สยามทารุณเชลยศึกปัตตานีด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาย เรื่องโกหกทางประวัติศาสตร์ ผ่านโฆษณาชวนเชื่อของนักบิดเบือน

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ทราบว่ามีกลุ่มจัดตั้งทางการเมืองในนาม “Common School โดยคณะก้าวหน้า” ร่วมกับผู้จัดทำเกมไพ่การ์ด ออกการ์ดเกมที่มีชื่อว่า “Patani Colonial Territory” ซึ่งเป็นเกมรูปแบบไพ่การ์ดที่เรียงลำดับเหตุการณ์​ช่วงระหว่าง​การผนวก​รวม “ปัตตานี” หรือ “ปตานี” เข้ากับสยาม (“ปัตตานี” “ปตานี” คือคำสะกดที่ถูกต้อง ไม่ใช่ “ปาตานี” ซึ่งเป็นการสะกดที่ผิดหลักภาษา)

เกมไพ่การ์ดชุดนี้จัดทำออกมา 52 แผ่น แต่ละแผ่นบรรจุข้อมูลหรือเหตุการณ์เกี่ยวกับ สยาม-ปัตตานี ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ดี จากตัวอย่างของแผ่นการ์ดใบหนึ่ง ได้ปรากฏข้อความบิดเบือน อย่างรุนแรงว่า 1840 (ปี ค.ศ.) เชลยศึกปัตตานีถูกบังคับให้ขุดคลองแสนแสบที่บางกอก นอกจากนี้ยังมีรูปภาพประกอบเป็นภาพวาดเท้าของเชลยศึกซึ่งถูกเจาะเอ็นร้อยหวายอยู่ด้วย

หากตีความตามภาพและข้อความที่ปรากฏ ผู้ที่สร้างเกมไพ่การ์ดชุดนี้คงต้องการจะสื่อไปยังผู้เล่น (โดยที่ผู้เล่นไม่ทันตระหนักคิด) หรือชี้นำให้ผู้เล่นเข้าใจว่า “เชลยมลายูที่ขุดคลองแสนแสบในสมัยรัชกาลที่ 3 ถูกสยามเจาะเอ็นร้อยหวาย ร้อยเป็นพวงรวมกันเพื่อไม่ให้หนีไปจากสถานที่ขุดคลองได้” ทำให้ฟังดูราวกับว่าพวกสยามนั้นช่างโหดร้ายทารุณเสียนี่กระไร

แต่เมื่อผู้เขียนกลับไปค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อนำมาสนับสนุน “ความเชื่อ” ดังกล่าว กลับพบว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย และดูเหมือนจะกลับตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ

ผู้เขียนต้องขอเล่าก่อนว่า ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องการขุดคลองแสนแสบกับการเจาะเอ็นร้อยหวายนั้น เป็นคนละเรื่องกัน เพราะคลองแสนแสบเป็นคลองที่ถูกขุดโดยแรงงานชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นคลองขุดที่มีมาก่อนที่เชลยศึกจากปัตตานีจะถูกกวาดต้อนมาด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เชลยปัตตานีจะเป็นผู้ขุดคลองดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นการขุดขยายคลอง ซึ่งก็ยังปราศจากหลักฐานเกี่ยวกับการขุดขยายคลองดังกล่าว ดังนั้น วาทกรรมขุดคลองแสนแสบโดยเชลยศึกปัตตานีจึงเป็นอันว่าจบไป เพราะหาสาระความจริงมายืนยันไม่ได้เลย และอันที่จริงยังมีเรื่องน่าสนใจว่า ทางลาวก็เคยอ้างว่าแรงงานลาวเป็นผู้ขุดคลองสายนี้ด้วย

ว่ากันตามจริงแล้ว “วาทกรรมเจาะเอ็นร้อยหวาย” ก็เคยปรากฏในเรื่องเล่าของไทยเหมือนกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาให้พม่าในครั้งที่ 2 โดยมีการเล่ากันว่า เชลยสยามเองก็โดนพม่าเจาะเอ็นร้อยหวายด้วย ดังนั้น “วาทกรรมเจาะเอ็นร้อยหวาย” จึงไม่ใช่เรื่องของเชลยศึกมลายูจากปัตตานีแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่เข้าใจกันไปเองในช่วงหลังนี้

สำหรับกรณีที่เชลยมลายูปัตตานีโดนเจาะเอ็นร้อยหวายนั้น อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนายแพทย์จิรันดร์ อภินันท์ ได้ทำการศึกษาและจัดทำวิจัยในหัวข้อ ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย : ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปตานี (พ.ศ. 2561) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่รวบรวมเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งจากฝั่งไทย และมลายู และข้อมูลทางการแพทย์มาคลี่คลายให้เห็นความจริงที่ประจักษ์ชัดว่า กรณีที่เชลยปัตตานีโดนสยามเจาะเอ็นร้อยหวาย รวมทั้งถูกบังคับให้ขุดคลองแสนแสบนั้น แท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

และคณะวิจัยได้พบว่า “ไม่มีหลักฐานร่วมสมัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่ากองทัพสยามได้เจาะเอ็นร้อยหวายกับเชลยปัตตานี” ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ปัตตานีถูกตีแตกในสมัยรัชกาลที่ 1(พ.ศ. 2329) หรือสมัยกบฏไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มักมีการเล่าต่อกันมาว่า เชลยศึกปัตตานีถูกเจาะเอ็นร้อยหวายแล้วถูกกวาดต้อนขึ้นมายังกรุงเทพฯ

สรุปว่าการเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยศึกปัตตานี “เป็นเพียงเรื่องเล่าอ้างสืบต่อกันมา” และ “ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ”

นอกจากนั้น ประเพณีเกี่ยวกับเชลยศึกสงครามของสยาม (รวมถึงที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อได้ทำการปราบปรามเมืองใดจนเด็ดขาดแล้ว ก็จะต้องกวาดต้อนผู้คนในเมืองนั้นกลับมายังเมืองของตน สิ่งนี้เรียกกันว่า “การเติมคน” โดยเฉพาะกรณีของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นราชธานีแห่งใหม่ที่ยังมีประชากรน้อย (เพราะคนในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่ากวาดต้อนไปมากแล้ว) การได้ประชากรจากปัตตานีมาเติมในกรุงเทพฯ ก็เป็นเสมือนการเพิ่มกำลังและประชาชนให้กับเมือง ดังนั้น ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมานี้ควรจะต้อง “มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง” การเจาะเอ็นร้อยหวายจึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก อีกทั้งน่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สยามมากกว่าอย่างอื่น

และเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า ก็ยิ่งพบความสอดคล้องและตอกย้ำว่าการเจาะเอ็นร้อยหวายนั้นเป็นผลให้เกิด “ความพิการหรือทุพพลภาพ” ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เป็นผลดีต่อนโยบายเพิ่มเติมแรงงานและกำลังคนให้แก่ราชอาณาจักร อีกทั้งยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นลูกหลานของเชลยศึกชาวปัตตานีในกรุงเทพฯ ท่านหนึ่ง ได้ให้ข้อมูลต่อคณะผู้วิจัยตรงๆ ว่า การเจาะเอ็นร้อยหวายนี้เป็นเรื่องที่กุขึ้น หรือแต่งเติมขึ้น เพื่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างไทยกับมลายู

อย่างไรก็ดี คณะผู้วิจัยก็ใช่ว่าจะตัดทิ้งประเด็นการเจาะเอ็นร้อยหวายเลยทีเดียว พวกเขาสันนิษฐานว่าการเจาะอาจเกิดขึ้นได้แต่อาจจะน้อยมาก และอาจถูกใช้เพื่อเป็นตัวอย่างในการลงโทษเชลยที่พยายามหนีหรือกระทำความผิดใดๆ เพื่อไม่ให้เชลยคนอื่นๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันรองรับ จึงกล่าวได้ว่า ความเชื่อเช่นนี้ไม่มีความสมเหตุสมผลในทางประวัติศาสตร์ และเป็นเพียง “โฆษณาชวนเชื่อของพวกต่อต้านรัฐ” เท่านั้น

ข้อสรุปของคณะผู้วิจัยชุดนี้ ถือเป็นการสั่นคลอนความเชื่อและวาทกรรมของพวกนักชาตินิยมปัตตานี รวมถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่มักใช้เรื่องเล่าทำนองนี้เพื่อการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังระหว่างคนไทย-มลายูอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นข้อมูลที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมถึงหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ในการสลาย “วาทกรรมที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้”

สุดท้ายนี้ แม้ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่จัดทำขึ้นโดยคณะผู้ทรงความรู้ได้ลบล้างวาทกรรมและความเชื่อดังกล่าวไปแล้ว แต่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มก็ยัง “ขยัน” และไม่หยุดผลิตซ้ำวาทกรรมที่รังแต่จะสร้างและขยายความเกลียดชังให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้เขียนในฐานะคนในพื้นที่จึงรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะตราบใดที่เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่สงบ บรรดาคนในพื้นที่ก็ยังคงต้องได้รับผลกระทบและต้องอยู่อย่างหวาดระแวงกันต่อไป ในขณะที่พวกที่ขยันสร้างปัญหาและวาทกรรมให้คนเขาเกลียดกันกลับเสวยสุขอยู่ในที่รโหฐานอันปลอดภัยในกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลย เช่นนี้เห็นทีจะไม่แฟร์เสียแล้วละเหวย!

อ้างอิง :

[1] สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ. “ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย : ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปตานี”. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2561)
[2] พิเชษ แสงทอง. “หน้าที่ของอนุภาค เอ็นร้อยหวาย : เรื่องเล่า ข่าวลือในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้”. วารสารรูสะมีแล ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 มกราคม –เมษายน 2561.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า