รถไฟไทย จากอดีตผู้นำเอเชีย สู่จุดพลิกผันแห่งความตกต่ำหลัง 2475 : ตอนที่ 1

ก่อนการเกิดขึ้นของการขนส่งคนและสินค้าด้วยรถไฟ ในอดีตประเทศไทยต้องอาศัยการขนส่งรูปแบบโบราณ 2 ชนิด ได้แก่ การขนส่งทางน้ำผ่านเรือขนาดต่างๆ ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม เช่น มหาสมุทร ลำน้ำ หรือคูคลอง

ส่วนทางบก มักจะปรากฏถนนอย่างแคบๆ ในจุดเป็นที่เป็นเส้นทางการค้า และใช้วิธีขนส่งผ่านการเดินเท้า หรืออาศัยสัตว์เลี้ยง อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย หรือกระทั่งเกวียน หรือรถเทียมด้วยสัตว์ชนิดต่างๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

การเดินทางและการขนส่งในรูปแบบโบราณนี้ นอกจากจะใช้ระยะเวลานานมากในการเดินทางแล้ว (ประมาณ 20-30 กิโลเมตรต่อ 1 วัน) ยังเป็นการสิ้นเปลื้องทรัพยากรชาติเป็นอย่างมาก เพราะยิ่งใช้ระยะเวลานานเท่าใดในการเดินทาง ย่อมหมายถึงปริมาณอาหารหรือเสบียงน้ำจืดที่ผู้เดินทางใช้บริโภค ต้องร่อยหลอไปด้วยตามวันเวลาที่ผ่านพ้นไป

นี่ยังไม่นับถึงจำนวนผู้ติดสอยห้อยตามอีกจำนวนมาก ที่ต้องทำหน้าที่ไปตลอดการเดินทาง อาทิ คนครัว คนใช้ คนเตรียมเสบียง ยังไม่รวมถึงอาหารและน้ำที่ต้องใช้เลี้ยงสัตว์ ที่ต้องเตรียมให้พร้อมด้วยเช่นกัน เพราะหากสัตว์พาหนะขาดอาหารและน้ำ ก็จะเกิดปัญหาให้สัตว์ไม่มีกำลังและทยอยล้มตายได้

ก่อนการเข้ามาถึงของรถไฟในสยาม การเดินทางที่เร็วที่สุดดูเหมือนจะผ่านทางน้ำ แต่กระนั้น อุปสรรคสำคัญของการเดินทางทางน้ำได้แก่ กระแสน้ำและกระแสลม หากสภาพอากาศไม่เป็นใจแล้ว การเดินทางย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบากและอันตราย ทำให้การเดินทางทางน้ำบางครั้งอาจต้องชะลอจนถึงฤดูที่ปลอดมรสุม (Monsoon) ซึ่งอาจกินเวลากว่าหลายเดือนทีเดียว

แม้ว่าต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 4 เรือกลไฟได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสยาม ข้อดีของเรือชนิดนี้คือ ไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งคลื่นลมหรือรอให้ถึงฤดูปลอดพายุในการเดินทางก็สามารถเดินทางได้ แต่ข้อเสียยังอยู่ที่ขนาดที่ใหญ่จนไม่สามารถเดินทางในลำคลองขนาดเล็กได้ ทำให้ต้องมีการถ่ายสินค้าเมื่อเรือเดินทางเข้ามาถึงคลองขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เรือกลไฟยังใช้เวลาในการเดินทางที่ช้ามาก กล่าวคือ เดินทางได้เพียงละ 60 กิโลเมตรต่อวันเท่านั้น

แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็ได้เกิดขึ้น เมื่อโลกได้เผชิญหน้ากับสิ่งประดิษฐ์อันเป็นนวัตกรรมพลิกโลกในสมัยวิคตอเรียน (Victorian era) นั่นก็คือ “รถไฟ” ซึ่งเริ่มต้นพัฒนาขึ้นในอังกฤษสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระราชินีนาถแห่งเกาะบริเตน โดยในระยะแรก ชาวอังกฤษไม่ได้สนใจกิจการรถไฟเท่าใดนัก และส่วนมากรถไฟรางเหล่านี้จะใช้ขนส่งเฉพาะผู้คนและสินแร่ในระยะทางสั้นๆ เท่านั้น

