ที่มาทรัพย์สินส่วนพระองค์ของในหลวง พระราชมรดกตกทอดจาก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็นพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย รวมทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดาของในหลวง ร.9

สมเด็จพระพันวัสสา นอกจากทรงมีพระนิสัยประหยัดมัธยัสถ์แล้ว ยังทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่มีทักษะเฉพาะองค์ แตกต่างจากเจ้านายฝ่ายในองค์อื่นๆ โดยเฉพาะทักษะในการบริหารทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้น

เดิมทีนั้น ลำพังพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของพระราชวงศ์ ก็มีมากพอให้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพได้อย่างสะดวกสบาย ยังไม่รวมเบี้ยหวัดในฐานะพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 และเงินพิเศษที่พระราชทานให้เมื่อประสูติพระราชโอรสธิดาแต่ละองค์ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินมากทีเดียว

หากเป็นเราๆ ท่านๆ ได้รับมรดกรวมถึงมีรายได้มากมายขนาดนี้ หลายคนคงนึกถึงการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย ช้อป ชิม กิน เที่ยว โดยแทบไม่ต้องห่วงอะไรอีกเลยทั้งเรื่องงานและเงินจับจ่ายใช้สอยต่างๆ

แต่สมเด็จพระพันวัสสา นอกจากทรงประหยัดอดออมแล้ว ยังทรงมีมุมมองของ “นักบริหารเงิน” อีกด้วย โดยพระองค์ทรงไม่นิยมสะสมพระราชทรัพย์ในรูปแบบเครื่องประดับเพชรนิลจินดาต่างๆ แต่ทรงมองหารูปแบบการลงทุนด้านต่างๆ เพื่อขยายพระราชทรัพย์ออกไปให้มากยิ่งขึ้น อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน โรงสีข้าว หรือปล่อยเงินให้นายทุนเพื่อนำไปใช้ลงทุน แล้วเก็บดอกผลสะสมเข้าในกองพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นที่ดินยังมีราคาถูก และคนที่อยู่ในเมืองหลวงก็ไม่ค่อยนิยมซื้อที่ดินมากเกินกว่าที่พักอาศัย คือถ้าไม่ใช่ที่ที่เป็นเรือกสวนไร่นา คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร แต่สมเด็จพระพันวัสสาทรงมีวิสัยทัศน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทรงเล็งเห็นว่าที่ดินผืนใดอยู่ในทำเลดีมีความเหมาะสม ท่านก็จะโปรดฯ ให้ตัวแทนจัดการซื้อหรือรับจำนองจากเจ้าของที่ดิน

การที่ต้องมีตัวแทนเป็นธุระในการซื้อขายที่ดินนี้ เนื่องมาจากข้อกำหนดของกฎมณเฑียรบาลทำให้สมเด็จพระพันวัสสาซึ่งมีฐานะเป็นเจ้านายฝ่ายในไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้สะดวกนัก และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนต่างๆ พระองค์จึงต้องมีตัวแทน หรือที่ในปัจจุบันนี้เรียกว่า “นอมินี” ในการจัดการซื้อขายหรือบริหารทรัพย์สินที่ดินต่างๆ แทนพระองค์เพื่อความคล่องตัว โดยที่พระองค์ก็ยังทรงกำกับดูแลอยู่อีกทีหนึ่ง ทำให้พระองค์มีทรัพย์สินและรายได้ที่เพิ่มพูนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ สมเด็จพระพันวัสสายังทรงมีความรอบคอบในเรื่องกฎหมายอีกด้วย โดยการซื้อขายหรือจำนองที่ดินนั้น พระองค์จะทรงทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ทุกครั้ง และจะมีโฉนดเป็นหลักฐานไว้อย่างรัดกุม ซึ่งโฉนดที่ดินต่างๆ เหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์อย่างถูกต้องครบถ้วน

และไม่เพียงแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น สมเด็จพระพันวัสสายังทรงลงทุนด้านการเกษตรอีกด้วย จากการที่ทรงมีที่ดินในจังหวัดปทุมธานีเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณโดยรอบจะมีการทำนาปลูกข้าว พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างโรงสีข้าวขึ้นเพื่อรับสีข้าวจากนาข้าวต่างๆ โดยมีเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องจักรสีข้าวให้ทันสมัย เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพและในจำนวนที่มากขึ้น

สมเด็จพระพันวัสสาทรงมีวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจเป็นอย่างมาก แม้เมื่อครั้งประชวรและต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ศรีราชา ในครั้งนั้นทรงเห็นผ้าทอพื้นบ้านที่มีความสวยงาม และจากการที่ทรงสนพระทัยในงานทอผ้าอยู่เป็นทุนเดิม จึงทรงหัดทอจนทำเองได้ และทรงนำออกจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม และเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ทรงจัด “กองทอ” ขึ้นเพื่อผลิตผ้าทอออกจำหน่าย และประสบความสำเร็จอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้าจากญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษาอีกด้วย

ซึ่งธุรกิจทอผ้านี้นอกจากเป็นการสร้างรายได้ให้พระองค์แล้ว ยังเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมทอผ้าและช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกของชาติไม่ให้สูญหายไปอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ธุรกิจด้านการทอผ้าของพระองค์ต้องยุติการผลิตไปหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

แม้จะมีทรัพย์สินและรายได้เป็นจำนวนมาก แต่สมเด็จพระพันวัสสายังทรงมัธยัสถ์ใช้สอยอย่างประหยัด และในอีกด้านหนึ่ง ทรัพย์สินของพระองค์ยังได้ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคมในเวลาต่อมาด้วย นั่นคือการสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาลศิริราช โดยทรงบริจาคเงินเป็นจำนวนมากในการสร้างระบบระบายน้ำ และพัฒนาด้านอื่นๆ ให้กับทางโรงพยาบาล และทรงประทานเงินเป็นกุศลประจำปีให้กับโรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ แม้สวรรคตทางโรงพยาบาลก็ยังได้รับเงินพระราชทานจากกองมรดกต่อเนื่องเรื่อยมา

ความประหยัดมัธยัสถ์และใช้จ่ายในโอกาสที่จำเป็นของสมเด็จพระพันวัสสา ยังเห็นได้จากคราวฉุกเฉิน เมื่อครั้งพระราชนัดดาหม่อมเจ้าในราชสกุลรังสิตมีเหตุต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร สมเด็จพระพันวัสสารทรงนำเงินปีที่เก็บสะสมไว้ พระราชทานให้หม่อมเจ้าพระราชนัดดาในราชสกุลรังสิตได้ใช้ในการเดินทางไปยังต่างประเทศ เป็นต้น

หรือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) รวมถึงพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ ประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระพันวัสสายังได้พระราชทานเงินเป็นค่าเดินทางและค่าอยู่อาศัยในต่างแดน ซึ่งทุกพระองค์ก็มิได้ทรงมีความเป็นอยู่หรูหรา แต่ทรงใช้จ่ายอย่างประหยัด และพระตำหนักที่โลซานน์ก็เป็นเพียงที่พักอาศัยที่เพียงพอสำหรับแม่และลูกๆ ทั้ง 3 คน

นี่คือเรื่องราวของพระราชทรัพย์ อันเกิดจากความประหยัดมัธยัสถ์และวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่มีทั้งทรัพย์สินและที่ดินต่างๆ ที่ทรงเก็บสะสมไว้อย่างระมัดระวังและทรงใช้จ่ายอย่างพอเพียง ซึ่งต่อมาทรัพย์สินเหล่านี้ได้เพิ่มมูลค่าขึ้นมากมาย และกลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงพระทายาทในราชสกุลมหิดล รวมถึงพระราชปนัดดา คือ ในหลวงรัชกาลที่ 10 นั่นเอง

ทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น เรียกว่า “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ซึ่งต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงยุบสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ไปรวมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนเพราะมีกรรมการดูแลเป็นชุดเดียวกัน ซึ่งการยุบรวมกันนี้ ไม่ได้เป็นการยุบรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มารวมเป็นกองเดียวกันตามที่มีคนเข้าใจผิดอยู่จำนวนหนึ่ง

หากแต่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ประกอบด้วยทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ (ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์-เดิม) และทรัพย์สินในพระองค์ (ทรัพย์สินส่วนพระองค์-เดิม) บริหารแยกกองทรัพย์สินออกจากกัน แต่รวมกันเรียกว่า “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” และมีสำนักงานเหลือเพียงสำนักงานเดียวคือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์บริเวณวังลดาวัลย์ (วังแดง) บริเวณเทเวศร์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า