‘อยุธยา ยุทธการ’ เกมอำนาจเมืองท่าขุมทองโลก ตอนที่ 9

บทความโดย นายปฎิพล อภิญญาณกุล

ช่วงต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ก่อนที่คอนสแตนติน ฟอลคอน จะได้รับความไว้วางใจให้เป็น พระยาวิไชเยนทร์ บทบาทการค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในความรับผิดชอบของแขกเปอร์เซีย

ที่จริงในกลุ่มข้าราชการที่ทำงานให้กรุงศรีอยุธยามีหลากหลายชนชาติ ทั้งที่เป็นคนจีน คนมอญ คนญี่ปุ่น และพวกคนแขก คนแขกในที่นี้รวมหมายถึงแขกที่มาจากฝั่งเปอร์เซีย และแขกมลายู แขกจาม (แขกจาม รกรากเดิมอยู่ที่อาณาจักรจามปา บริเวณประเทศเวียดนาม และกัมพูชา)

แต่ในเวลานั้นแขกเปอร์เซียหรือแขกอิหร่าน มีบทบาททางการค้ามากที่สุด โดยรับผิดชอบดูแลกรมท่าขวา (ดังที่เคยเขียนไปในตอนก่อนหน้านี้ว่า กรมการค้าสมัยอยุธยาจะมี 2 กรมหลัก ๆ คือ

* กรมท่าขวา รับผิดชอบดูแลการค้าทางด้านเอเซียใต้ อาหรับ อินเดีย ศรีลังกา คาบสมุทรมลายู หมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยใช้ภาษาอาหรับและมลายูเป็นหลัก / * ส่วนกรมท่าซ้าย จะรับหน้าที่ดูแลการค้าทางด้านตะวันออก จีน ญี่ปุ่น หมู่เกาะริวกิว และเกาหลี)

นอกจากแขกเปอร์เซียจะรับราชการด้านการค้าแล้ว ยังมีกลุ่มคนแขกส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานเป็น “ทหารอาสา” ให้กับพระเจ้าแผ่นดินและรับใช้เจ้านายในอยุธยา ยิ่งทำให้บทบาทของแขกเปอร์เซียอิหร่านโดดเด่นขึ้น

นายอับดุล ราซัค คือหัวหน้าแขกที่ได้เข้าร่วมศึกชิงบัลลังก์จากสมเด็จพระศรีธรรมราชาในคราวพิธีตะเซยัต หลังจากนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงได้ตั้งให้เป็นออกญาพิชิต ดูแลการค้ากรมท่าขวา – ในทางการเมืองไม่ใช่แค่การตอบแทนความดีและผลงานเท่านั้น แต่เป็น “การตั้งผู้นำชุมชนเปอร์เซีย” ให้ขึ้นมาเพื่อควบคุมกลุ่มแขกเปอร์เซียด้วยกันที่มีอยู่จำนวนมากในอยุธยา

การตั้งคนต่างชาติที่ไม่ใช่คนสยามในตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่ง แสดงให้เห็นถึงการพิจารณาคนจากภาระกิจของงาน มิใช่พิจารณาคนจากคนของใคร

แต่เหรียญมักมี 2 ด้านเสมอ .. อับดุล ราซัค หรือออกญาพิชิต แม้จะทำหน้าที่การค้าได้ดี หาประโยชน์และรายได้เข้าราชสำนักอยุธยาได้มาก แต่ก็ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองในการหาประโยชน์ ด้วยการแอบค้าขายหนังกวางส่งให้กับทางญี่ปุ่น

ด้วยการใช้คนเดินเรือที่เป็นชาวจีน และชักธงชาติโปรตุเกสขึ้นบนเสาเพื่อปกปิดไม่ให้รู้ว่าเป็นเรือสินค้าของตน ล่องสำเภาไปค้าขายหนังกวางกับญี่ปุ่น โดยทั้งที่รู้ว่าการค้าสินค้าหนังกวางนั้นเป็นสินค้าที่บริษัทการค้าฮอลันดาได้ผูกขาดการขายแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ฮอลันดาจับได้และเป็นเหตุให้เกิดการปิดอ่าวไทย ดังที่ได้เขียนเล่าไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้