ต่อมาเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ผู้มีความสนพระทัยในวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงบรรดาหัวรถจักร (locomotive) อย่างจริงจัง ได้ทำให้กิจการรถไฟได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนอังกฤษ การเดินทางด้วยรถไฟในเวลานั้นคือสิ่งใหม่ที่หรูหรามากภายหลังที่พระราชวงศ์อังกฤษได้เดินทางด้วยรถไฟเป็นครั้งแรก

สำหรับดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้น กิจการรถไฟที่ริเริ่มดำเนินก่อนที่อื่น คือ ดินแดนดัชต์อินเดียตะวันออก (อินโดนีเซียในอดีต) ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของฮอลแลนด์ (ประเทศเนเธอแลนด์ในปัจจุบัน) ในระยะแรก รัฐบาลอาณานิคมของดัชต์ (ฮอลแลนด์) ได้เริ่มทำทางรถไฟขึ้นก่อนในเขตเกาะชวากลาง ในปี พ.ศ. 2410 หรือ 1 ปี ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะขึ้นครองราชย์ ต่อมาได้ริเริ่มสร้างทางรถไฟขึ้นในเกาะสุมาตราเพื่อพิชิตดินแดนอาเจะห์ทางตอนเหนือของเกาะในปี พ.ศ. 2420

ต่อมาประเทศอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมในพม่าก็ไม่ยอมน้อยหน้า รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษได้ทุ่มงบประมาณในการก่อสร้างทางรถไฟพม่า สายย่างกุ้ง-แปร จนสำเร็จ และพร้อมใช้บริการได้ในปี พ.ศ. 2420

เมื่อถึงคิวของฝรั่งเศสก็ต้องการแสดงศักยภาพของการปกครองดินแดนในอาณานิคมบ้าง จึงได้ลงทุนก่อสร้างทางรถไฟในดินแดนอินโดจีน (เวียดนาม-กัมพูชา) ซึ่งทางรถไฟสายไซ่ง่อน-หมีทอ ได้ก่อสร้างสำเร็จและพร้อมให้บริการในปี พ.ศ. 2428 อันเป็นปีเดียวกับที่อังกฤษได้เปิดใช้เส้นทางรถไฟในดินแดนอาณานิคมบริติชมลายา ด้วยการริเริ่มจากสาย ไทปิง- พอร์ตเวลด์ ในรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน

สำหรับประเทศสยาม ได้รู้จักกับรถไฟครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ผ่านรถไฟจำลองที่คณะทูตอังกฤษจัดส่งมาให้ราชสำนักสยามในปี พ.ศ. 2399 ต่อมาเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้สืบพระราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา พระองค์ได้ให้ความสนใจพระทัยกับกิจการรถไฟมาก

ในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จไปสิงคโปร์และชวาในปี พ.ศ. 2414 นั้น ได้ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรการสร้างทางรถไฟในดินแดนอาณานิคมเพื่อนบ้านตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และนี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้แก่พระองค์ ในการตั้งพระราชประสงค์ที่จะให้มีรถไฟในสยามให้ทันในรัชสมัยของพระองค์ก็ย่อมได้

จึงกล่าวได้ว่า กิจการรถไฟไทยกับอังกฤษมีจุดกำเนิดที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือมีจุดกำเนิดมาจากความริเริ่มและสนใจในกิจการรถไฟของสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ ทั้งเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนางเจ้าวิคตอเรียต่อวงการหัวรถจักร และ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงเห็นความสำคัญของกิจการรถไฟตั้งแต่ทรงครองราชย์ในช่วงแรกๆ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ได้ทำการผลักดัน จนกระทั่งโครงการรถไฟเกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังทั้งในอังกฤษและสยามในที่สุด แม้ว่าเวลาจะห่างกันหลายสิบปีก็ตาม

จากจุดกำเนิดนวัตกรรมการเดินทางโดยรถไฟนี้ ในตอนที่ 2 ฤา จะพาไปสำรวจว่าปัจจัยใดบ้างที่เป็นตัวเร่งเร้าสำคัญที่ทำให้รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ตัดสินใจในการริเริ่มโครงการกิจการรถไฟในสยาม

รถไฟไทย จากอดีตผู้นำเอเชีย สู่จุดพลิกผันแห่งความตกต่ำหลัง 2475 : ตอนที่ 2

อ้างอิง :

[1] อิจิโร คากิซากิ. ย้อนรอยรถไฟไทย : สืบสานและต่อยอด (กรุงเทพ : 2562). สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[2] Queen Victoria found the whole event quite charming.
[3] Queen Victoria’s First Excursion by Train

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า