ศักดินาไทย เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับ ฟิวดัลยุโรป

ในขั้นตอนวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง สังคม และเศรษฐกิจก่อนที่จะมาเป็นรัฐชาติแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนั้น ทุกสังคมต่างมีวิธีในการปกครองที่มีระดับชั้นแบบเจ้าขุนมูลนายมาแทบทั้งสิ้น การปกครองที่เป็นระดับชั้นๆ นี้ทำให้มีรูปแบบและลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกันไปด้วย รูปแบบแรกๆ ก่อนที่จะเข้ามาเป็นรัฐแบบในปัจจุบัน หากอยู่ในยุโรปเราก็จะเรียกว่าเป็นระบบ “ฟิวดัล” ส่วนของไทยนั้นเราจะเรียกว่า “ศักดินา” แต่ถึงแม้จะคล้ายกัน ทว่าความจริงแล้วเป็นความเหมือนที่แตกต่างกัน โดยลักษณะของระบอบการปกครองนั้นมีหลายส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นทั้งฟิวดัลและศักดินา แต่ส่วนสำคัญๆ นั้นจะเป็นเรื่องของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อำนาจของเจ้าที่ดิน ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปยังประเด็นการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวนาที่ดินกับเจ้าของที่ดินรวมไปถึงการผลิตด้วย

ในระบอบฟิวดัลของยุโรป การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะเป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงอำนาจทางการเมืองเหนือคนที่อยู่ในที่ดินนั้น ดังนั้นการรับการถือครองกรรมสิทธิ์จะเป็นทั้งเครื่องกำหนดฐานะบทบาทและหน้าที่ของบุคคล ทำให้สังคมของยุโรปมีขุนนางเจ้าที่ดินที่มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ ต่อมาสังคมยุโรปได้เกิดการคลี่คลายและกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ตกไปอยู่ในมือของบุคคลรายย่อยมากขึ้น รวมไปถึงพ่อค้าและช่างฝีมือได้มีบทบาทมากขึ้นและกลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านขุนนางที่ดิน [1]

ในระบอบศักดินาของไทย การกำหนดตำแหน่งตาม “นา” นั้นเป็นการบอกความสูงต่ำเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายถึงการครอบครองที่ดินจริงๆ จึงไม่มีหน่วยนับเป็นไร่ [2] ดังนั้นอำนาจของขุนนางจึงขึ้นต่อพระมหากษัตริย์ตามลำดับซึ่งแตกต่างจากขุนนางในยุโรป และสังคมไทยยังได้เปิดระบบราชการให้ผู้คนสามารถเลื่อนตนเองกลายเป็นผู้ปกครองได้ เมื่อผนวกกับเหตุผลทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้คนที่คิดจะต่อต้านส่วนกลางหรือขุนนางนั้นแทบจะไม่มี [3]

อย่างไรก็ดี การอธิบายเพียงเท่านี้ยังไม่สามารถฉายภาพให้ชัดเจนมากขึ้นได้ เพราะครั้งหนึ่งหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “สยามนั้นโชคดีที่ไม่เคยมีระบบศักดินาในเรื่องของที่ดิน มีแต่ในเรื่องของคนเท่านั้น” [4] ดังนั้นแล้ว ทำไม “สยามจึงโชคดี?”

ประเด็นนี้เราอาจจะหาคำตอบได้จากงานของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่นซึ่งได้ศึกษาเศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตทุกภูมิภาคเอาไว้ เขาค้นพบรูปแบบสังคมและเศรษฐกิจของหมู่บ้านไทยในสมัยก่อนว่าปัจเจกชนไม่ได้ครอบครองที่ดินโดยตรง แต่ครอบครองหรือกระทำผ่านความเป็นสมาชิกของหมู่บ้าน ดังนั้นชุมชนจึงมีความสำคัญกับชาวบ้านมากเพราะได้ผูกปัจเจกชนและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน [5] นอกจากนี้สังคมไทยโบราณไม่ใช่สังคมทาส เพราะพื้นฐานการผลิตของสังคมไม่ได้พึ่งอยู่กับทาส แม้แต่ข้าราชการตำแหน่งใหญ่ๆ ก็มีทาสไม่เกิน 10 ครัว อีกทั้งทาสมีลักษณะเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ที่แม้ทาสจะไม่มีเสรีภาพ แต่ก็ไม่แตกออกจากครอบครัวของนายและชุมชน การเผชิญหน้ากันแบบฟิวดัลในยุโรปจึงไม่เกิดขึ้น [6]

มีข้อน่าสังเกตว่า แม้การขายส่งออกข้าวจะมีมาก แต่การผลิตเพื่อขายเป็นเพียงกิจกรรมเสริมของชาวบ้านเท่านั้น [7] และชุมชนนั้นเป็นสถาบันที่คอยรับแรงกระแทกจากภายนอกที่เข้ามาภายในชุมชนได้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหมู่บ้านจึงมีค่อนข้างจำกัด และไม่ได้เปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิมมากนัก [8] และถึงแม้อาจจะมีความลำบากอยู่บ้าง แต่หมอแบรดด๊อกชาวอเมริกันซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพูดคุยด้วย ได้กล่าวถึงชุมชนของไทยสมัยก่อนไว้ว่า พวกโซเชียลลิศต์ในเมืองฝรั่งที่วุ่นวายกันต่างๆ ก็ต้องการจะเป็นอย่างพวกชาวบ้านนี้นั่นเอง ที่แท้สมาคมอย่างที่พวกโซเชียลลิศต์ต้องการ อยู่ในเมืองนี้มานานนับด้วยร้อยพันปีแล้ว เนื่องจากว่าชาวบ้านยังสามารถเลี้ยงตัวได้อย่างผาสุกนั่นเอง [9] ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทำให้ชาวนาสามารถนำมาชดเชยกับความล้าหลังของเทคโนโลยีได้ การที่มีระบบสังคมหมู่บ้านที่ดีทำให้ประคับประคองชาวนาได้อยู่ตลอด แม้จะทำให้การพัฒนาช้าไปบ้างก็ตาม [10]

ดังนั้นแล้ว “ความโชคดี” ที่หม่อมเจ้าสิทธิพรได้กล่าวไว้ จึงอาจจะหมายถึงการมีระบบชุมชนหมู่บ้านที่คอยช่วยเหลือดูแลกัน ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในไทย ไม่ได้หักกระแทกอย่างรุนแรงจนอาจเกิดสภาวะนองเลือดแบบที่เคยเกิดในยุโรปนั่นเอง

อ้างอิง :

[1] กรรณิการ์ นิโลบล, “ระบบศักดินาไทยและยุโรป : ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างทางสังคมและลักษณะพัฒนาการ,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525).
[2] กรมศิลปากร, พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ: การเปลี่ยนผ่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2565), หน้า 36.
[3] กรรณิการ์ นิโลบล, “ระบบศักดินาไทยและยุโรป : ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างทางสังคมและลักษณะพัฒนาการ,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525).
[4] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560), หน้า 161.
[5] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนาชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2563), หน้า 41.
[6] อ้างแล้ว, หน้า 50-51.
[7] อ้างแล้ว, หน้า 86.
[8] อ้างแล้ว, หน้า 100.
[9] อ้างแล้ว, หน้า 126-127.
[10] อ้างแล้ว, หน้า 135.