‘สังหารหมู่เชลยสยาม’ ความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ช่วง ‘กบฏไทรบุรี’ ที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารไทย

กบฏไทรบุรี ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นถือเป็นสงครามจารีตขนาดใหญ่ไม่แพ้แนวรบด้านเขมรและเวียดนาม กล่าวคือเป็นการรบกันระหว่างกองทัพข้างสยาม (นำโดยนครศรีธรรมราชในฐานะผู้ดูแลเมืองไทรบุรี) และฝ่ายมลายู (นำโดยเจ้าฝ่ายไทรบุรีที่ถูกทัพนครฯยึดครองเมืองนับทศวรรษ) นอกจากจะเป็นเรื่องระหว่าง 2 เมืองข้างต้นนี้แล้ว สงครามครั้งดังกล่าวได้นำเอาตัวแสดงอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย อาทิ การหักหลังสยามของเจ้าแขก 7 หัวเมืองแล้วไปร่วมกับทัพไทรบุรี ซึ่งตามมาด้วยการกวาดล้างและทำลายเมืองปัตตานีอย่างรุนแรง หรือกระทั่งการปรากฏตัวของอังกฤษในฐานะมิตรของสยาม และเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ทางการค้าบริเวณเกาะปีนัง

และด้วยการมีอยู่ของอังกฤษนี้เอง ทำให้เหตุการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ หาได้คลาดไปจากสายตาของเจ้าหน้าที่อาณานิคมอังกฤษ พวกเขามักจดบันทึกและรายการสถานการณ์เหล่านี้อยู่เสมอ และบางคนก็ได้กลับมารวบรวมความทรงจำที่พบเจอมา ณ ดินแดนตะวันออกไกลนี้รวมเล่มตีพิมพ์ในรูปแบบบันทึกการเดินทางวางจำหน่ายเพื่อให้ประชาชนชาวอังกฤษที่กระหายใคร่รู้ความเป็นไปในโลกที่พวกเขาไม่รู้จักได้อ่านและจินตนาการผ่านรอยประทับของน้ำหมึก

เมื่อกลับมาในเอกสารของฝ่ายไทยในเหตุการณ์กบฏไทรบุรี ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดารหรือจดหมายเหตุต่าง ๆ เมื่อกล่าวถึงการผลสงครามแล้ว มักจะกล่าวถึงเพียงผลการรบแพ้ชนะ ความสูญเสีย จำนวนดินปืนหรือไพร่พลที่ใช้ไป หรือในการรบครั้งนั้นผู้นำฝ่ายไทยหรือมลายูเป็นใคร แต่กลับหาได้ลงรายละเอียดไปลงไปในเรื่องรูปแบบการรบ การแต่งกาย แม้แต่ ‘จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ’ ที่เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานฝ่ายไทยที่ได้จดบันทึกเหตุการณ์สงครามครั้งนี้ไว้อย่างละเอียดที่สุดก็มิได้ให้รายละเอียดของ ‘หน้าตาทัพสยาม’ ไว้เลย

นี่อาจเป็นเพราะจารีตในการจดบันทึกของชาวไทยในอดีตก็เป็นได้ เพราะหน้าที่ของจดหมายเหตุหรือพงศาวดารนั้นมีไว้เพื่อการบันทึกเฉพาะความสำคัญของเหตุการณ์ (อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้บันทึก) ว่าใคร ทำอะไร ทีไหน อย่างไร ผลอย่างไร ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องปัจเจกอื่น ๆ นั้นหาได้มีความสำคัญอันใด เพราะจุดประสงค์ของการเขียนคือใช้ในราชการหรือราชสำนัก มิใช่บันทึกเตือนความจำหรือบันทึกของนักเดินทางตะวันตกที่มุ่งเน้นการเขียนอธิบายภาพให้ผู้อ่านที่เป็นชาวยุโรปมีภาพแห่งจินตนาการถึงชาวตะวันออกที่พวกเขาไม่คุ้นชินว่ามีหน้าตาหรือวิถีชีวิตแตกต่างกับพวกเขาอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ หากผู้ที่สนใจจะหาอ่านเกี่ยวกับการทำสงครามของสยามในสมัยจารีตในประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยจึงมิอาจสืบเสาะได้จากเอกสารฝั่งไทย เขาและเธอควรให้ความสนใจไปยังเอกสารของชาวตะวันตกเอง และตัวอย่างที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการบรรยายเหตุการณ์กบฏไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ ‘The Blockade of Kedah in 1838’ (การปิดล้อมเมืองไทรบุรี 2381)ของ Sherard Osborn การเดินทางมายังคาบสมุทรมลายูของในช่วงท้าย ๆ ของสงครามไทรบุรี ทำให้ Osborn เป็นประจักษ์พยานสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าว และถือเป็นหลักฐานร่วมสมัยชิ้นสำคัญที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับช่วงกบฏไทรบุรีที่ทั้งเอกสารฝั่งไทยและมลายูละเลยหรือไม่ได้จดบันทึกลงไป

รายละเอียดของกองทัพสยาม (ทัพนครศรีธรรมราช) ฝ่ายไทยให้รายละเอียดข้อมูลการทัพไว้ว่านำทัพโดยพระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีคนไทย พระเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรี และพระวิชิตไกรสร ภายใต้คำสั่งของเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งล้มป่วยมิสามารถนำทัพมาเองได้

สำหรับเหตุการณ์ สังหารหมู่เชลยสยาม’ (The Masscacre of Siamese prisoners) นั้น Osborn อธิบายว่าเบื้องต้น เชลยสยามเหล่านี้ถูกนำมากุมตัวไว้ที่ป้อม ณ ปากน้ำไทรบุรี เพื่อทำงานหนักด้วยการขุดดินขึ้นเป็นแนวคูเพื่อให้น้ำฝนไหลลงไปขัง ซึ่งเชลยสยามเหล่านี้จะถูกคุมตัวมาทำงานและถูกนำกลับไป แต่วันหนึ่งหลังจากที่ Osborn ได้แวะเยี่ยม อินเจ๊ะลาอะ (Inchi Laa) เจ้านายมลายูคนหนึ่ง เขาก็ได้สังเกตเห็นความผิดปกติ กล่าวคือในครั้งนี้เชลยชาวสยามได้ถูกห้อมล้อมไว้ด้วยชาวมลายูมากมายและบรรดาผู้นำมลายูหลายคนก็ปรากฎตัวอยู่ที่นั่นด้วย

แม้พวกชาวอังกฤษจะยืนอยู่ไกลจากป้อมพอสมควรจนทำให้เห็นความเป็นไปได้ไม่ถนัดนัก  ‘…แต่ความสนใจของพวกเราก็ถูกดึงดูดด้วยเสียงแผดร้องอันดังอย่างน่าเวทนา…’ พวกมลายูที่อยู่บริเวณเชิงเทินกำแพงป้อมก็กรูเข้ามามุง Osborn บรรยายต่อไปว่า ทันใดนั้น ชาวจีนคนหนึ่งวิ่งตาลีตาเหลือกมาทางคณะชาวอังกฤษ (ของ Osborn) และตามมาด้วยติด ๆ ด้วยการไล่ยิงจากฝั่งมลายูหลายนัด อย่างไรก็ดี ชาวจีนผู้นั้นปลอดภัยเพราะอยู่ภายใต้การอารักษาของ Osborn

หลังจากที่ปลอบใจชาวจีนผู้เคราะห์ดีนั้นแล้ว พวกอังกฤษก็ได้รับทราบความจริงว่า ตนกู โมฮัมหมัด ตาปีอิตัม (Tonkoo Mahomet Type-etam) ได้สั่งให้ทหารมลายูไทรบุรีจัดการ ‘เผาพวกเชลยสยาม’ จำนวน 300 คน (หรือทั้งหมดที่พวกมลายูกุมตัวไว้) เพื่อเป็นการล้างแค้นการศึกที่ฝ่ายมลายูพ่ายแพ้ย่อยยับมาก่อนหน้านี้ โดยเชลยสยามถูกบังคับให้ออกไปยืนบนขอบของแนวคูที่พวกเขาขุดไว้เองกับมือก่อนหน้านี้ในทุก ๆ วัน ทันใดนั้น ตูกู โมฮัมหมัดได้ชักกริชของเขาออกมาแล้วแทงไปยังเชลยสยามผู้หนึ่งแล้วจึงทิ้งศพเชลยผู้นั้นลงไปในก้นหลุมซึ่งต่อมาทัพสยามจะต้องเหยียบเส้นทางนี้ในการเข้าตีไทรบุรีในกาลข้างหน้า

ในมุมมองของชาวตะวันตกอย่าง Osborn เขาให้ความเห็นต่อเหตุการณ์สังหารหมู่เชลยสยามไว้อย่างสั้น ๆ ว่า เป็นการกระทำที่เลือดเย็นและป่าเถื่อนอย่างหาที่สุดไม่ได้ (cold-blooded act of cruelty) แม้แต่สหายชาวมลายูที่สนิทกับ Osborn คนหนึ่งถึงกลับกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ ผิดมนุษย์

อย่างไรก็ดี ขอให้เข้าใจว่าการสังหารหมู่นี้แม้จะดูโหดร้ายแต่ก็เป็นเรื่องปกติในโบราณที่การรบแบบจารีตเกิดขึ้นภายใต้มุมมองที่แตกต่างกับความเข้าใจของคนในปัจจุบัน และก่อนที่แนวคิดหลักด้านมนุษยชนจะถูกนำเข้ามาในแถบนี้ อย่างน้อย ๆ Osborn ก็ได้ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ทั้งฝ่ายไทยและมลายูไม่ได้กล่าวถึงไว้อันอาจเป็นประโยชน์ในการศึกษาแนวคิดเบื้องหลังการสงครามในสมัยจารีตในดินแดนแถบนี้ก็เป็นได้

อ้างอิง :

[1] กบฏหวันหมาดหลี
[2] Sherard Osborn. The Blockade of Kedah in 1838.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า