100 ปีที่พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น อยู่ใต้ร่มสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างราบรื่น บนจุดยืนที่แข็งกร้าวว่า ’ไม่เอาสถาบัน’

ในขณะที่นักเคลื่อนไหว หรือนักกิจกรรมทางการเมืองบางคน ไม่กล้าพูดออกมาอย่างเต็มปากว่า ตนเองศรัทธาในลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้ง ๆ ที่มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเชื่อในลัทธิ อาทิ การติดธงค้อน/เคียว ไว้ในห้อง สวมเสื้อแสดงสัญลักษณ์ หรือหยิบยกวาทกรรมของนักคิดคนสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์มายกอ้างเสมอ ๆ

แต่เมื่อหันไปมอง “การเมืองญี่ปุ่น” เราจะเห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นนั้น ดำเนินกิจการทางการเมืองมาตั้งแต่วันก่อตั้ง 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 หรือ ค.ศ. 1922 แล้ว

และการดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปในทางเปิดเผย ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองตามกรอบกติกาตามระบอบประชาธิปไตยอันมีสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงเป็นพระประมุขโดยเสมอมา (ยกเว้นบางช่วงเวลา ซึ่งจะกล่าวถึงหลังจากนี้)

มาศึกษากันว่า 100 ปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ต้องเผชิญหน้ากับอะไรมาบ้างกัน

ช่วงเริ่มต้นของการเข้ามาของแนวคิดคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นนั้น หลั่งไหลเข้ามาสู่ญี่ปุ่นผ่านการยอมรับความรู้และวิทยาการแบบตะวันตกเข้ามาสู่ญี่ปุ่นนับตั้งแต่การปฏิรูปยุคเมจิ (ค.ศ. 1867) เป็นต้นมา

การนำในช่วงก่อนการก่อตั้งพรรค มาจากขบวนการอนาธิปไตย-สหการนิยม และสังคมนิยมคริสเตียน และในเวลานั้น ยังไม่มีการใช้ชื่อคอมมิวนิสต์

กระทั่ง วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 มีการประชุมร่วมกันของชาวญี่ปุ่นที่เลื่อมใสศรัทธาในลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เขตชิบุยะ กรุงโตเกียว โดยมีการติดต่อประสานงานกับองค์การคอมมิวนิสต์ภาคตะวันออกไกล ซึ่งมีสำนักงานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อจัดตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น” Japan Communist Party (JCP)

นี่คือการก่อกำเนิดของ พรรคการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง และปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของพรรค JCP ยังคงตั้งอยู่ที่เขตชิบุยะ กรุงโตเกียว

แต่จะอย่างไรก็ตาม

เนื่องด้วยแนวทางอุดมการณ์ของพรรค มุ่งโค่นล้มสมเด็จพระจักรพรรดิ, สภาขุนนาง, สภาที่ปรึกษา และบทบัญญัติว่าด้วยทหาร ซึ่งเป็นวิถีของรัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้น

พรรคคอมมิวนิสต์จึงถูกกวาดล้าง ภายใต้ พระราชบัญญัติการรักษาความสงบ ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) มีสมาชิกพรรคหลายคนถูกจับกุม ในขณะที่แกนนำหลายคน ลี้ภัยทางการเมืองภายใต้ความช่วยเหลือขององค์การคอมมิวนิสต์สากล

บุคคลสำคัญของพรรคในช่วงเวลานี้คือ โนซากะ ซันโซ ผู้ก่อตั้งพรรคยุคแรกเริ่ม และลี้ภัยการเมืองไปช่วยงานพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และจีน โดยเขามีบทบาททั้งในฐานะสายลับของคอมมิวนิสต์ในอเมริกา และมีส่วนร่วมในโครงการ “ปรับทัศนคติ” เชลยศึกชาวญี่ปุ่นในจีน

และด้วยสายสัมพันธ์ที่เขามีจากการปฏิบัติงานสายลับในอเมริกา เขาจึงได้กลับสู่ญี่ปุ่น ด้วยความช่วยเหลือของ เฮอร์เบิร์ท นอร์แมน ตัวแทนจากแคนาดาใน ศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร (Supreme Commander for the Allied Powers (SCAP))

