‘มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง’ จากความผูกพันอันยาวนาน สู่การมอบสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคมไทย

มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง” จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 โดย หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ ด้วยทุนจดทะเบียน 100,000 บาท แต่ทั้งนี้ หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ เป็นเพียงแค่ผู้ทำหน้าที่แจ้งจดทะเบียนแทนเท่านั้น เพราะผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิตัวจริงคือ Mr. Carsten Friis Jespersen

มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง เดิมใช้ชื่อว่า “มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง เพื่ออุปการะการศึกษา” ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษาแก่นักเรียนที่มีฐานะยากจน และในเวลาต่อมาได้มีการแก้ไขชื่อมูลนิธิ พร้อมทั้งขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ โดยให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัย สนับสนุนด้านการแพทย์ การให้ความช่วยเหลือคนไข้ที่มีฐานะยากจน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านศาสนา วรรณกรรม และศิลปวัฒนธรรม

Mr. Carsten Friis Jespersen เป็นชาวเดนมาร์ก เดินทางเข้ามาเมืองไทยโดยเป็นวิศวกรโยธาที่บริษัท ปูนซีเมนต์สยาม จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 และในระหว่างนั้น Mr. Carsten Friis Jespersen ยังได้รู้จักกับ หลวงพัฒน์พงศ์พานิช นักธุรกิจซึ่งได้สัมปทานทำเหมืองดินขาวส่งบริษัทปูนซิเมนต์สยาม ทำให้ทั้งสองมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน จน Mr. Carsten Friis Jespersen ยกย่องให้ หลวงพัฒน์พงศ์พานิช เป็นพ่อในเมืองไทย

Mr. Carsten Friis Jespersen อยู่ในตำแหน่งวิศวกรโยธาได้ 10 ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2478 ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซีเมนต์สยาม จำกัด ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ท่านเป็นผู้จัดการใหญ่นี้เอง ประเทศสยามได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ทำให้ปูนซีเมนต์สยามเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และต่อมา Mr. Carsten Friis Jespersen ได้พ้นจากตำแหน่งในปี พ.ศ. 2502 รวมระยะเวลาที่เป็นผู้จัดการ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ยาวนานถึง 24 ปี

ด้วยระยะเวลากว่า 34 ปีที่ Mr. Carsten Friis Jespersen ทำงานกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ทำให้เกิดความผูกพันกับประเทศไทยและสังคมไทยเป็นอย่างมาก Mr. Carsten Friis Jespersen จึงได้มอบหมายให้หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ ดำเนินการจดทะเบียนมูลนิธิ พร้อมมอบทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง สำหรับให้เป็นทุนดำเนินการไว้กับมูลนิธิ ซึ่งทรัพย์สินในจำนวนนี้ คือ หุ้นของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย

ปัจจุบันมูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง เป็นมูลนิธิที่ถือหุ้นมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับสองในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งอันดับหนึ่ง คือ มูลนิธิเอสซีจี มีหุ้นในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 13,347,300 ล้านหุ้น ส่วนมูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง ถือหุ้นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 7,647,800 หุ้น ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดราวๆ ประมาณ 3,000 ล้านบาท

ด้วยความผูกพันที่มีต่อประเทศไทย นับตั้งแต่ Mr. Carsten Friis Jespersen เข้ามาทำงานในปี พ.ศ. 2468 จนถึงปี พ.ศ. 2502 เป็นเวลากว่า 34 ปี แม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่ท่านก็ยังพำนักอยู่ที่ประเทศไทย จนกระทั่งเดินทางกลับบ้านเกิดที่ประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ. 2527 รวมระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยยาวนานถึง 59 ปี ชีวิตในวัยเกษียณของท่านมีเพื่อตอบแทนสังคมไทยโดยไม่มุ่งหวังสิ่งใดกลับคืน แม้แต่ชื่อของมูลนิธิก็ใช้ชื่อว่า “นายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง” โดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องให้เป็นที่รู้จักของใคร

และด้วยความที่ Mr. Carsten Friis Jespersen มีความผูกพันกับหลวงพัฒน์พงศ์พานิช ในส่วนของการดำเนินการมูลนิธิจึงได้แต่งตั้งให้นายทองอยู่ พัฒน์พงศ์พานิช ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของหลวงพัฒน์พงศ์พานิชเป็นกรรมการด้วย และในปัจจุบัน ครอบครัวพัฒน์พงศ์พานิช ซึ่งได้แก่ นางบุญยิ่ง ลืออำรุง (พัฒน์พงศ์พานิช) และนายอายุส พัฒน์พงศ์พานิช ก็ยังคงสืบสานอุดมการณ์ของ Mr. Carsten Friis Jespersen ในการมอบสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคมไทย โดยไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน

Mr. Carsten Friis Jespersen
อ้างอิง :

[1] หนังสือ 100 คน ร้อยเรื่องราว 100 ปี เอสซีจี
[2] ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์
[3] เรื่องให้อำนาจจัดตั้งมูลนิธิ “นายห้างโรงปูนผู้หนึ่งเพื่ออุปการะการศึกษา” ,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 70 ตอนที่ 19 วันที่ 17 มีนาคม 2492 หน้า 1147