รู้หรือไม่ว่า? สยามรู้จัก ‘การเลือกตั้ง’ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และได้รับการยอมรับว่า ‘ก้าวหน้าในโลก’ เพราะให้สิทธิแก่ผู้หญิงก่อนประเทศยุโรป ในการเลือกตั้งท้องถิ่นสมัยรัชกาลที่ 5

การเลือกตั้งเป็นหัวใจที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ หากแต่สามารถบริหารจัดการได้ดังนิยามที่ว่า การเลือกตั้งที่เป็นเสรีและยุติธรรมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะต่างมีโอกาสมาแข่งขันกันได้อีกครั้ง [1] แต่กว่าที่การเลือกตั้งจะเป็นที่ยอมรับกันได้นั้นก็ต้องผ่านบทพิสูจน์อย่างยาวนาน เช่น กว่าที่อังกฤษจะให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการเลือกตั้งนั้นก็คือปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) [2] ทั้งนี้เราอาจกล่าวได้ว่าที่ตะวันตกไม่ได้ขยายสิทธิการเลือกตั้งให้ครอบคลุมนั้น มีทัศนะมาจากนักปรัชญาในอดีตที่ส่งผลต่อมา เพราะนักปรัชญาในอดีตมักพิจารณาประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยประชาชนว่าเป็นสิ่งที่วุ่นวายและต้องมีการควบคุม [3] ดังนั้นแง่มุมเกี่ยวกับประชาธิปไตยจึงมักจะเป็นมุมมองเชิงลบเสมอมา และเพิ่งจะมามองประชาธิปไตยในแง่ดีก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง [4]

อย่างไรก็ดี ในบางสังคมก็จะต่างออกไปอยู่บ้าง กล่าวคือการให้ “เลือกตั้ง” นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอะไร กล่าวคือมอบสิทธิการเลือกตั้งให้อย่างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพียงแค่ถึงวัยที่เหมาะสมที่จะสามารถทำการเลือกได้ก็สามารถมีสิทธิได้แล้ว และหนึ่งในสังคมที่หายากยิ่งเช่นนั้น (ในสมัยก่อน) ก็คือสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

แต่ก่อนที่จะไปถึงสิทธิการเลือกตั้งของชายหญิงที่ครอบคลุมนั้น เห็นทีจะต้องกล่าวถึง “การเลือกตั้ง” ครั้งแรกที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 เสียก่อน ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นนำสยามมีความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้งมานานแล้ว

สยามในอดีตแม้จะปกครองตามแบบระบอบเก่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน [5] แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการรับรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะชนชั้นนำในขณะนั้นได้รู้จักวิธีในการเลือกตั้งที่ให้สิทธิผู้ถูกปกครองเป็นคนเลือกผู้ปกครองตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากในขณะนั้นสยามได้ติดต่อกับชาติมหาอำนาจอย่างเข้มข้น และจากหลักฐานพบว่า รัชกาลที่ 4 ทรงมีความเข้าใจในการเลือกตั้งดีพอสมควร ดังปรากฏในบันทึกของ Townsend Harris นักการทูตชาวอเมริกันที่ได้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2399 โดยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงถามกับเขาว่า “การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นเมื่อไหร่[และ] เมื่อใดที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระองค์มีความรู้เรื่องการเลือกตั้งและน่าจะได้รับการถ่ายทอดจากหมอสอนศาสนาอเมริกันที่พระองค์ทรงคบเป็นมิตรสหาย

ต่อมาอีก 2 ปี เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นว่ารัชกาลที่ 4 ไม่ได้แค่รู้จักการเลือกตั้ง แต่ยังทรงเห็นคุณค่าด้วย กล่าวคือเมื่อ พ.ศ. 2401 หลังพระมหาราชครูปโรหิตาจารย์กับพระมหาราชครูมหิธรซึ่งทำหน้าที่ทางตุลาการเสียชีวิตลง พระองค์ได้เกิดความคิดว่าจะนำการเลือกตั้งมาใช้หาบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นกรณีพิเศษ จากแต่เดิมที่มีผู้ตัดสินใจในแวดวงไม่กี่คน โดยพระองค์ประกาศให้ตั้งแต่ข้าราชบริพารระดับหลวงขึ้นมาจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ให้ส่งชื่อบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งเข้ามาภายใน 7 วัน โดยทรงให้เหตุผลว่า “ในประเทศอื่น ๆ เมื่อผู้ครองแผ่นดินจะตั้งผู้สำหรับตัดสินความ ก็ย่อมให้คนทั้งปวงเลือกแล้วจดหมายชื่อเข้ามาส่งต่อเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานสอบดู ถ้ามีคนชอบใจท่านผู้ใดมากก็ให้ผู้นั้นเปนผู้ตัดสินคดีของราษฎร”

