เบื้องหลังความก้าวหน้าระดับสากลของวงการแพทย์ไทย จากการอุทิศและทุ่มเททุกสิ่งของ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเฟล็นส์บวร์ค-เมือร์วีค (Marineschule Flensburg-Mürwik) โดยเป็นนักเรียนนายเรือเยอรมันรุ่น 2455 (CREW 1912) และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรด้วยผลการศึกษาขั้นดีเยี่ยมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และในการศึกษาปีสุดท้ายทรงชนะการออกแบบเรือดำน้ำด้วย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือเยอรมัน 3 ปี และได้รับยศนายเรือตรี ก่อนจะเสด็จกลับมารับราชการในกองทัพเรือสยาม

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ทรงรับราชการอยู่ในกองทัพเรือสยามได้ไม่กี่ปีก็ลาออก เพราะทรงมีความเห็นไม่ตรงกันกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ เนื่องจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่เห็นว่ากองทัพควรมีเรือขนาดใหญ่เพื่อที่จะใช้ฝึกซ้อมกำลังพล แต่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรเห็นว่ากองทัพเรือสยามยังเล็กเกินไป ไม่ควรจะมีเรือขนาดใหญ่ แต่ควรจะมีเรือเล็กๆ เช่น เรือดำน้ำ เรือตอร์ปิโด ที่สามารถเข้าแม่น้ำได้สะดวก ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่า ด้วยความขัดแย้งดังกล่าวจึงทำให้ทรงหมดพระทัยที่จะรับราชการ

เมื่อลาออกจากกองทัพเรือแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จึงได้ทูลเชิญสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร เสด็จไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงพยาบาลศิริราช ทำให้ทรงเห็นว่าการสาธารณสุขของไทยยังล้าหลัง จึงทรงหันมาสนพระทัยด้านการสาธารณสุขแทน และทรงเริ่มเข้ามาให้การสนับสนุนกิจการโรงพยาบาลศริริราช นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459

จากนั้นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรได้เสด็จไปศึกษาด้านสาธารณสุข ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จนกระทั่งได้ประกาศนียบัตรด้านสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2464 และยังทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ระดับเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในเวลาต่อมาอีกด้วย

ในระหว่างที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรทรงศึกษาด้านการสาธารณสุขอยู่นี้เอง ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย เพื่อติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ในการจัดตั้งหลักสูตรการแพทย์ในระดับอุดมศึกษา (หลักสูตรปริญญาตรี) ซึ่งมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้เชิญ Prof.A.G.Ellis นายแพทย์ชาวอเมริกัน เข้ามาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้

เดิมที Prof.A.G.Ellis ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาพยาธิวิทยาที่โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 แล้ว โดยร่วมงานปรับปรุงด้านการศึกษาวิชาแพทย์เป็นเวลา 2 ปี จนครบตามสัญญาจึงได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ต่อมารัฐบาลไทยมีโครงการปรับปรุงการศึกษาด้านการแพทย์ Prof.A.G.Ellis จึงได้รับการทาบทามจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการสาธารสุขกับประเทศไทยครั้งแรก คือ การเชิญสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อธิบดีศิริราชพยาบาล ไปดูงานต่างประเทศ และหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้เข้ามาช่วยปราบพยาธิปากขอในประเทศไทย จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ยื่นคำเสนอจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านการแพทย์ ซึ่งนำไปสู่การเริ่มเจรจาข้อตกลงรับความช่วยเหลือ เมื่อปี พ.ศ. 2464 โดยมีสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร เป็นผู้ประสานงานและเสด็จไปเจรจากับผู้แทนของมูลนิธิฯ ตามเมืองต่างๆ ในยุโรป จนกระทั่งการเจรจาข้อตกลงสำเร็จลุล่วง ในปี พ.ศ. 2466

สำหรับข้อตกลงความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ซึ่งมีสัญญา 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 – 2472 มีสาระสำคัญ 3 เรื่อง คือ

  1. ช่วยเลือกอาจารย์แพทย์ 6 คน มาทำการสอนและจัดหลักสูตร โดยที่มูลนิธิจะเป็นผู้เลือกวิชชาธิการเอง และรัฐบาลไทยจะเป็นผู้จ่ายเงินเดือนตามงบประมาณที่ตั้งไว้ สำหรับส่วนที่ขาด ทางมูลนิธิฯ จะร่วมช่วยจ่ายให้ และมูลนิธิฯ จะจัดหาอาจารย์พยาบาลให้อีก 5 คน
  2. ให้ทุนอาจารย์แพทย์ของไทย ไปศึกษาดูงาน แผนกละ 2 คน (6 แผนก)
  3. ให้การสนับสนุนเงินก่อสร้างและเครื่องมือการเรียน มูลค่าทั้งสิ้น 589,95 บาท