ช่วงเวลาตรงนี้นายคอนสแตนติน ฟอลคอน ดูเหมือนได้เข้ามาตรวจสอบบัญชี รายรับ รายจ่าย และระบบการเงินการค้าของกรมท่าขวาและราชสำนัก พบว่ามีกลุ่มแขกได้ทำการยักยอกทรัพย์ของหลวงไปเป็นของตนเองจำนวนมาก เป็นเหตุให้ออกญาพิชิต หรือนายอับดุล ราซัค ถูกปลดออกจากราชการกรมท่าขวา

เมื่อความผิดหนึ่งถูกจับได้ ความผิดที่สอง ที่สาม ที่สี่ ซึ่งเคยปกปิดไม่เคยมีใครรู้ก็ผุดขึ้นตามมา .. พบว่าอับดุล ราซัค เป็นคนขี้เมา ใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงผู้อื่น คนจำนวนมากต่างไม่พึงพอใจ แต่เพราะอำนาจจากตำแหน่งออกญาพิชิตที่มีอยู่ ทุกคนจึงได้แต่อดกลั้นไม่สามารถทำอะไรได้ จะทำหนังสือร้องเรียนก็ไม่ถึงมือผู้รับผิดชอบ – ออกญาพิชิตจึงถูกคุมขังในคุก และถูกลงอาญาอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต

จากนั้นตำแหน่งหัวหน้าผู้ดูแลการค้ากรมท่าขวา จึงว่างลง .. ย่อมเป็นที่หมายปองของข้าราชการกลุ่มต่าง ๆ และดูเหมือนสมเด็จพระนารายณ์ไม่ยอมให้ตำแหน่งหัวหน้าทางการค้านี้กับคนไทย หรือขุนนางสยามคนไหน – พระองค์ได้แต่งตั้งขุนนางที่เป็นแขกอิหร่านอีกคนหนึ่ง เข้ามาเป็นหัวหน้าดูแลกรมการค้าแทน นั้นคือ “อกา มะหะหมัด” ได้รับการตั้งยศให้เป็น “ออกพระศรีเนาวรัตน์”

ทำไมตำแหน่งสำคัญเช่นนี้ถึงต้องเป็นคนแขก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น – ถ้ามองในการค้าการธุรกิจ ในช่วงเวลานั้นการค้าฝั่งอาหรับ อินเดีย ไกลไปจนถึงยุโรป มีความสำคัญอย่างมาก ทางด้านประเทศอินเดียมีบริษัทการค้าของต่างชาติใหญ่ ๆ ตั้งสถานีการค้าอยู่ เช่น อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส การใช้คนเปอร์เซียจึงเป็นการใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ อันจะหาคนไทยคนไหนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่นนี้ไม่ได้

ขณะเดียวกัน กลุ่มแขกหลายกลุ่มซึ่งได้อพยพเข้ามาค้าขาย รับราชการ รวมถึงเป็นกองกำลังอาสาให้กับอยุธยา มีจำนวนมาก มีการตั้งหมู่บ้านเฉพาะกลุ่มอยู่รอบ ๆ กรุงศรีอยุธยา จัดเป็นชุมชนแขกขนาดใหญ่ เมื่อคนมากปัญหาย่อมต้องมากตามมา ดังนั้นการตั้งให้คนแขกมีอำนาจในราชสำนัก เท่ากับเป็นการตั้งตัวแทนกลุ่มมุสลิมให้เป็นที่เคารพยกย่องของพวกเขา

