‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ เปิดวิธีการแทรกซึมของ พคท. ในอดีต เทียบกับวิธีของนักปลุกระดมยุคปัจจุบัน

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นโดยมีนักศึกษาเป็นหัวขบวน ในการนำประชาชนเรือนแสนเรียกร้องทวงคืนประชาธิปไตย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสั่งสมมาจากการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางสังคมและการเมืองของนักศึกษา ควบคู่กับกระแสความคิดหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลร่วมกับกระแสความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ก็คือ ความคิดปฏิวัติ

แม้จะมีผู้กล่าวว่า ความคิดปฏิวัติสามารถหล่อหลอมให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านการจัดตั้งของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พคท. มีผู้ปฏิบัติงานของพรรคเคลื่อนไหวอยู่ในเมือง แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นตัวแทนส่งผ่านความคิดแบบ พคท. ไปยังนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ทั้งโดยการเชื่อมต่อทางความคิด ภูมิปัญญา ในประเด็นที่สนใจร่วมกันโดยนักศึกษาอาจไม่รู้ตัว ทั้งการเข้าสู่จัดตั้งของ พคท. ที่ทำให้นักศึกษากลายเป็นแนวร่วมมวลชนของพรรค ที่ต้องคอยรับมติ แถลงการณ์ คำชี้แนะ คำชี้แจงต่างๆ ในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางที่พรรคกำหนด

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่จัดตั้งของพรรคไม่ได้เกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทั้งหมด เพราะผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ยึดกุมเข็มมุ่งที่ว่า “ปิดลับ อำพราง แก่นแกน ซุ่มซ่อน ยาวนาน” เพื่อป้องกันการถูกจับกุม ทำให้ต้องเลือกเฟ้นและทาบทามเฉพาะคนที่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมือง และแสดงบทบาทชัดเจนว่า มีความคิดที่สอดคล้องกับ พคท. กระบวนการหล่อหลอมตนเองให้มีความคิดแบบ พคท. จึงต้องเกิดขึ้นก่อนในตัวนักศึกษา ไม่ว่าจะเข้าจัดตั้งหรือไม่ก็ตาม

เช่น ไขแสง สุกใส นักการเมืองที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมมาตลอด เขาถูกชักชวนเข้าจัดตั้งของพรรคหลายครั้งแต่ก็ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “ถ้าไม่รู้จริงก็ไม่เข้าอาสา” เนื่องจากมองว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน แต่ก็ไม่ปฏิเสธการมีปฏิสัมพันธ์กับคนของ พคท. เลือกรักและนับถือเป็นรายบุคคล ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ไขแสงจัดอยู่ในกลุ่มแนวร่วมของ พคท. การที่ถูกทาบทามและปฏิเสธไปหลายครั้ง สะท้อนว่ามีการพบปะพูดคุยกับคนของพรรค แม้จะไม่ทราบรายละเอียด แต่สันนิษฐานว่าคงให้ความช่วยเหลือกันและกัน โดยเฉพาะลักษณะนิสัยของไขแสงที่เป็นคนใจใหญ่ รักพวกพ้อง รักความเป็นธรรม อาจให้ความร่วมมือบางประการแก่ พคท. ด้วย

