้อกำมะหยี่สีดำประดับด้วยแผ่นโลหะสีทองและเข็ม กระดุมสีทอง … พระองค์ทรงกางเกงขายาวสีดำประดับด้วยเกลียวทองตรงแถบด้านข้าง สวม พระมาลายอดสีขาว ประดับด้วยช่อขนนกจำนวนมากตามแบบแฟชั่นอังกฤษ มีกระบังหมวก สองอันทางด้านหน้าและด้านหลังมีพระปรมาภิไธยสีทอง ทางด้านหน้าบุด้วยวัสดุสีเขียว พระเนตรที่เรียวแหลมสีดำขับพระพักตร์ของพระองค์ให้ดูมีชีวิตชีวา ร่าเริงเมื่อทรงยิ้ม พระองค์ทรงสายสะพายแถบกว้างสีน้ำเงินใต้เครื่องราชอิสริยาภรณ์บนพระอุระ … สัมภาระของพระองค์และผู้ติดตามมีจำนวน 188 ชิ้น หนัก 2,180 กิโลกรัม … และกษัตริย์แห่งสยามตรัส ภาษาอังกฤษเท่านั้น

การที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงแสดงออกถึงความกระตือรือร้น และความสนพระทัยที่มีให้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งสถานที่ ผู้คน และวัฒนธรรมของประเทศที่เสด็จเยือน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากคุณลักษณะส่วนพระองค์ แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นเพราะพระองค์ทรงตระหนักว่า การแสดงออกของพระองค์นั้นมีความสำคัญ เพราะพระองค์กำลังอยู่ในสถานะของ “ตัวแทนสยามประเทศ” ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องของเจ้าบ้านที่ไปเยือน พระองค์จึงต้องระมัดระวังการแสดงออกของตนเอง ด้วยพระองค์เสด็จไปในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน

สำหรับแนวคิดเรื่องการแสดงความเป็นอิสระหรือ Independent attitude ที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณเสนอในพระหัตถเลขานั้น น่าจะเป็นไปในแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงวางไว้แล้วหรือทรงเห็นด้วย แนวคิดนี้จะเห็นได้จากการเดินทางที่ทรงออกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการเสด็จพระราชดำเนิน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางการใช้จ่าย และขณะเดียวกัน ก็สามารถรักษาพระเกียรติในความเป็นพระเจ้าแผ่นดินของประเทศที่มีเอกราชได้

อีกทั้งการกำหนดขบวนผู้ติดตามที่มีจำนวนไม่มาก (35 คน) เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองและเป็นภาระแก่ประเทศที่ไปเยือน และการใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี อันเป็นเรือพระที่นั่งส่วนพระองค์ในการเสด็จพระราชดำเนิน ทำให้พระองค์สามารถเสด็จฯ ไปยังประเทศต่างๆ โดยอิสระ มิใช่ด้วยการกำหนดหรือด้วยอิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญะที่สื่อถึงความเป็นอิสระของขบวนเสด็จ ที่นอกจากจะสะท้อนถึงความศิวิไลซ์ของสยามแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอิสระของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงไปสู่ “ความเป็นอิสระและเอกราช” ของประเทศสยามได้อีกด้วย

ที่มา :

[1] มูลนิธิเอกพัฒนาภูมิภาค, สมเด็จพระปิยมหาราชกับนักเขียนฝรั่งเศส : แปลและเรียบเรียงจากข้อเขียนของนักเขียนฝรั่งเศส สมัยปี ค.ศ.1866 ถึง ค.ศ. 1910
[2] ชุมพล รักงามและสุธี เทียนคำ, สยามประเทศในมุมมองของฝรั่งเศส
[3] พรสรรค์ วัฒนางกูร และทศพร กสิกรรม, ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับราชสำนักยุโรปในเอกสารการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2440
[4] พิริยะ ไกรฤกษ์, ปกิณกะในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมเอกสารประกอบการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 150 ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ตะวันตกในตะวันออก : สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ห้าถึงปัจจุบัน
[5] พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ 56 ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2440 จากปารีส ฝรั่งเศส
[6] พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ 12 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม ร.ศ. 116 จากเวนิส อิตาลี
[7] พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2440
[8] โกสุม โอมพรนุวัฒน์, การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440: การสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับ “ภาพลักษณ์” ของ “ความศิวิไลซ์” ของสยามในฐานะรัฐอธิปไตย, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ พระพุทธเจ้าหลวง การสื่อสารเพื่อการพัฒนา

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรั