ย้อนมองประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516 กับบทบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชวงศ์ ในการยุติความขัดแย้งของคนไทย

14 ตุลาคม 2516 เป็นวันแห่งปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย จากการรวมตัวกันของนิสิตนักศึกษา อาชีวะ และประชาชนจากทุกภาคส่วน เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยึดครองอำนาจบริหารที่ส่งไม้ต่อกันมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

มีการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงวันที่ 9-12 ตุลาคม 2516 และเคลื่อนขบวนร่วมกับประชาชนเรือนแสนไปตามถนนราชดำเนินในวันที่ 13 ตุลาคม กระทั่งมีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงในวันที่ 14 ตุลาคม โดยกำลังตำรวจและทหาร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและบาดเจ็บจำนวนมาก

ในวันนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ทรงขอให้ทุกฝ่ายประนีประนอมกันเพื่อระงับเหตุแห่งความรุนแรง จนกระทั่งเหตุการณ์ได้คลี่คลายลง โดยผู้นำคณาธิปไตยกลุ่มจอมพลถนอมได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ และมีการประกาศเตรียมใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน ซึ่งถือเป็นการยุติความขัดแย้งต่างๆ ลง

เหตุการณ์ 14 ตุลา นั้น มีเงื่อนไขที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากหลายส่วนและหลายกลุ่มบุคคลในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นขั้วอำนาจการเมืองต่างๆ ทั้งกลุ่มนายทหารและพรรคการเมือง รวมไปถึงการแทรกซึมของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ที่ตอนนั้นมีการต่อต้านและปราบปรามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีของสงครามอินโดจีน ซึ่งประเทศไทยได้ถูกดึงเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ภายใต้การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา

และสภาพบ้านเมืองในเวลานั้น ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาวนา แรงงาน ต่างถูกกดขี่ มีแต่ความแร้นแค้น จากเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน และการเล่นพรรคเล่นพวกของรัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อบวกรวมเข้ากับการปิดกั้นเสรีภาพและบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เงื่อนไขทั้งหมดจึงนำไปสู่การรวมพลังลุกขึ้นต่อต้านของนิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนั้น

จุดประสงค์ในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในเวลานั้นคือ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว และเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่กลายเป็นแรงกระเพื่อมทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาสนับสนุนนักศึกษาในวงกว้างคือ การใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปล่าสัตว์ ณ ทุ่งใหญ่นเรศวร

การชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มขึ้นในวันนที่ 9 ตุลาคม 2516 นําโดยสองนักศึกษาชายหญิง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และเสาวนีย์ ลิมมานนท์ มีการปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงนักเรียนมัธยมและนักเรียนอาชีวะ ทั้งจากวิทยาลัยและสถาบันในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เดินทางมาเข้าร่วมสมทบอย่างล้นหลาม

สถานการณ์ชุมนุมเริ่มถึงจุดตึงเครียดในวันที่ 12 ตุลาคม เมื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ยื่นคําขาดว่าให้รัฐบาลปล่อยตัวอาจารย์และนักศึกษาจำนวน 13 คน ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านั้นจากการเดินขบวนแจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาล ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง มีการเสริมกําลังทหารอย่างแน่นหนาบริเวณสวนรื่นฤดี มีการวางกำลังทั้งรถหุ้มเกราะ รถดับเพลิงทหาร รถถัง และกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเต็มอัตรา

กระทั่งเวลา 12.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม เมื่อไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล กลุ่มนักศึกษาทั้งหมดจึงได้เคลื่อนขบวนจากธรรมศาสตร์ลงสู่ถนนราชดำเนินร่วมกับประชาชนจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมสมทบ กลายเป็นคลื่นมวลชนจำนวนเรือนแสนคลาคล่ำถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายใต้การจัดกำลังดูแลโดยบรรดานักเรียนอาชีวะจากหลายสถาบัน

ปรากฏการณ์มวลชนนี้ส่งผลให้เกิดการเจรจาขึ้นระหว่างตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ กับจอมพลประภาส จารุเสถียร ในเวลาต่อมา และนำไปสู่การยอมรับข้อเสนอ โดยรัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คน และจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปีต่อไป การยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเคลื่อนขบวนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณหน้าสวนจิตรลดา เตรียมยุติการชุมนุมในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ตุลาคม

ทว่ากลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชวิถี จากจุดปะทะเล็กๆ นี้เอง เหตุการณ์ก็ได้บานปลายลุกลามไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ มีการใช้กําลังทหารและตํารวจเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ในขณะที่นักเรียนนิสิต นักศึกษา และประชาชนก็ตอบโต้ด้วยการก่อความวุ่นวาย บุกเข้ายึดและทําลายสถานที่หลายแห่ง และพยายามยึดกรมประชาสัมพันธ์ตลอดจนสถานีตํารวจ

เช้าวันที่ 14 ตุลาคม รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เป็นระยะ ขณะเดียวกันก็ส่งกำลังทหารและตำรวจออกปราบปราม มีทั้งรถถังเฮลิคอปเตอร์ และอาวุธสงครามหนัก โดยจุดปะทะและนองเลือดมีตลอดสายถนนราชดำเนิน จนทำให้นักศึกษาบางส่วนกรูกันเข้าไปเพื่อหลบภัยในพระราชวังสวนจิตรลดา โดยมีมหาดเล็กเป็นคนเปิดประตูให้ ซึ่งผู้คนทั้งหลายมาทราบในภายหลังว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณารับสั่งให้มหาดเล็กช่วยเหลือนักศึกษาให้เข้ามาหลบภัยภายในพระราชวังสวนจิตรลดา และพระราชทานความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนเหล่านั้น

เหตุความรุนแรงได้แผ่ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง การปะทะกันระหว่างกำลังตำรวจทหาร และกลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินไปตลอดทั้งวัน มีถูกยิงเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บถูกหามส่งเข้าโรงพยาบาลศิริราชตลอดเวลา รัฐบาลมีคําสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 22.00 น.-05.30 น. มีการประกาศปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในกรุงเทพฯ ทุกแห่ง และกําหนดให้บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากรเป็นเขตอันตราย โดยเตรียมพร้อมที่จะทําการกวาดล้างใหญ่

แต่ก่อนที่เหตุการณ์ความรุนแรงจะลุกลามบานปลายมากขึ้นไปกว่านั้น ในช่วงเย็นวันนั้นเอง จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ประกาศลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

และในเวลา 19.15 น. ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และทรงแต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยพระราชดำรัสของพระองค์ความว่า …

“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา ๖-๗ วันที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องและการเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวด และยิงแก๊สน้ำตาทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั่วพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนอยู่ในสภาพปกติ

อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมและแก้ไขสถานการณ์ให้คืนอยู่ในสภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”

และวันเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก็ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ความว่า …

“ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความห่วงใยเป็นที่สุดในการที่เกิดความไม่สงบขึ้นในขณะนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งปวงให้ระงับการใช้กำลังเสียเถิด ด้วยเราก็เป็นชาวพุทธด้วยกันทั้งนั้นขอให้มีความเมตตากรุณาต่อกัน หันหน้าเข้าหากันเพื่อความสุขของตัวท่านและลูกหลานของท่าน การตั้งตัวเป็นศัตรูต่อกันนั้น นำมาซึ่งความหายนะ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดทั้งสิ้น ขอให้ท่านทุกคนระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และข้าพเจ้าขออธิษฐาน ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ท่านทุกคนปรับตนเองให้ได้ ให้ความสงบมีขึ้นโดยเร็วเพื่อความสุขความเจริญของท่านเอง สวัสดี”

จากนั้นศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ปราศรัยทางโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายคืนสู่ความสงบ และประกาศจะใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

นับจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงจากความขัดแย้งในวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม ก็ได้ยุติลง พร้อมกับการลี้ภัยออกนอกประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร

อนึ่ง ตามประวัติศาสตร์แล้ว ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยตรงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะในตอนนั้นถือเป็นช่วงวิกฤติของประเทศ และจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ลาออกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการใช้พระราชอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า …

“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือ วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของพลังนักศึกษาและประชาชนในการต่อต้านอำนาจรัฐบาลเผด็จการ และเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชวงศ์ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเหมาะสม ทรงให้คำชี้แนะเสมือนคนกลาง ในยามที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง จนกระทั่งทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าประนีประนอมกัน และนำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤติเลวร้ายต่างๆ ไปได้ในที่สุด

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกก