เกิดอะไรขึ้นกับชาวอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคม ในคืน ‘วันเอกราช’ ของประเทศมาเลเซีย

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเรา เช่น ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดกับชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งช็อปปิ้งในเมืองใหญ่ๆ ที่คนไทยรู้จักกันดี อาทิ กัวลาลัมเปอร์ (รัฐสลังงอร์) อลอสตาร์ (รัฐเคดาห์) และเกาะปีนังแล้ว เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลายเรื่องราวของมาเลเซีย ยังเป็นเรื่องที่น่าติดตามและควรค่าแก่การศึกษาไว้ด้วย

ผู้เขียนเคยทั้งเดินทางท่องเที่ยวและทัศนศึกษาที่ประเทศมาเลเซียหลายครั้ง อีกทั้งยังมีญาติส่วนหนึ่งเป็นคนสยาม-จีนในรัฐเคดาห์ (ไทรบุรี) ที่ยังมีการติดต่อกันจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ประเทศมาเลเซียจึงเป็นดินแดนหนึ่งที่ผู้เขียนหลงใหลและใคร่รู้ ในประเด็นประวัติศาสตร์และความเป็นมาของประเทศนี้อยู่เสมอ

กรณีหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นก็คือ “การได้รับเอกราชของมลายา” (Merdeka) จากประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษในมลายาต้องต่อสู้กับ “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” ด้วยกำลังอาวุธและสงครามจิตวิทยาในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กรณีฉุกเฉินมลายา” (Malayan Emergency) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นการต่อสู้รูปแบบใหม่ในลักษณะ “สงครามกองโจร” (Guerilla Warfare)

สงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในห้วงเวลาดังกล่าว มีสาเหตุเนื่องมาจากความรู้สึกที่คนจีนโพ้นทะเลในมลายา โดนรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษหักหลัง หลังจากพวกเขาช่วยอังกฤษกับสัมพันธมิตรรบกับญี่ปุ่น จนญี่ปุ่นต้องยอมแพ้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (เหตุการณ์กรณีฉุกเฉินฯ ดังกล่าว สิ้นสุดในอีก 3 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2503)

อย่างไรก็ดี ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในช่วง พ.ศ. 2503 เนื่องจากฝ่ายกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้ถอยร่นมายังพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียจนหมดสิ้น จนไม่ได้เป็นภัยคุกคามอันสำคัญอีกต่อไป รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษได้ตัดสินใจที่จะมอบ “เอกราช” ให้แก่ประชาชนชาวมลายา (ในที่นี้มิได้หมายถึงชาวมาเลย์แต่ฝ่ายเดียว แต่หมายรวมทั้งคนมาเลย์ คนสยาม คนจีน คนอินเดีย โอรังอัสรี และอื่นๆ) ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกว่า “สหพันธรัฐมลายา” อันประกอบไปด้วยรัฐใหญ่รัฐเล็กจำนวนมาก ที่มีราชวงศ์และรูปแบบการปกครองแตกต่างกันไปตามธรรมเนียมของแต่ละรัฐ การนี้รวมถึงเกาะสิงคโปร์ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนที่อังกฤษปกครองโดยตรงในฐานะ “สเตรทเซทเทิลเมนท์” (Strait Settlement) ด้วย ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระต่างหากในปี พ.ศ. 2508

การตัดสินใจมอบเอกราชให้แก่ประชาชนชาวมลายาของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับความยินยอมจาก “ลอนดอน” ในเบื้องต้นนโยบายนี้ ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวอังกฤษหรือพวกคนขาว (The Whites – Orang Puteh) ซึ่งในเวลานั้นถือกันว่า เป็นชนชั้นปกครองที่ทรงอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในมลายา “แฮปปี้” นัก เพราะนั่นเท่ากับว่าพวกเขา “อาจจะ” ต้องสูญเสียทั้งอำนาจ ที่ดิน และเงินทองที่พวกเขาได้เพียรสร้างและรักษาไว้ในดินแดนมลายาไป และในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาก็ไม่แน่ใจมากนักว่า รัฐบาลมลายาใหม่หลังได้รับเอกราช ซึ่งบริหารจัดการโดย “พวกชนพื้นเมือง” อาทิ พวกมาเลย์ จีน หรือ อินเดีย จะสามารถทำให้พวกเขารักษาสถานภาพ ความมั่งคั่ง และอภิสิทธิ์ เฉกเช่นที่รัฐบาลอาณานิคมของชนผิวขาวเคยมอบแก่พวกเขาได้ ตามหลักคิดของพวกอาณานิคมที่ว่า “คนขาวเหนือกว่าทุกสิ่ง” (White Supremacy)

ทั้งนี้ ธุรกิจและการประกอบการของคนขาวโดยเฉพาะชาวอังกฤษและออสเตรเลีย (ซึ่งเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ) ในดินแดนมลายาในห้วงเวลาก่อนได้รับเอกราชนั้น ล้วนกระจุกตัวอยู่กับธุรกิจที่มีผลประกอบการมหาศาลเป็นสำคัญ เช่น ธุรกิจด้านยางพารา โดยเฉพาะการทำสวนยางพารา (Rubber plantation) ซึ่งนักธุรกิจชาวอังกฤษมักจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อลงทุนในกิจการดังกล่าว ด้วยการกว้านซื้อที่ดินที่มีความเหมาะสมกับการทำสวนยาง (เรียกกันว่า Estates) แล้วว่าจ้างบรรดาชาวอังกฤษจากสหราชอาณาจักรหรืออาณานิคม มาเป็นผู้จัดการรวมถึงผู้ช่วยและเลขาของสวนยางนั้นๆ

