ความโทมนัสของเจ้านาย 6 แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2411 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามีพระชนมายุเพียง 6 พรรษา ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อเจริญพระชันษา ในหลวงรัชกาลที่5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้า และทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 6 แผ่นดิน  (รัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 9) และทรงมีการเฉลิมพระนามาภิไธยถึง 7 ครั้ง โดยในสมัยรัชกาลที่ 8 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ทรงเปลี่ยนฐานะจาก “สมเด็จพระมาตุฉาเจ้า” เป็น “สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า”

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสธิดารวม 8 พระองค์ ดังนี้

  1. สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา
  4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธารงฤทธิ์
  5. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
  6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ
  7. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
  8. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง

นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าลูกเธอ, พระเจ้าลูกยาเธอ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นผู้เลี้ยงดู ด้วยกำพร้าพระมารดาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ 4 พระองค์ คือ

  1. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท
  2. พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์
  3. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล
  4. พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงดำเนินพระชนม์ชีพอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือยใดๆ ทรงเลี้ยงดูเจ้านาย พระญาติ ข้าราชบริพาร โดยทรงอบรมสั่งสอนให้รู้จักการประหยัด รู้คุณค่าของเงิน และยังทรงขยันทำมาค้าขาย จนในหลวงรัชกาลที่ 5 ตรัสเสมอว่า “แม่กลางร่ำรวย” อีกทั้งยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อสาธารณะประโยชน์ด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา และการศาสนา

แต่ใครเลยจะคิดว่า ตลอดเวลา 93 ปี ในพระชนม์ชีพ นอกจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจะทรงผ่านเหตุการณ์สำคัญใหญ่น้อยที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองมามากมาย พระองค์ยังทรงประสบความทุกข์โทมนัส อันเนื่องมาจากความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะการสูญเสียพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์

โดยมีบันทึกเหตุการณ์ในช่วงหนึ่งว่า ภายหลังเสร็จสิ้นงานพระเมรุพระราชธิดา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เมื่อรถพระที่นั่งเทียบหน้าตำหนัก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จตรงขึ้นไปชั้นบนสู่ห้องพระทันที ทรงวางห่อพระทนต์ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงไว้ที่หน้าพระ แล้วทรุดพระองค์ลงหมอบนมัสการพร้อมเอ่ยพระโอษฐ์อธิษฐานว่า …

“ขอให้ลืม ลืมให้หมด อย่าให้มีความจำอะไรเลย จำอะไรขึ้นมาก็ล้วนแต่ความทุกข์ทั้งนั้น”

และนี่คือลำดับความทุกข์โศกอันเนื่องมาจากการพลัดพรากสูญเสียของ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ขณะสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามีพระชนมายุ 6 พรรษา

พ.ศ. 2416 พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัย พระเชษฐา สิ้นพระชนม์ ขณะพระชันษา 18 ปี

พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ผู้เป็นเชษฐภคินีเสด็จสวรรคตพร้อมด้วยพระราชธิดา ด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มที่ตำบลบางพูด เมืองนนทบุรี

พ.ศ. 2424 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระราชธิดา สิ้นพระชนม์ขณะพระชนมายุได้ 5 เดือน

พ.ศ. 2437 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรส เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย ขณะพระชนมพรรษา 17 พรรษา

พ.ศ. 2441 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์ พระราชธิดา สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคนิวมอเนีย ขณะพระชนมายุ 11 พรรษา

พ.ศ. 2442 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ พระราชโอรส สิ้นพระชนม์กะทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย

พ.ศ. 2447 เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม พระชนนี ถึงแก่อนิจกรรม

พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสวามี เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการ

พ.ศ. 2462 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้เป็นกนิษฐภคินีเสด็จสวรรคต

พ.ศ. 2466 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการพระเชษฐา สิ้นพระชนม์ ขณะพระชันษา 66 ปี

พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

พ.ศ. 2472 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชโอรสสิ้นพระชนม์

พ.ศ. 2475 คณะราษฎรเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ. 2476 เกิดกบฏบวรเดช สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่7 ไปประทับที่สงขลา เพื่อหนีภัยการเมือง ในปีเดียวกันนั้น โปรดให้หม่อมสังวาลย์นำพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

พ.ศ. 2477 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระราชธิดาบุญธรรม สิ้นพระชนม์

พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระอนุชา สิ้นพระชนม์ที่ปีนัง และในปีเดียวกันนั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปลงพระชนม์พระองค์เอง

พ.ศ. 2481 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดา สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระวักกะพิการ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสบุญธรรม ทรงถูกรัฐบาลคณะราษฎรจับกุมฐานก่อกบฏ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า เขา (รัฐบาลคณะราษฎร) จะแกล้งฉันให้ตาย ฉันไม่รู้ว่าฉันจะอยู่ไปทำไม ลูกตายไม่ได้น้อยใจช้ำใจเหมือนครั้งนี้เลยเพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว

พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันด้วยพระแสงปืนในห้องพระบรรทม

พ.ศ. 2494 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสบุญธรรม สิ้นพระชนม์

ทั้งหมดนี้คือลำดับเหตุการณ์แห่งความโทมนัสของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้านายผู้ทรงดำรงพระชนม์ชีพผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของบ้านเมืองมายาวนานถึง 6 แผ่นดิน และยังทรงเป็นผู้เลี้ยงดูอุปถัมภ์เจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์หลายต่อหลายพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพของท่าน

พระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ณ วังสระปทุม รวมพระชนมายุ 93 พรรษา พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า