เปิดความจริงเอกราชอเมริกา เมื่อผู้ร้ายตัวจริงคือรัฐสภาอังกฤษ หาใช่จากความไม่พอใจกษัตริย์ อย่างที่นักวิชาการลวงไว้ไม่

บทความโดย : ไกอุส

การประกาศเอกราชอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1776 นั้น มีความเข้าใจผิดกันอย่างมากโดยเฉพาะในไทยว่าเหตุแห่งปัญหาการตัดสินใจแยกตัวเป็นเอกราชของชาวนิคมอเมริกา เกิดมาจากความไม่พอใจต่อระบอบกษัตริย์ อีกทั้งชาวอเมริกันกำลังต่อสู้เพื่อ ‘ประชาธิปไตย’

ความเข้าผิดเช่นนี้เกิดขึ้นจากการให้ความรู้อย่างฉาบฉวย เป็นการลดทอนความรู้-ความจริงของภูมิปัญญาแห่งการปฏิวัติอเมริกาให้เหลือลงเป็นเพียงแค่แนวคิดระหว่างระบอบกษัตริย์นิยมกับระบอบสาธารรัฐประชาธิปไตย ซึ่งความเข้าใจข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อันที่จริงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในนิคมบริติชอเมริกาก่อนการประกาศเอกราช คือปัญหาเรื่องการเก็บภาษีจนนำไปสู่ประเด็นด้านรัฐธรรมนูญของชาวอาณานิคม ปัญญาชนอเมริกันในเวลานั้นเห็นว่า อาณานิคมแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นด้วยพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษผ่านการออกพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งนิคมผ่านกฎบัตร (Charter) ซึ่งมีอยู่หลายฉบับด้วยกัน ขึ้นอยู่กับนิคมแต่ละแห่งก็มีกฎบัตรที่ถูกพระราชทานลงมาตามแต่ละวาระและโอกาสแตกต่างกันออกไป

ชาวอเมริกันถือว่าพวกเขาเป็นพสกนิกรของกษัตริย์อังกฤษ และนิคมเหล่านี้ย่อมขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว หากแต่เมื่อในอังกฤษประเทศแม่เกิดการเปลี่ยนระบอบเป็นสาธารณรัฐชั่วคราวในยุคโอลิเวอร์ ครอมเวลล์เรืองอำนาจ อังกฤษในเวลานั้นจึงถูกเปลี่ยนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากเดิมที่อยู่ในมือสถาบันพระมหากษัตริย์ไปสู่รัฐสภาแทน และแม้ต่อมาสถาบันฯ จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แต่แนวคิดเรื่องอำนาจที่เหนือกว่าของรัฐสภาอังกฤษก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

เมื่อกลับมาที่นิคมอเมริกา พวกเขาเห็นว่าเนื่องด้วยที่มาของนิคม ณ ทวีปแห่งนี้เป็นผลมาจากการตรากฎบัตรของกษัตริย์ ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงยังอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ หาใช่รัฐสภาซึ่งไม่ได้เป็นแหล่งแห่งอำนาจชอบธรรมในสายตาพวกเขา ยิ่งกว่านั้น ปัญญาชนอเมริกันยังเห็นด้วยว่า หากแนวคิดรัฐสภาคือตัวแทนของปวงชนแล้ว รัฐสภาอังกฤษที่ประกอบไปด้วย 2 สภา คือ สภาล่าง และสภาขุนนาง กลับมิได้มีตัวแทนที่มาจากดินแดนนิคมอเมริกาไปนั่งอยู่เลย ดังนั้นแล้วรัฐสภาอังกฤษจะกล้าเรียกว่าตนเองเป็น ‘ตัวแทน’ และ มีความชอบธรรมเหนือชาวอาณานิคมได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น การออกกฎหมายว่าด้วยการเก็บภาษีชา กระดาษ-แสตมป์ ต่อชาวอเมริกันโดยการชงเรื่องของรัฐสภาอังกฤษ ยิ่งทำให้ชาวอเมริกันเห็นว่าเป็นการไม่ชอบธรรม และตัวแทนที่ชอบธรรมของพวกเขามีเพียงองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาทรงกระทำการใด ๆ ในนามของชนชาวอเมริกามาโดยตลอด แม้พวกเขาจะไม่สามารถเลือกกษัตริย์ได้ก็ตาม แต่พระองค์ก็อยู่ในฐานะของผู้สืบสันดานแห่งองค์ประมุขของชาติ-นิคมตามทฤษฎีสัญญาประชาคม

