อย่าด่วนเชื่อ! ถ้ามีใครทึกทักว่าอำนาจสยามแผ่ไปไม่ถึงสุดแหลม ‘มลายู’

บทความโดย : จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

วาทกรรมที่ว่าสยามไม่เคยแผ่อำนาจไปถึงดินแดนมลายูที่อยู่ใต้เมืองนครศรีธรรมราชลงไปนั้น เป็นกระแสวาทกรรมหนึ่งที่เพิ่งจะถูกจุดขึ้นไม่นานมานี้ นักวิชาการบางคนถึงกับเคลมว่า‘ปัตตานี’ ตลอดจนถึง ‘แหลมมลายูทั้งปวง’ หาเคยได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยามแต่อย่างใด เป็นการทึกทักไปเองของชนชั้นสูงสยามเท่านั้น บางรายถึงกับโยนความผิดว่าการที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากเนื้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว อำนาจของสยามในสมัยโบราณน่าจะแผ่ไปถึงคาบสมุทรมลายูนั้น เป็นการ ‘กล่าวเกินจริง’

ควรต้องกล่าวว่า การเห็นแย้งในประเด็นวิชาการเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะวิชาการเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ตราบเท่าที่ข้อมูลและการตีความหลักฐานจะเอื้ออำนวย หากแต่ถ้ายังไม่ศึกษาหรือหาข้อมูลอย่างรอบด้านแล้ว ‘การทึกทักด่วนสรุป’ เกินไปว่าความเห็นของนักวิชาการรุ่นเก่าที่ว่าอำนาจของสยามนั้นไม่เคยไปไกลถึงแหลมมลายู (ปัตตานี ไทรบุรี ตลอดมะละกาและยะโฮร์) เป็นเรื่องเหลวไหล ผู้เขียนก็ขอตั้งข้อสงสัยว่าความมั่นใจที่ว่าอำนาจของสยามแผ่ไปไม่ถึงนั้นท่านใช้หลักฐานใด เพราะการอ้างว่าเพราะสุโขทัยและอยุธยาตอนต้นเป็นรัฐขนาดเล็กทำให้มีอำนาจน้อยนั้นฟังไม่ขึ้น พื้นที่เชิงกายภาพของรัฐกับขอบเขตอำนาจทางการเมืองของรัฐเป็นคนละเรื่องกัน เอามาปะปนกันไม่ได้

น่าสนใจว่า ท่านเหล่านั้นเคยศึกษาในประเด็นเดียวกันนี้จากมุมมองของทางมลายูบ้างหรือไม่ ? เพราะท้ายที่สุด การยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจสยาม ผู้ที่จะตอบได้ดีที่สุดย่อมคือ ‘ผู้ที่ถูกกระทำ/ผู้ถูกปกครอง’ (หมายถึงฝ่ายมลายู) และหากใครก็ตามเชื่อว่าหลักฐานฝ่ายสยาม ‘โม้เกินเหตุ’ เพราะเป็นการเขียน ‘อวยพระยศ’ จึงเอามาหาสาระทางวิชาการไม่ได้ แต่ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้อาจจะชวนชี้ให้ท่านลองคิดใหม่ว่า บางทีนักวิชาการ/ผู้รู้รุ่นเก่าก็ไม่ได้ตีความอะไรแบบไม่มีที่มาที่ไป ความรู้เก่า ๆ ใช่ว่าจะผิดเพี้ยนเสมอไป (เพราะสามารถทนต่อการถูกท้าทายทางวิชาการได้)

เมื่อสยามรุกราน ‘มลายูที่ไม่ใช่มลายู’

ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับมลายูนั้นมีมานานแล้ว ตามที่พบหลักฐานว่าเอกสารจีนโบราณสมัยราชวงศ์หยวน ได้กล่าวถึงการรุกรานของ ‘เสียน’ (สยาม) ต่อ ‘หมาหลี่อี้เออร์’ (มลายู) เมื่อ พ.ศ. 1838 ซึ่งพระจักรพรรดิจีนได้ขอให้ทางสยามหยุดการกระทำอันเป็นการคุกคามพวกมลายูดังกล่าวด้วย [1] น่าสนใจว่า ‘มลายู’ ที่กล่าวถึงนี้ น่าจะไม่ใช่รัฐมลายูในพื้นที่คาบสมุทรมลายูปัจจุบัน แต่น่าจะเป็นเมืองใดสักเมืองที่เรียกตัวเองว่า ‘มลายู’ ณ เกาะสุมาตรา อินโดนีเซียในปัจจุบัน เหตุเพราะรัฐมลายูแห่งแรกที่เรียกตน/นับตนเองว่าเป็นชาวมลายูนั้น คือ ‘มะละกา’ (Malacca) ซึ่งจะยังไม่ถือกำเนิดขึ้นในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ ‘มลายู’ ที่สยามส่งกำลังไปคุกคามในเวลานั้นจึงเป็นคนละพื้นที่กับคาบสมุทรมลายูที่เราเข้าใจในปัจจุบัน ส่วนสยามที่ปรากฏในเอกสารจีนชิ้นนี้ ปัจจุบันยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเป็นรัฐใดกันแน่ ระหว่าง สุโขทัย เพชรบุรี นครศรีธรรมราช หรืออาจจะเป็นเมืองอื่นที่เรียกตนเอง/หรือถูกนับว่าเป็นสยาม

ถึงกระนั้น ในกรณีของสุโขทัย ได้ปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ที่รู้จักกันในชื่อศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ได้กล่าวถึงพื้นที่สุโขทัย (ในเวลานั้น) ได้แผ่ขยายอำนาจไปถึงพื้นที่ที่ปัจจุบันคือคาบสมุทรมลายูไว้อย่างไม่ต้องสงสัย นั่นก็คือ ‘ฝั่งทะเลสมุทร’ [2]  น่าสนใจว่า ‘ฝั่งทะเลสมุทร’ ที่ว่านี้ นักวิชาการรุ่นใหม่บางกลุ่มได้ตีความต่าง ๆ นานา ว่าหมายถึงพื้นที่คาบสมุทรสงขลาบ้าง นครศรีธรรมราชบ้าง หรือบ้างก็ว่าคือปัตตานี หากแต่ถ้ามามัวแต่พินิจด้วยความเห็นที่ถูกจำกัดอยู่กับหลักฐานฝั่งไทยนั้นคงเป็น ‘การคิดอย่างแคบ ๆ’ เพราะเหตุแห่งการสันนิฐานจะถูกจำกัดเพียงเพราะการรับรู้อย่างแคบ ๆ ทั้งที่ ‘ฝั่งทะเลสมุทร’ อันเป็นสุดปลายอาณาเขตของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง (ตามที่จารึกอ้าง) นั้น ก็คือความหมายเดียวกับคำว่า ‘Ujung Tanah’ อันแปลว่า ‘สุดปลายแผ่นดิน’ หรือ ‘ปลายแหลมแผ่นดิน’ [3] ซึ่งก็คือเมืองยะโฮร์ (และตลอดแดนต่อประเทศสิงคโปร์ปัจจุบัน) หาใช่เมืองสงขลาหรือนครศรีธรรมราชซึ่งไม่ได้เข้ารูป ‘ฝั่งทะเลสมุทร’ หรือ‘สุดปลายแผ่นดิน’ แต่อย่างใด ต้องกล่าวด้วยว่าในเวลานั้นยังรัฐมลายูสายราชวงศ์ปรเมศวรยังไม่ถือกำเนิดขึ้น ณ สุดปลายแผ่นดินนี้ ดังนั้น การอ้างอำนาจของสุโขทัยในแถบนี้จึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐมลายูที่จะถือกำเนิดในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี หลักฐานของสุโขทัยได้สิ้นสุดการอ้างถึง ‘ฝั่งทะเลสมุทร’ ได้จบลงแต่เพียงนั้น หากแต่อำนาจของสยาม ‘รัฐอื่น ๆ’ ก็หาได้ละเว้นจากกิจกรรมทางการเมืองบริเวณคาบสมุทรมลายูแต่อย่างใด