การที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเลือกให้ อกา มะหะหมัด ซึ่งเป็นขุนนางทำงานในราชสำนักมาอยู่ก่อนแล้ว ขึ้นเป็นออกพระศรีเนาวรัตน์ มิใช่จะมีหน้าที่ดูแลการค้าเท่านั้น ยังมีหน้าที่ดูแลควบคุมกลุ่มมุสลิมต่าง ๆ ในอยุธยาอีกด้วย

ด้วยเหตุที่กลุ่มคนแขกต่าง ๆ หลายกลุ่มเหล่านี้ เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาพึ่งพิงและทำงานในสยาม จึงไม่ใช่ไพร่และทาสในระบบการปกครอง ไม่ตกอยู่ในกลุ่มข้าราชการสยามเดิม ๆ ที่แต่ละคนแต่ละสายเคยสร้างบุญคุณต่อกันและกัน สืบทอดอำนาจบารมีกันมาในหลายสมัย จนสามารถสะสมเป็นขุมพลังข้าราชการขุมใหม่ขึ้นมากดดันกษัตริย์

กลุ่มแขกเปอร์เซียและกลุ่มทหารอาสาต่าง ๆ จึงไม่มีความผูกพันเก่ากับขุมอำนาจข้าราชการเก่าเหล่านั้น

อกา มะหะหมัด ได้ว่าจ้างทหารรับจ้างชาวอิหร่านที่อยู่ในอินเดีย จำนวน 200 คน ให้เข้ามาเป็นทหารรักษาพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ กองกำลังทหารอาสาแขกที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นอิสระจากอำนาจของขุนนางฝ่ายปกครองใด ๆ โดยเป็นกลุ่มกองกำลังส่วนพระองค์แต่ผู้เดียว

แม้แขกจะมีบทบาทในราชสำนักสยาม แต่ใช่ว่าคอนสแตนติน ฟอลคอน จะไม่สามารถเจาะทะลุเข้าไปมีบทบาทแทนได้ – คนเรานั้นจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีทั้งความสามารถที่มาพร้อมกับโอกาส – มีแต่ความสามารถแต่ไม่มีโอกาส ก็ไม่สามารถแสดงศักยภาพแห่งความสามารถนั้นได้ .. โอกาสจึงสำคัญที่สุด .. แล้วโอกาสของคอนสแตนติน ฟอลคอลก็มาถึง

การรุกรานทางการค้าของฮอลันดา ขยายขอบเขตไปสู่การรุกรานดินแดน – ข่าวการรบของทัพเรือฮอลันดาบุกเข้าแย่งชิงฐานที่มั่นในบริเวณคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาชวา ซึ่งโปรตุเกสเคยใช้ตั้งสถานีการค้ามาก่อน เมื่อฮอลันดาชนะและยึดครองดินแดนได้ ก็บังคับให้คนพื้นเมืองเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ตามที่ตนเองต้องการ และบังคับกดขี่ราคาสินค้าของชาวเมือง

สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า โปรตุเกสอ่อนแอลง ทั้งกำลังทหารและการค้า ไม่สามารถกลับมารุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อน ฮอลันดากลายเป็นพ่อค้าคนกลางที่มาแรงในขณะนี้ เพียงแต่ฮอลันดาชอบการผูกขาดการค้าเพียงเจ้าเดียว สยามคงไม่อาจค้าขายให้กับฮอลันดาเพียงลำพัง ควรที่จะมองหาคู่ค้าเจ้าใหม่เข้ามา พระองค์จึงให้ความสนใจไปยังชาติอังกฤษ

อกา มะหะหมัด หรือออกพระศรีเนาวรัตน์ สนับสนุนแนวคิดที่จะมุ่งทำการค้ากับอังกฤษแทนฮอลันดา ตรงนี้นับเป็นจังหวะเปิดโอกาสให้คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้ใช้ความสามารถของตนเข้ามาช่วยงานติดต่อการค้ากับอังกฤษ

คอนสแตนติน ฟอลคอน อดีตกะลาสีเรือของอังกฤษ เริ่มต้นเข้ามารับราชการเป็นล่าม เป็นที่ปรึกษาทางการค้า ซึ่งฟอลคอนรู้ไส้รู้พุงตื้นลึกหนาบางของอังกฤษดี ได้ช่วยราชการทำการค้ากับอังกฤษอย่างราบรื่นอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่ต่อมาจะถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระนารายณ์ว่า ทางด้านอังกฤษนั้นวางใจไม่ได้เช่นกัน ควรหันทิศทางไปทางฝรั่งเศสเพื่อเป็นตัวเลือกใหม่ ในการคบหาและทำการค้าขายด้วยมากที่สุด ประจวบกับในขณะนี้คณะมิชชันนารีฝรั่งเศส ได้เข้ามาตั้งโบสถ์ ตั้งโรงเรียน ทำการเผยแพร่ศาสนาอยู่พอดี

ฟอลคอน ให้ความเห็นว่า ควรอาศัยจังหวะที่คณะมิชชันนารีฝรั่งเศสเข้ามาในสยาม พูดคุยต่อยอดทางการค้า ด้วยการขอให้บาทหลวงฝรั่งเศส ไปบอกกับบริษัทการค้าของฝรั่งเศสให้เข้ามาตั้งสถานีการค้าในอยุธยา โดยทางสมเด็จพระนารายณ์จะพระราชทานสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้กับบริษัทการค้าฝรั่งเศสเป็นกรณีพิเศษ ประหนึ่งเสมือนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในยุคปัจจุบัน

คอนสแตนติน ฟอลคอน อาสาเป็นตัวหมาก ในการเดินหมากไปเชื่อมทำความรู้จักกับคณะมิชชันนารีของฝรั่งเศส เพื่อปูทางสู่การค้า ในขณะที่ทางคณะเผยแพร่ศาสนาของฝรั่งเศส ก็ใช้โอกาสนี้เช่นกัน โอกาสที่ฟอลคอนเข้ามาหา หวังใช้เขาเป็นตัวหมาก เพื่อปูทางสู่การขยายคริสต์ศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคแห่งนี้

ต่างคนต่างมีเป้าหมายคนละอย่างอยู่ในใจ .. เกมการเมืองและเกมการค้าจึงเดินไปด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างคนต่างคิด

…..

เดือนกันยายน ค.ศ. 1680 (พ.ศ. 2223) เรือเลอโวตูร์ ของบริษัทการค้าฝรั่งเศสเดินทางมาถึงน่านน้ำที่ป้อมบางกอก ทางกัปตันเรือเลอโวตูร์ ได้แจ้งขอยิงสลุตเพื่อเป็นเกียรติให้กับสยาม แต่บนป้อมบางกองของสยามไม่มีธงชาติ ทหารเรือฝรั่งเศสจึงบอกว่าต้องชักธงชาติขึ้นก่อน ถึงจะยิงสลุตให้ได้

(*การยิงสลุต เป็นประเพณีโบราณ เมื่อเรือเดินสมุทรไปถึงยังท่าเรือของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะใช้ปืนใหญ่หน้าเรือยิงออกไปเพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพกับประเทศนั้น ๆ โดยปกตินั้นจะยิงปืนใหญ่จำนวน 7 นัด และครั้งนี้นับเป็นการยิงสลุตครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม)

เวลานั้นสยามไม่มีธงประจำชาติ ตลอดเวลาที่เรือของอยุธยาเดินทะเลค้าขายไปยังที่อื่น ๆ นั้น สยามได้ใช้ธงของฮอลันดาอยู่เสมอ เพราะเข้าใจว่าธงชาติฮอลันดาคือธงการค้า ทหารฝ่ายสยามที่มาต้อนรับเรือเลอโวตรูของฝรั่งเศสจึงเข้าใจเอาว่า ควรชักธงฮอลันดาขึ้นบนเสา

เมื่อธงฮอลันดาถูกชักขึ้นปลิวบนเสาฝั่งสยาม นายเรือฝรั่งเศสที่เห็นธงนั้น พากันปฏิเสธไม่ยอมยิงสลุตและไม่นำเรือเข้ามาในอยุธยา ด้วยเหตุผลว่าจะไม่ยิงสลุตให้กับชาติยุโรปใด ๆ

ทำให้สยามในตอนนั้นหยิบเอา “ธงสีแดง” หรือผ้าสี่เหลี่ยมสีแดง ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไรมาก่อน แต่มาใช้แทนความเป็นชาติสยามชั่วคราว ชักขึ้นบนป้อมและบนเสาเรือของสยาม เรือฝรั่งเศสจึงยิงสลุตแสดงความเคารพอาณาจักรสยาม และปืนใหญ่บนป้อมบางกอกก็ได้ยิงสลุตตอบกลับไป

(* นับจากนั้น ธงสีแดง จึงกลายเป็นธงชาติผืนแรกของสยามอย่างไม่เป็นทางการ ได้ใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงตรงกลางธงสีแดง เพื่อให้ทราบว่าธงแดงที่มีรูปจักรเป็นเรือหลวง ส่วนธงสีแดงล้วน ๆ แบบเดิม ๆ นั้น คือธงราษฎร – หลักจากนั้นธงชาติไทยก็มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่หลายครั้ง จนกลายเป็น “ธงไตรรงค์” ในปัจจุบัน)

เมื่อบริษัทการค้าของฝรั่งเศสมาถึง พระสังฆราชฟรองซัว ปัลลู หัวหน้าคณะเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยาม ได้นำผู้แทนบริษัทการค้าของฝรั่งเศสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงอนุญาตให้ฝรั่งเศสมีสิทธิทำการค้าได้ทั่วราชอาณาจักร และถ้าฝรั่งเศสสนใจในท่าเรือแห่งหนึ่งแห่งใดก็จะพระราชทานให้ใช้ และยังพระราชทานไม้ เครื่องเรือนเครื่องก่อสร้าง สำหรับใช้สร้างบ้านเรือนของชาวฝรั่งเศสขึ้นด้วย

สมเด็จพระนารายณ์ทรงมองไปไกลว่า ไหน ๆ ก็จะคบหาเป็นมิตรกันแล้ว – จึงมีดำริว่า สยามควรจัดส่งทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีต่อกันอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ทางศาสนา การค้า ผลประโยชน์ แขกมุสลิม ฝรั่งเศส ฟอลคอน ขุนนางสยาม และสมเด็จพระนารายณ์ จึงก่อเกิดเรื่องราวอันซับซ้อน ทั้งเกิดความคาดหวังและเกิดขัดแย้งกันไปตลอดทั้งรัชสมัยของพระองค์

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
[2] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา. ฉบับ วลิต
[4] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 79 จดหมายเหตุวันวลิต – หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช 
[5] สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (ว.ช) ภูมิรัฐศาสตร์กับความมั่นคงของประเทศไทย
[6] กรมศิลปากร. เอกสารของฮอลันดา สมัยอยุธยา
[7] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 27 , เล่ม 34 , เล่ม 42
[8] กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารไทยรบพม่า
[9] มิวเซียมไทยแลนด์. (Museum Thailand) อยุธยาในบันทึกของสเปน
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์
[11] ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
[12] สถาปัตย์ เชื้อมงคล. สยามประกาศสงครามกับอังกฤษ 
[13] อานนท์ จิตรประภาส. การค้าและการเมืองในสมเด็จพระนารายณ์
[14] ศิลปวัฒนธรรม. ฉากแรกสัมพันธ์อยุธยา-โปรตุเกส การรับทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา
[15] นันทา สุตกุล. (แปล) เอกสารฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา
[16] ภาณุดา วงศ์พรหม. พลิกแผ่นดิน จากใต้เงาปีกมหาอำนาจสู่อิสรภาพของประเทศในเอเซีย
[17] วชิรญาณ. จดหมายเหตุฟอร์บัง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r