ซึ่งการเลือกตั้งนี้เป็นของใหม่ทำให้พระองค์กำชับว่า “มิได้บังคับว่า ให้เลือกเอาแต่ข้าราชการในพระบรมมหาราชวังแลพระบวรราชวัง ถึง ข้าเจ้าบ่าวข้าราชการถ้าเห็นว่ามี [สติปัญญา] ควรจะเปนที่ตัดสินความโดยสัตย์โดยธรรม์ตามพระราชกำหนดกดหมายให้สิ้นสงไสยชอบใจแก่คนทั้งปวงได้ ก็ให้เขียนชื่อส่งมอบให้อาลักษณ์ผู้เอาโครงจดหมายไปถามหา … โปรดเกล้าฯ ว่า อย่าให้คิดรังเกียจสงไสยว่าจะทรงล่อล่วงล้อเลียนอย่างได้อย่างหนึ่งเลย”

การเลือกตั้งครั้งนั้นแม้จะไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญ แต่ก็สะท้อนทัศนะว่ารัชกาลที่ 4 ทรงมีความคิดที่เป็นบวกกับการเลือกตั้ง และพร้อมที่จะปรับปรุงการบริหารราชการด้วยการคัดสรรจากคนจำนวนที่มากขึ้นไปจากขุนนางตามวิธีเก่าๆ ซึ่งทัศนะดังกล่าวยังปรากฏผ่านพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2404 ที่ยกย่องวิธีการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างตรงไปตรงมาของพระองค์ว่า

“แลซึ่งในแผ่นดินยุไนติศเตศอเมริกา มีขนบธรรมเนียมตั้งไว้แลสืบมาแต่ครั้งปริไสเดนตยอดวัดชิงตัน [George Washington] ให้ราษฎรทั้งแผ่นดินพร้อมใจกันเลือกสันบุคคลที่ควรจัดไว้เป็นชั้น แล้วตั้งให้เป็นปริไสเดนตใหญ่แลปริไสเดนตรอง … เปนวารเปนคราวมีกำหนดเพียง 4 ปี แล 8 ปี แลให้ธรรมเนียมนี้ยั่งยืนอยู่ได้ ไม่มีการขัดขวางแก่งแย่งแก่กันด้วยผู้นั้น ๆ จะช่วงชิงอิศริยยศกันเปนใหญ่ในแผ่นดิน ดังเมืองอื่น ๆ ซึ่งเปนอยู่เนือง ๆ นั้นได้ ก็เหนว่าเปนการอัศจรรย์ยิ่งนัก เปนขนบธรรมเนียมที่ควรจะสรรเสิญอยู่แล้ว”

ข้อความนี้อาจทำให้เกิดคำถามได้ว่า เป็นเพียงการแสดงภาษาทางการทูตเท่านั้นหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาพระราชสาส์นคราวแลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการกับประมุขของชาติอื่น เช่น พระราชสาส์นถึงพระเจ้าไกเซอร์ไม่พบการแสดงความชื่นชมระบบการปกครองแต่อย่างใด หรือพระราชสาส์นถึงพระเจ้าแผ่นดินของฮอลแลนด์ก็กล่าวเรื่องการค้าเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสมัยแรกนี้ผูกติดอยู่กับระบบประธานาธิบดี หากปราศจากการติดต่อกับสหรัฐฯ แล้ว สยามก็ไม่น่าจะรู้จักการเลือกตั้งระดับชาติเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของหมอศาสนาอเมริกันต่างๆ ที่มีบทบาทในการพาทั้งศาสนาคริสต์และประเทศสหรัฐฯ มาให้รู้จัก