อยุธยากับสัมพันธ์อำนาจปัตตานี-เตมาสิค-มลายู

ล่วงเข้าสมัยอยุธยาเริ่มเรืองอำนาจ ณ เวลานี้ตัวแสดงของสยามในเอกสารมลายูและฝรั่งต่างระบุชัดเจนว่าคือ ‘อยุธยา’ อย่างมิพักต้องสงสัย เป็นที่แน่ชัดว่าในระยะนี้อิทธิพลของสยามในคาบสมุทรมลายูชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าการ ‘อ้างอำนาจ’ เช่นที่สุโขทัยเคยกระทำ โดยบันทึกSuma Oriental ของ โทเม่ ปิเรส ได้ยืนยันกิจกรรมทางการเมืองและอำนาจของอยุธยาดังกล่าวผ่านการระบุว่ากษัตริย์ของอยุธยาพระองค์หนึ่งได้รับสนมที่เป็นบุตรีของขุนนางปัตตานีเป็นพระสนมและทรงมีพระราชธิดาด้วยกัน ต่อมาพระราชธิดาพระองค์นี้ถูกส่งไปแต่งงานกับเจ้าผู้ปกครองเตมาสิค ดังนั้น เจ้าผู้ปกครองเตมาสิคถือเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์อยุธยา [4] แม้ว่าต่อมาเจ้าชายปรเมศวรจากสุมาตราผู้เป็นปฐมแห่งราชวงศ์มลายูได้ทำการสังหารเจ้าผู้ปกครองเตมาสิคที่จงรักภักดีต่ออยุธยาแล้วสถาปนาตนเป็นเจ้าแทน [5] การกระทำเช่นนี้ทำให้กษัตริย์สยามและขุนนางปัตตานีไม่พอใจเป็นอย่างมากถึงกับยกทัพไปปราบปรามจนเจ้าชายปรเมศวรต้องตัดสินใจละทิ้งเมืองเตมาสิคแล้วขึ้นเหนือไปสถาปนาเมืองมะละกาแทน

จะเห็นได้ว่าอำนาจทางการเมืองของสยามในเวลานี้ ‘มีอยู่จริง’ กระทั่งแม้แต่เจ้าชายปรเมศวรเองก็ยังเกรงกลัวต้อง ‘หนี’ ไปที่อื่น และถ้าหากอำนาจของสยาม (ที่เป็นพันธมิตรกับปัตตานี) ไม่เข้มแข็งเหนือพื้นที่คาบสมุทรนี้แล้วไซร้ เหตุใดเจ้าชายมลายูจะต้องทิ้งเมืองไปไกลถึงมะละกาซึ่งตั้งอยู่ ณ อีกฟากของคาบสมุทรด้วยเล่า ? นักวิชาการผู้เชื่อมั่นว่าสยามแผ่อำนาจไปไม่ถึงคาบสมุทร (ในกรณีนี้คือปัตตานีและเตมาสิค-สิงคโปร์) จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยกรอบทฤษฎีใดหรือจะตีตกด้วยหลักฐานใด ?

พินิจอำนาจสยามบนคาบสมุทรผ่าน ‘ปากคำคนมลายู’

