ย้อนอดีต ‘ถนนสายต้นยาง’ จากความร่วมแรงร่วมใจ สู่เส้นทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ – ลำพูน

หนึ่งในเส้นทางประวัติศาสตร์ทางภาคเหนือของไทยที่มีบรรยากาศสวยงามร่มรื่นด้วยพรรณไม้ต่างๆ คือ “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106” ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ กับจังหวัดลำพูน ผ่านทางอำเภอสารภี โดยถนนเส้นนี้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือ มีต้นขี้เหล็ก และต้นยางนากว่าพันต้น อายุกว่า 150 ปี สูงตระหง่านเป็นแนวยาวตลอดเส้นทาง จนเรียกกันว่าเป็น “ถนนสายต้นยาง” หรือ “ถนนต้นยาง

เส้นทางเชื่อมต่อเชียงใหม่ – ลำพูน มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย และเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทางของพระมหาสุมนเถระ เจ้านิกายสวนดอกจากเมืองลำพูนมายังเมืองเชียงใหม่ในรัชสมัยพระญากือนา

ต่อมาเส้นทางนี้ได้มีการสร้างถนนขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลลาวเฉียง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2438 โดยเริ่มสร้างตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ (หน้าโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียนในปัจจุบัน) เลียบตามแนวแม่น้ำปิงมาจนถึงเมืองลำพูน

ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ถูกใช้เป็นเส้นทางสัญจรเรื่อยมา จนกระทั่งเริ่มมีการพัฒนาปรับปรุง ในปี พ.ศ. 2442 เมื่อพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าหลวงพิเศษขึ้นมาจัดระเบียบราชการในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ

โดยแต่เดิมได้มีการตกลงกันว่า จะมีการปูอิฐตลอดเส้นทาง แต่มิสเตอร์คอลลินซ์ (Rev. David G. Collins) ข้าหลวงต่างชาติในขณะนั้น เห็นว่าถนนสายนี้เป็นถนนดีมาก ถ้าเอาอิฐปูอาจจะทำให้ถนนเสียลง ดังนั้น จึงมีมติให้ทำการซ่อมแซมถนนให้ดีขึ้นแทนการปูอิฐ และห้ามมิให้ราษฎรทำนาบนถนนใหญ่ อีกทั้งจะต้องเปิดทางเดินไว้ให้กว้าง 6 ฟุตเสมอ เพื่อความสะดวกในการสัญจร โดยกฎระเบียบนี้จะเป็นข้อห้ามเฉพาะถนนใหญ่ ในส่วนของทางเดินเล็กน้อยจะไม่มีการห้ามแต่อย่างใด

ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาต่อเนื่อง จากความร่วมมือของทั้งข้าราชการและเจ้านายท้องถิ่น ภายใต้การดูแลของ หม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์) ข้าหลวงประจำนครเชียงใหม่ในขณะนั้น จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2443

และจากหลักฐานโทรเลขของ หม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ที่รายงานไปยังกระทรวงมหาดไทย ทำให้ทราบว่า ผู้ที่นำต้นยางนาเข้ามาปลูกตลอดสองข้างทางถนนในเขตเชียงใหม่ คือ เจ้าราชบุตร (เจ้าน้อยคำตื้อ) บุตรของเจ้าอุปราช (บุญทวงษ์) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นคนปลูกต้นขี้เหล็กในถนนฝั่งลำพูน

เมื่อมีการปลูกต้นยางนาในเขตเชียงใหม่และปลูกต้นขี้เหล็กในเขตลำพูนแล้ว ได้มีการกำหนดกฎระเบียบในการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์บนเขตถนนและที่ทำการของราชการ ถ้าต้นยางปลูกตรงกับหน้าบ้านใด ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบเพื่อกันวัวควายเข้ามาเหยียบย่ำ และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้า ใส่ปุ๋ย สำหรับต้นยางที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใดจะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบ โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา หากสัตว์เลี้ยงของผู้ใดเหยียบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้ จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน

ต้นยางนาที่ปลูกนี้ต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน และเป็นที่มาของชื่อ “อำเภอยางเนิ้ง” ซึ่งเป็นชื่อเก่าของอำเภอสารภีอีกด้วย โดยคำว่า “ยางเนิ้ง” มาจากคำว่า “ต้นยาง” กับ “เนิ้ง” ที่เป็นภาษาพื้นเมืองแปลว่า “โน้มเอน”

อนึ่ง ต้นยางนาถือเป็น “ต้นไม้เคียงคู่กับเมืองเชียงใหม่” หรือที่เรียกว่า “ไม้หมายเมือง” โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยโบราณการเดินทางมาเชียงใหม่นั้นใช้เวลายาวนานมาก ก่อนเข้าเมืองเชียงใหม่ไม่ว่าจะเดินทางมาจากทิศทางใด มักจะมองเห็นยอดไม้ยางนาในวัดเจดีย์หลวงลิบๆ นั่นแปลว่ามาถึงเชียงใหม่แล้ว

บ้างก็ว่า ไม้หมายเมืองใช้เป็นจุดนัดหมายของชาวบ้าน หรือพ่อค้าจากต่างถิ่นนัดเจอกันเมื่อเข้ามาถึงเมืองเชียงใหม่ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีตึกสูงๆ หรือจุดนัดพบ ดังนั้นคนที่เดินทางเข้าเมืองก็จะใช้ต้นยางนาอันสูงเด่นนี้เป็นจุดนัดพบ จึงได้ชื่อว่าไม้หมายเมือง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ได้มีการปรับปรุงและขยายผิวถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนอีกครั้ง ตามใบบอกของพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ เนื่องจากถนนบางส่วนแคบไปบ้าง กว้างไปบ้างไม่เท่ากัน และบางส่วนก็ชำรุดทรุดโทรมไปมาก โดยการปรับปรุงครั้งนั้น ในแขวงเชียงใหม่มีเจ้าบุรีรัตน์กับกรมการแขวงป่ายางเป็นผู้ดูแล ส่วนแขวงลำพูนมีเจ้าราชภาติกะวงษ์เป็นผู้ดูแล โดยมีราษฎรจากทั้งสองพื้นที่ร่วมมือช่วยกันปรับปรุง ภายใต้คำแนะนำของข้าหลวงโยธาชาวต่างชาติ ใช้เวลาเดือนเศษจึงสำเร็จลุล่วง ทำให้ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน มีความกว้างขวางสะดวกแก่การสัญจรมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากถนนสายนี้มีการใช้สัญจรไปมาอย่างคับคั่ง อีกทั้งมีประชาชนปลูกบ้านเรือนริมถนนอยู่ใต้ต้นยางนา ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย บางแห่งเกิดอุบัติเหตุรถชนต้นยาง หรือมีกิ่งไม้ ลำต้นยางหักโค่นลงมาสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ทำให้มีการลักลอบพ่นยาหรือตัดทำลายต้นยางไปเป็นจำนวนมาก

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ทางภาครัฐเริ่มเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหานี้ โดยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับต้นยางนาในพื้นที่อำเภอสารภี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องเรียนคอมพิวเตอร์พระราชทาน ณ ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ว่า “ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อย่าให้ใครตัดต้นยางที่ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน เพราะไม่มีที่ไหนอีกแล้ว”

จังหวัดเชียงใหม่จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แก่ราษฎรที่อาศัยบริเวณสองข้างทาง และผู้ใช้เส้นทางให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งอนุรักษ์ต้นยางนาให้สามารถคงอยู่ต่อไปโดยไม่เกิดปัญหาแก่ประชาชน และได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน มีต้นยางนาเหลืออยู่จำนวน 900 กว่าต้น (จาก 1,107 ต้น ในปี 2538 และ 1,028 ต้น ในปี 2549) โดยถนนเส้นนี้อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และครอบคลุมพื้นที่ 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลหนองหอย เทศบาลหนองผึ้ง เทศบาลสารภี และเทศบาลตำบลยางเนิ้ง โดยได้มีการร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ต้นยาง (ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน) รวมทั้งก่อตั้งกลุ่มรักษ์ยางนา จากความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้มีการจัดโครงการและกิจกรรมดูแลต้นยางนาอย่างถูกต้องเหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และดูแลรักษาถนนสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า