ในสมัยนั้น “หมอแบรดเลย์” เป็นอีกคนที่มีบทบาทมาก เขาได้แปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ลงหนังสือพิมพ์ “หนังสือจดหมายเหตุ” (Bangkok Recorder) ซึ่งบรรดาเจ้านายและขุนนางก็เป็นสมาชิกของหนังสือพิมพ์นี้ด้วย เช่น พระยาอภัยสงคราม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นการรับรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงเป็นที่รับรู้ในชนชั้นนำของสยามแล้วในขณะนั้น ซึ่งการเลือกตั้งนี้ได้ปรากฏอีกครั้งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ การให้เลือกตั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 และความเข้าใจของพระองค์ต่อการเลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชนชั้นนำสยามมีความเข้าใจและมิได้เกรงกลัวเรื่องการมอบสิทธิการเลือกตั้งให้ทั้งชายและหญิงเลย ซึ่งทัศนคตินี้ ได้ส่งต่อมายังรัชกาลที่ 5 ด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ “ทดลอง” ให้เกิดการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยให้ประชาชนได้สัมผัสกับการเลือกตั้งในภาคปฏิบัติ กล่าวคือเมื่อ พ.ศ. 2435 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพหลังจากได้มอบหมายให้หลวงเทศาจิตรวิจารณ์ได้ลองตั้ง “หมู่บ้าน” และ “ตำบล” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บางปะอิน เขาดีใจและรีบสนองนโยบาย เขาได้แบ่งให้มี “ผู้ใหญ่บ้าน” และ “กำนัน” แต่หลวงเทศาฯ ได้ไปไกลกว่านั้นคือได้ใช้วิธีแปลกใหม่ในการหาตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วยการ “เลือกตั้ง” โดยเขารายงานผลว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งกรมหลวงดำรงราชานุภาพได้กล่าวชื่นชมอย่างสูง กระทรวงมหาดไทยจึงได้เดินหน้าต่อด้วยการสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชน และศึกษารูปแบบการปกครองระดับท้องถิ่นในพม่าและมลายู แต่ความจริงแล้ว ก่อนหน้าที่จะทดลองที่บางปะอินนี้ ก็ได้มีการเลือกตั้งผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านที่นครราชสีมา ซึ่งแม้จะล้มเหลวแต่ก็ได้มอบแนวทางไว้ให้ด้วย

ต่อมาเมื่อได้ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่เมื่อ พ.ศ. 2440 ก็มีการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก ซึ่งมีการเลือกในระดับท้องถิ่นกว่า 5 หมื่นครั้ง และเกี่ยวพันกับประชากรนับล้านคน และกฎหมายฉบับนี้มิได้ห้ามสตรีร่วมกำหนดบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งด้วย แม้ผู้ใหญ่บ้านจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามากในขณะนั้น เพราะช่วง พ.ศ. 2440 แทบไม่มีประเทศใดที่รองรับสิทธิในการเลือกตั้งของสตรีอย่างเป็นทางการเลย นักวิชาการอย่าง Katherine Bowie จึงได้สรุปว่า การที่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านนั้น มาจากการริเริ่มของชนชั้นนำสยามเอง มิใช่การยึดตัวแบบจากชาติยุโรป แม้ว่าการเลือกตั้งจะมีปัญหาตะกุกตะกักอยู่ในหลายๆ เรื่อง แต่ก็นับว่าเป็นขั้นตอนที่น่าจับตา

ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สิทธิในการเลือกตั้งก็ยังถูกรับรองให้ทั้งชายและหญิง มิได้เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการชื่นชมว่าคณะราษฎรได้มอบสิทธิการเลือกตั้งอย่างทั่วถึงนั้น ย่อมสมควรได้รับการชมเชยในความก้าวหน้า เพราะในช่วง พ.ศ. 2475 ก็ยังคงมีน้อยประเทศที่มอบสิทธิการเลือกตั้งให้ทั้งชายและหญิง แต่ฤาเห็นว่าในยุคของ “ระบอบเก่า” ในแง่มิติของการเลือกตั้งนั้น ก็น่าจะก้าวหน้าไม่แพ้กับคณะราษฎร และน่าจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่สะท้อนถึงความคิดก้าวหน้าของพระมหากษัตริย์ไทยได้อย่างน้อยก็มุมหนึ่ง

อ้างอิง :

[1] Patrick Thomson, “The Minimalist Conception of Democracy as informed by The Works of Schumpeter, Riker, and Hardin (Thesis in political science, University of Saskatchewan, 2007).
[2] Millicent Garrett Fawcett, The Women’s Victory – and After: Personal Reminiscences, 1911–1918 (Cambridge: Cambridge University Press, 2015).
[3] Benjamin Evans Lippincott, Victorian Critics of Democracy: Carlyle, Ruskin, Arnold, Stephen, Maine, Lecky (Minnesota: University of Minnesota Press, 1938).
[4] John Keane, The Life and Death of Democracy (London: Pocket Books, 2009).
[5] สรุปและเรียบเรียงจาก ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2564), บทที่ 3.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูล