การเดินทางผ่านกาลเวลาของ ‘ธงชาติไทย’

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 คือวันที่ “ธงไตรรงค์” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยสีแดงและสีขาวนั้นมาจากพื้นของธงช้างเผือก ซึ่งเคยเป็นธงชาติไทยแต่เดิม และในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริให้เพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้ามาอีกสีหนึ่ง ให้เป็นสามสี ตามลักษณะธงชาติของเหล่าประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรกับกรุงสยามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นจึงได้มีการประกาศใช้ “ธงไตรรงค์” ตามพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ไว้ในนิตยสารดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ เล่มที่ 1 พ.ศ. 2461 นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และ สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์

ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้น มีที่มาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา ซึ่งธงชาติไทยได้เดินทางผ่านกาลเวลา แปรเปลี่ยนรูปแบบตามวัฒนธรรม และความหมายในเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ จนกลายมาเป็น “ธงไตรรงค์” อันเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นชาติในปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย

นับย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในเวลานั้น เรายังไม่มีธงชาติหรือสิ่งที่บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติแต่อย่างใด และด้วยความที่กรุงศรีอยุธยาได้มีการเจริญสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ มากมาย ในตอนนั้นเรือต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ต้องการที่จะยิงสลุตตามธรรมเนียมของชาติตะวันตก แต่ทางกรุงศรีอยุธยายังไม่ได้มีธงที่ชักขึ้น เพื่อแสดงความเป็นสัญลักษณ์ของชาติ จึงได้ใช้ธงแดงเกลี้ยงชักขึ้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นชาติกลาย ๆ และนับเป็นสีพื้นของธงชาติที่ใช้ในเวลาต่อมา

จวบจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำรูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ วางไว้กลางผ้าผืนสีแดงสำหรับชักขึ้นบนเรือกำปั่นหลวง ส่วนเรือของราษฎรนั้น ยังคงให้ใช้ธงแดงเกลี้ยงตามเดิม ซึ่งถือว่า “ธงวงจักร” เป็นธงชาติไทยแบบแรกนั่นเอง

“ธงวงจักร” ซึ่งถือเป็นธงชาติไทยแบบแรก

และในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ปรากฏมีช้างเผือกอันอุดมด้วย “คชลักษณ์” มาสู่พระราชสมภารถึง 3 เชือกด้วยกัน ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตรารูปช้างเผือกไว้ตรงกลางวงจักรสีขาวบนธงชาติไทย

ธงแดงตรารูปช้างเผือกไว้ตรงกลางวงจักร

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าให้ใช้ธงช้างเผือกปล่อย นั่นคือมีรูปช้างเปล่าสีขาววางอยู่บนผืนผ้าแดง มาเป็นธงชาติ โดยมีหลักฐานสำคัญจากนักเดินเรือทั่วโลกว่า มีการใช้รูปช้างเผือกที่ปราศจากวงจักรบนผ้าพื้นสีแดง เป็นธงชาติสยามสำหรับใช้ชักบนเรือของสามัญชนทั่วไปแล้ว

ธงช้างเผือกปล่อย

สืบเนื่องมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรือของราษฎรทั่วไป สามารถใช้ธงช้างเผือกปล่อย เป็นสัญลักษณ์ธงชาติสยาม เหมือนอย่างเรือหลวงได้

จวบจนถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก 110” ขึ้นเป็นพระราชบัญญัติธง ฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อเตรียมการจัดทำผืนธงช้างเผือกต้อนรับเสด็จ ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ และร่วมกันแก้ไขปัญหาความมั่นคง ตลอดจนส่งเสริมความเป็นเอกราชของประเทศ ท่ามกลางยุคล่าอาณานิคม

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสร็จสิ้นการประพาสยุโรป ก็ได้มีพระราชพิธีรับเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีการสร้างซุ้มและประดับธงช้างเผือกของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จนทั่ว ตลอดแนวรับเสด็จอย่างวิจิตรตระการตาสมพระเกียรติ ซึ่งการเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ในยุโรปครั้งนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ทำให้สยามประเทศสามารถคานอำนาจกับชาติต่าง ๆ ในยุโรป และดำรงความเป็นเอกราชไว้ได้

และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาของการใช้ธงช้างเผือกที่ผ่านมา เนื่องจากรูปช้างเผือกที่ประชาชนทั่วไปจัดทำ หรือวาดลงบนธงชาติสยามนั้นมีความหลากหลาย ไม่สง่างาม ไม่สมเกียรติ จึงเห็นสมควรแก้ไข ให้มีการยกเลิกการใช้ธงช้างเผือกปล่อย และเปลี่ยนมาใช้ธงแดงขาวห้าริ้ว หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ธงค้าขาย” เป็นธงชาติสยามสำหรับให้ประชาชนได้ใช้ชัก พร้อมกับประกาศให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ มีธงชาติสยามเป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้เป็น “ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น” ซึ่งธงชาติทั้งสองแบบ ถูกประกาศใช้ในฐานะธงชาติสยามวันเดียวกันคือ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459

ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น
ธงแดงขาวห้าริ้ว

จนกระทั่งสยามได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเป็นเหตุให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชวินิจฉัยแก้ไขธงชาติใหม่อีกครั้ง โดยทรงเพิ่มสีน้ำเงินแก่ แทนที่สีแดงบริเวณแถบกลางของธงแดงขาวห้าริ้ว เพื่อให้เป็นสามสี ดั่งเช่นธงชาติของประเทศมหาอำนาจ ที่เป็นสัมพันธมิตรกับสยาม

ธงไตรรงค์

และอีกประการหนึ่ง สีน้ำเงินยังเป็นสีอันเป็นสิริแก่พระชนมวาร นับว่าเป็นสีเครื่องหมายเฉพาะพระองค์ด้วย โดยได้พระราชทานนามธงชาติแบบใหม่นี้ว่า “ธงไตรรงค์” ซึ่งมีการประกาศอยู่ในมาตราที่ 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติธง รัตนโกสิทร์ศก 129 ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460

นานนับกว่า 200 ปี ที่ธงชาติไทยของเราได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติไทย ที่ผ่านประวัติศาสตร์ของกาลเวลามาอย่างยาวนาน จนกลายมาเป็นธงชาติไทย ให้เราได้ภาคภูมิใจจนถึงทุกวันนี้

ตลอดช่วงเวลา ที่ประเทศของเราต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มากมาย แต่เราก็สามารถฝ่าฟันมาได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ความเสียสละ ความสามัคคีของคนในชาติ และความวิริยะอุตสาหะของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ได้ทรงรักษาชาติบ้านเมืองไว้ โดยถือเอาธงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของชาติ และเป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงอยู่เสมอ

ที่มา :

[1] ธงไตรรงค์ ธำรงไทย : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
[2] พิพิธภัณฑ์ ธงชาติไทย
[3] ประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย : สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า