เมื่อรายการ ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ นำพา ‘ความเท็จ’ สู่สังคม ทั้งๆ ที่สงขลาและพัทลุง ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสรับชมสารคดีจากช่อง “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ซึ่งนับเป็นรายการประวัติศาสตร์ชื่อดังของประเทศไทยในเวลานี้ ในชั้นต้น เมื่อพิจารณาจากชื่อตอนที่ว่า “สารคดีชุดสยาม-ปาตานี” แล้ว ผู้เขียนเกิดความรู้สึกไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ทีมงานได้จงใจใช้คำว่า “ปาตานี” แทนคำว่า “ปัตตานี” ที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยกันดี (คำนี้มีหลักฐานชั้นต้นว่าใช้มาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5)

การจงใจใช้ชื่อตอนที่ปรากฏคำว่า “ปาตานี” นั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทีมงานไม่ได้ทำการบ้านทางข้อมูลวิชาการเลย ดังที่ผู้เขียนเคยได้กล่าวไว้ในหลายแห่งว่า “ปาตานี” เป็นคำใหม่ เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2540 นี่เอง อีกทั้งยังเป็นการถอดรูปจากคำว่า “Patani” ที่ผิดหลักภาษาอีกด้วย เพราะที่ถูกต้อง Patani ควรจะเขียนในภาษาไทยว่า “ปัตตานี” “ปะตานี” หรือ “ปตานี” ซึ่งทั้ง 3 คำนี้มีใช้ในภาษาไทยและมลายูกว่าร้อยปีแล้ว

ทีมงานรายการฯ ยังได้ดันทุรังที่จะใช้คำว่า “ปาตานี” ต่อไปอีกในตอนที่ 2 ทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนอุตส่าห์ส่งข้อความท้วงติงไปทั้งใน Fan Page ของรายการ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” รวมทั้งในข้อความส่วนตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตรายการดังกล่าว แต่จนบัดนี้ ยังปราศจากการตอบรับหรือเปิดอ่านข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด ถึงกระนั้น ไม่ว่าทีมงานรายการฯ พยายามยัดเยียดที่จะให้คำว่า “ปาตานี” ปรากฏเป็นชื่อตอนมากเท่าใด (ซึ่งปัจจุบันเป็นคำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนไปแล้ว) ผู้เขียนก็สังเกตว่า ผู้บรรยายรายการยังใช้คำว่า “ปาตานี” สลับปะปนกับ “ปัตตานี” ตลอดทั้งรายการ ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า ถ้ายากนักที่จะใช้คำประดิษฐ์ใหม่ยัดลงไปในรายการ ก็กลับมาใช้คำว่า “ปัตตานี” ที่คุ้นเคยอยู่ก็ย่อมได้ นอกจากจะฟังรื่นหูดีแล้ว ยังไม่เป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมของพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วย

เมื่อประเด็นชื่อตอนของรายการได้จบไป (นี่เป็นประเด็นผิด ๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น) หากแต่เรื่องใหญ่ที่สำคัญกว่า และเป็นเรื่องที่ผู้เขียนในฐานะคนสงขลาไม่ยอมให้ผ่านไปง่าย ๆ ดังสายลมที่พัดลอย ก็คือการไปสรรหาข้อมูลที่เรียกได้ว่า “เป็นความเท็จ” และ “ไม่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด” มาเผยแพร่ให้เกิดความเสียหายและความเข้าใจผิด กระทั่งสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดสงขลาของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยข้อมูลผิดพลาดที่ว่า ก็คือการอ้างถึง อาณาจักรปัตตานีใหญ่” (The Great Patani – Patani Besar) ว่า กินอาณาเขตการปกครองและมีอำนาจอธิปไตยเหนือสงขลาและพัทลุง!

อนิจจา จาพุทโธ! ผู้เขียนศึกษาประวัติศาสตร์ชายแดนใต้มาถึงอายุเท่านี้ เพิ่งได้ยินได้อ่านเรื่องทำนองนี้มาไม่นานนี้เอง จากหนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานี (ที่เขียนโดยชาวกลันตันเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อน) และไม่นึกไม่ฝันเลยว่า จะมีคนไทยกล้าเอาเรื่องพรรค์นี้มาขยายแล้วบรรจุลงในสารคดีที่มียอดผู้ติดตามอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของสิ่งที่ตนกำลังนำเสนอนี้เลย

