ตราพระมหามงกุฎ เกียรติยศแห่งฟุตบอลไทย และก้าวแรกที่เกือบจะก้าวใน ‘ฟุตบอลโลก’

บทความโดย : วังสามจันทร์

รู้หรือไม่ว่ามีทีมฟุตบอลเพียงไม่กี่ทีมในโลก ที่ได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็นเสมือนนักรบที่ต่อสู้เพื่อเกียรติยศของชาติ จากที่บันทึกเอาไว้มีเพียง 2 ทีมเท่านั้น ทีมแรกคือทีมชาติอังกฤษ และทีมที่สองคือ

“ทีมชาติสยาม”

ในปี ค.ศ. 1872 สมเด็จพระราชินี ควีน วิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศอังกฤษ (FA) นำตราสิงโตสามตัว ไปติดที่หน้าอกเสื้อ เพื่อลงแข่งขันฟุตบอลระดับชาติครั้งแรกระหว่าง ทีมชาติอังกฤษ และ ทีมชาติสกอตแลนด์ ซึ่งนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ทีมชาติอังกฤษ ก็ไม่เคยเปลี่ยนไปใช้สัญลักษณ์อื่นเลยจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะล่วงเลยมา 150 ปีแล้วก็ตาม

สิงโตทั้งสาม “Gules Three Lion Passant Guardant” คือตราประจำแผ่นดินของอังกฤษ โดยในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 1 นั้น มีสิงโตเพียง 1 ตัว จวบจนได้เข้าอภิเษกสมรสกับอเดเลซาแห่งลูแว็ง พระเจ้าเฮนรีที่ 1 จึงนำเอาตราประจำพระองค์ของก็อดฟรีย์ที่ 1 พ่อตาของตนซึ่งเป็นสิงโตเช่นกันมารวมเป็นสิงโต 2 ตัว และสิงโตตัวที่ 3 มาเพิ่มในยุคของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 จากตราประจำตระกูลของเอเลนอร์แห่งอากีแตน ซึ่งอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 2 นั่นเอง

หลังจากนั้นอีก 43 ปี ในปี พ.ศ. 2458 ชาติที่สองที่ได้รับเกียรติยศติดตราที่ได้รับพระบรมราชานุญาตบนหน้าอกก็กำเนิดขึ้น นั่นคือ “ทีมชาติสยาม”

จากในบทความที่แล้ว ในการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้น ณ ราชกรีฑาสโมสร ระหว่างทีมชาติสยามกับทีมราชกรีฑาสโมสร ในโอกาสนั้นล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ได้พระราชทาน “ตราพระมหามงกุฎ” ให้แก่นักฟุตบอลทีมชาติสยาม นัยว่าเป็นการสู้เพื่อชาติ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักกีฬา

ผลที่ออกมาก็เป็นดังใจ เพราะทีมชาติสยามกำชัยไปในการแข่งขันครั้งนั้น

โดยหลักฐานปรากฎในจดหมายเหตุบันทึกคำกล่าวของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) สภานายกคณะฟุตบอลแห่งสยามคนแรก ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ ฯ เดลิเมล์ ฉบับวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2458 (ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยารามราฆพ ในปี พ.ศ. 2462) โดยใจความตามต้นฉบับกล่าวว่า …

“… หมวก เครื่องหมายความสามารถฟุตบอลที่ท่านจะได้รับไป ในเวลาอีกสักครู่นี้ ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระมหามงกุฎ ซึ่งควรรู้สึกว่าเปนเกียรติยศการรักษาชาติ ย่อมจะแสดงได้หลายสถาน แต่การที่ท่านตั้งใจเข้าเล่นการแข่งขันซึ่งไชยชนะให้แก่ชาติในคราวนี้ ก็เปนส่วนหนึ่งแห่งการรักชาติ …”

ทีมชาติสยาม ณ เวลานั้นใส่เสื้อสีแดงคาดขาว มีตราพระมหามงกุฎอยู่บนหน้าอกซ้าย เท่าที่บันทึกเอาไว้พบว่า เมื่อสวมชุดพร้อมตราพระมหามงกุฎนี้ ทีมชาติสยามไม่เคยพบกับความปราชัยสักนัดเดียว

โดยสามารถคว้าชัยต่อเนื่องทั้งทัวร์นาเมนท์ ถ้วยราชกรีฑาสโมสร (2458), ถ้วยทองของหลวง (2458) และถ้วยปอลลาร์ด (2458) ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างทีมฟุตบอลสยาม, ทีมอังกฤษ และทีมสกอตแลนด์ เกียรติภูมิดังกล่าวได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระหว่าง พ.ศ. 2458-2459 (ในช่วงยุคนั้นถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่)

และในปี พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 ทรงตั้ง “สโมสรคณะฟุตบอลสยาม” ขึ้นมาโดยมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ผนวกกับนักฟุตบอลดาราจากรายการต่างๆ ลงเล่นด้วย โดยไม่ใช่แมตช์ระดับชาติ แต่เป็นกุศโลบายเพื่อให้คงไว้ซึ่งการต่อสู้เพื่อรักษาเกียรติภูมิของชาติไว้นั่นเอง

หลังจากที่รัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จสวรรคต ในสมัยรัชกาลที่ 7 สมาคมฟุตบอลแห่งสยามก็ยังคงการใช้ตราพระมหามงกุฎตามเดิม

และที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกก็คือ ทีมชาติสยามได้ถูกเทียบเชิญไปแข่งขันมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งแรก (ค.ศ. 1930) ที่ประเทศอุรุกวัย ทีมชาติสยามจึงเดินทางไปแข่งขันระดับชาตินอกบ้านครั้งแรกในนามทีมชาติสยามที่ ไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. 2473 เพื่อเป็นการทดสอบฝีเท้า แต่ทว่าก้าวแรกฟุตบอลโลกของสยามไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการเดินทาง และใช้เวลาแรมเดือนกว่าจะไปถึงอเมริกาใต้

ว่าแล้วก็เสียดาย เพราะทีมชาติสยามในช่วงนั้นกำลังเจิดจรัส

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทีมชาติไทยได้เปลี่ยนไปใช้ธงไตรรงค์คาดบนหน้าอกเสื้อแทนตราพระมหามงกุฎ และจวบจนปัจจุบันไม่มีใครได้เห็นตราแห่งเกียรติยศในการแข่งขันอย่างเป็นทางการอีก ในขณะที่ทีมชาติอังกฤษ ยังคงติดตราทรีไลออนส์ไว้บนหน้าอกตลอดมาอย่างเกรียงไกร

ที่มา :

[1] การกีฬาแห่งประเทศไทย, ตราพระมหามงกุฎ เกียรติยศการรักชาติ โดย จิรัฏฐ์ จันทะเสน
[2] Why are there three lions on the shirts of the English football team?