เมื่อจอมพล ป. ใช้นโยบายกลืนชาติ ห้ามชาวไทยมุสลิมเรียนคัมภีร์อัลกุรอาน

การให้ความสำคัญกับสิทธิและความเท่าเทียมของประชาชนคนไทยนั้น ได้เริ่มก่อร่างแนวคิดมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีความชัดเจนอย่างมากโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 6 ภายใต้แนวคิดที่ว่า ไม่ว่าคนคนนั้นจะอาศัยอยู่ที่ไหน หรือมีเชื้อชาติใดก็ตาม ขอเพียงมีจิตสำนึกที่รักแผ่นดินอันเป็นที่พักพิง และทำมาหากินแล้ว คนผู้นั้นย่อมถือเป็นคนไทย ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

แต่แล้วทุกอย่างกลับแปรเปลี่ยนไปเพราะนโยบาย “ชาตินิยม” ในแบบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เริ่มขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และได้สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงให้กับคนในชาติ

เมื่อคณะราษฎรได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ปรากฎว่าชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทยยังคงมีส่วนแบ่งในทางการเมืองที่น้อยมาก โดยผลของการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2476 ปรากฎว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นมุสลิมเพียงคนเดียวจากจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นสมาชิกจากจังหวัดสตูล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาไทย

ต่อมาในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2480 และ พ.ศ. 2481 ปรากฏว่าคนปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต่างเลือกผู้แทนที่เป็นชาวมาเลย์มุสลิมด้วยกันเข้าไป ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้เผ่าพันธุ์และศาสนาเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในทางการเมือง

และหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ. 2481 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบายชาตินิยมอันเป็นแผนการสร้างชาติ ทำให้การเลือกตั้งนับตั้งแต่นั้นมา จากปี พ.ศ. 2481 – 2491 ชัยชนะต่างตกเป็นของผู้สมัครไทยพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสตูลที่ยังคงรักษาเก้าอี้ของผู้แทนที่เป็นมุสลิมไว้ได้ตลอดสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

นี่จึงแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจทางการเมืองให้แก่กลุ่มชนต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และปัจจัยของเชื้อชาติศาสนาก็ยังคงเป็นตัวกำหนดในการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ปรากฎการณ์เช่นนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า แม้จะมีความพยายามอย่างหนักในการใช้ลัทธิชาตินิยมในช่วงแรกของรัฐบาลจอมพล ป. โดยเน้นสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และขจัดความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ โดยหวังให้มีเพียง “คนไทย” เท่านั้น ไม่มีคนไทยอิสลาม ไทยจีน และไทยเชื้อชาติอื่น แต่ผลการเลือกตั้งกลับมีแนวโน้มไปในทางตรงกันข้าม คือ มีลักษณะของการใช้เชื้อชาติ ศาสนา มาเป็นตัวกำหนดในการตัดสินใจทางการเมือง

ในความเป็นจริงแล้ว การเกิดขึ้นของระบอบรัฐธรรมนูญได้สร้างความหวังในระดับหนึ่งมาสู่คนมลายูมุสลิมภาตใต้เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้พวกเขาเริ่มมีความรู้สึก “เป็นส่วนหนึ่งของชาติในหมู่คนมลายูมุสลิม” และแม้ผลการเลือกตั้งทั่วไปอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในการมีตัวแทนชาวมลายูมุสลิมเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงหรือคอยเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในพื้นที่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นช่วงหนึ่งที่ชาวมลายูมุสลิมได้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะอย่างแพร่หลาย ซึ่งในช่วงดังกล่าว สถิติของการต่อต้านแบบใช้กำลังของชาวมลายูมุสลิมก็ลดน้อยลง ปรากฎการณ์เหล่านี้ เป็นพัฒนาการที่สำคัญของการเปลี่ยนจากระบบการเมืองเก่ามาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้คนมลายูมุสลิมภาตใต้ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งรัฐบาล การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยการพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะในรูปแบบการปราศรัยนั้น ได้ทำให้เกิดความกังวลแก่รัฐบาลในแง่ของความมั่นคงขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง

ดังนั้น อุดมการณ์เรื่อง “รัฐนิยม” จึงได้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นภายในชุมชนต่างๆ โดยได้มีการกำหนด “กฎวัฒนธรรม” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะแห่งชาติไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และชาวไทยมุสลิมก็ถูกกำหนดให้ต้องยอมรับในกฎระเบียบใหม่นี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงเริ่มแผ่กระจายไปทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์แล้ว วัฒนธรรมประเพณีกับศาสนาและขนบธรรมเนียมนั้น ไม่สามารถจะแบ่งแยกออกจากกันได้ ดังนั้น นโยบายชาตินิยมต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตก การห้ามกินหมาก การเข้าไปก้าวก่ายในเรื่องทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม รวมถึงการส่งเสริมให้เรียนภาษาไทยและกำหนดให้ใช้ภาษาไทยเท่านั้นในการติดต่อราชการ จึงเป็นเรื่องที่ชาวไทยมุสลิมต่างมองว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะ “กลืนชาติ” ซึ่งพวกเขาได้พยายามต่อต้านตลอดมา

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้นำชาวไทยมุสลิมเริ่มถูกกำจัดไปมากต่อมาก ดังตัวอย่างที่สำคัญและเป็นที่จดจำของประชาชนคือ กรณีการหายสาบสูญของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูที่พวกเขาภูมิใจ ก็ยิ่งทำให้รอยร้าวแห่งความรุนแรงขยายเพิ่มมากขึ้น

ในช่วงเวลานั้น คนเชื้อชาติและภาษาต่างๆ ที่ไม่ใช่ไทยทั้งหลาย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐนิยมด้วยกันแทบทั้งสิ้น แต่คนมลายูมุสลิมทางภาคใต้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด คำที่เคยใช้เรียกพวกเขา เช่น “คนใต้” หรือ “คนอิสลามที่เป็นไทย” กลับไม่อาจแสดงถึงความเป็นคนไทยได้เต็มที่อีกต่อไป

รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์เริ่มการรณรงค์สร้างความเป็นไทยของทุกๆ ภาค โดยเน้นที่ความเป็น “ไทย” มากกว่าลักษณะของภูมิภาค เช่น การเรียกคนภาคเหนือว่า “ถิ่นไทยงาม” เรียกคนอีสานว่า “ถิ่นไทยดี” แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีวลีในลักษณะเดียวกันที่ใช้แทนคนภาคใต้ในสมัยนั้นโดยเฉพาะคนมุสลิม โดยคำที่ถูกนำมาใช้แทนที่คือ “ไทยอิสลาม” ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงถึงความเป็นไทยของคนมลายูมุสลิม และนัยของการเรียกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าทางการยอมรับความแตกต่างในศาสนา แต่ไม่เห็นด้วยว่าควรจะให้ความสำคัญต่อลักษณะเด่นหรือความแตกต่างของพวกเขาในหมู่พลเมืองที่เป็นคนไทย

นอกจากนี้ ชาวมลายูมุสลิมยังได้รับผลกระทบในเรื่องการแต่งกายตามธรรมเนียมแบบอิสลาม คือ สำหรับผู้ชาย จะถูกห้ามใส่หมวกแบบอิสลาม และห้ามนุ่งโสร่งซึ่งถือเป็นเครื่องแต่งกายตามวัฒนธรรมมลายูที่รัฐบาลมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย โดยให้สวมกางเกงและสวมเสื้อเชิ้ตแทน สำหรับผู้หญิงมุสลิม จะถูกห้ามใส่ผ้าคลุมหัว ซึ่งการห้ามดังกล่าวถือว่าขัดกับการดำเนินชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือ ขัดกับหลักศาสนาอิสลามซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยในกรณีนี้ อิบรอฮิม ชุกรี นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมนายูได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ดังนี้ …

“รัฐบาลบังคับให้ชาวปัตตานีแต่งกายแบบตะวันตก เช่น ใส่เสื้อสากล นุ่งกางเกง สวมหมวกมีปีก ส่วนผู้หญิงให้นุ่งกระโปรง สวมเสื้อแขนสั้น ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกตำรวจจับไปซ้อม นักปราชญ์ทางศาสนา (อุละมา) ก็ถูกบังคับให้แต่งกายแบบตะวันตกเช่นกัน เมื่อตำรวจผู้ใดพบผู้สวมสะระบั่นใส่เชิ้ต ก็จะถูกตำรวจถอดออกไปเหยียบย่ำ ส่วนแม่ค้าที่ขายของในตลาดก็โดนตำรวจตีด้วยพานท้ายปืน เพราะเธอสวมเสื้อกะบายาและมีผ้าคลุมศีรษะ”

และสิ่งที่น่าตกใจคือ เมื่อปี พ.ศ. 2484 ชาวไทยมุสลิมถูกรัฐบาลห้ามเรียนคัมภีร์อัลกุรอานทั้งภาษาอาหรับและภาษามลายู โดยชาวมลายูในอำเภอสายบุรีต่างถูกบังคับให้กราบไหว้พระพุทธรูป ซึ่งถูกตั้งตามโรงเรียนต่างๆ และนักเรียนของโรงเรียนเหล่านั้นที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมก็ถูกบังคับให้กราบไหว้พระพุทธรูปด้วยเช่นกัน นั่นคือปรากฎการณ์ที่รัฐไทยพยายามสร้างให้พระพุทธศาสนากลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของชาติ ซึ่งถือว่ามีลักษณะที่รุนแรงมาก

และอีกหนึ่งตัวอย่างคือ การประดิษฐานพระพุทธรูปที่วัดเขากง จังหวัดนราธิวาสอันเป็นชุมชนมุสลิม ทั้งหมดนี้หากมองโดยผิวเผินก็อาจจะเป็นการพัฒนาที่พบเห็นได้โดยทั่วไป แต่หากมองด้วยมุมมองของผู้ที่ได้รับผลกระทบจะพบว่า รัฐบาลได้พยายามอย่างแข็งขันในการขยายอิทธิพลด้านวัฒนธรรมไทย ให้เข้าไปในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างหนักแน่น แม้จะไม่ค่อยได้ผลมากนักก็ตาม

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนมลายูมุสลิม คือเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2487 ที่มีการประกาศยกเลิกกฎหมายศาสนาอิสลาม และประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และ 6 ว่าด้วยครอบครัวและมรดก รวมถึงการยกเลิกตำแหน่งดาโต๊ะยุติธรรมซึ่งทำหน้าที่ตัดสินคดีมรดกและครอบครัวของคนมุสลิม ซึ่งการห้ามทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวบ้าน จนนำมาซึ่งความไม่พอใจเป็นอันมาก และส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นของชาวมลายูมุสลิมเข้าไปยังประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในรัฐไทรบุรี ปะลิศ กลันตันและตรังกานู

ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจคือ ในปี พ.ศ. 2486 – 2490 ไม่ปรากฏสำนวนคดีศาสนาในศาลสี่จังหวัดชายแดนใต้เลย นี่อาจเป็นการแสดงถึงการผลักดันให้เกิดการ “แยกดินแดน” ขึ้นโดยรัฐไทยเอง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า นอกจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติศาสนาแล้ว นโยบายทางการเมืองที่ใช้อยู่ในรูปของกฎหมายยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกของชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ และการไม่สามารถใช้กลไก สถาบันการเมือง หรือองค์กรของรัฐในการแก้ปัญหาได้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการหันไปพึ่งสถาบันการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านแทน

นอกจากการส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในนโยบาย “กลืนชาติ” ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้แล้ว การจัดตั้ง “นิคมสร้างตนเอง” ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการนำคนจากภาคอีสานเข้าไปตั้งถิ่นฐานยังภาคใต้ เพื่อเป็นการลดสัดส่วนจำนวนชาวมุสลิมในท้องถิ่นให้น้อยลง ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันไม่บริสุทธิ์ของรัฐบาลในการเผยแพร่อิทธิพลของไทยพุทธ

โดยสรุปแล้ว นโยบายชาตินิยมของจอมพล ป. ในช่วงแรกนี้จะมีลักษณะที่รุนแรง เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ใช้ความเป็นไทย (ไทยภาคกลาง) เป็นแกนกลางหลัก พร้อมกับความเป็นตะวันตกในการวางแนวปฏิบัติให้กับประชาชน และจากการใช้นโยบายที่มีลักษณะรุนแรงนี้ ทำให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะชาวมุสลิมภาคใต้ต่างมองว่า นี่คือความพยายามที่จะ “กลืนชาติ” ทำให้เกิดการต่อต้าน ขัดขืน จนกระทั่งนำไปสู่การตอบโต้ในหลายระดับจากประชาชนนั่นเอง

และหลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจลง นโยบายชาตินิยมในแบบจอมพล ป. ก็ได้จางหายลงไปด้วย ทำให้คนเชื้อชาติต่างๆ ในประเทศไทยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น รวมถึงได้รับการสนับสนุนทั้งในแง่โอกาส และเสรีภาพในด้านต่างๆ ทั้งทางศาสนา หรือการแสดงออกทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม อย่างเท่าเทียมกันในฐานะ “ประชาชนคนไทย” มาจวบจนถึงปัจจุบัน

ที่มา :

[1] สุรินทร์ พิศสุวรรณ, “นโยบายประสมประสานชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์” (เอกสารวิชาการหมายเลข 43 เพื่อประกอบการสัมมนาสองศตวรรษรัตนโกสินทร์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย สถาบันไทยคดีศึกษา) หน้า 5-6
[2] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, “ความเป็นมาของทฤษฎี “แบ่งแยกดินแดน” ในภาคใต้ไทย” หน้า 54-55, 66-67, 69
[3] สุรินทร์ พิศสุวรรณ, ผู้นำความขัดแย้งและความรุนแรง: สภาวกาณณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน้า 40
[4] อิมรอน มะลูลีม, วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศไทย: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน้า 145-146
[5] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ, หน้า 161

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า