สำหรับตำแหน่งที่ต้อยต่ำลงมา อาทิ เสมียนหรือผู้คุมคนงานของบริษัท มักจะเป็นชาวอินเดียที่รู้ภาษาอังกฤษดี ดังนั้น ประชากรสวนใหญ่ในสวนยางหนึ่งๆ ก็คือคนงาน (labourers – workers) ซึ่งประกอบไปด้วยชาวอินเดีย ชาวมาเลย์ และจีน

และด้วยความที่ผู้จัดการสวนยางและผู้ช่วยผู้จัดการมักเป็นชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่อันกว้างขวางของสวนยางขนาดหลายร้อยไร่ การมอบเอกราชให้แก่ชาวมลายาในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ย่อมทำให้ชาวอังกฤษเหล่านี้ “หวั่นใจ” มิใช่น้อย เพราะไม่รู้ว่าชาวมาเลย์หรือจีนจะพากัน “ลุกฮือ” อะไรขึ้นบ้าง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงกรณีฉุกเฉินฯ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

เพื่อหาคำตอบว่า “เกิดอะไรขึ้นกับชาวอังกฤษในวันที่ประเทศมาเลเซียได้รับเอกราช ?” ในมุมมองจากปากคำของชาวอังกฤษในห้วงเวลาดังกล่าว โชคดีที่ผู้เขียนได้อ่านเจอบันทึกของผู้ช่วยผู้จัดการสวนยางชาวอังกฤษ 2 คน ได้แก่ “มิเชล ทอปป์” (Michael Thopp) ซึ่งทำงานอยู่ใน สุไหง ทาเลม เอสเตท (Sugai Talam Estate) ในเขตกวนตัน (Kuantan) รัฐปาหัง และ “จอห์น ดอทท์” (John Dodd) ที่ประจำอยู่ใน บูกิต เซนจา เอสเตท (Bukit Senja Estate) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกูลิม (Kulim) รัฐเคดาห์ (ไทรบุรี)

โดย “มิเชล ทอปป์” ได้เล่าถึงคืนวันนั้น ในหนังสือ Elephants, Tigers, and Tappers (2009) ว่า …

“ผมนั่งฟังวิทยุกระจายเสียงถ่ายทอดมาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีเสียงคลื่นแทรกเข้ามาบ้าง นี่คือวันที่มาลายาจะได้รับเอกราช โดยจะแยกตัวออกมาจากการปกครองของอาณานิคมอังกฤษที่ได้ดำเนินมากว่า 150 ปี, มันคือวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500. ผมนั่งอยู่ในบังกะโล และอาศัยเพียงแสงสลัวจากตะเกียงน้ำมันที่ค่อนข้างจะเห็นตัวผมได้ไม่ชัดนัก เพราะเผื่อว่าจะมีกลุ่มฝูงคนในเขตสุไหง ทาเลม กรูและบุกเข้ามาเพื่อเล่นงานผม และยังต่วน – Young Tuan (รองนายหัว) แต่ลงท้ายผมก็หลับไปจนได้”

ในอีกด้านหนึ่งของดินแดนมลายาตะวันออก คือ รัฐเคดาห์ “จอห์น ดอทท์” แห่งบูกิต เซนจา เอสเตท ได้เล่าประสบการณ์ที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก ไว้ในจดหมายของเขาที่ส่งไปถึงพ่อที่ประเทศอังกฤษ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 ว่า สำหรับ ‘วันเอกราช’ นั้น “ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมายนักอย่างที่เราได้คิดไว้” และต่อมา ดอทท์ได้เขียนเล่าในไดอารี่ส่วนตัวอีกด้วยว่า “เดือนแห่งเอกราชได้ผ่านพ้นไปโดยที่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเลย สิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นต่างๆ นานา ท้ายที่สุด มันกลับไม่มีอะไรในกอไผ่ทั้งสิ้น”

จากบันทึกปากคำของพยานในห้วงเวลาที่มลายาได้รับเอกราช เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 นี้ จะเห็นได้ว่า แม้แต่พวกคนขาวเจ้าอาณานิคมเอง ยังบังเกิดความกลัวเข้าครอบงำจนคิดหวาดหวั่นไปต่างๆ นานา เมื่อถึงคราวที่พวกตนต้องสละซึ่งอำนาจในการปกครองดินแดนมลายานี้ไป

อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นโชคดีของทั้งทอปป์และดอทท์ รวมถึงชาวอังกฤษในดินแดนมลายาในห้วงเวลาดังกล่าว ที่สามารถรอดพ้นช่วงเวลาอันแสนเปราะบางนั้นมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการได้รับเอกราชของมลายานี้ น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษา ในประเด็นการเปลี่ยนถ่าย/โอนอำนาจอย่างสันติ สำหรับผู้ที่สนใจในอนาคตต่อไป

อ้างอิง :

[1] Michael Thopp .Elephants, Tigers, and Tappers. (Singapore : Marshall Cavendish Editions) 2009.
[2] John Dodd. A company of planters : confession of a colonial rubber planter in 1950s Malaya. (Singapore : Monsoon Book) 2007.
[3] Noel Barber. The war of the running dogs. (Great Britain: Fontana Books) 1972.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า