ซันโซ มีนโยบายการดำเนินงานทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย ที่สงบสันติ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ SCAP ในการครอบครองญี่ปุ่น ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยในญี่ปุ่น ซันโซจึงได้รับการต้อนรับจากอเมริกาเป็นอย่างดีในช่วงแรก

พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ในช่วงการยึดครองญี่ปุ่นของอเมริกา ดำเนินการตามแนวนโยบาย “ปฏิวัติอย่างสงบ” โดยอาศัย “กระบวนการแบบประชาธิปไตย” ซึ่งพวกเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการรวบรวมสมาชิกกลุ่มชนชั้นแรงงาน, ไพร่ และชนชั้นกลาง (ชนชั้นกระฎุมพี)

กลยุทธ์การดำเนินการและการหาเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นนั้น เป็นไปด้วยดี มีการดำเนินการรณรงค์หาเสียง ขยายสาขาทั่วประเทศ

แต่ในรัฐสภา พรรคคอมมิวนิสต์กล่าวโจมตีฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเป็นระบบว่า “นิยมทหาร”, “ปกป้องอาชญากรสงคราม” และ “ขายชาติ”

ฐานเสียงที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น คือ “สหภาพแรงงาน” และสหภาพแรงงาน คือตัวขับเคลื่อนในภาคประชาชน (Social Movement) อันทรงพลังให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น นำพาให้สหภาพแรงงานจำนวน 3 ล้านคน เดินขบวนประท้วง แสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ ปลดพนักงานการรถไฟออก 130,000 คน กระทั่งนายกรัฐมนตรีประกาศลาออกในวันที่ 24 พฤษภาคม

แต่ทุกอย่างกลับสะดุดลง จากการแทรกแซงของพลเอกอาวุโส ดักลาส แม็คอาเธอร์ เขา “สั่ง” อย่างชัดเจนให้ “ถอยไป” และพรรคคอมมิวนิสต์ยอมทำตาม ออกประกาศทางวิทยุ ขอให้ประชาชนกลับบ้าน

ความล้มเหลวในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนรู้สึกผิดหวังต่อพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น จนส่งผลให้คะแนนนิยมตกต่ำลง

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ ถือได้ว่ามีความแปลกที่น่าชื่นชมยิ่งกว่าใคร

และมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมของญี่ปุ่นอย่างสูง

ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องการคงอยู่ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น ยังคงยืนกรานที่จะปฏิเสธการคงอยู่ของราชสำนักสมเด็จพระจักรพรรดิ แต่ก็ประกาศว่า จะเคารพต่อเจตนารมณ์ของมหาชนชาวญี่ปุ่น หากชาวญี่ปุ่นยังคงต้องการให้ราชสำนักคงอยู่ต่อไป

และท่าทีของ JCP ต่อราชสำนัก ยังคงเป็นเช่นนี้มาจวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ การดำเนินการของพรรค เต็มไปด้วยท่าทีประนีประนอม สงบ สันติ ซึ่งผิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่น ที่ใช้กำลังและความรุนแรงในการแสวงหาอำนาจรัฐในการปกครอง

ซึ่งลักษณะการดำเนินการของพรรคเช่นนี้ ได้รับการสนับสนุนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในหมู่ผู้ใช้แรงงาน, ชาวนา และชนชั้นกลาง

วิธีการในการต่อสู้กับนายทุน ของกรรมกรญี่ปุ่นในช่วงนั้น ถือได้ว่า สวยงามและน่าศึกษาอย่างยิ่ง

เพราะแทนที่จะทำการประท้วงด้วยการหยุดงาน

พวกเขากลับประท้วงด้วยการไล่นายทุน, ฝ่ายบริหาร และผู้จัดการโรงงานออกไป และเข้าควบคุมการผลิต การบริหารโรงงานเอาไว้เอง จนกว่านายทุนจะยอมรับในเงื่อนไขที่พวกเขาต้องการ

ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ไม่ทำให้สังคมเสียหาย เนื่องจากยังคงรักษาเสถียรภาพในการผลิตของประเทศเอาไว้ได้ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ได้รับการยอมรับจากประชาชนในสังคม ซึ่งในเวลานั้น เหนื่อยหน่ายกับการใช้ความรุนแรงนั่นเอง

ถึงแม้ในเวลาต่อมา อเมริกาจะเปลี่ยนไปใช้นโยบายที่แข็งกร้าวต่อพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น และเริ่มแผนการ “กวาดล้างแดง” ใน ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) เนื่องจากความพ่ายแพ้ของพรรคก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้อเมริกามองพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยสายตาหวาดกลัว และพยายามกำจัดทิ้งไป

แต่พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวญี่ปุ่นบางส่วนอยู่ดี


อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงโดยโจเซฟ สตาลิน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งติเตียนแนวนโยบายของซันโซว่า “มองโลกในแง่ดี” และ “เชิดชูจักรวรรดินิยมอเมริกา” ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) ทำให้โนซากะ ซันโซ สูญเสียอำนาจในการนำพรรคคอมมิวนิสต์

และทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น หันไปดำเนินนโยบาย “ใช้ความรุนแรง” และ “การก่อการร้าย” มีการเผาทำลายสถานที่ราชการหลายแห่ง

การใช้ความรุนแรงนี้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของชาวญี่ปุ่น และทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาในพรรค JCP อย่างรวดเร็ว

ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1952 พรรค JCP เสียที่นั่งทั้งหมดในสภา

ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปนี้คือที่มาของการประกาศวิจารณ์ตนเองของพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น กล่าวโจมตีการใช้ความรุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้ซันโซ ซึ่งเดินทางไปอาศัยที่ประเทศจีน ได้กลับสู่ตำแหน่งผู้นำพรรค JCP อีกครั้งได้อย่างสง่างาม

ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) นายกรัฐมนตรี โนบุสุเกะ คิฉิ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น (และคุณตาของอดีตนายก ฯ ชินโซ อาเบะ) ประกาศสนับสนุนสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเรียกสั้น ๆ ในภาษาญี่ปุ่นว่า อันโปะ (安保)

สร้างกระแสการต่อต้านการในชาวญี่ปุ่นฝ่ายซ้าย และกลุ่มขวาอนุรักษนิยมบางส่วน ซึ่งกังวลว่าญี่ปุ่นจะถูกดึงเข้าไปสู่ความขัดแย้งในสงครามเย็น และการกลับมาของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น

ซึ่งนายโนซากะ ซันโซก็ไม่พลาดที่จะผลักดันมวลชนให้ออกมาเดินขบวนประท้วง โดยอาศัยกลุ่มขบวนการนักศึกษา “กลุ่มเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น”) และกลุ่มสหภาพแรงงานในการขับเคลื่อนมวลชน

และนี่คือที่มาของ “การประท้วงอันโปะ” การชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมถึง 30 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรญี่ปุ่นในเวลานั้น และกินเวลายาวนานเกือบปี

การประท้วง “ร้อนแรง” จนมีการรุมล้อมทำลายรถยนต์ของตัวแทนประธานาธิบดีไอเซ็นฮาวจากอเมริกา ทำลายแผนการเดินทางเยือนญี่ปุ่นของประธานาธิบดี

ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้น เลือกใช้ความรุนแรงในการเข้าปราบปราม จนมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเสียชีวิต

ความร้อนแรงและตึงเครียดนี้เอง ที่เป็นที่มาของ “กลุ่มหัวรุนแรง” ทั้งในฝ่ายขวา และซ้าย ซึ่งนำไปสู่ การลอบสังหารนายก ฯ โนบุสุเกะ คิฉิ และนายอิเนจิโร อะซานุมะ ผู้นำพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมนี้จบลงในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1960 พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ได้ครองเสียงข้างมากในสภา นายฮายาโตะ อิเคดะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางไปลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือกับอเมริกา ที่อเมริกา

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านเสียง มีที่นั่งในสภา 3 ที่นั่งจากเหตุการณ์นี้

ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไป พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง นับตั้งแต่ยุคปี 80s เป็นต้นมา โดยในปี พ.ศ. 2540 ที่ผ่านมา จำนวนสมาชิกพรรคลดลงเหลือเพียง 370,000 คนเท่านั้น

นี่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นหันมามองอุดมคติของตนเอง ว่าเก่าเกินไป เป็นอนุรักษนิยม และล้าสมัย จึงเริ่มการปรับเปลี่ยนปฏิรูปตนเองให้มีความเป็น “สังคมนิยมประชาธิปไตย” มากขึ้น

แม้แต่มุมมองในเรื่องสถาบันสมเด็จพระจักรพรรดิ ก็เริ่มอ่อนลง ให้การยอมรับในการคงอยู่ของสถาบัน ตราบเท่าที่สถาบันยังวางพระองค์ในฐานะองค์สมเด็จพระประมุข และไม่ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

และจุดยืนที่เด่นชัดของพรรค คือการสนับสนุนสิทธิของสตรีและบุคคลเพศทางเลือก และการวางตัวเป็นทางเลือกของประชาชนชาวญี่ปุ่น ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมานั่นเอง

ดังนั้น วิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2551 หรือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง จึงทำให้ผลโพลสำรวจประชาชนชาวญี่ปุ่นพบว่า พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

แต่ถึงแม้จะไม่เห็นผลทันทีในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2552 ก็ตาม แต่พรรคก็ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2557 มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นจาก 4.9 เป็น 6.0 ล้านเสียง ได้รับที่นั่งในสภาเพิ่มเติมจาก 8 เป็น 21 ที่นั่ง

ตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาของพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นต้องผ่านอุปสรรคมามากมาย และไม่เคยเข้าถึงฝั่ง ได้ขึ้นนั่งเป็นแกนนำของรัฐบาลเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ซ้ำร้าย มักเป็นฝ่ายผู้ถูกกระทำ ถูกกวาดล้างจับกุมในช่วง ค.ศ. 1920 จนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 และมาถูกปราบปรามซ้ำโดยรัฐ ในช่วง ค.ศ. 1950 ซึ่งเป็นผลมาจากความกลัวคอมมิวนิสต์ของอเมริกาในช่วงต้นสงครามเย็น

แต่ถึงแม้ พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น จะยึดมั่นในแนวคิด ลัทธิ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของตนอย่างแรงกล้า แต่พวกเขา ก็ไม่เคยลืมที่จะเคารพให้ความคิดเห็นของประชาชน ดำรงตนเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์อันเป็นที่รักของประชาชน” เสมอมา

แม้จะมีช่วงเวลาที่หลงผิด ใช้ความรุนแรง ก่อเหตุเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่พวกเขาก็รู้จักที่จะเรียนรู้ความผิดพลาด และไม่ยืนกรานดึงดันในสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อมติของมหาชน

นอกจากนี้ นวัตกรรมการต่อต้านนายทุน ในแบบที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ด้วยการเข้ายึดโรงงาน ขับไล่นายทุนและผู้บริหารออกไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อประชาชนส่วนรวมจากการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค

ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวญี่ปุ่น อยู่ยืนยงเป็นพรรคทางเลือกให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นมาได้แล้ว 100 ปี และยังคงเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุมากที่สุดของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

และแม้จุดยืนของพรรคคอมมิวนิสต์ จะไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นก็เคารพต่อมติมหาชนชาวญี่ปุ่น ให้เกียรติแก่ความเห็นที่แตกต่าง อีกทั้งยังไม่เคยจาบจ้วง ให้ร้ายสถาบัน

การยืนกรานในอุดมคติ วางตนเป็นทางเลือกที่แตกต่าง แต่รู้จักปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นไปตามกาลเวลา และบริบทของสังคม อีกทั้งยังเคารพในความคิดที่หลากหลายของประชาชนชาวญี่ปุ่นนี่เอง ที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น ยืนอยู่ใต้ร่มธงประชาธิปไตยอันมีสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นพระประมุขมาได้ถึง 100 ปีนั่นเอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า