แม้ผู้ปฏิบัติงานในเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2516 มีจำนวนน้อย และการสร้างแนวร่วมยังทำได้จำกัด แต่ก็เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของ พคท. ในขบวนการนักศึกษาชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ในปี พ.ศ. 2515 เริ่มมีข้อเขียน บทความ และบทกวีของนักคิดนักเขียนคอมมิวนิสต์ ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มละบาทของนักศึกษา เช่น “ลอมฟาง”, มีการนำบทกวีการเมือง (จิตร ภูมิศักดิ์) มาอ่านในที่ชุมนุมของนักศึกษาคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ปฏิบัติงานในเมืองในหมู่นักศึกษากล้าทำงานเปิดมากขึ้น ไม่เอาแต่ทำงานลับเหมือนที่ผ่านๆ มา ในปี พ.ศ. 2516 ผู้ปฏิบัติงานนักศึกษาที่ได้รับการจัดตั้งจาก พคท. ได้นำเอกสาร และหนังสือของ พคท. มาอ่านเผยแพร่กันในกลุ่มกิจกรรมของตน เช่น บทความของ สปท. บทวิพากษ์ของหลู่ชิ่น ชีวทัศน์ของเยาวชน สรรนิพนธ์และคติพจน์ของเหมา เจ๋อ ตุง บางกลุ่มก็พิมพ์ประวัติของเช กูวาราออกเผยแพร่ ซึ่งได้รับความนิยม และเป็นแบบอย่างทางจิตใจการปฏิวัติมากที่สุดในหมู่นักศึกษา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เล่าว่า ประโยชน์ เมธางกูร หรือลุงประโยชน์ จัดตั้งในเมืองของ พคท. ซึ่งมีฐานกำลังอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอิทธิพลต่อการตีพิมพ์ประวัติเช กูวาราเป็นตอนๆ ในหนังสือ “ลอมฟาง” มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ก่อนนำไปจัดพิมพ์รวมเล่มโดยกลุ่มอิสระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงานของ พคท. มีความพยายามในการเผยแพร่ความคิดของพรรคในกลุ่มนักศึกษา กระทำอย่างปิดลับมิให้ผิดสังเกต เพราะนักศึกษาบางส่วนเริ่มอ่านหนังสือแนวทางสังคมนิยม จึงใช้งานเขียนโฆษณาทางอ้อม แต่ซึมลึกในความคิด และสะสมภูมิปัญญาความคิดเกี่ยวกับแนวทางสังคมนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวความคิดและแนวทางการเมืองของ พคท. ที่มีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษามากที่สุด คือการชี้ให้เห็นว่า ไทยเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาของจักรวรรดินิยมอเมริกา ไม่มีเอกราชแท้จริง ตามคำขวัญของพรรค “เอกราช ประชาธิปไตย และเจริญรุ่งเรือง” ประชาชนไทยต้องต่อสู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาด้วย มิใช่แค่เผด็จการซึ่งเป็นลูกสมุนเท่านั้น คำขวัญเช่นนี้ทำให้นักศึกษาบางส่วนเห็นด้วยกับภารกิจของขบวนการนักศึกษา ที่มิใช่แค่ต่อสู้กับเผด็จการเพื่อประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พคท. จึงไม่มีบทบาทในการชี้นำการเคลื่อนไหวของนักศึกษา นอกจากสังเกตการณ์อย่างระแวดระวัง และให้ผู้ปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดกับขบวนการนักศึกษา ได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหว ดังที่ จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้บรรยายว่า

“… ผู้นำ หรือจัดตั้งของผม (ผู้ปฏิบัติงานของ พคท.) ก็มิได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร แนะนำให้ผมเข้าร่วมอย่างห่างๆ ไม่ให้แสดงบทบาท เช่น ไม่ร่วมลงชื่อ 100 คนแรกๆ ทั้งที่ผมกับกลุ่มนี้สนิทชิดเชื้อกัน ร่วมทำกิจกรรม และเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา และได้ทำหน้าที่ไปติดต่อกับบุคคลสำคัญๆ ให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เหตุผลสำคัญเพราะจัดตั้งคาดคะเนสถานการณ์ว่า กลุ่มนี้จะถูกติดตาม และจับกุมอย่างแน่นอน …”

แม้จรัลไม่ได้เคลื่อนไหวในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากคำชี้แนะของจัดตั้ง ที่ประเมินสถานการณ์ว่านักศึกษาจะถูกปราบปราม แต่ก็ยังติดตามข่าวสาร พบปะเพื่อนฝูงในกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และเข้าร่วมการชุมนุมของนักศึกษา-ประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้มีบทบาทเป็นหัวขบวนชี้นำการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม จรัลถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวร่วมในเมืองที่อยู่ภายใต้การชี้นำของจัดตั้ง มีความคิดในการปฏิวัติตามแบบ พคท. และพยายามเผยแพร่ความคิดของพรรค ส่งต่อไปยังกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษามีการเคลื่อนไหวของ พคท. แทรกซึมและสนับสนุนกิจกรรมอยู่ เพียงแต่คนของ พคท. ไม่ขึ้นมามีบทบาทเด่น ทำให้ดูกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการนักศึกษาโดยรวม

แม้ พคท. ไม่มีบทบาทในขบวนการนักศึกษา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความคิดของ พคท. อยู่ในความสนใจและมีอิทธิพลต่อนักศึกษา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลได้ชี้ให้เห็นว่าความคิดในขบวนการนักศึกษาที่นำไปสู่กรณี 14 ตุลาคม มีอยู่ 5 กระแส ซึ่งคนหนึ่งอาจรับกระแสมากกว่าหนึ่งก็ได้ ได้แก่ กระแสวรรณกรรม-แสวงหา, กระแสหลัก, กระแสอิสระ, กระแสเสรีนิยม และกระแสพคท. สมศักดิ์ยังเสนออีกว่า พคท. เป็นกระแสหนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดในขบวนการนักศึกษา มาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม ไม่ใช่เพิ่งมาฉวยโอกาสทีหลังอย่างที่เคยเข้าใจกัน

เช่น การสังเกตการณ์การเลือกตั้งของนักศึกษา พ.ศ. 2512 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของนักศึกษา มีคนของ พคท. แฝงตัวอยู่ มีการทำหนังสือในนามผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง แล้วใส่บทกวีซ้ายๆ สมัยช่วงทศวรรษ 2490 ลงไป รวมทั้งกลุ่มอิสระต่างๆ ก่อน 14 ตุลาคม ก็มีคนของ พคท. เข้าไปมีบทบาท กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มนักศึกษาในมหาลัยธรรมศาสตร์ ล้วนได้รับกระแสอิทธิพลทางความคิดของ พคท. ควบคู่กับกระแสความคิดอื่นๆ

หลังเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 พคท. ได้เคลื่อนไหวอย่างฉับไว ทันต่อสถานการณ์ เพราะในวันที่ 16 ตุลาคม 2516 ได้ออกประกาศ “คำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (14 ตุลาคม 16)” ที่เขียนโดยคณะกรรมการกลางของ พคท. แสดงจุดยืนอยู่ข้างประชาชน ซึ่งผู้ศึกษาสันนิษฐานว่า แถลงการณ์ดังกล่าวคงเผยแพร่ผ่าน สปท. ซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงเพียงอย่างเดียวของ พคท. ที่ผู้คนสามารถรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในพื้นที่ชนบทและในเมือง โดยเนื้อหาสำคัญในคำแถลง พคท. ได้กล่าวสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พร้อมประณามรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ร่วมชุมนุม อันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิต

พคท. ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์ขณะนั้นว่า การที่ขบวนการนักศึกษาและประชาชนขับไล่รัฐบาลทหารออกไปได้ ยังไม่ใช่ทางสิ้นสุดของปัญหา เนื่องจากรัฐบาลใหม่ยังคงเป็นตัวแทนของจักรวรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง ไม่ถือว่าเป็นรัฐบาลที่แท้จริงของประชาชน พคท. จึงเสนอว่ารัฐบาลควรมาจากตัวแทนของประชาชน มีแนวนโยบายที่เข้าถึงประชาชนอย่างเท่าเทียม การจะได้มาซึ่งรัฐบาลของประชาชนจึงต้องทำการปฏิวัติเท่านั้น ประชาชนควรผนึกกำลังกันและประสานการต่อสู้ด้วยอาวุธ เพื่อสนับสนุนการปฏิวัติในชนบท

รวมบทความเรื่องปฏิบัติการของ พคท. ในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516

1. การแทรกซึมทางความคิดของ พคท. ปฐมบทแห่งการโฆษณาชวนเชื่อในยุคแสวงหา
2. ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ เปิดวิธีการแทรกซึมของ พคท. ในอดีต เทียบกับวิธีของนักปลุกระดมยุคปัจจุบัน
3. การรุกคืบครอบงำนักศึกษาของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ หลัง 14 ตุลา 2516
4. ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์ กระจกสะท้อนการถูกชี้นำในปัจจุบัน ที่ขาดการประนีประนอมเพื่อผลทางการเมือง จนเกิดภาวะถูกโดดเดี่ยว
5. ‘ย้อนเกล็ดคอมมิวนิสต์’ เมื่อรัฐใช้การต่อสู้ทางความคิด จนพิชิตปัญหาความขัดแย้งลงได้

อ้างอิง :

[1] วัฒน์ วรรลยางกูร, ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก, (กาญจนบุรี: ปลายนา, 2543), 190.
[2] ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข, “แลไปข้างหน้า (2516-2519) ขบวนการนักศึกษากับซ้ายไทย,”
[3] คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, “คำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (14 ตุลาคม 16)”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