ด้วยเหตุนี้ ข้อเรียกร้องแรก ๆ ของชาวนิคมอเมริกาคือการเพิ่มพระราชอำนาจให้แก่กษัตริย์จอร์จที่ 3 ในการบริหารจัดการนิคม และให้ตัดขาดดินแดนเหล่านี้ออกจากกิจการของรัฐสภาอังกฤษอย่างเด็ดขาดไปเลย นั่นแสดงว่าปัญญาชนอเมริกันกำลังเรียกร้องให้กษัตริย์อังกฤษใช้พระราชอำนาจปกครองดินแดนอาณานิคมโดยตรง ซึ่งเป็นการขัดต่อแนวปฏิบัติของประเพณีการปกครองของอังกฤษที่เคยกระทำกันมาตั้งแต่ครั้นการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ เมื่อปี ค.ศ.1688 จนตลอดถึงแนวทางของการให้การบริหารเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี หาใช่พระมหากษัตริย์และองคมนตรีอีกต่อไปในคราวที่กษัตริย์จอร์จที่ 1 ครองราชย์และยึดถือแนวทางตามนี้มาตลอด

จากข้อเรียกร้องที่ ‘หนักหนา’ และ ‘เต็มไปด้วยความคาดหวัง’ ของพสกนิกรชาวนิคมอเมริกาเรียกร้องต่อกษัตริย์แห่งอเมริกาของพวกเขา ต่อมาได้สร้างความตึงเครียดต่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 อย่างมาก พระองค์ต้องเลือกเอาสักทางว่า จะเลือกเข้าข้างชาวนิคมอเมริกาในการยืนยันว่าอำนาจในการปกครองดินแดนนี้เป็นของพระองค์หาใช่รัฐสภา หรือว่าจะทรงเลือกข้างรัฐสภาอังกฤษและชาวอังกฤษในฐานะประเทศที่พระองค์เป็นประมุข ‘ทางกายภาพ’ โดยสมบูรณ์ ที่ไม่ต้องปกครองผ่านระยะทางครึ่งค่อนสมุทรเช่นอเมริกา

ตัวเลือกทั้ง 2 นี้หากพระองค์ทรงตัดสินพระทัยเลือกผิดก็คงจะย่อมส่งผลไปคนละทิศละทาง เพราะทางเลือกแรกนั้น เท่ากับว่าทรงประกาศสงครามกับรัฐสภาอังกฤษและชาวอังกฤษ จุดจบคงไม่แตกต่างกับกษัตริย์ก่อนหน้าที่เคยทั้งถูกประหารชีวิตด้วยการบั่นพระเศียร (พระเจ้าชาร์ลที่ 1) หรือถูกขับไล่ออกจากราชบัลลังก์ (พระเจ้าเจมส์ที่ 2) ส่วนทางเลือกที่ 2 นั้น ย่อมจะเป็นการรับประกันถึงสถานภาพอันมั่งคงของพระองค์ต่อรัฐสภาและประชาชนอังกฤษเข้าไปอีก เพราะย่อมแสดงว่าทรงเลือกข้าง ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ ของพระองค์เอง

‘ความยากลำบาก’ ในการตัดสินพระทัยนี้ สะท้อนจากการที่พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงมีพระอักษรไปถึงลอร์ด นอร์ท นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1775 ความว่าทรงต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดต่อ ‘…การทำสงครามแห่งนิติบัญญัติ [ว่าจะทรง] เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐสภาต่อไป หรือไม่เป็น [กษัตริย์] อีก…

นอกจากนี้ ทรงให้พระบรมราชวินิจฉัยอีกว่า ไม่ประสงค์ที่จะใช้พระราชอำนาจเหล่านั้นอีกเพราะสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษเองก็หาได้ทรงใช้มาหลายรุ่นแล้ว พระองค์รู้ดีว่าหากทรงยืนยันที่จะใช้ก็เท่าว่าเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญอังกฤษ ท้ายที่สุด พระเจ้าจอร์จที่ 3 ได้ติดสินพระทัยว่าทรงต้องเลือกข้างอังกฤษ (ต่อมาจึงถูกเรียกกันว่า ‘กษัตริย์ผู้รักบ้านเกิดเมืองนอน’ – The Patriot King) ต่อมาในวันที่ 23 เดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น พระเจ้าจอร์จที่ 3 ตัดสินใจประกาศการตัดขาดความสัมพันธ์กับพสกนิกรของพระองค์ในอเมริกา และทรงเรียกพวกนั้นด้วยถ้อยคำอันรุนแรงว่า ‘ดินแดนแห่งการกบฏ’

นี่จึงไม่แปลกใจว่าเมื่อ ‘คำประกาศอิสรภาพของอเมริกา’ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 จึงมีถ้อยคำที่ประณามการกระทำของพระองค์ (พระเจ้าจอร์จที่ 3) ว่าเป็นทรราชย์ไม่ทรงใส่ใจต่อราษฎร หากแต่ถ้าอ่านต่อไปจะเห็นว่า สภาครองเกรสอเมริกาหาได้โจมตีแค่พระเจ้าจอร์จที่ 3 เพียงพระองค์เดียว เพราะยังมีข้อความปรากฏต่อไปว่า

‘…พระองค์ได้ร่วมมือกับบุคคลอื่นในการทำให้เราต้องขึ้นกับเขตอำนาจการปกครองที่ผิดแผกออกไปจากรัฐธรรมนูญของเรา และเป็นสิ่งที่ซึ่งกฎหมายของเราไม่ยอมรับ ทรงเห็นชอบกับการกระทำของบุคคลเหล่านั้นในการออกกฎหมายจอมปลอม…’

ซึ่ง ‘บุคคลอื่น’ ที่ว่าก็คือ ‘รัฐสภาของอังกฤษ’ ผู้เป็นคู่ปรับเก่าของชาวอาณานิคมอเมริกานั่นเอง ดังที่ ‘คำประกาศอิสรภาพของอเมริกา’ กล่าวถึงอย่างตรง ๆ ต่อไปว่า

‘…สภานิติบัญญัติของพวกเขา [อังกฤษ] ได้พยายามขยายขอบเขตอำนาจปกครองเหนือพวกเรา [อเมริกา] โดยไม่มีสิทธิ์…’

จะเห็นได้ว่า การปฏิวัติอเมริกาแท้จริงแล้วมีความซับซ้อนทั้งในแง่เหตุการณ์และแนวคิดทางการเมืองอย่างมาก เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวอาณานิคมกับรัฐสภาอังกฤษก่อน ในระยะแรกชาวนิคมพยายามให้กษัตริย์อังกฤษเลือกข้าง (ด้วยการใช้พระราชอำนาจต่อต้านอำนาจแห่งรัฐสภา) แต่สุดท้ายก็ทรงเลือกข้างรัฐสภาอังกฤษจากข้อจำกัดของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจน้อยกว่าสถาบันรัฐสภาและอาจเสี่ยงต่อการไม่มีสถาบันฯ อีกต่อไป นี่จึงค่อยนำไปสู่การตัดสินใจแยกตนเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดของชาวอเมริกันในปี ค.ศ. 1776

อ้างอิง :

[1] Eric Nelson. The Royalist Revolution : Monarchy and The American revolution. (Harvard U. Press : London). 2014.
[2] David McCullough. 1776 : American and British at war. (Penguin Book : London). 2005.
[3] Declaration of Independence: A Transcription, In Congress, July 4, 1776

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า