ในปี พ.ศ. 2463 Prof.A.G.Ellis ได้ระบุว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรได้ประทานเงิน 200,000 บาท ตั้งเป็นทุนวิทยาศาสตร์แห่งการแพทย์ แก่ศิริราชพยาบาล เพื่อบำรุงการศึกษาและสนับสนุนการวิจัย รวมถึงทรงเขียนพินัยกรรม ให้บริจาคเงิน 500,000 บาท แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนด 25 ปี เพื่อใช้สำหรับบำรุงการศึกษาวิชาแพทย์ การศึกษาสุขาภิบาล (public health) การศึกษาพยาบาล และการศึกษาการปรุงยา

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรยังได้ซื้อที่ดินโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (วัฒนาวิทยาลัย) ซึ่งติดกับโรงพยาบาลศิริราช ไว้ในราคา 85,000 บาท โดยนำมาให้โรงพยาบาลเช่าปีละ 1 บาท ทั้งยังได้ประทานเงินซ่อมอาคารสถานที่อีก 16,000 บาท พร้อมกับประทานต่างหากสำหรับไว้เป็นค่าบำรุงรักษาอาคารอีกปีละ 5,000 บาท และในเวลาต่อมา ได้ประทานที่ดินแปลงนี้ให้โรงพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้ยังทรงชักชวนให้สมเด็จฯ กรมหลวงเพชรบุรี ซึ่งเป็นพระพี่นางเธอ ซื้อที่ดินแปลงที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้ และประทานให้กับโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลศิริราชมีที่ดินติดแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด

นอกจากนี้ยังทรงทูลขอให้พระราชมารดา ซึ่งก็คือสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ช่วยออกเงินสร้างท่อประปาลอดท่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา กับทำระบบระบายน้ำ โดยใช้เงินประมาณ 17,000 บาท แต่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานเงินให้ทั้งสิ้น 25,000 บาท จากเดิมที่ทรงประทานเป็นกุศลประจำปีให้กับโรงพยาบาลศิริราชอยู่แล้วทุกๆ ปี ปีละ 2,000 บาท ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ยังได้พระราชทานเงินให้กับโรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท และแม้สวรรคตทางโรงพยาบาลก็ยังได้รับเงินพระราชทานจากกองมรดกต่อเนื่องเรื่อยมา

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรยังได้ทรงชักชวนเจ้านายเชื้อพระวงศ์องค์อื่นๆ มาร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาลศิริราชอีกมาก เช่น ตึกอัษฎางค์ ซึ่งใช้เงินกองมรดกกรมหลวงนครราชสีมาสร้าง เป็นจำนวน 76,000 บาท ตึกตรีเพชรและตึกจุฑาธุช ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานเงินจำนวน 180,000 บาท ในการก่อสร้าง และตึกพระองค์หญิง กรมพระนครสวรรค์เป็นผู้ประทานเงินในการสร้าง

เฉพาะในส่วนพระองค์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบสร้างตึกอำนวยการเกือบครึ่งหนึ่ง เป็นจำนวนกว่า 90,000 บาท และประทานเงิน 80,000 บาท สร้างตึกศัลยกรรมชาย (ตึกมหิดลบำเพ็ญ) รวมทั้งประทานเงินสร้างตึกพยาธิวิทยาอีก 80,000 บาท

ทั้งนี้ยังไม่นับเงินส่วนพระองค์ที่ประทานให้สำหรับเป็นทุนนักเรียนแพทย์และพยาบาล อีกหลายสิบคน รวมถึงประทานเงินให้กับกรมประมง 100,000 บาท สำหรับส่งนักเรียนออกไปศึกษา จำนวน 3 ทุน

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรไม่เพียงแต่ทุ่มเทกำลังพระทัยและกำลังทรัพย์นับล้านบาท ให้กับการยกระดับการพัฒนาด้านการแพทย์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุ บุคคล และระบบการศึกษา พระองค์ยังทรงอุทิศพระวรกาย โดยเป็นผู้สอนเองในวิชาชีววิทยา สำหรับชั้นปี 1 และวิชากายวิภาค สำหรับชั้นปี 2 ของนักเรียนเตรียมแพทย์รุ่นแรกที่หอวัง และด้วยความที่ทรงปรารถนาในการเป็นแพทย์ที่จะได้ช่วยรักษาคนจริงๆ พระองค์ถึงกับเสด็จไปเชียงใหม่ เพื่อเป็นหมอที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค และด้วยพระจริยวัตรที่เรียบง่าย รวมถึงทรงให้ความสำคัญกับคนไข้ทุกคนอย่างเท่าเทียม ทำให้คนเชียงใหม่ต่างเรียกพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรในโรงเรียนแพทย์ จนสามารถจัดชั้นการศึกษาในระดับปริญญาบัตรได้สำเร็จเป็นหลักสูตรแรก คือ หลักสูตรเวชศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิตสำเร็จปริญญาบัณฑิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2471 และสำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475

หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรสวรรคตในปี พ.ศ. 2472 อีก 4 ปีต่อมา ศ.นพ.หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (เฉลิม พรมมาศ) และ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้ส่งบทความ “Preliminary report of a study on the life cycle of Gnathostomiasis spinigerum” ซึ่งเป็นผลงานการค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจิ๊ดครั้งแรกของโลก ไปตีพิมพ์ลง Journal of Parasitology ในปี พ.ศ. 2476 นับเป็นครั้งแรกของแพทย์ชาวไทยที่ได้รับการยอมรับให้เผยแพร่งานศึกษาในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 10 กว่าปี หลังจากที่ผู้แทนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้เคยให้ความเห็นไว้ในช่วงราวๆ ปี พ.ศ. 2459 ว่า โรงพยาบาลศิริราชและราชแพทยาลัย เป็นโรงพยาบาลที่มีมาตราฐานต่ำที่สุดในโลก ความสำเร็จครั้งนั้นถือเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของวงการแพทย์ไทยเลยทีเดียว

ศ.นพ.หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (เฉลิม พรมมาศ) และ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง คือผลผลิตของโรงเรียนราชแพทยาลัย ในยุคก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และทั้งสองท่านยังเป็นผู้ที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร พระราชทานทุนส่วนพระองค์คัดเลือกให้ไปศึกษาที่ต่างประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีขุนศรีภิษัช (เทียบ สุ่นสวัสดิ์) นักเรียนทุนส่วนพระองค์ ผู้ซึ่งเคยมีผลงานร่วมวิจัย ที่ได้ลงตีพิมพ์ใน American Journal of Physiology ในปี ค.ศ. 1931 ถึง 2 เรื่อง ซึ่งผลงานดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของคณะวิจัยของ Prof.Whipple ที่ได้รับรางวัลโนเบล ในปี ค.ศ. 1934

นอกจากนี้ หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้เคยเสนอให้มีการยอมรับผู้หญิงให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ทว่าความคิดของท่านกลับได้รับการคัดค้าน แต่ด้วยเพราะสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรทรงให้การสนับสนุนแนวคิดของหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี จึงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยอมรับให้ผู้หญิงเข้าเรียนระดับปริญญาบัตรได้เป็นครั้งแรก ซึ่งมีนิสิตหญิงเข้ารับการศึกษาจำนวน 4 คน และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2475 ถึง 3 คน

นิสิตหญิง 1 ใน 3 คนนั้นคือ ศ.พญ.มรว.ส่งศรี เกษมศรี ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของผู้หญิงคนแรก ที่ได้เรียนและเรียนจบปริญญาในประเทศ และเป็น 1 ใน 2 ของผู้หญิงคนแรก ที่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ และยังเป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้ Doctor of Medicine จากเยอรมันอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ คือคุณูปการอย่างใหญ่หลวงที่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสร้างไว้ให้กับคนไทย และกับคำถามที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายและกำลังทรัพย์เพื่อวงการแพทย์มากมายขนาดนี้ คำตอบที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นเนื้อความในจดหมายที่พระองค์ทรงเขียนถึงนักเรียนทุนของพระองค์คนหนึ่ง ซึ่งก็คือ ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2471 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า …

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตามมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

และ Prof.A.G.Ellis ยังได้สดุดีสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรไว้ในหนังสือ “พระกรณียกิจปฏิบัติของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (C.P.H., M.D.) ที่ทรงอุปการะการแพทย์ในกรุงสยาม” มีใจความตอนหนึ่งว่า …

“การที่พระองค์อุบัติมาในโลกนี้นั้น ทำให้โลกนี้ดีขึ้นเป็นแน่แท้”

อ้างอิง :

[1] ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย. กรุงเทพฯ : แพทยสภา, 2563.
[2] พระกรณียกิจปฏิบัติของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (C.P.H., M.D.) ที่ทรงอุปการะการแพทย์ในกรุงสยาม. โรงพิมพ์เจตนาผล, 2479.
[3] สวัสดิ์ แดงสว่าง และไชยวัฒน์ แดงสว่าง. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์นายแพทย์ สวัสดิ์ แดงสว่าง ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน 2536 เวลา 17.00 น.. บริษัทศรีสมบัติการพิมพ์ จำกัด, 2536.
[4] วารสารเวชบันทึกศิริราช พฤษภาคม-สิงหาคม 2552, ปีที่ 2, ฉบับที่ 2
[5] วารสารเวชบันทึกศิริราช กันยายน-ธันวาคม 2552, ปีที่ 2, ฉบับที่ 3
[6] วารสารเวชบันทึกศิริราช พฤษภาคม-สิงหาคม 2553, ปีที่ 3, ฉบับที่ 2
[7] วารสารเวชบันทึกศิริราช เมษายน-มิถุนายน 2556, ปีที่ 34, ฉบับที่ 2
[8] มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับระบบสาธารณสุขไทย

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r