สำหรับหลักฐานเด็ดว่าด้วยอำนาจของสยามที่ ‘มีมาก่อน’ มลายูบริเวณพื้นที่คาบสมุทรในช่วงสงครามสยาม-มะละกา นั่นก็คือ ‘Sejarah Melayu’ หรือ พงศาวดารของราชสำนักมะละกา เอกสารชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นในช่วงระหว่างหรือหลังมะละกาแตกให้แก่โปรตุเกสในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงนับว่าเก่าแก่และมีอายุมากว่า 400 ปี ผู้เขียนพบว่าภายใต้เอกสารดังกล่าว ทางราชสำนักมะละกาได้ยอมรับอย่างตรง ๆ ว่า อำนาจของสยามนั้นได้แผ่ไพศาลมาถึงพื้นที่แห่งนี้ ‘อยู่ก่อนแล้ว’ เช่น การกล่าวว่า ‘เมือง Glang Kiu’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำยะโฮร์นั้นเพี้ยนมาจากภาษาสยาม คือ  ‘เมืองคลังแก้ว’ (Khlang Khaiw) และแม่น้ำสายหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Panggil’ ก็ถูกระบุว่าเพี้ยนมาจากภาษาสยามจากคำว่า ‘Call them’ (จงมานี่) อีกด้วย สำหรับปัตตานีนั้น ‘Sejarah Melayu’ ระบุว่าเจ้าศรีวังสา (Chaw Sri Bangsa) เป็นเจ้าชายสยามอย่างแน่นอน อีกทั้งราชทูตที่ทรงส่งไปยังมะละกาก็ยังมีชื่ออย่างสยามชัดเจนเสียด้วย นั่นก็คือ ‘ออกขุนพันธ์’ (Augun-pal) [6] จะเห็นได้ว่าทางราชสำนักมะละกายอมรับชัดเจนว่านอกจากอำนาจทางการเมืองของสยามจะปกคลุมไปถึงยะโฮร์ (อุยงตะนะ) แล้ว แม้กระทั่งเมืองและชื่อแม่น้ำยังเป็นชื่อสยามก่อนการมาถึงของมลายูด้วย การระบุเช่นนี้ย่อมเป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าอำนาจของสยามนั้นแผ่ไปถึงคาบสมุทรจริง ๆ อีกทั้งในกรณีเมืองปัตตานีนั้นเล่า มะละกาก็ชี้ชัดว่าปฐมราชวงศ์ศรีวังสาคือสยาม ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลที่นำเสมอมาก่อนนี้ว่าตามประวัติศาสตร์แล้วอยุธยากับปัตตานีมีความสัมพันธ์ดุจญาติพี่น้องกันมาตั้งแต่ต้น

ผู้เขียนหวังใจว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยและมลายูไม่มากก็น้อย สำหรับวาทกรรม/ชุดข้อมูลความเชื่อที่ว่าอำนาจสยามแผ่ไปไม่ถึงคาบสมุทรนั้น หากพิจารณาจากปากคำของชาวมลายูข้างต้นที่ผู้เขียนหยิบยกมาอ้างยืดยาวนี้ ผู้อ่านหากมีใจเป็นธรรมคงตอบแก่ใจตัวเองได้แล้วว่า ยังสมควรที่จะเชื่อวาทกรรมเช่นนี้อีกได้ละหรือ ?

อ้างอิง :

[1] กรมศิลปากร. ความสัมพันธ์ไทย-จีนจากเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง. หน้า 4. ผู้ที่สนใจประเด็นนี้อย่างละเอียด ควรหาตำราวิชาการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยในยุคต้นมาอ่านอย่างละเอียด ซึ่งในบรรดางานเขียนในประเด็นนี้ที่ดีที่สุด คือ ‘ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ค.ศ.1282-1853’ ของ สืบแสง พรหมบุญ ทั้งนี้ สืบแสงได้อ่านเอกสารชั้นต้นและแจกแจงให้เห็นว่า ‘เสียน’ ในฐานะตัวแสดงในเวลานั้นสามารถตีความว่ารัฐโบราณใดของไทยรัฐใดได้บ้าง ข้อสรุปของเขาคือ เฉพาะในช่วงกรณีพิพาทกับมลายูสุมาตราดังกล่าว ‘เสียน’ ในที่ปรากฏในเวลานั้นถูกตีความให้แคบลงว่าคือ ‘สุโขทัย’.
[2] สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ประวัติศาสตร์ โบราณคดี นครศรีธรรมราช. หน้า 87. 
[3] โปรดดู ประพนธ์ เรืองณรงค์. อาแจะห์ อารูห์ – อุยงคตนะ ถึงโจรสุหรั่ง ใน วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ Journal of Humanities and Social Sciences, Vol.5 (2). 
[4] โครงการวิจัย ‘100 เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย’ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 11. หน้า 74. 
[5] บาร์บารา อันดายา และลีโอนาร์ด อันดายา. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย. หน้า 55. นอกจากนั้น ชุลีพร วิรุณหะ ได้อภิปรายกรณีการพยายามสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของเจ้าชายปรเมศวรไว้อย่างน่าสนใจ โปรดดู ชุลีพร วิรุณหะ. บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู.
[6] โปรดดู Sejarah Melayu (1821) แปลโดย John Leyden.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหม