ข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหา ในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่เบื้องหลังรัฐประหารปี 2500

ช่วงปลายทศวรรษ 2490 ถือเป็นช่วงตกต่ำสุดขีดของการเมืองไทย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้อำนาจของตนอย่างไร้ขอบเขต ทั้งปัญหาคอรัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก และที่ร้ายแรงที่สุดคือ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งในยุคนั้นพระมหากษัตริย์มิได้มีพระราชอำนาจและบทบาทใด ๆ เลย

ความเสื่อมทรามของรัฐบาลขณะนั้น นำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนทุกฝ่าย จนเกิดการลุกฮือเดินขบวนของมวลชน เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่นิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันได้ร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมือง

สุดท้ายก่อนเหตุการณ์บานปลาย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดย “ได้รับฉันทามติจากมหาชน” ซึ่งการเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากในวันก่อนรัฐประหารนั้น เป็นหลักฐานย้ำชัดว่า นักศึกษาและประชาชนให้การสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์

อีกทั้งเป็นสิ่งยืนยันว่า คำกล่าวหาของผู้ไม่หวังดีที่พยายามโจมตี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในครั้งนี้ เป็นเรื่อง “โกหก”

นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ความนิยมในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคที่ 2 (ซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 – 2500 รวม 10 ปี) กำลังตกต่ำถึงขีดสุด เนื่องจากปัญหาการคอรัปชั่น เล่นพรรคเล่นพวก และกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ ทัศนคติของรัฐบาลที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้น “ย่ำแย่ลงทุกขณะ”

โดยเฉพาะในช่วงต้น พ.ศ. 2500 ที่รัฐบาลได้จัด “งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” หรือ “งานฉลองกึ่งพุทธกาล” อย่างยิ่งใหญ่อลังการ แต่ปรากฏว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ทรงร่วมงานดังกล่าวเนื่องจากทรงมีอาการประชวร ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลเกิดความรู้สึกไม่พอใจในหลวงมาก เพราะสื่อหนังสือพิมพ์ทั่วไปได้ลงข่าวเย้ยหยันว่า เมื่องานที่จัดฉลองอย่างยิ่งใหญ่นี้ไม่มีเจ้านายเสด็จ งานก็ออกจะดู “กร่อย ๆ”

ทันใดนั้น หนังสือพิมพ์ที่ควบคุมโดยรัฐบาลจอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ฉบับหนึ่งชื่อว่า “ไทเสรี” ได้บังเกิดความเหิมเกริม ลงข่าวโจมตีพระราชวงศ์อย่างหยาบคาย (เป็นการพาดหัวข่าวในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

กระแสของสังคมได้โต้กลับหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลฉบับนั้นอย่างรุนแรง รวมทั้งการอภิปรายโจมตีรัฐบาล โดยเฉพาะพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้ถูกนายพีร์ บุนนาค ส.ส. พรรคขบวนการไฮปาร์ค โจมตีว่าอยู่เบื้องหลังหนังสือพิมพ์ “ไทเสรี” ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้ความนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือที่สังคมสมัยนั้นล้อเลียนว่า “รัฐบาลพิบูลตลอดกาล” (เพราะอยู่มานานเป็น 10 ปี และมีแนวโน้มว่าจะอยู่ต่อไปอีก) เสื่อมทรามลงทุกขณะ ประชาชนได้โกรธแค้นชิงชังรัฐบาลจอมพล ป. มาก และจะไม่ยอมทนกับการปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกต่อไป

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 หรือ 1 วันก่อนรัฐประหาร นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากได้ออกมาเดินขบวนขับไล่จอมพล ป. และพลตำรวจเอก เผ่า ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มนักศึกษาได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งสกปรกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2500

การชุมนุมประท้วงครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ว่า ประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ดังที่มีคนร้องตะโกนว่า

“พวกเราเดินต่อไป เพื่อไปพบจอมพลสฤษดิ์”
“เราไปพบจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์ฯ คือขวัญใจของคนไทย”
และ “จอมพล ป. จงออกไป จอมพลสฤษดิ์ฯ จงเข้ามา”

ต่อมากลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้เคลื่อนไปที่ทำเนียบรัฐบาล และเกิดการปะทะกับแนวของตำรวจ แต่ด้วยจำนวนประชาชนที่มากกว่า ทำให้แนวป้องกันของตำรวจต้องทลายลง ในที่สุดขบวนประท้วงก็สามารถทำลายประตูทำเนียบรัฐบาลเข้าไปได้ และได้ตะโกนว่า

“นี่คือบ้านของเรา เราเป็นเจ้าของทำเนียบ เผ่าจงออกไป ! เอาเผ่าไปแขวนคอเสีย ! จอมพล ป. จงออกไป ! สฤษดิ์ฯ จงออกมาหาประชาชน”

อารมณ์อันเกรี้ยวกราดของประชาชนที่ขู่จะเอาพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์มาแขวนคอนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงความโกรธแค้นชิงชังต่อรัฐบาลอย่างชัดเจนทีเดียว ทั้งนี้พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น คือบุคคลที่จะสืบทอดอำนาจแทนจอมพล ป. ในอนาคต

ในที่สุด ก่อนจะเกิดเหตุการณ์บานปลาย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ จึงได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดย “ได้รับฉันทามติจากมหาชน” ซึ่งการสนับสนุนเรียกร้องให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารจอมพล ป. นี้ เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า จอมพลสฤษดิ์ แม้จะเป็นจอมเผด็จการ แต่เขาก็ไม่ได้กระทำการรัฐประหารอย่างพละการ หากแต่เป็น “ฉันทามติของประชาชนคนไทยในเวลานั้น” ที่ได้ประกาศก้องชัดแล้วว่า จะไม่ขออยู่ภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เจ้าของฉายา “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” อีกต่อไป

ข้อความตะโกนของประชาชนที่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 อ้างอิงจากหนังสือปฏิวัติ (Revolution) โดย ปากเหล็ก (2502)

ทั้งหมดนี้คือบทสรุปของตำนานการเมืองสามเส้า ถือเป็นยุคสิ้นสุดอำนาจโดยเด็ดขาดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ แต่เหนืออื่นใด มติของมหาชนที่สนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือบทสรุปที่ชัดเจนยิ่งกว่า ว่าก่อนหน้านั้นการเมืองไทยเสื่อมทรามเพียงใด รัฐบาลจอมพล ป. สามารถกระทำอย่างไรกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่องค์พระมหากษัตริย์ที่แทบจะไม่มีพระราชอำนาจใด ๆ เลย

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ การพยายามผูกโยงและกล่าวหาในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าพระองค์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเป็นแค่เรื่อง “โกหก” ที่ถูกปั้นแต่งขึ้นเท่านั้น

อ้างอิง :

[1] หนังสือปฏิวัติ (Revolution) โดย ปากเหล็ก (2502)
[2] หนังสือจอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่ม 2 โดย อนันต์ พิบูลสงคราม