ผู้เขียนต้องเรียนก่อนว่า เนื้อหาสารคดีตอนนี้นำเสนอประมาณว่า “สหพันธรัฐปัตตานี ในสมัยรายาสักตีที่ 1 มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงพัทลุง สงขลา ปัตตานี จรดกลันตันและตรังกานู” ที่เมื่อตรวจสอบจากหนังสือและตำราฝั่งมาเลเซีย (กลันตัน) อันเป็นเรื่องของวาทกรรม “อาณาจักรปัตตานีใหญ่” แล้ว พบว่าในหนังสือ Penganta Sejarah Patani ของ Ahmad Fathy Al-Fatani (1994) และ Patani Dalam Tamadun Melayu โดย Mohd Zamberi A. Malek (1994) ได้กล่าวถึง “อาณาจักรปัตตานีใหญ่” (The Great Patani – Patani Besar) ไว้จริง โดยระบุว่ามีอาณาเขตไปถึงพัทลุง สงขลา กลันตันและตรังกานู แต่ก็เป็นปัตตานีในยุคของรายาบิรูในสายราชวงศ์ศรีวังสา หาใช่ในสมัยรายาสักตีของราชวงศ์กลันตัน (ที่โค่นอำนาจราชวงศ์ศรีวังสาเดิมแล้วสถาปนาตนเป็นเจ้า) แต่อย่างใด เป็นเหตุให้สารคดีของ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” นำเสนอเรื่อง “อาณาจักรปัตตานีใหญ่” ผิดรัชสมัยอย่างมาก (ทั้ง 2 รัชสมัยห่างกันเกือบ 40 ปี) แม้ว่าจะมีหนังสือใหม่เอี่ยมอีกเล่มชื่อว่า Ikhtisar Sejarah Kelantan โดย Abdul Razak Mumud (2005) เขียนถึง “อาณาจักรปัตตานีใหญ่” ว่าอยู่ในช่วงรายาสักตีที่ 1 แห่งราชวงศ์กลันตัน แต่หนังสือเล่มดังกล่าวกลับมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันเต็มไปหมดและไม่น่าจะมีความน่าเชื่อถือใด ๆ เลย

กล่าวคือ ข้อมูลความยิ่งใหญ่ของรายาสักตีที่ 1 ในเอกสารฝั่งกลันตัน เช่น Ikhtisar Sejarah Kelantan (ที่มักเขียนอวยรายาสักตี เพราะถือเป็นเจ้าฝั่งกลันตัน) กลับมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงใน “ฮิกายัตปตานี” (Hikayat Patani) ที่บันทึกจากคนในราชสำนักปัตตานีเอง (และเก่าแก่กว่าหนังสือของกลันตันเล่มนี้ กว่า 200 ปีเป็นอย่างน้อย)

ฮิกายัตปตานี ระบุข้อมูลที่น่าสนใจว่า เจ้ากลันตันถูกแต่งตั้งโดยสยามที่อยุธยา อีกทั้งกลันตันและปัตตานีภายใต้ราชวงศ์กลันตันถูกปกครองผ่านสายสกุลสุลต่านสุไลมานของสงขลาอีกทอดหนึ่ง (ในเวลานั้นสงขลาได้แตกเมือง แต่เชื้อสายสงขลายังเป็นใหญ่ในอยุธยาและคาบสมุทรตอนใต้) นี่จึงเป็นไปไม่ได้ที่กลันตันหรือปัตตานีจะปกครองสงขลา ถ้าจะกล่าวให้ถูก เป็นสงขลาและพัทลุงต่างหากที่จะต้องปกครองและมีอำนาจเหนือปัตตานี

อีกทั้ง ฮิกายัตปตานี เขียนไว้เองว่า ในช่วงที่ขุนนางปัตตานีทะเลาะกัน ทางอยุธยาได้บัญชาให้เจ้าเมืองสงขลา เจ้าเมืองพัทลุง รวมถึงเจ้าเมืองไชยา (อดีตสุลต่านมุสตอฟา ชาห์ แห่งซิงฆูรา หรือ สงขลา) ลงมาจัดระเบียบการปกครองของปัตตานีและกลันตัน

ดังนั้น เอกสารหรือหนังสือเกี่ยวกับปัตตานีที่เขียนโดยนักวิชาการชาวกลันตันในช่วงหลัง 20 ปีมานี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่เพื่อยกยอเจ้าฝั่งกลันตันว่ามีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ และข้อมูลของรายาสักตีที่ 1 นี้ ยังขัดแย้งกับข้อมูลในเอกสารปัตตานีโบราณ นั่นก็คือ ฮิกายัตปตานี (Hikayat Patani) ด้วย ดังที่กล่าวมาแล้ว

ดังนั้น ควรหมายเหตุไว้โต ๆ ณ ที่นี้ว่า นอกจากข้อมูลจากหนังสือทั้ง 3 เล่มจะไม่ตรงกับเอกสารของราชสำนักปัตตานีแล้ว หนังสือเหล่านี้ยังไม่ได้ใส่อ้างอิงถึงที่มาของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด (น่าสนใจว่าทั้ง 2 เล่มแรก พิมพ์ออกมาในปีเดียวกัน คือ พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเบอร์ซาตูกำลังตั้งตัว) อีกทั้งตามหลักฐานก็ปรากฏด้วยว่า Ahmad Fathy Al-Fatani นักวิชาการชาวปัตตานีที่อพยพลี้ภัยไปอยู่ที่รัฐกลันตัน มีความเกี่ยวข้องกับปีกวิชาการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างสำคัญด้วย (อ่านคำนำของหนังสือเล่ม Penganta Sejarah Patani แล้วท่านจะประจักษ์เอง)

จึงกล่าวได้ว่าวาทกรรม “อาณาจักรปัตตานีใหญ่” (The Great Patani – Patani Besar) มีที่มาจากนักวิชาการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยปราศจากข้อสงสัย

การเคลมว่าตนเองเป็น “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะสิ่งที่ผู้เขียนทำอยู่ทุกวันนี้ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์นอกตำราได้เช่นกัน สังเกตให้ดีจะพบว่า หลายเรื่องที่ผู้เขียนนำเสนอมานั้น ไม่เคยปรากฏในเอกสารหรือตำราประวัติศาสตร์ฝั่งไทยเลย ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนกล้าท้าพิสูจน์ให้ผู้ที่ติดตามอ่านงานของผู้เขียน ย้อนกลับไปอ่านเอกสารต่าง ๆ ที่อ้างถึง ผู้เขียนยินดีชี้และพิสูจน์ให้เห็นว่าเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้เขียนยกมาอ้างแต่ละครั้งมีอยู่จริง และมีความน่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การอ้างหนังสือที่ไม่มีอ้างอิงอะไรเลย แถมข้อมูลยังขัดแย้งกับเอกสารร่วมสมัยอื่น ๆ ประวัติศาสตร์นอกกระแสเช่นนี้ แทนที่จะเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงด้านอื่น ๆ ให้แก่ประชาชน กลับกลายเป็นการนำเสนอสิ่งที่เป็น “วาทกรรมเพิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่” เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง อีกทั้งยังเป็นวาทกรรมที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของพวกนักชาตินิยมนายูบางกลุ่มอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การนำเสนอสิ่งที่แปลกแหวกแนวไม่ใช่สิ่งผิด แต่อย่างไรเสียก็ไม่ควรพ้นวิสัยที่จะต้องตรวจทานข้อมูลให้รอบคอบชัดเจนก่อนนำเสนอ และยิ่งเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ความขัดแย้งและเปราะบางเช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ การนำเสนออะไรที่คิดว่าเท่และแปลกใหม่ แทนที่จะเป็นประโยชน์อาจจะเป็นโทษต่อคนในพื้นที่ ที่เขารับผลกระทบจริง ๆ ก็เป็นได้ การตระหนักถึงที่มาของชุดข้อมูลหรือความจริงที่นำเสนออยู่จึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อที่ดี

ผู้เขียนจึงขอวานให้ทีมงาน “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ทบทวนข้อมูลบางส่วนใน สารคดีชุดสยาม-ปาตานีโดยเฉพาะในตอนที่ 2 นี้เสียใหม่ หากเป็นไปได้ตัดเรื่องของพัทลุง-สงขลาทิ้งออกไปเสียจะเป็นพระคุณยิ่ง เนื่องจากวาทกรรม “อาณาจักรปัตตานีใหญ่” นี่แหละ ที่จะเป็นการรับรองและสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน เข้ามาก่อความไม่สงบ เข่นฆ่าผู้คนและบ่อนทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลา (ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าสงขลาไม่เคยตกอยู่ใต้การปกครองของปัตตานี เว้นเสียแต่ช่วงสงครามเพียงสั้น ๆ เท่านั้น) การอ้างว่าสงขลาเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีมาก่อนโดยเฉพาะ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี) เป็นการแต่งประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ของพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดน หากทีมงานยังเพิกเฉย (เช่นที่เป็นอยู่นี้) ผู้เขียนเตือนว่ามันจะยุ่งกันไปใหญ่อย่างแน่นอน!

อ้างอิง :

[1] Ahmad Fathy Al-Fatani. Penganta Sejarah Patani. (1994)
[2] Mohd Zamberi A. Malek. Patani Dalam Tamadun Melayu. (1994)
[3] A. Teeuw and D.K. Wyatt. The Story of Patani (Hikayat Patani). (1970)
[4] ประวัติเมืองปัตตานี ฉบับแปลถวายในหลวงรัชกาลที่ 7. (เอกสารชั้นต้นไม่ได้รับการตีพิมพ์)
[5] อาณัติ อนันตภาค. สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา. (กรุงเทพ : ยิปซีย์สำนักพิมพ์) 2557.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื